Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
ฝึกชีวิต...ให้คิดอย่างมีแผน

  Favorite

          ใครว่าเด็ก ม.ต้น ไม่มีฝัน !!

          ความฝันอยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนความฝันจะถูกใช้เป็นคำถามว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร” เด็ก ๆ ก็จะตะโกนตอบกันไปตามจินตนาการของตน เช่น

          “หนูอยากเป็นเจ้าหญิงค่ะ”

          “อยากเป็นเจ้าชายครับ”

          “ผมอยากเป็นทหารหรือตำรวจก็ได้ครับ”

          “หนูอยากเป็นหมอหรือพยายาบาลค่ะ”

          ความฝันฟุ้ง ๆ ของเด็กตัวน้อย ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่มันสามารถพัฒนาต่อเป็นความฝันที่มีส่วนผสมของความจริงได้ แต่น้องจะเอาแต่นั่งฝัน เพื่อตอบคำถามผู้ใหญ่ให้สนุก ๆ ไปอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องมาเริ่มลงมือวางแผนกันได้แล้ว เอ้า ! ให้เวลาทบทวนความฝันของตน 10 วินาที ใครอยากจะเป็นอะไรบ้าง แล้วมาลุยวางแผนกันได้เลย

 

          “ความฝันกับการวางแผน” เป็นคนละเรื่องเดียวกัน !

          ที่เป็นคนละเรื่อง คือ ถ้ามัวแต่ฝันว่าอยากมีอาชีพอะไร แล้วไม่ได้วางแผนเตรียมตัว โอกาสที่จะได้มีอาชีพนั้นแบบโชคช่วยแทบไม่มี สุดท้ายรู้ตัวอีกทีความฝันก็หายไป เหลือแต่ความจริงในแบบที่ไม่เคยฝัน !

          ส่วนที่เป็นเรื่องเดียวกัน คือ ถ้ามีความฝันแล้วรู้จักวางแผนชีวิต หาวิธีการที่จะทำให้ฝันเป็นจริง ถ้าปฏิบัติให้สอดคล้องต่อเนื่องกันแบบนี้ได้ ก็จะมีโอกาสอยู่กับความจริงที่มาจากความฝันของเรา

          ดังนั้น เพื่อให้ความฝันกับความจริงเป็นเรื่องเดียวกัน พี่นัทจึงขอนำเสนอเทคนิคที่ช่วยให้ชีวิต รู้จักคิดอย่างมีแผน ด้วยการวางแผนชีวิตจากการวางเป้าหมายในอนาคต

 

1. หลับตาแล้วลองมองหาอาชีพในฝัน

          ลองคุยกับตัวเองว่า อาชีพไหนที่เราสนใจ มีความฝันอยากประกอบอาชีพนั้น มีความสามารถ มีความถนัดสอดคล้องกับอาชีพนั้นหรือไม่ และที่สำคัญลองตั้งคำถามว่า เราจะสามารถใช้เวลาอยู่กับมันได้นานหรือไม่ ถึงแม้ในความเป็นจริงเมื่อถึงเวลาทำงาน เราอาจจะเปลี่ยนงานได้ ถ้าไม่ถูกใจ แต่ถ้าถึงกับเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก จนหาเป้าหมายทางอาชีพไม่ได้ อาจส่งผลให้เสียโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานและทำให้เวลาในชีวิตอย่างแน่นอน

 

2. หาโอกาสไปตีสนิท

          เมื่อได้โครงร่างอาชีพในฝันแล้ว ก็ลองเริ่มสร้างโอกาสให้ตนเองได้เข้าไปใกล้อาชีพนั้น ไปสมาคมกับคนที่ทำอาชีพนั้น แล้วลองจินตนาการว่า ถ้าสลับตัวกับคนนั้น เราทำแบบเขา อยู่แบบเขา เป็นเขาในแบบเราได้หรือไม่ ในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงการเข้าไปเลียนแบบชีวิตคนอื่น แต่หมายถึงการเรียนรู้ชีวิตคนอื่น แล้วกลับมามองตัวเองควบคู่กันไป ถึงแม้น้อง ๆ จะยังอยู่ในวัยเรียน เป็นเพียงเด็กมัธยมต้น แต่ไม่ใช่ว่าเราจะต้องรู้จักหรือมีสังคมแค่ในกลุ่ม ม.ต้นเท่านั้น เราอาจมีรุ่นพี่ พี่น้อง ญาติ คนรู้จัก หรือการพาตัวเองไปเข้าสังคมที่เกี่ยวข้องกับอาชีพในฝันของเรา เป็นสิ่งที่เด็ก ม.ต้น ยังไม่มีประสบการณ์ตรง ลองไปส่อง ไปซูมดู ใช่หรือไม่ใช่ ค่อย ๆ เก็บข้อมูลไป แล้วพอ ม.ปลาย ภาพมันจะค่อย ๆ ปรับโฟกัสชัดเจนขึ้นเอง

 

3. ส่องค่าย สิงกิจกรรม

          เลือกทำกิจกรรมหรือเข้าค่ายที่เกี่ยวข้องหรือใกล้เคียงกับอาชีพนั้น พาตนเองไปสัมผัสความสุข และแรงบันดาลใจ ทดสอบให้ได้คำตอบว่า กิจกรรมเหล่านั้นกระตุ้นให้เกิดความท้าทายในชีวิตเราหรือไม่ มีแรงผลักดันให้อยากเรียน อยากศึกษาด้านนี้ เพื่อไปประกอบอาชีพในวันข้างหน้าบ้างมั้ย รวมทั้งไปร่วมกิจกรรมเพื่อให้มองเห็นข้อด้อย อุปสรรค หรือปัญหาของอาชีพนี้ เมื่อรู้แล้ว เรามีพลังอยากก้าวข้าม อยากเอาชนะปัญหาเหล่านี้หรือไม่ และถ้าพบคำตอบว่าใช่ ก็ลุยต่อด่านต่อไปได้เลย

 

4. ทำแบบประเมินตนเอง

          แบบทดสอบต่าง ๆ ถือเป็นตัวช่วยอย่างดีในการประกอบการตัดสินใจ ยิ่งเป็นแบบทดสอบหรือแบบประเมินที่ผ่านการวิจัย ผ่านแนวคิดตามทฤษฎีการแนะแนวด้วยแล้ว ยิ่งเป็นข้อมูลประกอบที่ดีมาก อย่ามั่นใจว่า เรารู้จักตัวเองดีพอ เชื่อเถอะว่าไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะสนิทกับตัวเอง สนิทแบบรู้นิสัยใจคอ ความคิด บุคลิก ความชอบ ดังนั้นคำตอบจากการทำแบบประเมินตนเอง จะช่วยแนะนำเบื้องต้นได้ว่า ลักษณะนิสัยแบบนี้เหมาะกับอาชีพไหน ควรมีความถนัดอย่างไร ต้องโดดเด่นวิชาไหน และควรเตรียมความพร้อมอย่างไร

 

5. เจาะลึกข้อมูลอาชีพ

          ศึกษาหาข้อมูลเชิงลึกว่า เส้นทางกว่าจะได้ประกอบอาชีพนี้ ต้องเรียนอะไร ทำงานลักษณะใด ใช้ทักษะความสามารถด้านไหน ผู้เกี่ยวข้องกับงานที่ทำเป็นใครบ้าง ผลตอบแทน ตลาดแรงงาน และช่องทางการเติบโตในอาชีพ เป็นอย่างไร แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบันนี้โลกหมุนเร็วมาก อาชีพที่เคยเปรี้ยงปัง อาจพังก็ได้ ดังนั้นต้องศึกษาทิศทางการเปลี่ยนแปลง และเตรียมการปรับตัวควบคู่ไว้ด้วย

 

          เมื่อได้ความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว ก็ปักหมุดไว้ แล้วให้ GPS ความฝัน นำทางเราไปสู่จุดหมาย ค่อย ๆ วางแผนตั้งแต่ ม.ต้น แล้วใช้เป็นข้อมูลประกอบเลือกแผนการเรียนในระดับ ม.ปลาย จากนั้นก็ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน ปรุงแต่งความฝันไปเรื่อย ๆ จนตกผลึกเป็นมวลความฝันก้อนโต แล้วพอถึงเวลาเลือกคณะเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยจริง ๆ ถึงเวลานั้น น้อง ๆ จะมีความมั่นใจในความชัดเจนของตัวเอง แล้วพาความฝันไปสู่วันแห่งความจริงได้อย่างแน่นอน

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us