สวัสดีครับ พี่ม่วน-ตรอง หลงสมบูรณ์ เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เหตุผลที่เลือกเข้าเข้าคณะวิศกรรมศาสาตร์ เพราะเป็นคนชอบเลขและฟิสิกส์ แล้วก็ชอบวิชาคำนวณมากกว่าท่องจำด้วย ก็เลยรู้สึกว่าคณะนี้น่าจะตอบโจทย์ความสนใจ และความถนัดของเรา แล้วก็มองว่าอาชีพนี้ก็เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงระดับนึง ส่วนการเลือกสาขา ที่เลือกเรียนด้านวิศวกรรมสำรวจ เพราะด้วยเนื้องานคิดว่าน่าจะได้มีโอกาสไปเที่ยว ไปทำงานในหลากหลายประเทศ เจอผู้คนหลากหลาย
คณะวิศวกรรมศาสตร์ของเราก็จะมีความหลากหลายไปตามสาขาต่าง ๆ โดยหลัก ๆ แล้วก็จะเน้นไปที่การคำนวณ เรียกได้ว่าหลีกเลี่ยงการคำนวณไม่ได้เลยหากอยู่คณะนี้ ตัวข้อสอบหรือวิชาที่เรียนก็จะเน้นไปที่การคิด วิเคราะห์ คำนวณต่าง ๆ มากกว่าการท่องจำ จึงต้องมีความเข้าใจจริง ๆ ถึงจะสามารถทำข้อสอบได้ ซึ่งข้อสอบ วิศวะ จุฬาฯ นี่ก็เป็นที่รู้ ๆ กันอยู่แล้วว่ายากสุด ๆ ส่วนมากเด็กคณะนี้ก็ต้องอ่านหนังสือกันโต้รุ่งเลยทีเดียว แต่ก็มีสังคมในคณะที่สนุกสุดเหวี่ยงเหมือนกัน เรียกได้ว่า “work hard, play harder”
สาขาวิชาวิศวกรรมสำรวจ ถือเป็นสาขาที่ค่อนข้างเฉพาะทางมาก ๆ โดยเนื้อหาหลักๆก็จะเกี่ยวกับการรังวัดค่าพิกัดต่าง ๆ โดยก็จะมีแบ่งลึกลงไปเช่น การรังวัดค่าระดับเพื่อการก่อสร้าง การทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ รวมถึงระบบสารสนเทศ และดาวเทียมต่าง ๆ ที่รู้จักกันทั่วไปก็เช่น GPS, google map เป็นต้น
ปี 1 ก็จะเรียนรวมกันทุกภาค เป็นเนื้อหาเดียวกันหมดครับ โดยหลัก ๆ ก็จะมี แคลคูลัส ฟิสิกส์ เคมี drawing python แล้วก็ภาษาอังกฤษ ซึ่งปี 1 ก็จะถือเป็นช่วงที่หนักมาก ๆ เนื่องจากเพิ่งปรับตัวมาสู่ชีวิตการเป็นนักศึกษา ประกอบกับเนื้อหาปี 1 ที่อัดแน่นมาก ๆ
ปี 2 ช่วงต้นเทอมก็จะยังมีวิชาที่เรียนรวมอยู่บ้าง เช่น Engineering Mechanics ที่เป็นการต่อยอดหลักการฟิสิกส์ในชีวิตจริงมากขึ้น วิชาสถิติ รวมถึง Communication& Presentation English ส่วนในเทอมปลายก็จะเป็นวิชาภาค เช่น General Geology เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ซึ่งมีความสำคัญต่อภาคเรา, Numerical Analytic เป็นวิชาเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูล โดยเนื้อหาปี 2 ก็จะได้เรียนร่วมกับภาคอื่นอยู่บ้างในบางวิชา
ปี 3 เป็นปีที่เนื้อหาเข้มข้นที่สุด โดยเรียนแต่วิชาภาคทั้งหมด อย่างของภาควิชาสำรวจก็จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับกางรังวัดระยะไกล และภาพถ่ายทางอากาศ อย่างวิชา Photogrammetry และ Remote sensing, Construction Surveying ซึ่งเกี่ยวกับการรังวัดภาคพื้นดิน ทั้งในรูปแบบ lecture และ lab ที่สำคัญในปีนี้จะได้ไปค่ายสำรวจของจุฬาฯ ที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นเวลา 2 อาทิตย์ เรียกได้ว่าลงพื้นที่จริงเพื่อสัมผัสประสบการณ์ทำงานในอนาคต
ปี 4 เนื้อหาก็จะไม่หนักมากแล้ว เน้นที่ไปที่ thesis ซึ่งเป็นเหมือน senior project จบ ซึ่งเราก็สามารถเลือกหัวข้อที่เราสนใจ เป็น profile สำคัญหลังเรียนจบด้วย ส่วนวิชาที่เรียนก็จะเน้นเจาะลึกมากขึ้น สามารถนำไปใช้จริงได้มากขึ้น โดยเราสามารถเลือกเรียนได้ เช่น Data science with spetial data คือการนำหลักการของ data science มาประยุกต์ใช้กับข้อมูลเชิงพื้นที่
จุดเด่นของ วิศวะ จุฬาฯ มองว่าคือความเข้มข้นของเนื้อหา และความยากของข้อสอบ โดยเนื้อหาที่เรียนใน 1 เทอมอัดแน่นมาก ๆ มีเนื้อหาหลายบทรวมกันในข้อสอบ จึงทำให้นิสิตต้องมีความขยัน มีวินัยอยู่เสมอ รวมถึงความกดดันของบรรยากาศ เนื่องจากเป็นคณะและมหาวิทยาลัยที่รวมตัวคนเก่งระดับต้น ๆ ของประเทศ ทำให้มีการแข่งขันที่สูง ซึ่งก็ถือว่าเป็นข้อดีในการทำให้เราต้องพยามยามพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
แน่นอนว่าการเป็นเด็กเฟรชชี่ก็จะมีกิจกรรมมารอต้อนรับเราเข้าสู่รั้วมหาลัยหลากหลายประเภทมาก เช่น
CU First Date กิจกรรมแรกพบของชาวจุฬาฯ เป็นกิจกรรมแรกที่เราจะได้มีโอกาสเข้าร่วมในฐานะนิสิตจุฬาฯ อย่างเป็นทางการ ได้พบเพื่อนทั้งในและนอกคณะเป็นครั้งแรก โดยทำให้เราทราบข้อตกลงคร่าว ๆ ในการเป็นนิสิตจุฬาฯ และนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ และมีกิจกรรมรับน้องเล็กน้อยพอสนุกสนาน
CU freshy game เป็นการแข่งขันกีฬาที่จัดขึ้นสำหรับน้องใหม่ปี 1 ที่เข้ามาในรั้วจุฬาฯ โดยตัวพี่เองเป็นนักฟุตบอลของคณะ ก็ได้ผ่านประสบการณ์ซ้อมสุดเข้มข้น ซึ่งถือว่าเป็นธรรมเนียมของชมรมฟุตบอลคณะวิศวกรรมศาสตร์ และชมรมนี้ก็ทำให้ได้เพื่อนที่สนิทที่สุดในชีวิตมหาลัยของพี่
ค่ายวิษณุกรรมบุตร เป็นค่ายรับน้อง 3 วัน 2 คืนของ วิศวะ จุฬาฯ โดยชื่อค่ายก็มาจาก “พระวิษณุกรรม” ซึ่งถือว่าเป็นองค์พ่อที่ชาววิศวะ จุฬาฯ ทุกคนให้ความเคารพบูชา ซึ่งค่ายนี้ก็จะทำให้เราได้รู้จักได้สนิทสนมกับคนในคณะ ซึ่งก็จะได้เพื่อนสนิทจำนวนมากไปจากค่ายนี้ โดยหลัก ๆ แล้วก็จะเน้นไปที่ความสนุกสนาน กิจกรรมต่าง ๆ อย่าง freshy night ที่เป็นค่ำคืนคอนเสิรต์ใหญ่สำหรับเด็กจุฬาฯ ทุกคณะได้สนุกสนานร่วมกัน รวมถึงมีกิจกรรมพิเศษที่เป็นธรรมเนียมของชาว CU intania แต่พี่ขอเก็บเป็นความลับไว้ก่อน ใครอยากรู้ต้องลองเข้าไปเรียนเองดูนะ
การเตรียมตัวสอบ อันดับแรกสำหรับพี่คือการกำหนดให้ชัดเจนว่า เราอยากเข้าคณะอะไร เพราะจะช่วยให้เราสามารถเตรียมตัวได้อย่างชัดเจน และวางแผนการอ่านหนังสือของเราได้ อย่างตัวพี่พอมีเป้าหมายในการสอบเข้าวิศวะ จุฬาฯ ก็พุ่งเป้าไปที่ GAT PAT 1 PAT 3 เลย ไม่ได้เตรียมตัวสอบ 9 วิชาสามัญ เพราะอย่าลืมว่ายิ่งเราชัดเจนเราก็จะโฟกัสได้ง่ายขึ้น
Engineering sense - ถือว่าเป็นหนังสือเตรียมสอบ PAT3 ที่มีความครบถ้วน ครอบคลุมทั้งเนื้อหา คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และความถนัดทางวิศวกรรม จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือการมีดาวกำกับในแต่ละข้อ โดยจำนวนของดาวแสดงถึงความบ่อยของข้อสอบแนวนี้ที่ออก เป็นการเก็งข้อสอบคร่าวๆ และอีกจุดเด่นคือเฉลยที่แสดงวิธีทำไว้อย่างละเอียดซึ่งสำคัญมากสำหรับการทำข้อสอบคำนวณ
แนวข้อสอบ GAT ภาษาองักฤษ - ข้อดีของหนังสือเล่มนี้คือรวบรวมข้อสอบแต่ละบท ไม่ว่าจะเป็น Reading, Error, Fill in the blank จึงทำให้เหมือนทำข้อสอบจริงเลย ข้อดีอีกอย่างคือเฉลยจะมีแปลภาษาไทยให้เราด้วย
PAT 1 - เรียกว่าเป็นหนังสือที่รวบรวมข้อสอบเก่าไว้ค่อนข้างครบ โจทย์โดยรวมเรียกได้ว่าค่อนข้างยากเลย ทำแล้วเหมือนได้ลองทำข้อสอบจริง สามารถจับเวลาในการทำได้
GAT เชื่อมโยง - เป็นหนังสือที่มีการไล่ระดับความยากของโจทย์จากง่ายไปถึงยาก รวมถึงเฉลยอธิบาย ส่วนตัวพี่มองว่าข้อสอบ gat เชื่อมโยงทำเล่มเดียวก็พอแล้ว
Physics ขนมหวาน - เป็นหนังสือที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาทั้งหมดของวิชาฟิสิกส์ หนังสือเล่มนี้ครอบคลุมไปถึงการสอบฟิสิกส์ตัวอื่น ๆ นอกจาก PAT 3 ด้วยเช่น ฟิสิกส์สามัญ และ PAT 2 ถ้าไม่ใครสอบแค่ PAT 3 แล้วมีเวลาไม่เพียงพอ สามารถเลือกทำเป็นบท ๆ จากหนังสือเล่มนี้ก็ได้
พี่ก้อยชวน พี่ ๆ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มาช่วยรีวิวหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะมีเล่มไหนบ้างต้องมาดูกัน และยังมีเคล็ดลับการอ่านหนังสือ+การทำข้อสอบมาบอกกันด้วย
สำหรับตลาดงานของวิศวะสำรวจ ก็สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น วิศวกรสำรวจสายโครงสร้าง (Construction Survey) ก็จะทำงานในด้านการรังวัดภาคพื้นดิน โดยเป็นการวัดมุม วัดระยะต่างๆ ในการคำนวณวัตถุต่างๆในตำแหน่งที่เราสนใจ
วิศวกรสำรวจเกี่ยวกับแผนที่ ทั้งในการทำการสำรวจและรังวัดจากภาพถ่ายทางอากาศ (Photogrammetry) หรือ ระยะไกล (Remote Sensing)
การรังวัดด้วยสัญญาณระบบดาวเทียมนำหน (GNSS) หรือที่เรารู้จักกันในนาม GPS และ ระบบสารสนเทศ (GIS) ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เริ่มมีความสำคัญมากในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการลงจอดของยานต่าง ๆ รวมถึงในเชิงธุรกิจเช่น Location Intelligence
ค่าเทอมอยู่ที่ เทอมละ 21,000 บาท
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมสำรวจ
www.eng.chula.ac.th