GPAX เกรดเฉลี่ย เป็นคะแนนที่หลายคนรู้ว่า ถูกนำมาใช้ในเกณฑ์การเข้ามหาวิทยาลัย แต่คะแนนส่วนนี้สำคัญแค่ไหน ทำไมถึงต้องให้ความสำคัญ และเมื่อมีคะแนน GPAX เกรดเฉลี่ย ที่ดีอยู่ในมือ สามารถให้ประโยชน์อะไรในการเข้ามหาวิทยาลัยได้บ้าง มาศึกษาไปพร้อมกัน
“คะแนน GPAX” คือผลการเรียนหรือเกรดเฉลี่ย ไม่ใช่การสอบ แต่คือเกรดเฉลี่ยรวมทุกวิชาตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นคะแนนที่ใช้ใน TCAS ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำผ่านคุณสมบัติ หรือ ใช้คำนวณคะแนนในการคัดเลือก
การรับสมัครแต่ละรอบ แต่ละมหาวิทยาลัยจะออกระเบียบการของแต่ละคณะ หลาย ๆ ที่กำหนดใช้ GPAX และหนึ่งในคุณสมบัติคือ การกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำเอาไว้ การมีคะแนน GPAX ที่ดีติดตัว จึงเป็นเสมือนใบเบิกทางที่ดี มีโอกาสที่หลากหลาย สมัครได้หลายสาขาวิชา โดยเฉพาะน้อง ๆ สายวิทย์ ที่สามารถเลือกเรียนได้หลากหลายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
นอกจากคะแนน GPAX ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ จะถูกนำมาคัดเลือกผู้สมัครแล้ว การมีคะแนนส่วนนี้เยอะ จะเพิ่มโอกาสในการสอบติดมากขึ้น เพราะยิ่งมีคะแนนสูงเท่าไหร่ โอกาสยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และในระบบ TCAS ยังใช้คะแนน GPAX เข้าไปอยูในเกณฑ์คัดเลือกหลายรอบ ถ้าพลาดรอบไหนไป ก็ยังสมัครรอบต่อไปได้อีก งานนี้มีลุ้นติดได้หลายรอบ
ใครที่อาจจะงบน้อย เลือกเรียนได้จำกัด เพราะติดปัญหาเรื่องค่าเทอมในบางที่ที่สูงเกินขีดจำกัดความพร้อม สามารถสมัครเรียนในโครงการทุนของแต่ละมหาวิทยาลัยได้ เพราะการเป็นเด็กทุนนั้น มีทั้งทุน 100% เรียนฟรีไม่เสียเงิน หรือทุน 50% ที่ต้องจ่ายค่าเทอมเองครึ่งหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปได้เยอะ แต่โครงการทุนส่วนใหญ่ พิจารณาจากคะแนน GPAX ที่เฟ้นหานักเรียนที่เรียนดี มีความสามารถ เกรดเฉลี่ยที่ดีจึงมีผลในการคัดเลือกคนสอบติด
TCAS รอบที่ 3 Admission ในรูปแบบ Admission 2 (รับกลางร่วมกัน) ใช้คะแนน GPAX (6 เทอม) 20% หรือเท่ากับ 6,000 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 30,000 คะแนน) หมายความว่า ถ้าคะแนนส่วนนี้มีเยอะ ก็ใช้เป็นฐานคะแนนสะสมได้เยอะ ยิ่งคะแนนรวมของรูปแบบ Admission 2 มากเท่าไหร่ โอกาสติดก็มีมากขึ้น ฉะนั้น GPAX จึงสำคัญมากในรอบที่ 3 รูปแบบ Admission 2
รอบที่ 1 – รอบที่ 3 รูปแบบ Admission 1 (รับตรงร่วมกัน)
ใช้เกรดเฉลี่ย 4 - 5 เทอม (ม. 4, ม. 5 และ ม. 6 เทอม 1) มีทั้งแบบใช้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำผ่านคุณสมบัติ หรือ ใช้คำนวณคะแนนในการคัดเลือก แล้วแต่คณะ/มหาวิทยาลัยกำหนด
รอบที่ 3 รูปแบบ Admission 2 (รับกลางร่วมกัน)
ใช้เกรดเฉลี่ย 6 เทอม (ม. 4 – ม. 6) ใช้คำนวณคะแนนในการคัดเลือก ค่าน้ำหนักคะแนน 20% หรือเท่ากับ 6,000 คะแนน (คะแนนเต็ม 30,000)
รอบที่ 4
ใช้เกรดเฉลี่ย 6 เทอม มีทั้งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำผ่านคุณสมบัติ หรือ ใช้คำนวณคะแนนในการคัดเลือก แล้วแต่คณะ/มหาวิทยาลัยกำหนด