หลังจากที่ดีใจกันไปยกใหญ่จากการที่กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้ยกเลิกการสอบ O-NET สำหรับน้อง ม.6 ในปีการศึกษา 2564 ทำให้ลดการสอบข้อสอบหลักในการเข้ามหาวิทยาลัยไปได้อีก 1 ประเภท แต่คิดเป็น 5 วิชา เรียกว่ากระโดดตัวลอยทะลุเพดานกันเลยทีเดียว แต่พอดีใจกันไปได้สักพัก อ้าว ! งง ! ยกเลิก O-NET แล้วยังไงต่อน้า วันนี้มาตรวจสอบกันหน่อยว่า การยกเลิก O-NET มันเกี่ยวข้องและส่งผลอะไรต่อระบบ TCAS และการเข้ามหาวิทยาลัยของเราบ้าง
ระบบ TCAS 64 และที่ผ่านมา ใช้คะแนน O-NET เป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกรูปแบบ Admission 2 รับกลางร่วมกัน (เกณฑ์ที่ใช้ GPAX 20 %, O-NET 30 % และ GAT PAT 50%) โดยมีการแบ่งเป็น 9 กลุ่มสาขา คือสาขาใดเรียนในหลักสูตรเดียวกัน แม้จะต่างมหาวิทยาลัย แต่ก็ใช้เกณฑ์การคัดเลือกเหมือนกัน ดังนั้นถ้ายกเลิกการสอบ O-NET ก็จะทำให้ไม่มีคะแนนส่วนนี้มาใช้ในการคัดเลือกรูปแบบ Admission 2 ดังนั้น ทปอ. จึงยกเลิกการคัดเลือกในรูปแบบ Admission 2 ใน TCAS 65 เป็นต้นไป
ในรูปแบบการรับของ กสพท. นอกจากกำหนดองค์ประกอบการคัดเลือกที่ต้องใช้วิชาสามัญ 70 % และ วิชาเฉพาะแพทย์ 30 % แล้ว ยังมีการกำหนดเกณฑ์ O-NET ขั้นต่ำ คือ คะแนนรวม 60 % ขึ้นไป (เฉพาะน้องที่จบ ม.6 ในปีการศึกษาที่เลือกสอบ กสพท. แต่ถ้าเป็นเด็กซิ่วไม่ต้องใช้เกณฑ์นี้) และเมื่อ TCAS 65 กระทรวงศึกษาธิการยกเลิกการสอบ O-NET จึงทำให้การรับของ กสพท. ได้ปลดเรื่องเกณฑ์ O-NET 60% ออกไปด้วย จึงเหลือเกณฑ์การคัดเลือกเพียงวิชาสามัญและวิชาเฉพาะแพทย์เท่านั้น
ในระบบ TCAS รอบต่าง ๆ อาจมีบางสาขา หรือบางคณะที่มีการกำหนดเกณฑ์ O-NET ขั้นต่ำ เอาไว้ แต่เมื่อมีไม่มีการสอบ O-NET แล้ว เกณฑ์นี้ก็ถูกยกเลิก แต่อาจจะมีการนำเกณฑ์อย่างอื่นมาใช้แทน เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้นักศึกษาที่ตรงตามคุณสมบัติ ซึ่งอาจจะเป็น GPAX, GPA หรือคะแนนส่วนอื่น ๆ ซึ่งน้อง ๆ จะต้องติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมตามประกาศของแต่ละสาขาหรือคณะต่อไป
รูปแบบ Admission 2 (รับกลางร่วมกัน) เป็นรูปแบบเดียวของระบบ TCAS ที่สามารถเทียบคะแนนเพื่อประเมินความน่าจะเป็นในการสอบติดได้ โดยใช้คะแนนสูงสุด - ต่ำสุดของปีก่อน ๆ ดังนั้นในปีนี้ รูปแบบการจัดเรียงอันดับในรอบที่ 3 Admission จะต้องปรับเปลี่ยนไป เพราะเป็นเกณฑ์เฉพาะของแต่ละสาขาแต่ละสถาบัน บางสถาบันก็มีคะแนนสูงสุด - ต่ำสุดของปีที่ผ่านมาให้น้องดู แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่มี อาจจะมีแค่สูตรการคำนวณคะแนนให้เท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือ น้องจะไม่สามารถคำนวณคะแนนครั้งเดียว แล้วนำไปเทียบกับคณะต่าง ๆ ได้ เพราะเมื่อเกณฑ์แต่ละสาขาแตกต่างการ วิธีการคำนวณคะแนนย่อมแตกต่างกันไปด้วย สูตรการคำนวณ องค์ประกอบที่นำมาใช้ย่อมแตกต่างกัน ดังนั้นต้องคำนวณทีละสาขาอย่างรอบคอบ
น้อง ๆ อย่ามัวแต่ดีใจที่ได้สอบลดลง จนทำให้ลืมเรื่องของการเตรียมตัว และพี่นัทบอกไว้เลยว่า เมื่อไม่มีการสอบ O-NET มาใช้เป็นเครื่องมือวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของการจบช่วงชั้น ม.6 แล้ว อย่างไรก็ตามกระทรวงศึกษาธิการก็คงต้องหาเครื่องมืออื่นมาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอยู่ดี ดังนั้นตั้งใจเรียนไว้ และติดตามข้อมูลข่าวสารจากทีมงานทรูปลูกปัญญาไว้ รับรองไม่ตกข่าวแน่นอนค่า
พี่นัท ทรูปลูกปัญญา