ชีวิตเด็ก ม.ต้น ที่ต้องบอกว่าเป็นชีวิตที่สนุกสนาน วิ่งเล่น กลิ่นเหงื่อ หยอกล้อแกล้งกันประสาเพื่อน อาจจะเป็นไลฟ์สไตล์ส่วนใหญ่ในช่วงเวลานั้น แต่จริง ๆ แล้ว พี่นัทเชื่อมั่นว่า ยังมีน้อง ๆ ม.ต้นอีกหลายคน ที่วิ่งเล่นไล่จับไปด้วย แต่ก็วิ่งตามความฝันไปด้วยเช่นกัน แล้วฝันอย่างไรให้มันประสบความสำเร็จ วันนี้พี่นัทมีสูตรเด็ดมาแจก ต่อแถวรับสูตรได้เลยจ้า
ทุกคนเริ่มต้นด้วยการค้นหาตัวตน แต่ไม่ใช่ทุกคน ที่จบลงด้วยการค้นพบตัวเอง !
การรู้จักตัวเอง ไม่ใช่รู้แค่ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร แต่ต้องรู้ทันการเปลี่ยนแปลงของตัวเองด้วย ไม่ต้องตกใจถ้าหากเราจะเปลี่ยนฝันเป็นรายปี แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องรู้ว่าทำไมเราถึงเปลี่ยน และที่สำคัญน้อง ๆ ต้องมีข้อมูลของตัวเรามากพอ ที่จะเรียกได้ว่า “สนิทกับตัวเอง” สนิทพอที่จะดูออกว่า เรามีลักษณะทางกายภาพอย่างไร ต้องสามารถประเมินศักยภาพ รู้จุดอ่อน จุดแข็ง จุดนิ่ม จุดแน่นของตนได้ และใช้ตัวตนของเราออกแบบอนาคต โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องรู้และยอมรับด้วยว่า ตัวเราจะต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร เพื่อให้อนาคตที่ออกแบบไว้กลายเป็นปัจจุบันของเราได้จริง !
กำหนดเป้าหมายให้ชัด แล้วค่อยปรับโฟกัสให้ชัวร์
หลายคนพยายามจะหา How to สู่ความสำเร็จ แต่พอถามว่า ความสำเร็จที่ว่านั้นคืออะไร ? ต้องเป็นอย่างไร ถึงจะเรียกว่าสำเร็จ ? ตู๊ด ตู๊ด ตู๊ดดด ! ไม่มีสัญญาณตอบรับ นอกจากความเงียบปนความงง เออ ! อะไรคือตัวชี้วัดความสำเร็จของเรานะ บางคนขยันมาก อ่านหนังสือหนักมาก เรียนพิเศษอย่างสาหัส สุดท้ายหาความสำเร็จไม่เจอ ดังนั้นก่อนจะออกแรงลุย ต้องหาก่อนว่าจะลุยไปหาอะไร กำหนดเส้นชัยแห่งความสำเร็จไว้ก่อน ปักหมุดไว้เลยว่าอะไรคือเป้าหมายแห่งความมุ่งมั่นของเรา เช่น จบ ม.3 แล้วจะสอบเข้า ม.4 โรงเรียนนี้ให้ได้ จากนั้นจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยสาขานี้ คณะนี้ สถาบันนี้ให้ได้ และถ้าเราพิชิตเป้าหมายได้ นั่นล่ะ คือความสำเร็จอย่างหนึ่งในชีวิตเร ไม่มีความสำเร็จใด เกิดขึ้นโดยไม่มีการวางเป้าหมาย
เรือต้องมีหางเสือ เพื่อกำหนดทิศ ชีวิตก็ต้องมีแผน เพื่อกำหนดทาง
ความสำเร็จเกิดขึ้นได้จากการรู้จักทำ “Planning” หรือ การออกแบบแผนชีวิต กำหนดขั้นตอน วิธีการ แนวทางปฏิบัติ เป็นเหมือนแผนที่ชีวิตที่ใช้บอกทางไปสู่เป้าหมาย ในระบบนำทาง GPS อาจมีทางลัดพาเราไปสู่จุดหมาย แต่สำหรับความสำเร็จของชีวิต บอกเลยว่า “ไม่มีทางลัด” แต่ตลอดเส้นทางมีทางเลือก ทางเลี่ยง ทางเบี่ยง ทางชัน ทางโค้ง (อันตราย) ดังนั้นแผนที่ชีวิตจึงต้องได้รับการออกแบบ ทดสอบ ใช้จริง และปรับเปลี่ยนแผนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอด สิ่งสำคัญที่สุดของ Planning คือ การรักษาเป้าหมาย แม้จะต้องเปลี่ยนแผน ปรับวิธีการ มีแผนสอง แผนสำรองให้เหมาะสมเพื่อทำให้เราพิชิตเป้าหมายได้
“ความสำเร็จ” ถ้าใช้แค่ความฝัน สิ่งนั้นไม่เรียกว่า ความสำเร็จ แต่เรียกแค่ “ความหวัง”
Planning ที่ดี ต้องไม่ใช่ “แผนนิ่ง” ดังนั้นความสำเร็จที่เกิดแค่ในความคิด ด้วยการมโน ไม่สามารถทำให้น้อง ๆ สัมผัสความสำเร็จได้จริง ถ้าจะสำเร็จได้ มีหนทางเดียวคือ...ลงมือทำ ! และแน่นอนว่าการลงมือ ไม่มีทางที่จะสำเร็จทันที อาจมีผิดหวัง ล้มลุกคลุกคลาน อาจมีความท้อแท้ หมดแรง ทุกอย่างนี้คือเรื่องปกติ ถ้าไม่มีความล้มเหลว ความสำเร็จจะไร้รสชาติ มันจะจืดชืด ง่ายดาย ขาดความท้าทาย และระหว่างลงมือทำ น้อง ๆ อาจยังไม่ถึงเป้าหมายแห่งความสำเร็จ ท้อได้บ้าง แต่ห้ามถอย ! พี่นัทมีเทคนิคง่าย ๆ คือ Do & Do Again, Do Again, Do Again, Do Again… = Success ! ลงมือทำ ทำต่อไป ทำต่อไปอีก ทำต่อไปเรื่อย ๆ ทำยาวไป และจะถึง...ความสำเร็จ !
ถ้าหนูไม่เชื่อว่าหนูทำไม ก็ขอให้เชื่อตามพี่ เพราะพี่เชื่อว่า...“หนูทำได้”
พี่นัท ทรูปลูกปัญญา