คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตให้มีความรอบรู้กฎหมายทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ให้มีคุณธรรมและจริยธรรม สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพทางกฎหมายแขนงต่าง ๆ ได้ ฝึกฝนให้นักศึกษาสามารถใช้วิชากฎหมายให้ถูกต้องแก่กรณี รู้จักใช้เหตุผล เข้าใจในตัวบทกฎหมาย ทั้งในการตีความและเจตนารมณ์ของกฎหมาย
หลักสูตรปริญญาตรีของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นประสิทธิผลของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยจัดการเรียนการสอนด้วยวิธีการ 2 รูปแบบ คือการบรรยายในห้องเรียนรวม และการสัมมนาซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการเสริมหรือทบทวนความรู้ความเข้าใจของนักศึกษาในสิ่งที่เรียนมา เพื่อช่วยนักศึกษาให้มีโอกาสฝึกวิเคราะห์ประเด็นกฎหมาย ฝึกการลำดับความคิด และฝึกทักษะการเขียนด้วยการเขียนตอบแบบฝึกหัดปัญหาวิชากฎหมายหรือการเขียนตอบข้อสอบวิชากฎหมาย
หลักสูตรที่เปิดสอน
1. ภาคปกติ หลักสูตร 4 ปี เปิดสอนที่ศูนย์รังสิต
2. ภาคปกติ หลักสูตร 4 ปี เปิดสอนที่ศูนย์ลำปาง
3. ภาคปกติ ภาษาอังกฤษ หลักสูตร 4 ปี เปิดสอนที่ท่าพระจันทร์
4. ภาคบัณฑิต หลักสูตร 3 ปี สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขา ยกเว้นสาขานิติศาสตร์ เปิดสอนที่ท่าพระจันทร์
ประสบการณ์การเรียนจาก พี่วิน-ธนวินท์ วงศ์ศรีสุชน ปี 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แชร์เทคนิคการเรียน การทำความเข้าใจกฎหมาย บรรยากาศการเรียน การใช้ชีวิตในรั้วธรรมศาสตร์ รีวิวข้อสอบสอบตรง และแนะนำหนังสือเตรียมตัวสอบให้กับน้อง ๆ ที่สนใจเรียนกฎหมาย
รีวิวคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ | รายการพี่พาไป
ตอน ม.ปลาย ได้มีโอกาสเรียนวิชากฎหมาย ซึ่งตอนนั้นครูได้ทาบทามให้ไปแข่งขันตอบปัญหากฎหมาย ก็เลยรู้สึกอินกับมัน สนุกกับมัน หลังจากนั้นพยายามหาค่ายที่เกี่ยวกับกฎหมาย ไปเข้าร่วมเพื่อที่จะดูว่าตัวเองชอบจริง ๆ หรือเปล่า เเละที่ธรรมศาสตร์ ก็มีค่าย Pre-Camp ให้น้อง ๆ ได้เข้ามาค้นหาตัวเองเหมือนกัน
ปี 1 เรียนกฎหมายพื้นฐาน เช่น กฎหมายเเพ่งหลักทั่วไป กฎหมายอาญา ก็จะมีวิชา TU ต่าง ๆ ที่จะได้เรียนรวมกับคณะอื่น เช่น วิชาความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม การเรียนจะมีวิชาบังคับ วิชาเลือก และวิขาเสรี จะมีวิชาเลือกเสรีให้เราได้เลือกลงวิชากฎหมายที่สนใจ เช่น พี่ลงกฎหมายโรมัน เรียนตั้งแต่ประวัติศาสตร์ เค้าร่างกฎหมายยังไง ส่งอิทธิมาถึงกฎหมายของเราที่ใช้อยู่อย่างไรบ้าง มีวิชาที่หลากหลายให้เลือก กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายศาสนา กฎหมายอวกาศก็มีเช่นกัน
ปี 2 เข้าสู่วิชาคณะเป็นหลัก วิชากฎหมายที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น กฎหมายวิธีพิจารณาความเเพ่ง กระบวนการระบบศาล
ปี 3 - 4 ก็จะเรียนเจาะลึกมากขึ้น กฎหมายระหว่างประเทศ องค์กร บริษัท มรดก เป็นต้น
คณะนี้ฝึกงานช่วงปิดเทอมก่อนขึ้นปี 4 จะมีสำนักทนายความต่าง ๆ มาเปิดบูธรับสมัครเด็กฝึกงาน เค้าจะดูคะแนนเราเป็นอย่างไรบ้าง ทำกิจกรรมอะไรบ้าง
พี่จะเข้าบรรยายทุกครั้งเพราะไม่ชอบอ่านหนังสือเอง เพราะมันเยอะมาก เลยชอบเข้าไปฟังอาจารย์ ได้อะไรนอกเหนือจากหนังสือด้วย และเป็นการเจาะประเด็นในรายละเอียดให้เราเข้าใจเนื้อหานั้น ๆ เตรียมตัวสอบพี่ก็จะเน้นไปที่การทำข้อสอบ ฝึกทำข้อสอบเก่า ๆ ถ้าเราคิดว่าตัวเองอ่านหนังสือเข้าใจแล้ว แต่ไม่เคยลองทำข้อสอบ มันก็อาจจะทำให้เรายังไม่รู้ว่าเราเข้าใจเนื้อหามากเเค่ไหน
การเรียนอาจจะเน้นไปที่การจำอยู่บ้าง เเต่ที่จริงเราต้องเข้าใจเนื้อหาจริง ๆ ด้วยโดยเฉพาะเวลาเราเขียนตอบข้อสอบ เขียนวินิจฉัยตอบปัญหาต้องอาศัยความเข้าใจเป็นหลัก ส่วนเรื่องเทคนิคการจำแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ของพี่เน้นการเข้าฟังบรรยาย อัดเสียงอาจารย์มาฟังเรื่อย ๆ ซ้ำ ๆ
ในส่วนนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนนะครับว่ารูปแบบของข้อสอบในการรับเข้าแตกต่างไปจากเดิมพอสมควรเลยครับ ถ้าเทียบกับตอนที่พี่เข้ามา การับเข้าใช้ GAT 30% วิชาเฉพาะ 70%
คะแนนโดย GAT เชื่อมโยงมีสัดส่วนคะแนน 15 คะแนน และ GAT ENG มีสัดส่วน 15 คะแนน
ต่อมา วิชาเฉพาะมีสัดส่วนคะแนน 70 คะแนน ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 การใช้เหตุผลเชิงตรรกะ10 คะแนน (10 ข้อ)
ส่วนที่ 2 ความเข้าใจในการอ่าน 25 คะแนน (25 ข้อ)
ส่วนที่ 3 การใช้เหตุผลในทางกฎหมาย 35 คะแนน (35 ข้อ)
ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดของการสอบวิชาเฉพาะนี้คือ ไม่มีการทดสอบความรู้วิชากฎหมายและไม่มีการสอบเรียงความย่อความอีกต่อไป
ส่วนที่ 1 กับส่วนที่ 2 พี่เข้าใจว่าเป็นรูปแบบข้อสอบที่ยังไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งส่วนที่ 1 จะเป็นการวัดผลในลักษณะข้อสอบแบบคิดวิเคราะห์ โดยใช้เหตุผลเชิงตรรกะในการแก้ปัญหา
ส่วนที่ 2 จะทดสอบความข้าใจในการอ่านจับใจความประเด็นสำคัญ ความเข้าใจในภาษาต่าง ๆ ในบทความ
ส่วนที่ 3 ซึ่งเป็นการวัดเหตุผลในทางกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่าง ๆ จะเป็นสิ่งที่ถูกสมมติขึ้นทั้งหมดครับ ก็คืออาจจะมีหลักกฎหมายมาให้เราคิดวิเคราะห์แต่ทั้งหมดไม่ใช่กฎหมายที่มีอยู่จริง ๆ เลยครับ ในข้อสอบส่วนนี้อาจมีความคล้ายคลึงกับตอนที่พี่เข้ามาอยู่บ้างพี่จะขอรีวิวแค่ส่วนนี้นะครับ รูปแบบของโจทย์จะมีลักษณะเป็นการให้เราฝึกคิดวิเคราะห์การใช้เหตุผลในทางกฎหมาย โจทย์ที่พี่เคยเจอก็คือมีการให้หลักกฎหมายที่ถูกสมมติขึ้นมาแล้วโจทย์ก็ถามว่าจากหลักกฎหมายนั้นตรงกับข้อเท็จจริงในข้อใด หรือบางกรณีก็มีการให้ข้อเท็จจริงและมีการให้ตัวอย่างผลในทางกฎหมายมาแล้วให้เราตอบว่าศาลใช้หลักกฎหมายอะไรในการตัดสิน เป็นต้น ซึ่งพี่คิดว่าค่อนข้างท้าทายพอสมควรเพราะเราจะต้อง คิดวิเคราะห์และแยกแยะหลักกฎหมายต่าง ๆ แล้วเอาเข้าไปจับกับข้อเท็จจริง หรือเอาข้อเท็จจริงไปจับกับหลักกฎหมายครับ
รายละเอียดการรับเข้าต่าง ๆ และรูปแบบของตัวอย่างข้อสอบสามารถดูได้เพิ่มเติมที่ www.law.tu.ac.th/tcas2564
หนังสือที่พี่อ่านตอนสอบเข้าก็จะแบ่งออกเป็น 3 วิชาด้วยกัน ได้แก่ GAT เชื่อมโยง, GAT ภาษาอังกฤษ และ หนังสือวิชากฎหมายครับ
สำหรับ GAT เชื่อมโยงพี่ก็จะอ่านหนังสือ ของอ.ขลุ่ยครับ พี่รู้สึกว่าเป็นเล่มที่ทำให้พี่เข้าใจภาพรวมของข้อสอบได้อย่างดีเยี่ยมเลยครับซึ่งเป็นประโยชน์มาก ๆ ครับเพราะในหนังสือก็จะมีข้อสอบมาให้เราดูพร้อมเฉลยด้วย เราจะได้รู้ว่าเราทำผิดพลาดตรงไหน หลังจากที่พี่ทำโจทย์ครบทุกข้อแล้วพี่ก็จะเริ่มนำข้อสอบเก่า ๆ มานั่งทำดูครับ จะได้รู้ว่าเรามีความรู้ความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน
ส่วน GAT ภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่พี่ค่อนข้างชอบอยู่แล้วเลยหาหนังสือหลาย ๆ เล่มมาลองนั่งฝึกทำซึ่งแต่ละเล่มก็จะมีลักษณะที่มีความยากง่ายแตกต่างกันออกไปแต่รูปแบบของโจทย์ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน หนังสือที่พี่แนะนำมี 4 เล่ม สำหรับเล่มพื้นฐานที่พี่คิดว่าควรเริ่มทำในตอนแรกก่อนถ้ายังไม่ค่อยคล่อง คือ จับตาย วายร้าย GAT ENGLISH เล่มที่สองคือ ตะลุยโจทย์ VOCAB 1,000 ข้อ ซึ่งจะพาเราไปทำความรู้จักกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษต่าง ๆ เล่มที่สามซึ่งเป็นเล่มที่พี่คิดว่ามีความใกล้เคียงกับข้อสอบจริง ๆ ตอนที่พี่สอบมากที่สุด คือ แนวข้อสอบ GAT ภาษาอังกฤษ ของ ผศ.ดร ศุภวัฒน์ พุกเจริญ แต่ถ้าน้อง ๆ คนไหนคิดว่าเราค่อนข้างคล่องแล้วพี่แนะนำให้ลองทำ แนวข้อสอบ 9 วิชาสามัญภาษาอังกฤษ ดูครับซึ่งโจทย์มีความยากพอสมควรเลยครับ แต่สำหรับหนังสือที่พี่แนะนำมาทั้งหมดนี้ พี่คิดว่าเราจะต้องท่องศัพท์และฝึกทำข้อสอบเก่า ๆ ของจริงผสมไปด้วยครับจะทำให้เราเห็นภาพรวมต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
หนังสือวิชากฎหมายที่พี่อ่านมีอยู่สองเล่มด้วยกันคือ หนังสือเตรียมสอบเข้านิติศาสตร์ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป ซึ่งเล่มนี้เป็นเล่มที่พี่ใช้ทบทวนเนื้อหาในภาพรวม เล่มที่สองคือ คัมภีร์สอบตรง นิติศาสตร์ Themizlaw เป็นเล่มที่พี่ใช้ฝึกทำโจทย์และข้อสอบเก่า แต่ทั้งนี้หลักเกณฑ์และรายละเอียดของข้อสอบในการรับเข้าในปัจจุบันค่อนข้างมีความแตกต่างจากตอนที่พี่เข้ามา อยากให้น้อง ๆ เช็คให้ดีก่อนนะครับว่าหนังสือเล่มไหนใกล้เคียงกับข้อสอบปัจจุบันมากที่สุด
สำหรับพี่คิดว่าจุดเด่นของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์มีอยู่ 3 อย่าง คือความอิสระ และมีกิจกรรมให้ทำค่อนข้างมาก และมีรูปแบบการเรียนที่หลากหลายครับ
ก่อนอื่นเลยต้องบอกก่อนว่า คณะนิติศาตร์เราจะมีรูปแบบรายวิชาอยู่ 2 รูปแบบ คือวิชาบังคับและวิชาเลือก ซึ่งวิธีการวัดผลจะใช้การสอบทั้งหมด 100 คะแนนเต็ม ซึ่งก็อาจจะมีการสอบกลางภาคบ้างหรือปลายภาคบ้างแล้วแต่วิชา บางวิชาก็อาจจะมีการเก็บคะแนนในรูปแบบรายงานบ้างครับซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวิชาเลือก ภาระในการทำการบ้านต่าง ๆ จึงถือว่าน้อยมาก ๆ ครับถ้าเทียบกับคณะอื่น และเวลาเข้าเรียนในคณะไม่มีการเช็คชื่อเลยครับ จะเข้าเรียนหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นนักศึกษาคณะนี้สามารถที่จะใช้ชีวิตกันได้อย่างค่อนข้างเสรี ไม่ถูกบังคับ เราสามารถที่จะจัดสรรเวลาต่าง ๆ ของตัวเองได้ตามต้องการ อย่างบางคนเป็นสายชอบทำกิจกรรมก็สามารถทำกิจกรรมได้ค่อนข้างเต็มที่ บางคนชอบเรียน ก็สามารถใช้เวลากับการค้นคว้าศึกษาเรียนรู้ได้ตลอด แต่ทุก ๆ คนก็มีวินัยของตนเองครับ พี่คิดว่าคณะนิติศาสตร์เป็นคณะที่ฝึกฝนความรับผิดชอบต่อสิ่งต่าง ๆ ได้ดีมากครับ
แม้ว่าคณะเราจะขึ้นชื่อว่าเป็นคณะที่เรียนกันค่อนข้างหนัก เพราะต้องอ่านหนังสือเยอะมากครับแต่คณะของพวกเราก็มีกิจกรรมให้ทำมากถึง 16 กลุ่มกิจกรรมเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น การแสดงศาลจำลอง นิติวิชาการ ค่ายอาสาต่าง ๆ LAW-TU FOOTBALL CLUB และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย สำหรับพี่เองก็ทำกิจกรรม AIESEC ซึ่งเป็นกิจกรรมนอกคณะที่เปิดโอกาสให้เราได้พบปะกับเพื่อน ๆ ชาวต่างชาติ และพี่ก็ทำกิจกรรมการแข่งขันว่าความศาลจำลองเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยอีกด้วยซึ่งพี่มองว่านอกจากจะทำให้ทำให้ผมได้ฝึกฝนทักษะทางด้านภาษาแล้วยังทำให้ผมได้มีโอกาสค้นคว้ากฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศถือว่าเป็นประโยชน์มาก ๆ ครับ
ท้ายสุดคือรูปแบบการเรียนของคณะเรามีความหลากหลายมากครับ เพราะเนื่องจากคณะนิติศาสตร์ได้ทำการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ทำให้การเรียนวิชาบังคับน้อยลง นักศึกษาในคณะจึงมีโอกาสที่จะได้ไปศึกษาวิชาเสรีตามที่อยากเรียนได้ครับ บางคนอยากเก็บสายตามสาขาวิชาที่ตนชอบก็สามารถทำได้เช่นกันครับ เช่นสาขากฎหมายอาญา สาขากฎหมายแพ่ง กฎหมายพาณิชย์ กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้น แต่บางคนก็อาจจะสนใจวิชาในหลายสาขาก็สามารถลงเรียนได้เช่นกัน ซึ่งวิชาต่าง ๆ เราก็จะได้ทำการศคึกษารายละเอียดในเชิงลึกเลย
เอาเป็นบรรยายกาศภายในคณะนิติศาสตร์เราก่อนละกันครับ หลาย ๆ คนอาจเข้าใจว่าคณะนิติศาสตร์เป็นคณะที่เรียนหนักมาก ๆ ต้องอ่านหนังสือเยอะมาก ๆ ก็คงปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ครับ แต่พี่ขอบอกตรงนี้เลยว่าไม่มีคณะไหนที่เรียนไม่หนักหรอกครับ พี่คิดว่าการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยแต่ละคณะพี่ความยากในตัวเองอยู่แล้ว สำหรับคณะนิติศาตร์เราจริง ๆ ต้องบอกว่าบรรยากาศการเรียนค่อนข้างที่จะชิล ๆ สบาย ๆ เลยก็ว่าได้ครับ เพราะอย่างที่พี่บอกไปว่าคณะเราไม่มีการเช็คชื่อในการเข้าเรียน ทุกคนก็สามารถจัดสรรเวลาต่าง ๆ ของตนเองได้
บรรยากาศในห้องเรียนก็มีหลากหลายรูปแบบครับ บางวิชาก็อาจเน้นไปที่การฟังอาจารย์บรรยาย แต่บางวิชาก็อาจมีการเรียนในรูปแบบของการสัมนา เราก็จะมีโอกาสได้โต้ตอบพูดคุยกับอาจารย์ โดยอาจารย์ก็มักจะถามคำถามต่าง ๆ ให้เราคิดวิเคราะห์ อาจารย์แต่ละท่านก็จะมีสไตล์การสอนที่แตกต่าง ๆ กันออกไปเช่นกัน บางท่านอาจจะสอนเน้นไปที่การวิเคราะห์คำพิพากษา อาจารย์บางท่านก็มีการสอนเน้นไปที่ ตัวทฤษฎี ประวัติศาสตร์ความเป็นมา แนวความเห็นต่าง ๆ ของนักกฎหมาย หรืออาจารย์บางท่านก็มีการสอนเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศด้วยครับขึ้นอยู่กับแต่ละวิชา
สำหรับคนที่ชื่อชอบภาษาอังกฤษบางวิชามีการเรียนการสอนในรูปแบบของการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษด้วยครับ อาจารย์ในคณะหลาย ๆ ท่านก็ค่อนข้างเปิดรับมุมมองทางความคิดต่าง ๆ เราสามารถโต้แย้งอาจารย์ได้โดยใช้เหตุผล นอกจากนี้สำหรับคนที่อยากเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ เราสามารถไปลงเรียนวิชาอื่น ๆ นอกคณะได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นคณะที่มีความหลากหลายทางการเรียนรู้มาก ๆ ครับ
เพื่อน ๆ ที่นี่ก็น่ารักมาก ๆ เช่นกันครับ คือเด็กนิติเราไม่ได้เรียนหนักกันจนเครียดอย่างเดียวนะครับ เราก็มีการผ่อนคลายกันเช่นกัน บางคนก็ไปทำทั้งกิจกรรมในคณะ นอกคณะ บางคนก็ไปเล่นกีฬา ไปออกกำลังกาย บางคนก็ชอบทำงานอดิเรกอื่น ๆ ก็มีครับ ช่วงใกล้สอบก็มีการนัดกันไปติวไปอ่านหนังสือกันอีกด้วย แม้ว่าจะมีการแข่งขันกันอยู่บ้างแต่ก็เป็นคณะที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ดีเลยครับระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง บางครั้งเราไม่เข้าใจอะไร หรือเราอยากรู้เรื่องต่าง ๆ เช่น วิชาที่จะลง แนวทางการสอนของอาจารย์ เราก็สามารถถาม พี่ ๆ เพื่อน ๆ ได้ตลอดเลยครับ
สำหรับบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยก็เป็นไปอย่างเป็นกันเอง ราบรื่น แม้ว่าอากาศจะมีร้อนบ้างแต่ก็มีต้นไม้ค่อนข้างเยอะครับ นักศึกษาส่วนใหญ่ที่อยู่ศูนย์รังสิตจะอยู่หอพักกัน เราก็จะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่แคมปัสกันเป็นหลักซึ่งที่นี่ก็มีสิ่งต่าง ๆคอยอำนวยความสะดวกเยอะมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น ห้องสมุด สนามกีฬา โรงยิม ฟิตเนส หรือ สวนสาธารณะก็มีครับ ร้านอาหาร คาเฟ่ ของกินต่าง ๆ ก็มีให้เลือกมากมายเช่นกัน ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะมีของกินไม่เพียงพอแน่นอนครับ
ข้อดีของมหาวิทยาลัยเราคือค่อนข้างให้เสรีภาพในการแต่งกายมากครับ เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ ใส่ชุดอะไรไปเรียนก็ได้เลยครับ ขอแค่ให้สุภาพก็พอ ซึ่งเป็นผลดีกับคนอยู่หอมาก ๆ เพราะบางคนอาจจะไม่ชอบรีดเสื้อเยอะก็ใส่เสื้อยืดไปเรียนได้ แถมประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดนักศึกษาด้วยครับ
สำหรับคนที่ลงเรียนวิชาอื่น ๆนอกคณะหรือวิชาของมหาลัยก็จะเปิดโอกาสให้เราได้พบปะกับเพื่อน ๆ นอกคณะด้วยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่าง ๆ ระหว่างกัน และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังมีกิจกรรมของมหาลัยให้เลือกทำอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ชุมนุม ชมรม โต้วาที กีฬาต่าง ๆ ใครชอบเล่นดนตรี ร้องเพลงก็มี TU Folksong ใครอยากฝึกภาษาได้คุยกับเพื่อน ๆ ต่างชาติก็มีกลุ่มกิจกรรม AIESEC และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย
ค่าเทอมในคณะนี้ถือว่าถูกและคุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้มาก ๆ ครับ โดยค่าเทอมในส่วนภาคไทยของคณะเราจะตกอยู่ที่ประมาณ 13,800 บาท ส่วนภาคอื่น ๆ ก็จะแตกต่างกันออกไป
หลังเรียนจบ 4 ปี บางคนเรียนต่อปริญญาโท หรือเรียนต่อเนติบัณฑิต เพื่อจะเป็น ผู้พิพากษา อัยการ ต่อไป บางคนก็ทำงานเลย เป็นทนาย หรือไปทำงานด้านพนักงาน law firm ก็ได้ จริง ๆ กฎหมายทำอาชีพได้หลากหลายมาก ๆ เพราะกฎหมายอยู่ในชีวิตประจำของทุกคน เกือบทุกบริษัทต้องมีทีมกฎหมาย
คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
www.law.tu.ac.th
บทความที่เกี่ยวข้อง
รู้จักอาชีพ ทนาย อย่างละเอียดมากขึ้น