Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
9 เทคนิคบริหารเวลา ให้สอบติดมหา’ลัย!

  Favorite

          โจทย์คือ “ทุกคนมีเวลาเท่ากันคนละ 24 ชั่วโมง” จะทำอย่างไรให้เวลาที่มีเพียงพอต่อการช่วยให้เราสอบติดมหาวิทยาลัย?  จงหาคำตอบพร้อมแสดงวิธีทำ

          สูตรที่ใช้แก้โจทย์นี้คือ “การบริหารเวลา” ซึ่งถือว่าเป็นทักษะสำคัญที่เป็นกุญแจไขสู่ความสำเร็จ ทั้งการเรียน การใช้ชีวิต การทำกิจกรรม การเล่น ไปจนถึงเรื่องระดับผู้ใหญ่คือการทำงานและการมีครอบครัว แต่การจะใช้งานเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้อง “ฝึกบริหารเวลา” เพื่อให้เราสามารถจัดการ กำกับ และควบคุมเวลามาใช้ประโยชน์ได้ แต่จะฝึกได้อย่างไร พี่นัทมีเทคนิคดี ๆ เด็ด ๆ มาฝากกัน

          การบริหารเวลา คือ “การรู้จักแบ่งเวลาให้ได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด” โดยมี 9 เทคนิคบริหารเวลา ให้สอบติดมหา’ลัย! ดังนี้ 

 

1. Separate: แยกประเภทสิ่งที่จะทำเพื่อการจัดสรรเวลา

          ถ้าใครอยากสอบติด อยากประสบความสำเร็จในชีวิต เทคนิคแรกที่ต้องทำให้ได้เลยคือ แยกแยะประเภทกิจกรรมและจัดสรรเวลาให้เหมาะสมกับแต่ละประเภท ทีนี้เราลองมาตั้งโจทย์กัน ดูว่า “ถ้าจะสอบให้ติดมหาวิทยาลัย เราจะแบ่งเวลาทำอะไรบ้าง เวลาในแต่ละวันใช้หมดไปกับกิจกรรมประเภทใด มองเผิน ๆ เหมือนคนเรามีสิ่งที่จะทำหลายอย่าง แต่ถ้าแบ่งจริง ๆ แล้ว มีแค่ 3 ประเภทเท่านั้น คือ 

          1.1 ทำสิ่งที่ “ต้องทำ” หมายถึง ไม่ทำไม่ได้ ไม่ทำสอบไม่ติด ไม่ทำไม่รอด ไม่ทำเกิดผลเสีย หรือทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น จะสอบ ต้องทำข้อสอบ ต้องอ่านหนังสือ ถ้าไม่ทำก็ไม่รู้เรื่อง ทำคะแนนไม่ได้ และถ้าไม่มีคะแนน ความสำเร็จที่วาดไว้ก็ไร้ความเป็นจริง หรือต้องค้นหาตัวตน ถ้าไม่ค้นไม่เจอ ไม่เจอเลือกคณะไม่ได้ วางแผนอนาคตไม่เป็น ดังนั้นเราต้องจัดสรรเวลาให้สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับต้น ๆ 

          1.2 ทำสิ่งที่ “ควรทำ” หมายถึง ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แต่ถ้าทำจะได้ผลดียิ่งขึ้น เช่น ไม่ถนัดวิชานี้ ควรเรียนพิเศษ คือ เรียนก็ได้ ถ้าไม่เรียนก็อาจหาวิธีอื่น เช่น อ่านหนังสือเล่มอื่น ให้เพื่อนติว ให้ครูสอนเพิ่มเติม หรือการทำกิจกรรม เราสามารถเลือกได้ว่า อันไหนเป็นกิจกรรมที่ควรทำ สามารถสนับสนุนการเข้ามหาวิทยาลัย การฝึกทักษะความสามารถ แบบนี้น้องก็ควรจัดสรรเวลาให้เป็นลำดับรองลงมา   

          1.3 ทำสิ่งที่ “อยากทำ” น้อง ๆ น่าจะชอบมากที่สุด แต่ข้อนี้มักจะสวนทางกับความสำเร็จ เช่น อยากเล่นเกม อยากนอนตื่นสาย อยากเล่นโซเชียล ความอยากเป็นเรื่องของอารมณ์และฟิลลิ่งล้วน ๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ความจำเป็นและเหตุผลลงไป แต่เรากลับให้เวลาเยอะมาก! การทำสิ่งที่อยากทำไม่ใช่สิ่งผิด เพราะทำให้มีความสุข แต่เราต้องแยกแยะก่อนว่า ความสุขที่เกิดขึ้นเป็นแค่สุขชั่วคราว แต่ทุกข์เรื้อรังหรือไม่ 

ปัญหาคือเรามักเรียงลำดับผิด คือทำสิ่งที่อยากทำก่อน แล้วทำสิ่งที่ต้องทำหลังสุด แบบนี้เท่ากับเราเสียเวลาไปเพื่อตอบสนองตัวเอง แต่ไม่ได้ตอบสนองความฝัน! ไม่ได้สร้างวินัยเพื่อความสำเร็จเลย ดังนั้นลองเรียงลำดับใหม่ แล้วจัดสรรเวลาใหม่คือ ทำสิ่งที่ต้องทำก่อน ตามด้วยสิ่งที่ควรทำ แล้วเก็บสิ่งที่อยากทำไว้หลังสุด ถ้ามีเวลาเหลือค่อยทำ ไว้เพื่อผ่อนคลาย สร้างความสุขหรือสีสันให้ชีวิต 

 

2. Wake Up Alert: อรุณสวัสดิ์โอกาสของชีวิต 

          ข้อนี้ทำได้ง่าย ๆ ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า เพียงแค่ลืมตามาเริ่มต้นวันใหม่อย่างมีเป้าหมาย และขอบคุณเวลาที่ยังให้โอกาสเราตื่นมาทำสิ่งดี ๆ ยิ่งตื่นเช้าเท่าไหร่ น้อง ๆ จะยิ่งมีเวลาในชีวิตมากขึ้น และเมื่อมีเวลามากขึ้น เราจะทำอะไรได้มากขึ้น เช่น การออกกำลังกายสักหน่อย เล่นเกมสักนิด ทำงานบ้านสักน้อย ช่วยพ่อแม่บ้าง อ่านหนังสือเรียน หนังสือนอกเวลา อ่านการ์ตูน และที่สำคัญยังมีเวลาวางแผนจัดสรรกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย 

 

3. Schedule: ตารางชีวิต พิชิตฝัน 

          Schedule คือการออกแบบวางแผนกิจกรรมต่าง ๆ ที่คนอยากสอบติดต้องทำ การกำหนดเป้าหมายคือการปักหมุดความสำเร็จไว้ล่วงหน้า และตารางชีวิตที่ดีนั้น ต้องออกแบบเป็นรายเดือน รายปี เพื่อกำหนดเส้นทางและหาวิธีการที่ทำให้บรรลุเป้าหมาย เช่น จะสอบให้ได้เกรดดีขึ้นต้องทำอย่างไร จะสอบให้ติดมหาวิทยาลัยที่เราฝันต้องทำอย่างไร อยากสอบแข่งขันหรือทำกิจกรรมนี้ให้สำเร็จ ต้องทำอะไรบ้าง ทำให้น้อง ๆ มองเห็นภาพกว้างของการใช้เวลาในหนึ่งวัน หนึ่งสัปดาห์ และหนึ่งเดือน คำว่าเวลาไม่พอ จริง ๆ อาจจะหมายความว่า เราใช้เวลาไม่เป็นก็ได้ เพราะจริง ๆ ต้องพอ! การมีตารางชีวิตทำให้เราเลือกตัดกิจกรรมที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน เพื่อใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นกับกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นมากกว่า จัดตารางติววิชาไหน บทใด จะสอบอะไรวันไหน เตรียมตัวอย่างไร ตารางสอบต้องมา ตารางอ่านหนังสือต้องมี 

 

4. To Do List: ของมันต้องมี ยังไม่เท่า...ของที่ต้องทำ 

          To Do List คือสิ่งที่ต้องทำรายวัน เป็นภาคต่อจากการทำแผน Schedule เมื่อวางแผนภาพใหญ่แล้ว ทีนี้ต้องลงรายละเอียดสิ่งที่จะทำในแต่ละวัน เป็นการเขียนสิ่งที่จะทำให้แผนตามตารางชีวิตของเราสำเร็จสมกับเป้าหมายที่วางไว้ อันไหนทำแล้วก็ติ๊กให้คะแนนตัวเองด้วย อันไหนไม่ได้ทำ ก็ต้องชดเชย ไม่ใช่ละเลย วันต่อไปต้องพยายามเก็บแต้มจาก To Do List คือสร้างวินัยควบคุมตัวเองให้ทำได้ตามที่ตั้งใจไว้ เป็นการฝึกให้ตัวเองคุ้นเคยกับความสำเร็จแบบง่าย ๆ เชื่อมั้ยจริง ๆ ไม่ง่ายเลย ผู้ใหญ่หลายคนก็ยังทำไม่ได้ แต่จะดีกว่ามั้ย ถ้าน้อง ๆ ทำได้ เรามีพลังบริสุทธิ์อยู่ในความฝัน ดังนั้นเรายิ่งต้องเร่งฝึกวินัยเพื่อควบคุมกิจกรรมของเราให้ได้ และถ้าเราคุมเวลาคุมกิจกรรมได้ เราก็จะควบคุมความฝันของเราได้ 

 

5. Priority: รู้จักเรียงลำดับความสำคัญ 

          การฝึกทักษะและความสามารถในการเรียงลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ มีผลอย่างมากต่อความสำเร็จในการบริหารเวลา เช่น ในบางกิจกรรมเราอาจต้องเลือกทำสิ่งที่ยากที่สุดก่อน เพราะมันใช้พลังมากสุด เช่น อ่านฟิสิกส์บทนี้ โหดสาด ดราม่าสุด ต้องใช้เวลา พลัง และสมาธิมาก ก็จัดให้ก่อน หรืออาจจะเลือกใช้เวลาไปกับกิจกรรมที่เร่งด่วนกว่า เช่น รายงานหรือการบ้านที่ต้องส่งพรุ่งนี้ ต้องทำให้เสร็จก่อนทำอย่างอื่น ดังนั้นการเรียงลำดับความสำคัญ จึงไม่ใช่เรียงตามแค่ความยาก - ง่าย ความก่อน – หลัง หรือ ความอยากทำ - ไม่อยากทำ แต่หมายถึงการบริหารการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพในเวลาที่จำกัดต่างหาก และถ้าเรียงลำดับถูกต้อง เวลาก็จะถูกใช้อย่างถูกวิธี

 

6. Make It Done: ทำให้เสร็จทีละอย่าง 

          น้อง ๆ คงเคยได้ยินคำว่า “สมาธิสั้น” ทำอะไรนาน ๆ แล้วมันสั่นไปหมด ทั้งตัวและหัวใจ มีใจจดจ่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ในเวลาสั้น ๆ ยังไม่ทันเสร็จก็เปลี่ยนไปทำอีกอย่างแล้ว เริ่มกิจกรรมใหม่ไปเรื่อย ๆ โดยที่กิจกรรมเก่ายังค้างคา ไม่มีอะไรเสร็จสักอย่าง อ่านหนังสือวิชาไหนก็ไม่จบ ทำข้อสอบเก่าก็ไม่เสร็จ เวลาก็ถูกใช้ไปเพื่อการเริ่มต้น แต่ไม่ได้ถูกใช้ไปเพื่อความสำเร็จ ดังนั้นน้อง ๆ ควรฝึกนิสัยใช้เวลาอย่างมีค่า ด้วยการทำกิจกรรมที่ตั้งใจให้สำเร็จเป็นอย่าง ๆ ไป ทำให้ได้ฝึกสมาธิ ความอดทน และมีวินัยอีกด้วย การทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างพร้อมกันหรือสลับกันไปมา ทำให้สมาธิฟุ้ง ไม่พุ่งไปที่กิจกรรมนั้น ทำให้ผลงานออกมาไม่ดีพอ อ่านให้จบเป็นบท ๆ เป็นเนื้อหา หรือเป็นวิชาให้ได้ สมาธิและสมองจะแฮปปี้กว่า

 

7. Set Time: กิจกรรมต้องมีลิมิต เพราะชีวิต...มีจำกัด 

          เมื่อเริ่มต้นวางแผนการบริหารเวลา และน้อง ๆ เลือกได้แล้วว่าจะลงมือทำอะไร ให้ฝึกกำหนดเวลาไว้เลยว่าจะทำสิ่งนี้จนถึงเมื่อไหร่ เช่น จะทำการบ้านให้เสร็จ แต่ไม่ได้กำหนดว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ น้องอาจจะใช้เวลาไปเรื่อย ๆ ทำบ้างพักบ้าง ทำต่อ ทำพัก ทำวนไปวนมา แต่ถ้าเรากำหนดเวลาไว้ว่า ต้องเสร็จภายในเวลาเท่าไหร่ เราจะควบคุมเวลาและกิจกรรมให้สอดคล้องกัน หรือแม้แต่การเล่นเกม เล่นนานแค่ไหนก็ได้ ชอบเสียอย่าง สนุกสุด ๆ ไปเลย แต่ถ้าทำแบบนั้น น้องอาจเสี่ยงเป็นโรคติดเกม ทำให้เสียสุขภาพและเสียโอกาสดี ๆ เพราะตกลงไปในหลุมพรางเกมจนหมดเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่น ดังนั้นไม่ว่าจะกิจกรรมการเรียนหรือการเล่นควรฝึกทำภายใต้เวลาที่กำหนด จะได้ผลดีกว่าทำไปเรื่อย ๆ 

 

8. Concentrate: อยากให้ความสำเร็จคมชัด ต้องโฟกัสให้เป็น 

          จิตใจที่มุ่งมั่นจดจ่อกับเป้าหมายเท่านั้น ถึงจะมีพลังพาชีวิตเราไปสัมผัสกับความสำเร็จได้ การปรับโฟกัสเพื่อให้มองเห็นภาพอนาคตของตัวเองให้ชัดเจนเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการบริหารเวลา เพราะจะทำให้เราไม่หลุดจากเป้าหมาย ไม่ใช้เวลาเรี่ยราดไปกับสิ่งที่ทำลายเป้าหมายของเรา มองไปให้เห็นเข็มที่จะติดที่หน้าอก เห็นคณะ เห็นสถาบัน เห็นอาชีพ เห็นการทำงาน เห็นในสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น! เรียกว่าเป็นการเห็นด้วยการปรับโฟกัสไปที่เป้าหมายระยะไกล แม้ตัวเรายังอยู่ไกลจากเป้าหมายนั้น แต่เราสามารถมองเห็นภาพนั้นได้ ด้วยเลนส์แห่งความมุ่งมั่น เมื่อน้องใส่พลังไปกับสิ่งใด น้องจะทำงานอย่างเข้มข้นโดยอัตโนมัติ เรียกว่าใช้ปริมาณเวลาน้อย แต่ใช้สอยคุณภาพเวลาเต็มที่ เช่น ถ้าสมาธิดีจิตไม่วอกแวก อ่านหนังสือไม่นานก็จำได้ ถ้าจิตจดจ่อมุ่งมั่นกับการทำข้อสอบ เวลาที่วิ่งไปตามหาคำตอบก็จะสั้นลง มีเวลามากพอที่จะวิ่งไปตามหาคำตอบในข้อต่อ ๆ ไป 

 

9. Social (Media) Distancing: เว้นระยะห่าง อย่างมีวินัย 

          Social Media เป็นทั้งความสุข เป็นสังคม เป็นความสนุกของน้อง ๆ แต่อีกมุมหนึ่ง เจ้าตัวนี้ถือว่าเป็นศัตรูตัวร้ายที่อาจทำให้เสียเวลาโดยไม่รู้ตัว ความเพลินจะเหมือนกับการหยุดเวลา แล้วเราเดินเข้าไปอีกโลกหนึ่ง ผ่านอุโมงค์ที่เหมือนกาลเวลาหยุดนิ่ง! แต่ในความเป็นจริง เวลาไม่เคยหยุด ในขณะที่น้องหลุดเข้าไปในโลก Social น้องจะไม่รู้ตัวว่าใช้เวลาไปนานแค่ไหน แต่คนอื่น ๆ ในอีกหลายมุมโลกกำลังเดินเข้าไปอีกโลกหนึ่ง เป็นโลกแห่งการเรียนรู้ โลกกิจกรรม โลกทักษะความสามารถ โลกที่เวลาทำงานอย่างทรงคุณค่า ผลคือพอออกมาสู่โลกความเป็นจริง เรากลับกลายเป็นคนที่ไม่มีเวลา เพราะไม่สามารถบริหารเวลาให้เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้นเราเล่น Social ได้ แต่อย่าให้ Social เล่นงานเรา รักเจ้า Social แค่ไหนก็ต้อง...พักให้เป็นนะคะ 

 

          “เวลาไม่ใช่นาฬิกา” เพราะนาฬิกาคือเครื่องมือบอกเวลา แต่ไม่ใช่ตัวเวลาและไม่ใช่เครื่องมือจ่ายเวลาให้เรา การผัดวันประกันพรุ่งแล้วบอกตัวเองว่า...ไว้ก่อน! เดี๋ยวก่อน! เวลายังมี! พรุ่งนี้ก็ได้! คำพูดเหล่านี้ทำลายความสำเร็จและโอกาสดี ๆ ในชีวิตคนมามากมาย และพี่นัทไม่อยากให้น้อง ๆ เป็นอีกคนที่ต้องเสียเวลาไป...เพราะคำเหล่านี้!

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us