Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
TCAS 4 รอบ เหมาะกับใครบ้าง ?

  Favorite

          “ไม่ใช่เพื่อใครทุกคน ไม่ใช่เพื่อใครก็ได้”

          ระบบ TCAS ได้รับการออกแบบมาให้สามารถใช้ได้กับน้อง ๆ ทุกคน ทุกระบบการศึกษา แต่ไม่ใช่หมายความว่า คนหนึ่งคนจะเหมาะกับทุกรอบ ดังนั้นการเลือกรอบที่ใช่ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับตัวเราจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก แล้วรอบไหนล่ะที่มันเหมาะกับเรา ที่เลือกแล้ว...มงลง เลือกแล้ว...หัวใจบอกว่า “ฟาดมากแม่” ไปสแกนดูกันเลย

 

 

รอบที่ 1 Portfolio “Marketing Zone”

          รอบนี้ถือว่าเป็นรอบที่เรียกว่า “Marketing Zone” เป็นรอบที่ต้องใช้หลักการตลาดเข้ามาใช้ในการวางแผนการสอบ เป็นรอบที่มหาวิทยาลัยก็ต้องการช็อปปิ้งเลือกนิสิตนักศึกษาที่ตรงตามความต้องการ และก็เป็นรอบที่นักเรียนเองก็อยากจะช็อปปิ้งเลือกมหาวิทยาลัยที่ตนต้องการเช่นการ รอบนี้น้องต้องงัดเอาของเด็ดของตนออกมาโชว์ เพื่อสร้างความน่าสนใจ เพิ่มมูลค่า สร้างความพึงพอใจ และนำมาสู่การตัดสินใจเลือกเราเข้าไปเป็นสมาชิกของสถาบันนั้น

Portfolio เหมาะกับใคร

          รอบนี้เหมาะสำหรับคนที่ “มีของ ปล่อยของ และขายของ”

          “มีของ” หมายถึง มีความโดดเด่น มีความสามารถพิเศษ มีความเป็นเลิศ มีความถนัด มีความสนใจชัดเจน มีความสามารถพิเศษ มีประสบการณ์ สอดคล้องกับสาขา คณะที่อยากเข้า

          “ปล่อยของ” หมายถึง มีพื้นที่แสดงความสามารถให้ประจักษ์ มีผลงานการันตีความสามารถ โลกรู้ ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้

          “ขายของ” หมายถึง มีทักษะการนำเสนอผลงานที่ดี ขายเก่ง สื่อสารความรู้ความสามารถความสนใจของตนได้อย่างชัดเจน สอดคล้องตรงกันระหว่างตัวตน ความฝัน และคณะหรือสถาบันที่สนใจ

          ของดี การตลาดโดน ย่อมปิดดิลได้ง่ายกว่า

 

รอบที่ 2 Quota “Spec Zone”

          รอบนี้เป็นรอบ “Spec Zone” คือ มีคุณสมบัติเฉพาะตรงตามกฎเกณฑ์ เงื่อนไข ของแต่ละโครงการ / สถาบัน มีหลากสเปก หลายสไตล์ เช่น มีเกรดตรงตามข้อกำหนด มีความสามารถในประเภทที่กำหนด กระจายโอกาสตามพี้นที่ที่กำหนด หรือมีเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และอาจมีการใช้ข้อสอบกลาง หรือวิชาเฉพาะในบางโครงการ รวมทั้งอาจมีการใช้ GPAX 5 หรือ 6 ภาคเรียน

Quota เหมาะกับใคร

          เหมาะกับคนเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ เหมาะสำหรับคนสองฝั่งที่มีสเปกตรงกัน ฝั่งหนึ่งคือ มหาวิทยาลัย อีกฝั่งคือตัวของน้อง ๆ เอง โดยมหาวิทยาลัยจะออกแบบสเปกคนที่ต้องการไว้ ดังนี้

          สเปกการเรียน เช่น เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์, เรียนดีในเขตชนบท เหมาะกับน้อง ๆ ที่เรียนเก่ง ได้เกรดสวย แต่พ่วงด้วยคุณสมบัติอื่นเพิ่มเติม เช่น ฐานะทางครอบครัว หรือพื้นที่อาศัย

          สเปกภูมิลำเนา / เขตพิเศษของประเทศ เช่น โควตาโรงเรียนมัธยมในเขตพัฒนาภาคเหนือ, โครงการชาวไทยภูเขา, โครงการ 14 จังหวัดภาคใต้, โครงการรับตรงภาคตะวันออก 12 จังหวัด, โควตาพื้นที่เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เหมาะกับน้อง ๆ ที่เรียนในโรงเรียนหรือมีพื้นที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดนั้น ๆ โดยไม่ต้องมีคุณสมบัติอื่นร่วม เพราะโครงการเหล่านี้เน้นการกระจายโอกาสตามเขตพื้นที่ต่างจังหวัด หรือพื้นที่พิเศษ    

          สเปกความสามารถพิเศษ เช่น โครงการความสามารถพิเศษด้านวิชาการ /โอลิมปิกวิชาการ / ความสามารถทางกีฬา / ดนตรี / ศิลปะ เหมาะกับคนที่มีความสามารถพิเศษด้านที่ตรงกับมหาวิทยาลัยกำหนด และอาจมีการใช้ข้อสอบวิชาเฉพาะหรือสอบภาคปฏิบัติเพิ่มเติม เช่น ทฤษฎีทางดนตรี เป็นต้น

          สเปกทางเครือญาติ คือ เป็นบุตรของผู้ประกอบอาชีพในสาขานั้น เช่น โครงการร้านยาคุณภาพ บุตรเกษตกร ทายาทธุรกิจยางพารา เหมาะกับคนที่เกิดมาในครอบครัวที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสาขาที่น้องสนใจ วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนอาชีพเหล่านั้นให้มีผู้สืบทอด ไม่ให้เกิดความขาดแคลนในพื้นที่นั้น ๆ

          สเปกด้านการเป็นเครือข่าย คือ เป็นโรงเรียนที่ได้มีการทำ MOU เอาไว้กับมหาวิทยาลัย เช่น โควตาโรงเรียน MOU ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, โรงเรียนเครือข่าย 2 คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ ของ ม.เทคโนโลยี                พระจอมเกล้าพระนครเหนือ โครงการเครือข่ายครูแนะแนว ของ ม.แม่ฟ้าหลวง เป็นต้น เหมาะกับคนที่เรียนในโรงเรียนที่ได้ MOU และมีคุณสมบัติเฉพาะตรงตามที่มหาวิทยาลัยที่ทำ MOU กำหนดไว้

          รอบนี้สเปกตรง มงลงค่า

 

รอบที่ 3 Admission “Peak Zone”

          ถือว่าเป็นรอบที่พีคที่สุด เพราะเป็นการฟาดกันด้วยคะแนนล้วน ๆ มหาวิทยาลัยส่งคณะ/สาขาต่าง ๆ เข้าร่วมแข่งขันในสนามนี้พร้อมกัน ในวันและเวลาเดียวกันทุกสถาบัน หัวใจสำคัญคือคะแนนจากข้อสอบกลาง เลือกสาขาได้หลายสาขาตามที่ ทอป.กำหนด เรียงตามความสนใจจากมากไปน้อย และฟีจเจอร์ที่เด็ดสุดของรอบนี้คือ ประมวลผล 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มโอกาสการสอบติด และช่วยให้ติดในสาขาที่ตรงใจเพิ่มขึ้น

Admission เหมาะกับใคร

          รอบนี้เหมาะกับนักเรียนทั่วไปและนักเรียนที่สนใจโครงการ กสพท. ที่มีความมั่นใจในคะแนนของตนพอสมควร เพราะรอบนี้เป็นการใช้เกณฑ์ตรงจากมหาวิทยาลัย คณะเดียวกันต่างสถาบันกันก็ใช้เกณฑ์ไม่เหมือนกัน หรือบางทีสาขาและสถาบันเดียวกันด้วยซ้ำ แต่คนละรหัสก็ใช้เกณฑ์ต่างกัน และเป็นการไฟว์กันด้วยคะแนนจากการสอบข้อสอบกลางล้วน ๆ โดยที่แทบจะไม่มีข้อมูลประกอบอะไรมากเลย เช่น คะแนนสูงสุด - ต่ำสุดย้อนหลัง อัตราการแข่งขัน ปริมาณผู้แข่งขัน เรียกได้ว่านอกจากจะเป็นรอบวัดความสามารถแล้ว ยังต้องวัดดวงด้วยว่า คณะที่เราจะเข้า คู่แข่งเป็นใคร คะแนนมากน้อยแค่ไหน แต่ถือว่าเป็นรอบที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน เพราะไม่มีกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขเฉพาะ ดังนั้นคนที่ได้แต้มต่อจึงตกเป็นของคนที่มีคะแนนดีกว่า

          สายฟาด...เตรียมผงาดในรอบนี้

 

รอบที่ 4 Direct Admission  “Pick Zone”

          รอบนี้เป็นรอบเก็บตก “Pick Zone” เป็นด่านสุดท้ายเพื่อคัดกรองคนเข้ามหาวิทยาลัย การรับเป็นการผสมความหลากหลาย ทั้งกฎเกณฑ์ และองค์ประกอบ แต่บอกเลยว่ารอบนี้ มีจำนวนรับน้อยที่สุด บางคณะมีแค่หลักหน่วยด้วยซ้ำ !

Direct Admission เหมาะกับใคร

          รอบนี้เหมาะสำหรับคนที่สอบไม่ติดในรอบที่ผ่านมา ควรเป็นคนที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านคะแนนที่ควรมีครบ ทั้ง GAT PAT และ วิชาสามัญ (บางสาขาอาจไม่ใช้คะแนนสอบ ใช้แค่ GPAX กับการสอบสัมภาษณ์ก็มี) คณะไหนต้องการองค์ประกอบใด สามารถยื่นได้หมด หรือแม้แต่ความหลากหลายด้านความสนใจ เพราะรอบสุดท้ายนี้มีแค่บางสาขา / คณะที่เปิดรับ น้อง ๆ ที่ต้องการปิดดิล TCAS ในปีนี้ให้ได้ อาจจะต้องปรับตัวปรับใจเปลี่ยนความฝันให้สอดคล้องกับคณะที่เหลืออยู่

          นอกจากนี้ สาขาในรอบนี้มีการขยับเพิ่มลดอยู่ตลอด ขึ้นอยู่กับการสรุปผลจากการรับรอบที่ผ่านมา สาขาไหนที่นั่งยังไม่เต็ม ก็จะมาเติมที่นั่งในรอบนี้ หรือถ้าเต็มแล้ว จากที่ประกาศรับก็อาจจะปิดรับก็ได้ ดังนั้นน้อง ๆ ไม่ควรวางแผนมาเล่นรอบนี้เลย เพราะจะเหลือตัวเลือกไม่มาก รอบนี้จึงเป็นแค่แผนสำรองกรณีที่พลาดจากทุกรอบมาแล้ว ที่สำคัญหลายมหาวิทยาลัย หลายสาขาก็ไม่เคยมีที่นั่งเหลือตกหล่นมาให้เก็บในรอบนี้เลย !!

          เมื่อฝันไม่เป็นจริง ก็จงใช้ความจริงแทนความฝัน

 

          น้อง ๆ คนไหนอ่านมาถึงตรงนี้ คงจะตอบตัวเองได้บ้างแล้วว่า เราเหมาะกับ TCAS รอบไหน เหนื่อยผิดที่ ผิดทาง เหนื่อยกี่ครั้งก็ไม่ถึงฝั่งแห่งความสำเร็จ แต่ถ้าถูกที่ ถูกทาง ต่อให้เหนื่อยแค่ไหน ความสำเร็จไม่ไกลเกินไปถึง...แน่นอน !

    

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
Upgrade “รอบที่ 3 Admission” จุดเปลี่ยนหลัก TCAS 64
รอบ 3 Admission 10 อันดับ ประกาศผล 2 ครั้ง การคัดเลือกเป็นอย่างไร ?
กำหนดการสมัครสอบ GAT/PAT และ วิชาสามัญ ปี 2564
หน่วยงานที่เด็ก TCAS ต้องรู้จัก
ม. 6 ต้องสอบอะไรบ้าง
เจาะลึก กสพท คืออะไร สอบอะไรบ้าง

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us