Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เภสัชกรแต่ละประเภท ทำหน้าที่อย่างไร

  Favorite

          "เภสัชกร" เป็นอาชีพที่หลายคนสนใจ และเลือกเรียนใน คณะเภสัชศาสตร์ เส้นทางสายอาชีพนี้ ไม่ได้มีแค่การเป็นเภสัชกรร้านยาหรือโรงพยาบาลเท่านั้น ยังมีแยกออกมาอีกหลายประเภท ซึ่งจะมีความต่างในหน้าที่อย่างไรนั้น มาศึกษาประกอบการตัดสินใจเรียนเลย

 

เภสัชกร แต่ละประเภท ทำหน้าที่อย่างไร

 

เภสัชกรโรงพยาบาล

          มีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย ดูแลเรื่องการจ่ายยา, วิธีใช้ยา, ข้อควรระวังในการใช้ยา โดยจ่ายยาตามคำสั่งของหมอเท่านั้น และงานในส่วนอื่นที่ต้องดูแลคือ ให้คำแนะนำกับบุคลากรของโรงพยาบาล ที่ดูแลเรื่องการจัดเตรียมยา, ดูแลคลังเวชภัณฑ์และคลังยาของโรงพยาบาล, บริหารจัดการระบบยาของโรงพยาบาล, ดูแลเรื่องการจัดซื้อยาจากบริษัทต่าง ๆ เข้ามาใช้ในโรงพยาบาล, ควบคุมคุณภาพการจัดเก็บรักษายา, กระจายยาไปที่ฝ่ายเภสัชกรรม ของหอผู้ป่วยในส่วนต่าง ๆ ของโรงพยาบาล เป็นต้น เป็นหน้าที่ไม่ใช่แค่จ่ายยา ตามหมอสั่งให้กับผู้ป่วยแล้วจบ แต่ยังต้องดูแลเรื่องระบบการทำงาน ที่เกี่ยวกับยาที่ใช้ในโรงพยาบาลทั้งหมด

 

เภสัชกรสายวิจัย

          มีหน้าที่คุมงานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนายา เก็บข้อมูล ทำการทดลอง เฝ้าติดตามผลและสรุปรายงาน เป็นเภสัชกรที่เน้นการทำงานด้านการวิจัยยา เพื่อการผลิตยาที่มีคุณภาพ ในการรักษาโรคด้านต่าง ๆ ซึ่งในประเทศไทยยังขาดเภสัชกรสายผลิตลักษณะนี้อยู่จำนวนมาก

 

เภสัชกรอุตสาหกรรม

          หน้าที่หลักคือการนำความรู้ด้านเภสัช มาใช้ในการทำงานด้านอุตสาหกรรมการผลิต ทำหน้าที่ควบคุมและผลิตยา หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยา ที่จัดอยู่ในระบบการผลิตเพื่อธุรกิจ และเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า นอกจากนี้ยังต้องดูแลสินค้าจากโรงงานให้ได้มาตรฐาน ควบคุมปริมาณการใช้ยาในสินค้าประเภทยาต่าง ๆ ให้อยู่ตามกฎหมายกำหนด ควบคุมสารสกัดที่ใช้ในส่วนผสม ดูแลการผลิต ตรวจสอบคุณภาพ ให้สินค้าเกี่ยวยาออกมาปลอดภัยกับผู้บริโภค

 

เภสัชกรการตลาด

          บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตยา จำเป็นต้องมีเภสัชกรเข้ามาร่วมทำงาน ไม่ใช่แค่ควบคุมการผลิตอย่างเดียว แต่ในเรื่องของการตลาด ก็ต้องได้รับคำปรึกษาจากเภสัชกรเช่นกัน ฉะนั้นจึงต้องมีเภสัชกรการตลาดเข้ามาทำหน้าที่ วิเคราะห์ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยาในท้องตลาด เพื่อหาทางพัฒนาและสร้างจุดขาย สร้างจุดเด่นของแบรนด์ และทำหน้าที่ขายหรือนำเสนอยาเพื่อออกจำหน่ายสู่ตลาด เช่น การติดต่อเสนอขายยาให้กับโรงพยาบาล สถานพยาบาล ร้านยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องร่วมวางแผนกลยุทธ์การตลาดร่วมกับบริษัทอีกด้วย เพราะคนที่เข้าใจเรื่องยาได้ดี ก็คือเภสัชกร

 

เภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภค

          ทำงานที่หน่วยงานเกี่ยวกับการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค มีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุม ดูแลคุณภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น ตามหน่วยงานอย. เพื่อดูแลป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวง ตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้าต่าง ๆ

 

เภสัชกรชุมชน หรือ เภสัชกรร้านขายยา

          เราจะเจอเภสัชกรด้านนี้ได้ตามร้านยาเป็นส่วนใหญ่ ที่เปิดธุรกิจร้านขายยาเป็นของตัวเอง ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่มาใช้บริการ สอบถามอาการ และจ่ายยาให้ตามอาการ นอกจากนี้ยังเจอได้ในเขตชุมชน ทำหน้าที่ช่วยคัดกรองผู้ป่วย ตอบคำถามและให้ข้อมูลคำแนะนำเกี่ยวกับตัวยาต่าง ๆ ดูและสอบถามอาการ ประวัติของผู้ป่วย จ่ายยาตามอาการ สำหรับการจะเปิดร้านยาเป็นของตัวเองได้ ต้องมีใบอนุญาตร้านยา มีการตรวจเยี่ยมจากหน่วยงานสาธารณสุข มีใบประกอบวิชาชีพ สามารถเปิดได้ทั้งร้านที่เภสัชกรเป็นเจ้าของเอง หรือจ้างเภสัชกรมาขายก็ได้เช่นกัน แต่ต้องทำตามข้อกำหนดตามกฎหมาย

 

เภสัชกรโรงพยาบาล สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2563 https://thaipharma.wordpress.com

เภสัชกร สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2563 https://www.trueplookpanya.com/explorer/occupation-step3/45

 

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us