Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
10 เทคนิคการอ่านหนังสือ ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนสอบ

  Favorite

          “ปรี๊นนนน ปรี๊นนนน! แปร๊นนน แปร๊นนน!” ถ้าเป็นการขับรถบนท้องถนนคงบีบแตรไล่บี้กันเพื่อหวังแซงให้ทันในทางโค้งสุดท้ายก่อนถึงเป้าหมาย ตอนนี้สนามสอบทุกประเภทกำลังจะเปิดสนามรองรับผู้เข้าแข่งขันเรือนแสน การอ่านหนังสือหนักช่วงใกล้สอบ คือการเปิดไนตรัสแบบหนัง  Fast and Furious เร่งสปีดสุดขีดเข้าเส้นชัย แต่การเร่งด้วยความเร็วและแรงในช่วงโค้งสุดท้ายแบบนี้ เสี่ยงมากที่จะหลุดโค้ง ดังนั้นเพื่อให้เราสามารถถึงปลายทางฝันได้อย่างปลอดภัยและสมหวัง พี่นัทมี 10 เทคนิคการอ่านหนังสือ ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนสอบ มาฝากกัน Go Go ไปเปิดไนตรัสสสกัน!

 

1. เช็กลิสต์

          โค้งสุดท้ายแบบนี้ต้องวางแผนการอ่านหนังสือแบบสอดคล้องกับเวลา คือต้องคำนวณเวลาที่มีกับหนังสือที่เหลือที่จะต้องอ่าน ไล่เช็กลิสต์เลยว่าจะอ่านอีกกี่เล่ม กี่เรื่อง กี่บท บทไหนต้องใช้เวลามาก บทไหนใช้เวลาน้อย บทไหนปล่อยข้ามไปได้แล้ว จะแบ่งอ่านอย่างไร เวลาไหน ด้วยวิธีการใด และที่สำคัญที่สุดคือ ปฏิบัติตามแผนให้ได้ ถ้าพลาดนิดเดียวเป็นอันหลุดโค้ง ไปไม่ถึงเป้าหมาย

 

2. อ่านสารบัญ & บทสรุป

          สารบัญจะทำให้เรารู้หัวเรื่องของบทเรียนนั้น และในสารบัญมักจะมีหัวข้อย่อย นั่นละ คือการทบทวนสุดท้ายว่าเราเข้าใจและรู้เรื่องในหัวข้อย่อยเหล่านั้นหรือไม่ ถ้าไม่! ก็ลงไปเก็บให้เข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วก็ผ่านเลยไป ส่วนบทสรุปเป็นส่วนสำคัญที่ผู้เขียนตำราได้สรุปข้อมูลทั้งหมดมาไว้ให้เรา เทคนิคคือ ให้น้อง ๆ เริ่มอ่านบทสรุปก่อน และถ้ามีเวลาเหลือค่อยย้อนกลับไปอ่านเนื้อหาอีกครั้ง จะทำให้เราทบทวนบทเรียนได้เร็วขึ้น เพราะผ่านการสกัดเนื้อหาจากภาพรวมในบทสรุปมาแล้ว

 

3. ไม่อ่านจี้เป็นคำ แต่อ่านจับใจความสำคัญ

          อ่านแบบกวาดสายตา ไม่ใช่อ่านแบบจี้เป็นคำ ๆ ได้หนึ่งคำ สมาธิหลุดไปสามคำ ได้กลับมาอีกสองคำ หายไปอีกสี่คำ แถมยังทำให้สมองได้รับข้อมูลมากเกินไปจนทำให้สติลอย สมองเลอะ สายตาล้า อ่านไปก็ไม่เข้าหัว หลักการอ่านจับใจความสำคัญคือ เมื่ออ่านจบต้องถามหาสาระสำคัญที่เป็นหัวใจของย่อหน้านั้น ที่ใช้ครอบคลุมเนื้อความในประโยคอื่น โดยที่เราสามารถตัดประโยคอื่นออกได้หมด ซึ่งในแต่ละย่อหน้าจะมีใจความสำคัญเพียงหนึ่งหรือสองประโยค น้อง ๆ ต้องหาให้เจอ แล้วจับมันให้ได้

 

4. สร้างโน้ตย่อของตนเอง

          การเขียนเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราสนิทกับเนื้อหามากขึ้น ช่วยให้จดจำและเข้าใจได้ง่ายขึ้น การอ่านหนังสือที่มีประสิทธิภาพต้องผ่านการจดด้วยมือ เพราะในขณะจด สมองต้องควบคุมสั่งการว่าต้องเขียนอะไร สะกดอย่างไร เรียบเรียงแบบไหน ความรู้จะค่อย ๆ แทรกผ่านการเขียนเข้าไปในสมอง บางคนขออ่านโน้ตย่อที่ถ่ายเอกสารจากเพื่อนได้มั้ย ก็คงตอบว่าได้ แต่อย่าลืมว่า ยังไงซะ ต้นฉบับย่อมคมชัดกว่าสำเนา! แปลว่าคนเป็นเจ้าของต้นฉบับ ย่อมเข้าใจเนื้อหาเหล่านั้นได้ชัดเจนกว่าเรา...แน่นอน   

 

5. สร้างคำถาม สมมุติข้อสอบ

          หัวใจหลักของเทคนิคนี้คือ การตั้งคำถาม อ่านจบแล้วได้อะไรบ้าง จากนั้นคิดต่อไปว่า ถ้าเนื้อหานี้เราเป็นคนออกข้อสอบ เราจะถามอะไร และคำตอบคืออะไร เทคนิคนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราอ่านหนังสือและจดจำได้เป็นอย่างดี ด้วยระบบ Q & A ถามมา ตอบไป สมองจะถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว คิดค้น หาคำตอบ ถ้าติดตรงไหน ตื้อ ๆ ตัน ๆ เรื่องใด ก็ย้อนกลับไปหาคำตอบจากหนังสือได้ แต่ถ้าเราไม่ตั้งคำถามและไม่หาคำตอบ เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ที่อ่าน ๆ ไปนั้น เข้าใจจริงหรือไม่   

 

6. ตาดู หูฟัง ปากขยับ รับเข้าสมอง

          การพูดคุยเกี่ยวกับเนื้อหาบทเรียนที่อ่านจะเป็นเหมือนการบดเนื้อหาให้ละเอียดขึ้น ย่อยและดูดซึมเข้าสมองได้ดีขึ้น ขยี้ตอกย้ำให้เข้าใจมากขึ้น เพราะในขณะที่เรากำลังพูด ตาต้องดูเนื้อหา หูได้ฟังเสียง ปากได้อธิบายขยายเรื่องให้ชัดเจนขึ้น เรียกว่ารวมพลประสาทสัมผัสทั้งหมดให้มุ่งไปที่เรื่องเดียวกัน ยิ่งถ้าได้แลกเปลี่ยนถกเถียงหรือติวให้คนอื่นเพิ่มเติม จะยิ่งช่วยให้เราได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากบางส่วนที่อาจมองข้ามไป เรื่องที่เพื่อนรู้ เราอาจไม่รู้ เรื่องที่เรารู้ อาจเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ

 

7. ภาพจำยังชัดเจน

          ขึ้นชื่อว่าหนังสือเรียนแน่นอนว่าข้างในคงอุดมไปด้วยข้อความล้วน ๆ ชวนตาลาย ยิ่งอ่านยิ่งมึน จำได้หนึ่งเรื่อง ลืมไปสองเรื่อง ดังนั้นเทคนิคหนึ่งที่ช่วยได้คือ การจำให้เป็นภาพ โดยใช้สมองแปลจากข้อความไปเป็นรูปภาพ จะช่วยทำให้เราจำได้ง่ายขึ้น เพราะรูปภาพมีรูปร่างชัดเจน สามารถนำมาผูกเชื่อมโยงกับความคิดเราได้ เวลาใช้อาจใช้สลับกับการจดโน้ต ให้สมองแคปเจอร์ภาพนั้นไว้แทนเนื้อหาบางส่วน และเมื่อถึงเวลาใช้งานในการทำข้อสอบ น้องก็แปลผลจากรูปภาพกลับไปเป็นเนื้อหาได้

 

8. ตะลุยโจทย์ ข้อสอบเก่า ช่วยเราได้

          การอ่านผ่านการทำโจทย์จะช่วยให้เราเชี่ยวชาญการสอบยิ่งขึ้น เหมือนการฉีดวัคซีนให้ร่ายกายมีภูมิต้านทานการสอบได้มากขึ้น นอกจากนี้ในระหว่างลงสนามซ้อมจากข้อสอบเก่า จะทำให้เราพบจุดอ่อนของตัวเอง ข้อไหนที่ทำไม่ได้ แปลว่ายังไม่เข้าใจหรือจำไม่ได้ น้องสามารถย้อนกลับไปอ่านเนื้อหาในส่วนนั้นเพิ่มเติมได้ ข้อสอบในแต่ละปีจะวนเวียนสลับไปมาภายใต้กรอบเนื้อหาเดิม (ยกเว้นเปลี่ยนหลักสูตร) ดังนั้นการอ่านผ่านข้อสอบเก่าจะช่วยเพิ่มโอกาสได้คะแนนและได้ทบทวนความรู้ไปในคราวเดียวกัน

 

9. พักผ่อนให้เพียงพอ อ่านหนังสือให้พอเพียง

          การอ่านหนังสือหนักช่วงก่อนสอบทำให้ร่างกายอ่อนล้า สมองเคร่งเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ผลคืออ่านหนังสือไปก็จำไม่ได้ เข้าใจไม่จริง ทำข้อสอบได้ไม่เต็มที่ แต่ถ้าหากพักผ่อนเต็มที่ สมองจะตื่นตัวเปิดระบบให้น้อง ๆ ไล่ล่าหาคำตอบในข้อสอบได้ และหากใครกังวลว่าอ่านหนังสือไม่ทัน เวลาไม่พอ น้องต้องคิดว่า ถ้าจะอ่านให้ทันควรต้องอ่านก่อนหน้านี้แล้ว จะมาเสียดายเวลาไม่ได้ เวลานี้ต้องอ่านแบบพอเพียง ส่วนที่ไม่ทันทำอะไรไม่ได้ แต่ส่วนที่อ่านทัน อย่าให้พังไปเพราะการพักผ่อนไม่เพียงพอ

 

10. ตัดก้อนเนื้อร้าย บ๊ายบายพักก่อน

          ช่วงโค้งสุดท้ายแบบนี้ความกดดันสูงสุด เนื้อหาบทไหนเกินความเข้าใจ สวดมนต์ไว้อาลัยแล้ว...ตัดใจซะ! เพราะช่วงนี้ “เวลา” ถือว่าเป็นทรัพยากรที่จำกัดที่สุด ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูง ประหยัดสุด ดังนั้นถ้าเราใช้เวลาทำความเข้าใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งนานจนเกินไป ซึ่งตามจริงน้องควรจะใช้เวลากับมันให้นานมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่ถ้าหลุดรอดแบบหลุดลุ่ยมาจนถึงช่วงโค้งสุดท้ายแล้วละก็ ตัดใจค่ะ  เพราะปัจจุบันเราต้องใช้เวลาลุยต่อกับเรื่องที่ยังเหลือให้เราได้เก็บเกี่ยวแบบเข้าใจ

 

 

          การอ่านหนังสือคือเครื่องมือสำคัญในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่การอ่านหนังสือมักเป็นสิ่งที่สวนทางกันระหว่างความตั้งใจกับการกระทำ โค้งสุดท้ายแบบนี้น้องต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดแล้วว่า หากจะไปต่อที่ปลายทางฝัน เราต้องทำให้ความตั้งใจกับการกระทำเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือ ก็จงทำให้การกระทำเป็นการอ่าน แล้วพบกันในวันติดกระดุมและเข็มของมหาวิทยาลัยในฝันนะคะ

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us