Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
แจกสูตรความสำเร็จ ชาว TCAS

  Favorite

          เปิดฤดูกาล TCAS หลายคนเตรียมความฝันกันไว้มากมาย แต่พอนึกถึง How to ที่จะทำให้ฝันเป็นจริงแล้ว พบว่า...มันไม่ง่ายเลย การมีความฝันเป็นสิ่งดี แต่การใช้ชีวิตอยู่แต่กับความฝัน คงไม่ใช่สิ่งดีแน่ เพราะสิ่งดีที่แท้ทรูคือการทำให้ความฝันกลายเป็นความจริง และนั่นล่ะ เราถึงจะเรียกมันว่า “ความสำเร็จ” แต่จะทำอย่างไรนะ เราถึงจะเป็นเจ้าของความสำเร็จนั้น พี่นัทมีไอเดียมานำเสนอ เรียกว่า บันได 4 ขั้น แห่งความสำเร็จ ลองค่อย ๆ เดินตามพี่นัทมาทีละขั้นกัน Let’s go !

 

บันได 4 ขั้น แห่งความสำเร็จ

บันไดขั้นที่ 1 รู้จักตัวเอง

          ทุกคนเริ่มต้นด้วยการค้นหาตัวตน แต่ไม่ใช่ทุกคน ที่จบลงด้วยการค้นพบตัวเอง !

ทำไมน่ะเหรอ สิ่งแรกเลยคือ ความมั่นใจว่า ตัวเราเป็นของเรา จิตใจเราก็เป็นของเรา การคิดว่า “เรารู้จักตัวเองดีที่สุด นั่นล่ะคือกับดักที่ทำให้เรา ไม่รู้จักตัวเองอย่างแท้จริง” การรู้จักตัวเอง ไม่ใช่รู้แค่ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร รักอะไร เกลียดอะไร แต่ต้องรู้ทันการเปลี่ยนแปลงของตัวเองด้วย เช่น ม.4 อยากเป็นวิศวกร ม.5 อยากเป็นสถาปนิก ม.6 อยากเป็นหมอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เราจะเปลี่ยนฝันเป็นรายปี แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องรู้ว่าทำไมเราถึงเปลี่ยน เช่น เปลี่ยนจากฝันอยากเป็นวิศวกรไปเป็นสถาปนิก เพราะรู้สึกว่าตัวเองมีความถนัดทางด้านศิลปะควบคู่ไปกับความถนัดทางคณิตศาสตร์ด้วย หรือสุดท้ายอยากเปลี่ยนเป็นหมอ เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากครอบครัว และมีความมุ่งมั่นขยันขึ้น จนได้คะแนนทางวิชาการสูงขึ้น เป็นต้น

          การจะเรียกว่ารู้จักตัวเองได้นั้น เราต้องมีข้อมูลของตัวเรามากพอ ที่จะเรียกได้ว่า “สนิทกับตัวเอง” สนิทพอที่จะดูออกว่า เรามีลักษณะทางกายภาพอย่างไร ต้องสามารถประเมินศักยภาพ รู้จุดอ่อน จุดแข็ง จุดนิ่ม จุดแน่นของตนได้ และใช้ตัวตนของเราออกแบบอนาคต โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องรู้และยอมรับด้วยว่า ตัวเราจะต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร เพื่อให้อนาคตที่ออกแบบไว้กลายเป็นปัจจุบันของเราได้จริง !

 

บันไดขั้นที่ 2 ปักหมุดเป้าหมาย

          กำหนดเป้าหมายให้ชัด แล้วค่อยปรับโฟกัสให้ชัวร์

          หลายคนพยายามจะหา How to สู่ความสำเร็จ แต่พอถามว่า ความสำเร็จที่ว่านั้นคืออะไร ? ต้องเป็นอย่างไร ถึงจะเรียกว่าสำเร็จ ? ตู๊ด ตู๊ด ตู๊ดดด ! ไม่มีสัญญาณตอบรับ นอกจากความเงียบปนความงง เออ ! อะไรคือตัวชี้วัดความสำเร็จของเรานะ

          บางคนขยันมาก สุดท้าย ขยันผิดที่ ผิดเวลา ก็หาความสำเร็จไม่เจอ อ่านหนังสือทุกวัน อ่านหนักมาก เรียนพิเศษทุกสำนักอย่างสาหัส แบบนี้ต้องบอกว่า เบาได้เบา พักก่อนนนนนน ก่อนจะออกแรงลุย ต้องหาก่อนว่าจะลุยไปหาอะไร กำหนดเส้นชัยแห่งความสำเร็จไว้ก่อน ซึ่งสำหรับน้อง ๆ ม.ปลาย ความสำเร็จหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของช่วงเวลานี้คือ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ฝัน และได้เรียนในคณะ / สาขาที่ชอบ ดังนั้นเรามาปักหมุดกันก่อนว่าอะไรคือเป้าหมายแห่งความมุ่งมั่นของเรา และถ้าเราพิชิตเป้าหมายได้ นั่นล่ะ คือความสำเร็จอย่างหนึ่งในชีวิตเรา

          การสร้างความสำเร็จก็เหมือนกับการถ่ายภาพ ก่อนที่เราจะตัดสินใจแชะภาพ ๆ ใด สิ่งแรกที่เราต้องทำคือ การกำหนดเป้าหมายว่าจะถ่ายภาพอะไร ในบรรดาสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในเฟรมภาพนั้น อะไรคือวัตถุที่เป็นเป้าหมายของเรา เมื่อกำหนดได้แล้ว ก็ค่อย ๆ ปรับโฟกัสให้เป้าหมายนั้นชัดเจน วางองค์ประกอบภาพให้เป้าหมายดูโดดเด่น เป็นวัตถุสำคัญที่สุดของภาพนั้น แม้ว่าจะประกอบอยู่ร่วมกับสิ่งต่าง ๆ มากมายในภาพ แต่เราหรือใคร ๆ เห็นก็รู้ได้ทันทีว่า สิ่งใดคือเป้าหมายที่เราตั้งใจจะถ่าย ดังนั้น ก่อนจะก้าวขึ้นบันไดขั้นต่อไป น้องต้องปักหมุดเป้าหมายให้ได้ว่า ชีวิตเรามีเป้าหมายอย่างไร ไม่มีความสำเร็จใด เกิดขึ้นโดยไม่มีการวางเป้าหมาย

 

บันไดขั้นที่ 3 กำหนดแผนกลยุทธ์

          เรือต้องมีหางเสือ เพื่อกำหนดทิศ ชีวิตก็ต้องมีแผน เพื่อกำหนดทาง

          ความสำเร็จเกิดขึ้นได้จากการรู้จักทำ “Planning” หรือ การออกแบบวิธีการที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายที่ปักหมุดไว้แล้วได้ โดยสามารถกำหนดขั้นตอนต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องทำได้อย่างเหมาะสมและเป็นไปได้ มี How to ในทุกเป้าหมาย เปรียบเสมือนการเดินทาง เมื่อปักหมุดได้แล้วว่าจะไปที่ไหน ก็ต้องออกแบบการเดินทาง จะเลือกเครื่องบิน รถไฟ ขับรถไปเอง ต้องใช้ตัวช่วยอะไรบ้างที่ทำให้เราเดินทางไปถึงเป้าหมายได้อย่างปลอดภัย ด้วยเส้นทางที่ดีที่สุด

          ในระบบนำทาง GPS อาจมีทางลัดพาเราไปสู่จุดหมาย แต่สำหรับความสำเร็จของชีวิต บอกเลยว่า “ไม่มีทางลัด” แต่ตลอดเส้นทางมีทางเลือก ทางเลี่ยง ทางเบี่ยง ทางโค้ง (อันตราย) ทางชัน หรือทางสามแพร่งที่พร้อมมีผีมาคอยหลอกหลอนให้เราหลงทางก็มี ดังนั้นแผนที่ในการเดินทางจึงต้องได้รับการออกแบบ ทดสอบ ใช้จริง และปรับเปลี่ยนแผนตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอด สิ่งสำคัญที่สุดของ Planning คือ การรักษาเป้าหมาย แม้จะต้องเปลี่ยนแผน ปรับวิธีการก็ตาม สังเกตง่าย ๆ ถ้าเราเป็นคนเปลี่ยนเป้าหมายบ่อย แปลว่าเราควรจะต้องกลับลงไปที่บันไดขั้นที่ 1 ใหม่ (รู้จักตัวเอง) แล้วค่อยก้าวขึ้นมาขั้นที่ 2 (ปักหมุดเป้าหมาย) ทีละ step แต่ถ้าผ่าน 2 ขั้นนั้นมาได้แล้ว ขั้นตอนนี้ เราจะไม่เลือกการเปลี่ยนเป้าหมายง่าย ๆ แต่เราจะปรับวิธีการและออกแบบแผนให้เหมาะสมเพื่อทำให้เราพิชิตเป้าหมายได้

 

บันไดขั้นที่ 4 ปฏิบัติตามแผน

          “ความสำเร็จ” ถ้าใช้แค่ความฝัน สิ่งนั้นไม่เรียกว่า ความสำเร็จ แต่เรียกแค่ “ความหวัง”

          การวางแผนเหมือนการเขียนแบบบ้านที่สวยงามโดยสถาปนิก แต่การปฏิบัติตามแผนคือการที่

วิศวกรมาควบคุมการก่อสร้างบ้านนั้นให้เป็นไปตามแบบ บ้านจะสวยแค่ในแบบ หรือจะงามในความเป็นจริงอยู่ที่ขั้นตอนนี้ เป็น Step ที่ก้าวขึ้นมาอีกขั้นของบันได Planning ที่ต้องไม่ใช่ “แผนนิ่ง” ดังนั้นความสำเร็จที่เกิดแค่ในความคิด ด้วยจิตแห่งการมโน ไม่สามารถทำให้น้อง ๆ สัมผัสความสำเร็จได้จริง ถ้าจะสำเร็จได้ มีหนทางเดียวคือ...ลงมือทำ !

          หลายครั้งเรามักสับสนระหว่าง ความฝัน กับ การฝัน หรือบางคนอาจจะเถียงว่า มันก็คือคำเดียวกันล่ะพี่ แต่สำหรับพี่นัท พี่มองว่าสองคำนี้ ต่างกัน !

          ความฝัน เกิดขึ้นยามเราหลับ แต่ การฝัน จะเกิดขึ้นยามเราตื่น คือต้องผ่านการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะ ระหว่างสิ่งที่อยากได้ กับสิ่งที่เป็นไปได้

          ความฝัน เกิดขึ้นโดยเราไม่รู้ตัว ออกแบบไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ ตื่นขึ้นมาเมื่อไหร่...ทุกอย่างจบ !

          แต่การฝัน เกิดขึ้นจากความตั้งใจ ออกแบบได้ ควบคุมได้ ตื่นขึ้นมา (ทำ) เมื่อไหร่...ทุกอย่างจริง !

          การฝันจึงหมายถึง การนำความฝันในจินตนาการ มาออกแบบสร้างรูปทรงที่สัมผัสได้ และหาวิธีการที่สามารถทำให้เป็นความจริงได้ และแน่นอนว่าการลงมือ ไม่มีทางที่จะสำเร็จทันที อาจมีผิดหวัง ล้มลุกคลุกคลาน อาจมีความท้อแท้ หมดแรง ทุกอย่างนี้คือเรื่องปกติ ถ้าไม่มีความล้มเหลว ความสำเร็จจะไร้รสชาติ มันจะจืดชืด ง่ายดาย ขาดการ Challenge และเมื่อระหว่างการลงมือทำ น้อง ๆ ยังไม่ถึงเป้าหมายแห่งความสำเร็จ พี่นัทมีเทคนิคง่าย ๆ คือ Do & Do Again, Do Again, Do Again, Do Again… =  Success !

      

          อ่านจบแล้วอย่าเพิ่งเมื่อยหัวเข่าเสียก่อนนะคะ เพราะในทางปฏิบัติ น้อง ๆ อาจจะต้องวนขึ้นวนลงบันได จากขั้น 1 ไปจนถึงขั้นที่ 4 แล้วพบความจริงที่ว่า “อ้าว ขึ้นบันไดผิดบ้าน” ไปจ๊ะเอ๋กับเป้าหมายที่ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ ทำยังไงล่ะทีนี้ ง่าย ๆ เลยค่ะ ก็แค่ก้าวลงไปใหม่ เมื่อเราเรียนรู้ที่จะก้าวบันไดอย่างมีสติและปัญญาแล้ว ต่อให้ต้องก้าวใหม่กี่ครั้ง เราก็จะมี How to ที่จะทำให้เราก้าวได้เร็วขึ้น คล่องขึ้น ปลอดภัยขึ้น เพราะเรามีบทเรียนจากการ...ตกบันไดมาแล้ว

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us