Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
TCAS 65 เป็นต้นไป การเข้ามหาวิทยาลัยไทย เป็นการรับตรง 100 % !

  Favorite

          เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายยกเลิกการสอบ ONET ของทุกระดับชั้น โดยจะเริ่มจากชั้น ม. 6 ของปีการศึกษา 2564 ซึ่งจะตรงกับ TCAS 65 ดังนั้นในระบบ TCAS 65 น้อง ๆ จะไม่มีคะแนน ONET มาใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และผลที่ตามมาคือ การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาไทย จะกลายเป็นรูปแบบการรับตรง 100 % !  รายละเอียดและหลักเกณฑ์จะเป็นอย่างไร ไปติดตามกัน

 

ยกเลิกรูปแบบ Admission 2 รับกลางร่วมกัน

          ในระบบ TCAS ก่อนปี 65 รูปแบบ Admission 2 (รับกลางร่วมกัน) เป็นรูปแบบเดียวที่เป็นระบบรับกลาง หมายถึงสาขา / คณะที่มีหลักสูตรเดียวกัน จะใช้เกณฑ์การคัดเลือกเหมือนกัน แม้จะต่างสถาบันกันก็ตาม โดยมีองค์ประกอบในการคัดเลือกคือ GPAX 20 %, O-NET 30 % และ GAT PAT 50% ดังนั้นถ้ายกเลิกการสอบ O-NET ก็จะทำให้ไม่มีคะแนน O-NET มาใช้ในเกณฑ์การคัดเลือกรูปแบบ Admission 2 จึงเป็นเหตุให้ ทปอ. ยกเลิกการคัดเลือกในรูปแบบ Admission 2 ดังนั้นในระบบ TCAS 65 จึงคงเหลือ 4 รูปแบบ 4 รอบ ซึ่งทุกรูปแบบและทุกรอบล้วนเป็นการรับตรง (กำหนดเกณฑ์และคัดเลือกตรงโดยมหาวิทยาลัย) ทั้งสิ้น

 

รับตรง 4 รอบ 4 รูปแบบ

1. Portfolio รับตรงโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน
2. Quota รับตรงโควตาตามเกณฑ์ที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด
3. Admission รับตรงร่วมกัน
4. Direct Admission รับตรงอิสระ

 

รอบ 1, 2 และ 4 สมัครตรงกับมหาวิทยาลัย รอบ 3 สมัครผ่าน ทปอ.

รอบ 1 Portfolio

ใช้แฟ้มสะสมผลงานเป็นเครื่องมือแสดงความโดดเด่น ความสนใจ ความถนัด ความสามารถพิเศษ ความเป็นเลิศ หรือมีผลงานที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับคณะที่จะเข้าศึกษา โดยมีหลักการคือ
- ใช้ความสนใจ ความถนัด ความสามารถพิเศษ ในการรับเข้า
- ไม่ใช้ข้อสอบกลาง (GAT, PAT และ วิชาสามัญ)
- ใช้แฟ้มสะสมผลงาน  (จำนวน 10 หน้า ไม่รวมปก)
- สมัครตรงกับมหาวิทยาลัย และสมัครได้หลายที่
- ใช้ GPAX 4 หรือ 5 ภาคเรียน (บางโครงการ)
- ติดได้หลายที่ แต่ยืนยันสิทธิ์ได้ 1 ที่
- ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ Clearing House

 

รอบ 2 Quota

รอบนี้เป็นรอบของโควตาตามกฎเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด เช่น โควตาโรงเรียนที่มีเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย โควตาเรียนดี / มีความสามารถพิเศษ, โควตาเขตพื้นที่, โควตากระจายโอกาสให้เด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือโควตารูปแบบต่าง ๆ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- ใช้ข้อสอบกลาง (GAT, PAT, วิชาสามัญ) / GPAX (รายละเอียดขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ)
- สอบเพิ่มเติม (บางโครงการ)
- สมัครตรงกับมหาวิทยาลัย และสมัครได้หลายที่
- ติดได้หลายที่ แต่ยืนยันสิทธิ์ได้ 1 ที่
- อาจใช้แฟ้มสะสมผลงานเป็นองค์ประกอบร่วม
- ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ Clearing House

 

รอบที่ 3 Admission

รอบนี้คือรอบรับตรงร่วมกัน เป็นรอบที่ลุ้นระทึกมาก  เพราะทุกสถาบันจะเปิดรับสมัครพร้อมกัน ในวันและเวลาเดียวกัน โดยจำกัดการเลือกไว้ตามจำนวนอันดับที่ ทปอ.กำหนด (ตอนนี้ยังไม่สรุปจำนวน รอผลจากการวิเคราะห์พฤติกรรมการเลือกคณะจาก TCAS 64 ก่อน) และที่สำคัญคือ ใช้คะแนนสอบเป็นหัวใจในการคัดเลือก โดยมีหลักการดังนี้
- เลือกได้จำกัดจำนวน เรียงตามลำดับความชอบ  (รอสรุปจำนวนจาก ทปอ.)
- กสพท อยู่ในรอบนี้
- มหาวิทยาลัยกำหนดเกณฑ์ตรงของใครของมัน แต่รับสมัครผ่าน ทปอ.
- มหาวิทยาลัยดำเนินการคัดเลือกเอง แล้วส่งผลการคัดเลือกกลับให้ ทปอ.ประมวลผล
- ทปอ.ประกาศผลการติดเพียง 1 อันดับ คืออันดับสูงสุดที่น้องสอบติด
- มีการประมวลผล 2 ครั้ง (Double Sorting)
- ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ Clearing House ในการประกาศผลครั้งที่ 1 และใช้ระบบ Auto Clearing ในการประกาศผลครั้งที่ 2

 

รอบที่ 4 Direct Admission

รอบนี้คือรอบเก็บตก ปลายทางรอบสุดท้ายของระบบ ดังนั้นการวางแผนการรับอาจจะแยกเสียหน่อย เพราะจำนวนรับน้อยที่สุด และบางสถาบันก็ไม่ได้เปิดรับในรอบนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนน้อง ๆ ที่ยืนยันสิทธิ์จากการรับในรอบก่อนหน้า  โดยมีหลักการดังนี้
- ใช้รูปแบบการคัดเลือกหลากหลาย (GPAX, GPA, GAT, PAT หรือ วิชาสามัญ)
- สมัครตรงกับมหาวิทยาลัย และสมัครได้หลายที่
- ไม่ต้องยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ Clearing House

 

ทุกรอบต้อง Clearing House ผ่านระบบ mytcas ของ ทปอ.

          แม้ว่าระบบการคัดเลือกจะเป็นระบบการรับตรง แต่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่วยกระจายโอกาสอย่างเสมอภาค ตามหลักการของ TCAS ที่กำหนดให้ทุกคนมี 1 สิทธิ์เท่าเทียมกัน ดังนั้นน้อง ๆ ที่สอบติดในรอบที่ 1, 2 หรือ 3 ไม่ว่าจะติดรอบใดก็ตาม จะต้องเข้ามา Clearing House หรือยืนยันสิทธิ์ในระบบ mytcas ซึ่งเป็นระบบที่ใช้บริหารจัดการสิทธิ์ในระบบ TCAS (ยกเว้นคนที่ติดในรอบที่ 4 Direct Admission ไม่ต้องเข้ามายืนยันสิทธิ์ในระบบของทปอ. แต่ให้ไปยืนยันสิทธิ์กับมหาวิทยาลัยที่ติดได้เลย)   

 

รอบที่ 3 Double Sorting ประมวลผล 2 รอบ

          ในรอบที่ 3 Admission (รับตรงร่วมกัน) จะมีการประมวลผลการคัดเลือกและประกาศผล 2 ครั้ง ในรอบเดียว ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาที่นั่งว่างจากการสละสิทธิ์ และให้มหาวิทยาลัยสามารถเติมคนไปยังที่นั่งที่ว่างได้ทัน อีกทั้งยังช่วยให้น้อง ๆ ได้รับโอกาสสอบติดที่ตรงใจเพิ่มมากขึ้น

          แนวทางการประมวลผล คือ เมื่อประกาศผลครั้งแรกของรอบที่ 3 น้องที่สอบติด จะต้องเข้ามาแสดงความจำนงยืนยันสิทธิ์ (เลือกเรียนคณะที่สอบติด และหมดสิทธิ์ไป TCAS รอบต่อไป ยกเว้นจะสละสิทธิ์ก่อน) หรือไม่ใช้สิทธิ์ (สอบติดแต่ไม่เอา และสามารถไปลุยต่อใน TCAS รอบต่อไปได้) หรือขอประมวลผลครั้งที่ 2 เพื่อลุ้นให้สอบติดในอันดับที่สูงขึ้นกว่าครั้งแรกได้ ส่วนคนที่สอบไม่ติด ก็ต้องเข้ามาแสดงความจำนงขอประมวลผลการคัดเลือกครั้งที่ 2 ด้วยเช่นกัน จากนั้นระบบจะประมวลผลครั้งที่ 2 เพื่อเติมคนไปยังที่นั่งที่ว่าง ทำให้น้อง ๆ มีโอกาสได้เข้าเรียนในสาขาที่ใช่และชอบมากขึ้น

 

ไม่มีคะแนนเปรียบเทียบแบบ Admission 2 (รับกลางร่วมกัน)

          เมื่อการคัดเลือกใน TCAS 65 เป็นการรับตรง 100 % ดังนั้นกฎเกณฑ์กติกาต่าง ๆ สถาบันจะเป็นผู้กำหนดและดำเนินการแยกกันคัดเลือก ดังนั้นส่วนใหญ่จึงไม่มีคะแนนเปรียบเทียบระหว่างกันเหมือนกับรูปแบบ Admission 2 (รับกลางร่วมกัน) ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่สำหรับรอบที่ 3 Admission (รับตรงร่วมกัน) อาจมีบางสถาบันที่ประกาศคะแนนสูงสุด - ต่ำสุดของปีที่ผ่านมา ดังนั้นถ้าน้อง ๆ จะใช้ข้อมูลนี้วิเคราะห์ก็จะต้องพิจารณาทีละสาขา ทีละสถาบัน เราจะต้องไม่มองแค่ว่า คะแนนของเราได้เท่านี้ จะสามารถติดสาขาอะไรได้บ้าง น้องจะไม่สามารถคำนวณคะแนนทีเดียว แล้วเอาไปเปรียบเทียบแต่ละสถาบันได้แบบ Admission 2 (รับกลางร่วมกัน) แต่จะต้องคำนวณคะแนนตัวเองแยกไปทีละสาขา

    

การใช้ GPAX, GPA ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละมหาวิทยาลัย

          เมื่อ ทปอ. ปรับรูปแบบการคัดเลือกเป็นการรับตรงทั้งหมด ดังนั้นเรื่องของการใช้เกรดเป็นหลักเกณฑ์ในการแข่งขัน จึงมีการปรับเปลี่ยนไป ไม่มีการกำหนดให้ใช้ GPAX เป็นองค์ประกอบในการรับเข้าเหมือนกับระบบเก่า ในรูปแบบ Admission 2 (รับกลางร่วมกัน) ดังนั้นสาขา คณะ หรือสถาบันจะเลือกใช้เกรดหรือไม่ หรือจะใช้ในรูปแบบใด จะเป็นใช้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำเพื่อคัดกรองคุณสมบัติ หรือจะใช้เป็นค่าน้ำหนักก็แล้วแต่ดุลยพินิจของแต่ละสถาบัน

 

          เมื่อระบบปรับเปลี่ยนไป แต่หัวใจไม่ได้เปลี่ยนแปลง ใครรักสถาบันไหน ชอบสาขาใด ก็ไม่ต้องกังวล เราแค่ปรับตัวเราให้เลือกใช้เครื่องมือในการแข่งขันให้ถูกต้อง เหมาะสม และเตรียมตัวให้พร้อม ให้ตรงตามคุณสมบัติต่าง ๆ เพียงเท่านี้ ไม่ว่าระบบจะปรับเปลี่ยนอย่างไร ชาว TCAS ที่รู้เท่าทันระบบอย่างน้อง ๆ ก็จะสามารถผ่านด่านต่าง ๆ ไปได้อย่างผู้ชนะแน่นอนค่ะ         

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us