Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เชฟ ชีวิน คเชนทร์เดชา เชฟและนักโภชนากร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

  Favorite

ถ้าพูดถึงอาหารเพื่อสุขภาพ ใครหลายๆคนก็คงจะร้องยี้... คิดว่าคงเป็นอาหารที่มีแต่ผักและเต้าหู้ จืดชืด ไม่น่ารับประทาน แต่เชื่อไหมคะว่า อาหารทุกชนิดสามารถนำมาทำเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณ สัดส่วน และวิธีประกอบอาหารเท่านั้นเอง แต่ในปัจจุบัน บุคลากรที่มีความรู้ทางด้านโภชนาการ และการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพในประเทศไทยนั้นยังมีน้อยมาก และถ้าพิจารณาความนิยมในอาหารสุขภาพที่นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้ว อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยยังต้องการเชฟ หรือพ่อครัวที่มีความรู้ด้านโภชนาการอีกมากเลยค่ะ

          รู้แบบนี้แล้ว เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอม จึงถือโอกาสเชิญ เชฟเต้-ชีวิน คเชนทร์เดชา corporate chef ของบริษัทโซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย มาแนะนำอาชีพใหม่ ที่กำลังเป็นที่ต้องการของสังคมที่ตื่นตัวเรื่องสุขภาพ ให้น้องๆ ได้รู้ลึกรู้จริงกันก่อนใครกันค่ะ

แนะนำตัว

สวัสดีครับ ชื่อ ชีวิน คเชนทร์เดชา ครับ ศึกษาระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยดุสิตธานี สาขา การจัดการครัวและภัตตาคาร และตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาโท ที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาอาหารและโภชนาการเพื่อการพัฒนา

ทำไมถึงเลือกเรียนปริญญาตรีที่วิทยาลัยดุสิตธานี และทำไมถึงเลือกเรียนสาขาการจัดการครัวและภัตตาคาร

ตอนที่ผมยังเป็นนักเรียนมัธยมปลายอยู่ มีความสนใจค่อนข้างหลากหลายครับ แต่ที่ชอบที่สุดคือวิชาเกี่ยวกับศิลปะ แต่ที่จริงแล้วผมจบจากทางสายวิทยาศาสตร์จากที่กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย แต่กลับชอบด้านศิลปะ อย่าเรียกว่ามีความสามารถเลย เรียกว่าชอบจะดีกว่า ก็เลยสอบเอนทรานซ์เข้าแต่คณะสายศิลปะครับ แต่สอบไม่ติด

ตอนนั้นก็มานั่งคิดว่าเราจะเรียนอะไรต่อดี แล้วก็เลยมาพบว่าที่เมืองไทยมีการสอนเรื่องทำอาหารอยู่ด้วย และโดยส่วนตัวก็ชอบทำอาหารมาตั้งแต่เด็กครับ ก็เลยลองลงมาเรียนวิชานี้ดู

มีความสนใจด้านการทำอาหารมาตั้งแต่แรกหรือไม่

ผมมีความสนใจด้านการทำอาหารมาตั้งแต่เด็กๆแล้วล่ะ ออกจะเป็นแกมบังคับด้วย เพราะพ่อแม่ผมต้องออกไปทำงานแล้วกลับบ้านดึกครับ เวลาเราอยู่คนเดียวก็ทำอาหารทานเองหรือบางครั้งก็เตรียมอาหารไว้ให้พอแม่กลับมาทานด้วย ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทำให้ได้รู้จักการทำอาหาร แล้วยังมีคุณย่าของผม ที่ท่านได้ไปเปิดร้านอาหารอยู่ที่เยอรมนีด้วย ก็ได้ท่านนี่แหละครับที่เป็นครูคนแรกที่สอนการทำอาหารให้

การสมัครเรียนที่วิทยาลัยดุสิตธานีจำเป็นต้องสอบข้อสอบกลางหรือไม่

การสมัครเข้าเรียนที่วิทยาลัยดุสิตธานีมีการคัดเลือกอยู่สองระบบครับ ระบบแรกคือเราสอบข้อสอบกลาง แล้วเอาคะแนนนั้นมายื่นกับทางวิทยาลัย หรือระบบที่สองคือเราไปสอบตรงกับทางวิทยาลัยเลย

ส่วนตัวผมใช้วิธีสอบตรงครับ เพราะตอนนั้นผมสอบเอนทรานซ์ก่อน แต่เอาผลไปเอนท์เข้าคณะอื่น หลังจากนั้นผลเลยมาสอบตรงกับทางวิทยาลัยอีกทีหนึ่ง

ข้อสอบตรงของวิทยาลัยดุสิตธานีแนวข้อสอบเป็นอย่างไรบ้าง

ข้อสอบของวิทยาลัยดุสิตธานีไม่ยากอย่างที่คิดครับ โดยจะเน้นอยู่สามวิชา คือคณิตศาสตร์ สังคม และภาษาอังกฤษ ถ้านักศึกษาคนไหนเข้ามาสอบแล้วสอบไม่ผ่านในรายวิชาใด แต่คะแนนถึงเกณฑ์สามารถเข้าเรียนได้ ก็จะมีการสอนซ่อมเสริมให้ โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์กับภาษาอังกฤษครับ

มีการสอบทำอาหารก่อนด้วยหรือไม่

ไม่มีสอบความถนัดครับ เพราะโดยตัวปริญญาที่จะได้เป็นปริญญาบริหารธุรกิจบัณฑิต แต่สาขาวิชาจะเป้นการจัดการครัวและภัตตาคาร ซึ่งถ้าใครไม่ได้เลือกสาขานี้ก็สามารถเลือกเรียนการท่องเที่ยวหรือการโรงแรมก็ได้

สาขาการจัดการครัวและภัตตาคารเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

ถ้าพูดให้เห็นในภาพรวมชัดๆก็คือ เรียนทุกอย่างที่เราเห็นในร้านอาหาร หรือในภัตตาคารครับ ทั้งเรื่องการคัดวัตถุดิบยังไง การคัดคนยังไง บริหารยังไง การคิดต้นทุนกำไร การคุมสต๊อก การเช็คของ การปรุงอาหาร เรื่องของวัตถุดิบทุกอย่าง เรียนทุกอย่างที่อยู่ในสโคปของภัตตาคารทั้งหมด

บางคนอาจจะคิดว่าการเรียนตรงนี้เรียนแค่การทำอาหารอย่างเดียว แต่ไม่ใช่ครับ เพราะเวลาเราไปประกอบอาชีพจริงๆ หน้าที่ของเชฟ หลักๆคือการบริหารซะมากกว่าครับ


คนที่สนใจเรียนด้านการจัดการครัวและภัตตาคารควรมีคุณสมบัติอย่างไร ควรมีความสนใจด้านใดเป็นพิเศษบ้างหรือเปล่า

หนึ่งเลยต้องชอบการทำอาหารครับ เพราะถึงจะบอกว่ามันเป็นวิชาการบริหารธุรกิจ แต่จริงๆก็จำเป็นต้องมีทักษะของการประกอบอาหารด้วย คือคุณอาจจะไม่ต้องเก่งมาตั้งแต่ต้น แต่ต้องสนใจที่จะเรียนรู้ครับ ขอแค่นั้นก็พอว่าสนใจและรักอยากจะเรียนรู้เรื่องนั้นจริงๆครับ

จริงๆไม่จำเป็นต้องทำอาหารเก่งมาก่อนครับ เพราะเพื่อนๆผมหลายคนที่จบไปก็ไม่ได้มาทำงานเป็นเชฟ ก็อาจจะไปทำพวก R&D (Research and Development) วิจัยอาหาร หรือทำด้านการตลาดอะไรอย่างนั้นก็ได้ แต่เราเรียนตรงนี้เราจะมีความรู้ด้านอาหารที่ชัดเจน

เรียนจบสาขาการจัดการครัวและภัตตาคารสามารถประกอบอาชีพด้านใดได้บ้าง

ก็อย่างที่บอกครับ นอกจากเป็นเชฟแล้ว อาชีพที่คนจบสาขานี้สามารถทำได้ หนึ่งเลยก็คือผู้จัดการร้านอาหารครับ เพราะเราจะเรียนเรื่องการบริหารมา สองคือเป็นผู้คิดค้นสูตรใหม่ๆให้กับบริษัทหรือร้านอาหารต่างๆได้ หรือที่เราเรียกกันว่า R&D ครับ คิดสูตรอาหารหรือเมนูใหม่ๆ หรือจะข้ามสายงานไปทำด้านการตลาดหรือการขาย เช่นขายการบริการด้านอาหาร หรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารก็ยังทำได้ เพราะเราจะมีความรู้ด้านอาหารเป็นพื้นฐานอยู่แล้วครับ

หลังเรียนจบ มีโอกาสได้ไปฝึกงานที่ฝรั่งเศสได้อย่างไร

ตอนที่ใกล้เรียนจบ ของวิทยาลัยดุสิตธานีจะมีโครงการทุน ให้นักศึกษาได้ไปฝึกงานต่างประเทศ โดยใช้วิธีการสอบคัดเลือกครับ คะแนนส่วนใหญ่ที่สำคัญที่สุดคือความสามารถด้านภาษา ก็ตอนนั้นผมก็มีโอกาสได้ไปสอบคัดเลือก แล้วก็สอบได้ครับ ได้ทุนไปศึกษาดูงานที่ประเทศฝรั่งเศส

ตอนนั้นไปอยู่ที่โรงแรมวาแตลล์ ที่นี่จะเป็นโรงเรียนด้วยและเป็นโรงแรมด้วย ก็คือจะมีวิธีการสอนต่างจากเมืองไทย คือจะเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย คือเป็นระบบว่า เรียนหนึ่งอาทิตย์และทำงานหนึ่งอาทิตย์ วิธีนี้ทำให้นักเรียนเห็นภาพได้มากกว่าครับ

เตรียมตัวก่อนไปอย่างไรบ้าง มีเรียนภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมหรือไม่

จริงๆที่ประเทศฝรั่งเศสก็พูดภาษาอังกฤษกันบ้างครับ แต่ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วคนฝรั่งเศสก็จะพูดแต่ภาษาฝรั่งเศส การเตรียมตัวก็ไม่ได้เตรียมอะไรมากครับ มีเตรียมเรื่องภาษานิดหน่อย เรียนบทสนทนาเบื้องต้นไปแต่นั้นล่ะครับ

การเรียนการสอนส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษครับ จะมีแค่วิชาเชฟที่สอนเป็นภาษาฝรั่งเศส เพราะเขาถือว่าอาหารฝรั่งเศสเป็นพื้นฐานของอาหารตะวันตกทั้งหมด ศัพท์ที่ใช้ส่วนใหญ่จึงเป็นศัพท์ภาษาฝรั่งเศส

เล่าถึงประสบการณ์การฝึกงานที่ประเทศฝรั่งเศส

ไปช่วงแรกๆ คนฝรั่งเศสจะมองว่าคนเอเชียเรา ไม่มีความสามารถในการประกอบอาหาร โดยเฉพาะอาหารยุโรป เขาเข้าใจว่าเราคงเคยทำแต่อาหารบ้านเรา แต่พอดีในกลุ่มนักเรียนที่ไป ผมได้เรียนมาทางด้านการประกอบอาหารโดยตรง ในขณะที่เพื่อนๆจากประเทศอื่นจะเรียนมาทางบริหารการโรงแรม แต่ที่นู่นถึงจะเรียนการโรงแรมก็ตาม คุณก็ยังต้องเรียนการทำอาหารเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตร สำรับที่วิทยาลัยดุสิตธานีที่ผมเรียนจะเน้นไปด้านห้องอาหารและภัตตาคารโดยเฉพาะเลย ทำให้เรามีทักษะในการทำอาหารมากกว่าคนอื่นนิดหน่อย พอเราทำไปแล้วเชฟเขาก็เริ่มเห็นฝีมือของเรา เริ่มเห็นว่าเราทำงานได้ เขาก็เริ่มยอมรับครับ ก็สนุกดีครับ เป็นคอร์สระยะสั้นๆแค่หกเดือน

เล่าถึงทุนศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมนี

พอกลับมาที่เมืองไทย อาจารย์ที่วิทยาลัยดุสิตธานีก็เสนอเป็นทุนให้ไปทำงานที่เยอรมนี เป็นสัญญาจ้างหนึ่งปี ให้เราได้ไปศึกษาดูงานที่โน่น ก็สอบคัดเลือกไปครับ ก็คล้ายๆกับที่ฝรั่งเศส แต่ที่นี่จะไม่มีการเรียนการสอนแล้ว ให้เราไปทำงานอย่างเดียว

เรื่องความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อมไม่ได้ต่างกับที่ฝรั่งเศสมากครับ ถ้าจะต่างก็ตรงที่ ตอนไปฝรั่งเศสเราไปในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน เขาก็จะมีหอพักมีอะไรให้ แต่ตอนไปเยอรมนีเราต้องหาที่อยู่เอง ต้องกินเอง โดยที่เขามีเงินเดือนให้เหมือนเราไปทำงานจริงๆ

ส่วนคุณย่าก็ได้ไปเยี่ยมบ้างครับ แต่ไปอยู่กันคนละเมือง ถ้าเทียบกับเมืองไทยก็คงเหมือนกรุงเทพกับปัตตานีครับ

การทำอาหารเยอรมันกับอาหารฝรั่งเศสแตกต่างกันหรือไม่

ก็ต่างกันอยู่ครับ เนื่องด้วยวัฒนธรรมมากกว่า คนฝรั่งเศสจะใส่ใจในเรื่องการรับประทานอาหาร ถ้าใครเคยเห็นภาพอาหารฝรั่งเศส จะเห็นว่ามันเป็นจานเล็กๆ และมีการจัดตกแต่งจานให้สวยงาม แต่คนเยอรมันจะเป็นคนตรงๆ เพราะฉะนั้นเขาจะไม่ค่อยมีการจัดจานสวยงามเท่าของทางฝรั่งเศส เสิร์ฟไกก็เสิร์ฟเป็นตัว ขาหมูก็เสิร์ฟเป็นขา สลัดก็จัดใส่ชามใหญ่ๆ ไป เรื่องความพิถีพิถันในการรับประทานจะต่างกันครับ

ตอนที่ตัดสินใจเรียนปริญญาโท ทำไมถึงเลือกสาขาโภชนบำบัดที่มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่จุดประกายจริงๆก็คงเริ่มจากคนในบ้านล่ะครับ ผมเห็นว่าแม่เริ่มป่วยเป็นโรคตับ ทานอาหารหลายอย่างไม่ได้ คุณปู่ก็เริ่มเป็นโรคเบาหวาน ต้องคุมน้ำตาล และตอนที่ไปทำงานอยู่เยอรมัน เนื่องจากไปทำงานในเมืองท่องเที่ยว พอหมดหน้าท่องเที่ยวแล้ว แขกส่วนใหญ่ก็จะเป็นแขกสูงอายุที่อยู่ตามชานเมือง เข้ามาทานอาหาร พอได้พูดคุยกับเขาก็ทราบว่า ผู้สูงอายุบางคนเป็นโรคหัวใจ ต้องงดไขมัน กินอาหารชนิดนั้นชนิดนี้ไม่ได้ เราก็เลยรู้สึกว่า การทำอาหารมันไม่ใช่แค่ต้องทำให้อร่อยอย่างเดียวแล้ว เราควรจะทำอาหารให้คนกินแล้วสุขภาพดีด้วย ทำให้ผมเริ่มศึกษาว่า อาหารที่กินแล้วสุขภาพดีเป็นยังไง เลยทำให้มารู้จักแนวทางของโภชนบำบัดครับ

มีการเตรียมตัวก่อนเข้าเรียนอย่างไรบ้าง

ตอนแรกว่าไปไปเรียนที่ต่างประเทศครับ แต่ว่าหลักสูตรที่ต่างประเทศส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นปริญญาบัตร จะเป็นแค่ประกาศนียบัตร ก็เลยกลับมาดูของที่เมืองไทย ปรากฏว่าที่มหิดลมีเปิดสอนสาขาโภชนบำบัดโดยตรง สนใจก็ลองสมัครดู 

ตอนแรกทางอาจารย์ก็ยังไม่อนุมัติให้เราเรียน เพราะเราไม่ได้จบมาทางสายวิทยาศาสตร์โดยตรง แต่พอไปคุยกับท่านแล้วท่านเห็นความตั้งใจ ท่านก็เลยให้โอกาสสอบดู ถ้าเราสอบผ่านข้อสอบแบบเดียวกับที่คนอื่นๆสอบได้ ท่านก็จะให้เข้าศึกษาในปริญญาโทสาขานี้ครับ

ถ้าไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มา ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมเยอะ เพราะวิชาที่สอบของโภชนบำบัดจะเป็นวิชาพวกไบโอเคมี ซึ่งเป็นวิชาที่ยาก และยังมีวิชา Physiology ซึ่งเป็นวิชาแบบเดียวกับที่คุณหมอเรียนกันน่ะครับ มีสองวิชานี้แหละที่ยาก นอกจากนี้ก็ยังต้องสอบความถนัดทางโภชนาการ

ตอนสอบ วิชาไบโอเคมีกับ วิชา Physiology นี่ผมได้คะแนนน้อยมาก ยอมรับเลยครับ แต่ผมได้ความถนัดโภชนาการกับภาษาอังกฤษเยอะ อาจารย์ท่านก็เลยให้โอกาส เพราะภาควิชาที่เรียนเป็นหลักสูตรนานาชาติด้วยครับ การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ

สาขาโภชนบำบัดเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

สาขาโภชนบำบัดก็จะเรียนเกี่ยวกับเรื่องสารอาหารและโภชนาการทั้งหมด เหมือนกับที่คนเรียนปริญญาตรีสาขาโภชนาการเรียนกัน แต่เมื่อลงลึกมาถึงโภชนบำบัด คุณต้องมีความรู้ของแพทย์ด้วย ทั้งเรื่องสรีระศาสตร์ พยาธิวิทยาของโรค ตัวยาที่ใช้รักษา การอ่านข้อมูลของคนไข้ก็ต้องอ่านได้เหมือนหมอ

ในต่างประเทศ นักโภชนบำบัด เป็นสาขาวิชาชีพหนึ่งที่เราต้องขึ้นไปพบกับคนไข้ด้วยครับ เพราะฉะนั้นการแนะนำคนไข้ หรือการวินิจฉัยคนไข้ว่า คนไข้ป่วยเป็นโรคนี้ควรได้รับอาหารประเภทไหน ปริมาณเท่าไหร่เป็นสิ่งสำคัญมาก

วิชาที่จะยากก็จะเป็นด้านคลินิกนี่แหละครับ

ภาควิชามีกิจกรรมอะไรที่ประทับใจ หรือวิชาที่ชอบเป็นพิเศษหรือไม่

นอกจากการเรียนภาคทฤษฎีแล้ว สาขานี้เรายังมีจำลองให้จัดร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพ นักศึกษาแต่ละคนจะทำอาหารเพื่อสุขภาพขึ้นมา แล้วเอาคูปองไปขาย นอกจากนั้น กิจกรรมนอกห้องเรียนก็จะมีไปออกค่ายอาสา ช่วยโรงเรียนในชนบทก่อสร้างอาหารเรียนหรือห้องสมุด เราก็จะได้ไปทำอาหาร ให้ความรู้เรื่องโภชนาการกับเด็กๆ

ปริญญาโทสาขานี้เรียนกันสามปีครับ แต่หนึ่งในสามปีนั้นเราต้องออกไปฝึกงานตามโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลต่างๆ เช่นศูนย์ผู้ป่วยโรคเอดส์ของสภากาชาด ตรงนั้นเราก็จะได้ไปให้ความรู้ด้านโภชนาการกับคนไข้ ได้ทำงานเหมือนเราได้เป็นนักกำหนดอาหารจริงๆ

จบสาขาโภชนบำบัดสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง

สำหรับสาขาโภชนบำบัด เรามุ่งหวังให้คนที่จบออกมาเป็นนักกำหนดอาหาร ในสายนักกำหนดอาหารนี้เราก็จะทำงานอยู่ในโรงพยาบาล เป็นที่ปรึกษาด้านโภชนาการให้กับหมอและคนไข้ หรือไม่ก็อาจจะออกมาทำงานกับสถานความงามที่ดูแลเรื่องการควบคุมน้ำหนักก็ได้ ซึ่งเขาจำเป็นต้องมีนักโภชนากรหรือนักกำหนดอาหารคอยให้คำปรึกษาคนไข้เหมือนกัน นอกจากนี้ก็อาจไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทที่ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพก็ทำได้เหมือนกันครับ

คิดว่าความต้องการของตลาดสำหรับคนจบสาขาโภชนบำบัดมีมากน้อยแค่ไหน

เรายังต้องการคนที่เป็นนักกำหนดอาหารเยอะนะครับ เพราะว่า อย่างที่ผมบอกไป นักกำหนดอาหารเป็นหนึ่งในสหวิชาชีพเวชศาสตร์ที่ต้องขึ้นไปพบคนไข้พร้อมกับหมอ พยาบาล นักกายภาพบำบัด และเภสัชกร ในต่างประเทศถือว่าห้าตำแหน่งนี้สำคัญมาก แต่ในประเทศไทยเรายังขาดนักกำหนดอาหารที่จะมาร่วมตรวจคนไข้กับคุณหมอ และนักโภชนาการที่เรียนกันมา ค่อนข้างน้อยที่จะขึ้นมาเป็นนักกำหนดอาหาร ตลาดยังต้องการคนจบด้านนี้อีกเยอะครับ

การคิดสูตรอาหารเพื่อโภชนาการบำบัดต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง แตกต่างจากการคิดสูตรอาหารทั่วไปอย่างไร

สำหรับอาหารทั่วไป ในแง่ของเชฟ ถ้าจะคิดอาหารขึ้นมาสักจาน เราต้องทำอาหารที่ดึงดูดตาผู้รับประทาน กลิ่นหอมน่ารับประทาน และรสชาติดี แต่พอพูดถึงแง่การทำอาหารเพื่อสุขภาพแล้ว นอกจากสามอย่างที่กล่าวมา เราต้องใส่ใจแง่ของสุขภาพด้วย

โดยทั่วไปแล้ว เวลาที่ผมคิดเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ เราจะต้องทำตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณะสุข หรือตามข้อกำหนดของสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยด้วยครับ คือต้องกำหนดว่าอาหารจานหนึ่งควรมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตเท่าไหร่ โปรตีนเท่าไหร่ ไขมันเท่าไหร่ จากข้อมูลตรงนั้นเราค่อยนำอาหารมาแยกส่วนเป็นอาหารหมวดต่างๆ จากนั้นก็เอามาผสมกันให้เป็นเมนูอาหาร ซึ่งการทำงานตรงนี้เราต้องมีทั้งความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะการประกอบอาหาร มาประกอบกันถึงจะได้อาหารที่ดีต่อสุขภาพออกมาครับ

 

เคยพบคนไข้ที่มีอคติกับอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากคิดว่ารสชาติไม่ดีเท่าอาหารปรกติบ้างหรือไม่

บ่อยเลยครับ คนทั่วไปจะมีทัศนคติต่ออาหารเพื่อสุขภาพว่า เป็นอาหารรสชาติไม่ดี จืดชืด ไม่มีรสชาติ ดีอย่างเดียวแต่ไม่อร่อย แต่ในความเป็นจริงแล้วอาหารทุกชนิดสามารถนำมาทำเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้ครับ ขึ้นอยู่กับปริมาณและสัดส่วนที่เรารับประทานเท่านั้นเอง

การเตรียมตัวสอบเพื่อเข้าเรียนสาขาโภชนบำบัด

หนึ่งเลยอยากให้เน้นเรื่องภาษาอังกฤษครับ เพราะการทำงานจริงๆเราไม่ได้ทำงานแต่กับคนไทย เมื่อเจอคนไข้ต่างชาติเราก็ต้องสามารถให้ความรู้เขาได้ สองขอให้เตรียมความรู้เรื่องโรคภัยต่างๆ และสรีระร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอวัยวะในระบบย่อยอาหาร เราต้องรู้ทั้งหมดครับ

ฝากถึงน้องๆที่สนใจเรียนด้านโภชนบำบัด

สำหรับน้องๆที่สนใจเรียนด้านโภชนบำบัดนะครับ หนึ่งเลยควรต้องมีความสนใจด้านอาหาร ชอบกินชอบสังเกต อยากรู้ว่าอาหารแต่ละอย่างมีส่วนผสมอะไรบ้าง จากนั้นก็ต้องศึกษาว่าอาหารเหล่านั้นมีคุณประโยชน์อะไรต่อร่างกาย และถ้าจะเป็นนักกำหนดอาหารที่ดีได้ ต้องชอบให้คำปรึกษากับคนอื่นด้วยนะครับ ต้องมีทักษะในการให้คำปรึกษาและการสนทนา และต้องสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนไข้ด้วยครับ

 

 

วิทยาลัยดุสิตธานี เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีภาคภาษาไทยรวมห้าหลักสูตรคือ

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดของหลักสูตรปริญญาตรีภาคภาษาไทยและหลักสูตรอื่นๆ ที่เปิดสอนได้ที่เว็บไซต์ http://www.dtc.ac.th

 

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทรวมสามสาขาวิชาคือ

  • ·         สาขาโภชนศาสตร์
  • ·         สาขาพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ
  • ·         สาขาอาหารและโภชนาการเพื่อการพัฒนา

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดของหลักสูตรปริญญาโทได้ที่เว็บไซต์ http://www.inmu.mahidol.ac.th/th/

Tags
Posted by
Plook Admissions.
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us