น้อง ๆ ที่อยากจะเป็นหมอ ลองหลับตานึกภาพตัวเองในอนาคต ว่า เอ ที่บอกว่าอยากเป็นหมอนั้น เราอยากจะเติบโตในเส้นทางแพทย์เฉพาะทางบ้างมั้ย แล้วถ้าต้องการ สาขาไหนกันนะ ที่เหมาะกับเรา
วันนี้พี่นัทขอเอาใจคนสายสืบสวนสอบสวนกันหน่อย คือนอกจากหมอจะต้องสืบหาโรคแล้ว แต่ในบางสาขา หมอยังต้องรับหน้าที่สืบหาสาเหตุการตายของคนด้วย และหลาย ๆ ครั้งก็นำไปสู่การคลี่คลายคดีสำคัญมากมาย จะว่าไปอารมณ์ก็คล้ายกับไอดอลทางวรรณกรรมคลาสิกระดับโลกด้านการสอบสวน นั่นคือ เรื่อง เชอร์ล็อกโฮล์มส์ ที่รับหน้าที่ไขปริศนาหลาย ๆ คดี และมีศพมากมายที่สามารถเรียกร้องหาความเป็นธรรมได้จากการทำงานของหมอทางด้านนี้ นั่นคือ แพทย์เฉพาะทางด้านนิติเวช
คำว่านิติเวชศาสตร์มาจาก “นิติศาสตร์” (วิชาทางกฎหมาย) กับ “เวชศาสตร์” (วิชาทางการแพทย์) เมื่อนำมารวมกันจึงกลายเป็นศาสตร์ที่นำความรู้ความเข้าใจทางการแพทย์มาใช้ในทางกฎหมาย ดังนั้น แพทย์นิติเวช หรือเชอร์ล็อกโฮล์มส์ ทางการแพทยที่พี่นัทหมายถึง คือแพทย์เฉพาะทางผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานและสาเหตุการเสียชีวิต ด้วยหลักการทางการแพทย์และนิติเวช โดยทำงานร่วมกันเป็นทีม ทั้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่หน่วยพิสูจน์หลักฐานของหน่วยงานรัฐ และศาล มีหน้าที่หลักคือการตรวจสอบ พิสูจน์ และส่งข้อมูลให้กับทางฝ่ายกฎหมายพิจารณา จึงเปรียบเสมือนคนที่ส่งสารจากผู้ตายผ่านร่องรอยที่หลงเหลืออยู่
นอกจากนั้นแพทย์นิติเวชยังตรวจผู้ป่วยทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลที่จำเป็นส่งให้แก่ตำรวจ เช่น คดีข่มขืน คดีทำร้ายร่างกาย ฯลฯ รวมไปถึงการตรวจ DNA เพื่อหาหลักฐานความเชื่อมโยงในสายตระกูล เช่น ตรวจหาว่าเด็กคนนี้เป็นลูกพ่อแม่คนนี้หรือไม่ เป็นต้น
สิ่งที่แพทย์นิติเวชตรวจสอบนั้นจะกลายเป็นหลักฐานสำคัญในการพิจารณาคดี ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุการตายเกิดจากอะไร เวลาใด นานเท่าไร เกิดอะไรขึ้นกับสภาพร่างกายก่อนหน้านั้นบ้าง ฯลฯ ซึ่งจะถูกตรวจสอบเมื่อข้อมูลที่ทางตำรวจหรือพยานมีอยู่ไม่เพียงพอ รวมถึงการตายที่ผิดธรรมชาติ ซึ่งอาจนำไปสู่คดีอาญาที่จำเป็นต้องหาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ ดังนั้นแพทย์นิติเวชจึงไม่ได้ทำงานภายในห้องตรวจอย่างเดียว แต่อาจต้องออกไปยังสถานที่เกิดเหตุหรือไปขึ้นศาลด้วย
ขึ้นอยู่กับตัวหลักสูตร แต่หลัก ๆ นิติเวชศาสตร์เป็นวิชาที่จะเรียนกันในช่วงปี 4 - 5 เป็นวิชาบังคับ (เรียน 12 สัปดาห์) หลังจากนั้นจะเป็นเรื่องของวิชาเลือกที่สามารถเลือกเข้ามาเรียนได้ อาจจะเป็นช่วงปี 5 หรือ ปี 6 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละหลักสูตรหรือแต่ละทีมว่าจะเลือกอย่างไร คือถ้าใครเรียนจากวิชาบังคับแล้ว รู้สึกชอบอยากไปต่อ ก็สามารถเลือกเรียนต่อได้ สาระสำคัญของวิชาบังคับคือ เรียนให้ออกไปทำงานได้ เช่น หลักการประเมินว่าบุคคลคนนี้เป็นใคร ตายมาแล้วกี่ชั่วโมง กี่วัน การตรวจที่เกิดเหตุ การตรวจรูปแบบคดี จะเป็นเนื้อหาหลักที่นิสิตต้องเรียน แต่เรื่องการผ่าศพจะไม่ได้สอนมากในภาควิชานี้ เพราะต่อไปนิสิตก็จะได้ทำอยู่แล้ว
แพทย์นิติเวชนั้นเป็นสาขาเฉพาะทางของแพทย์ ดังนั้นผู้ที่จะศึกษาต่อจึงจำเป็นต้องจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตก่อน ส่วนการจะไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางนั้นก็เหมือนกับการเรียนแพทย์เฉพาะอื่น ๆ คือต้องทำงานใช้ทุนก่อน ส่วนจะต้องใช้ทุนกี่ปีนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เป็นนักเรียนแพทย์ในรูปแบบใด ถ้าเป็นแบบปริญญาตรีปกติใช้ทุนก่อนอย่างน้อย 1 ปี แล้วจึงสมัครเรียนเฉพาะทางด้านนิติเวชได้ แต่ถ้าเป็นแบบกลุ่มอื่น เช่น แพทย์ชนบท ต้องเรียนจบและทำงานก่อน 3 ปี ถึงจะเรียนเฉพาะทางได้ ทั้งนี้แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละสถาบัน จากนั้นจึงค่อยเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางด้านนิติเวชศาสตร์อีก 3 ปี
มหาวิทยาลัยที่มีการสอนสาขาเฉพาะทางด้านนี้ เช่น
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
อย่างที่พี่นัทบอกตอนต้นว่า แพทย์ด้านนี้เหมือนกับเป็นเชอร์ล็อกโฮล์มส์ ดังนั้นลักษณะงานจึงไม่ได้เน้นด้านการตรวจรักษาคนไข้ทั่วไป แต่จะได้เริ่มงานเมื่อมีเคสหรือคดีเข้ามา แล้วออกไปลุยหาสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิต จากรองรอยหลักฐานที่หลงเหลืออยู่จากตัวศพ จากสถานที่เกิดเหตุ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้ด้านแพทยศาสตร์ รวมถึงความรู้ทางนิติศาสตร์ ในการตรวจสอบ ต้องทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทีมกฎหมายหรือทีมสืบสวน ลักษณะงานจึงแตกต่างจากแพทย์สายอื่นมากกกกก (ก.ไก่ล้านตัว) งานนี้เหมาะกับคุณหมอสายลุย ที่รักการสืบค้นหาความจริง พร้อมลุยงานในที่เกิดเหตุด้วย ไม่ใช่แค่อยู่ในห้องตรวจ สโคปการทำงานจึงแบ่งได้ดังนี้
สโคปที่ 1 คือ กรณีมีคนถูกทำร้าย แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อทำบันทึกไปใช้แจ้งความ หรือตรวจ DNA หาความสัมพันธ์ของสายตระกูลว่าเป็นพ่อ แม่ ลูก กันจริงหรือไม่ โดยที่ไม่ได้ต้องสนใจเลยว่าผู้ตรวจเป็นโรคอะไร
สโคปที่ 2 คือ กลุ่มที่เกิดเหตุ ทำงานตามคดีอาญา เช่น ตำรวจเชิญให้ไปตรวจอุบัติเหตุ แบบนี้ คือทำงาน 24 ขั่วโมง แพทย์จะขึ้นรถไปยังที่เกิดเหตุ ตรวจ ประเมินว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร สาเหตุการตายคืออะไร จำเป็นต้องผ่าหรือไม่ ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติก็สามารถไปให้ญาติดำเนินการต่อได้
สโคปท่ี 3 คือ ผ่าศพ ตรวจสอบสาเหตุการตายมีอะไรบ้าง เสพยาอะไรหรือเปล่า เจาะเลือดมั้ย ต้องตรวจปัสสาวะหรือไม่ ต้องประเมินว่าต้องใช้การตรวจอะไรประกอบด้วย
3 งานนี้ถือว่าเป็นงานหลัก ส่วนงานที่เหลือคืองาน lab
นิติวิทยาศาสตร์ จะคล้าย ๆ การนำวิทยาศาสตร์มาจัดการกับเคสทางกฏหมายเป็นหลัก เช่น ตรวจลายนิ้วมือ ตรวจ DNA ที่เกิดเหตุ ตรวจสารพิษ และหลักฐานวัตถุอื่น ๆ พวกนี้จะเป็นงานทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด
นิติเวชศาสตร์ จะเป็นแพทย์มาตรวจสภาพที่เกิดเหตุ ตรวจสภาพศพ ผ่าศพ เน้นตรวจร่างกายของมนุษย์ จุดหลักๆ ของนิติเวชคือ การไขปัญหาการเสียชีวิต ส่วนการหาตัวคนร้ายเป็นหน้าที่ของตำรวจ
1. ทักษะด้านการสื่อสาร เพราะแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ ต้องเป็นคนสื่อสารกับญาติของผู้เสียหายหรือผู้เสียชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นการสื่อสารที่ยากกว่าภาวะปกติ เพราะคนเหล่านั้นอาจเพิ่งสูญเสียพ่อแม่คนรัก
2. มีร่างกายที่แข็งแรง เพราะบางครั้งการชันสูตรอาจต้องใช้กำลังในการพลิกศพที่มีน้ำหนักมาก หรือออกแรงในการผ่า เช่น ใช้เลื่อยในการผ่าตัดกะโหลกศีรษะ รวมถึงต้องออกไปลุยในสถานที่เกิดเหตุอีกด้วย
3. มีจิตใจแข็งแกร่ง สามารถจับศพ พลิกศพได้ ไม่กลัวเลือด ไม่กลัวศพ ใจกล้า สามารถทำงานกับสภาพและกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้
4. มีความสามารถในการวิเคราะห์ เพราะเมื่อได้มูลมาแล้ว แพทย์จะต้องวิเคราะห์ว่า เคสนี้เป็นใคร ตายอย่างไร ที่ไหน เมื่อไหร่
5. ชอบหรือมีใจรักในงานกระบวนการวิทยาศาสตร์ รักการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ชอบความท้าทาย การหาข้อพิสูจน์
6. ช่างสังเกต ใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ปกติแล้วหากเป็นแพทย์ทั่วไป ก็สามารถซักถามข้อมูลจากคนไข้ได้ แต่สำหรับแพทย์นิติเวช การเก็บข้อมูลและหลักฐานนั้นไม่สามารถสอบปากคำจากผู้ตายได้ ความรอบคอบไม่ปล่อยให้รายละเอียดในจุดเล็ก ๆ ผ่านไปจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อาจทำให้รูปคดีพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยก็ได้
7. มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณในวิชาชีพ เพราะสิ่งที่สรุปออกมาสามารถตัดสินหรือพลิกรูปคดีและเกี่ยวเนื่องไปถึงคนอื่น ๆ ได้
เป็นอย่างไรกันบ้าง ได้รู้ข้อมูลเหล่านี้แล้ว รู้สึกมีไฟฟ้าวิ่งไปมาในหัวใจของเราหรือไม่ รู้สึกได้รับแรงผลักดัน แรงกระตุ้น อยากรู้ให้มากกว่าที่พี่นัทเล่า อยากเห็นมากกว่าในจินตนาการ อยากสัมผัสจริงมากกว่าฟังคนอื่นเล่า ถ้าความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นในใจน้อง ๆ ก็ลุยต่อได้ โดยต้องผ่านขั้นตอนแรกให้ได้เสียก่อน นั่นคือ ต้องสอบแพทย์ให้ติด !! ติดแล้วค่อยวางแผนไปต่อเฉพาะทาง
ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจจะมีคุณหมอที่เป็นเชอร์ล็อกโฮล์มส์ เพิ่มขึ้น จากการอ่านบทความนี้...ก็ เป็น ได้ !
พี่นัท ทรูปลูกปัญญา
ข้อมูลอ้างอิง
สัมภาษณ์ นพ.กรวิก มีศิลปวิกกัย อาจารย์ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย www.trueplookpanya.com/explorer/occupation-step3/52
บทความที่เกี่ยวข้อง
กว่าจะเป็น จักษุแพทย์ (Ophthalmologist) หมอตาผู้เชี่ยวชาญ
อยากเป็นหมอเฉพาะทาง “วิสัญญีแพทย์ พระเอกหลังม่านแห่งการผ่าตัด”
อยากเป็นหมอเฉพาะทาง “พยาธิแพทย์ ศาลฏีกาแห่งวงการแพทย์”
กว่าจะเป็นหมอ ปลายทางหมอ...ไปทางไหน รวมเส้นทางสู่คณะแพทย์