Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
การปรับการสอบ ใน TCAS 64

  Favorite

          “ข้อสอบ” ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพิชิตศึก TCAS โดยเฉพาะการแข่งขันในรอบที่ 3 Admission ซึ่งเป็นการรับร่วมกันของ 2 รูปแบบที่แตกต่างกัน คือ รูปแบบ Admission 1 (รับตรงร่วมกัน) และ Admission 2 (รับกลางร่วมกัน) ซึ่งทั้ง 2 รอบนี้ ล้วนแล้วแต่ใช้คะแนนจากข้อสอบกลางเป็นหลัก อันได้แก่ O-NET, GAT, PAT และ วิชาสามัญ และอย่างที่ทราบกันดีว่า ใน TCAS 64 ได้มีการปรับระบบให้กระชับ ไทม์ไลน์การบริหารจัดการสั้นลง ใช้ระยะเวลาน้อยลง และมีลูกเล่นในการคัดเลือกที่หลากหลายให้สิทธิและโอกาสแก่น้อง ๆ มากมาย ไล่เรียงไปตั้งแต่รอบที่ 1 จนถึงรอบที่ 4 แต่นั่นไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเดียวที่เกิดขึ้น !!

          ตราบใดที่หัวใจหลักของการเข้ามหาวิทยาลัย ยังหนีไม่พ้นการสอบฉันใด

          ข้อสอบก็ยังเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงหัวใจฉันนั้น

          และสำหรับปีนี้ “ข้อสอบ” ก็ได้มีการปรับหลายจุดเลยทีเดียว แต่จะปรับอะไรบ้างนั้น ตามพี่นัทไปเช็กลิสต์กันเลยค่ะ

 

1. ลดการสอบวิชาสามัญ 2 วิชา คือ คณิตศาสตร์ 2 และ วิทยาศาสตร์ทั่วไป

          สำหรับน้อง ๆ ที่จบ ม. 6 หรือ เทียบเท่า ในปีการศึกษา 2563 ถ้าจำเป็นต้องใช้วิชาสามัญทั้ง 2 วิชานี้ในการสอบคัดเลือก น้อง ๆ ไม่ต้องสมัครสอบ แต่ให้ไปใช้คะแนนวิชา O-NET คณิตศาสตร์ (แทนวิชาคณิตศาสตร์ 2) และใช้  O-NET วิทยาศาสตร์ (แทนวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป) นั่นหมายความว่า ในการสอบ O-NET คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ เท่ากับน้อง ๆ สอบแค่หนึ่งครั้ง แต่คะแนนที่ได้จะสามารถนำไปใช้เป็นคะแนน O-NET ด้วย และวิชาสามัญด้วย

          แต่ แต่ แต่...นั่นคือกติกาสำหรับเด็กที่จบในปี 63 เท่านั้น !!

          สำหรับเด็กซิ่ว (น้องที่จบก่อนปี 63) ต้องรอการ Update ข้อสรุปการหารือร่วมกันระหว่างแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกที

          ดังนั้น ในวันสอบวิชาสามัญ (วันที่ 3 – 4 เมษายน 2564) จะมีการจัดสอบแค่ 7 วิชาเท่านั้น คือ ภาษาไทย, อังกฤษ, สังคมศึกษา, คณิตศาสตร์ 1, ฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา เพราะว่าอีก 2 วิชา (คณิตศาสตร์ 2 และ วิทยาศาสตร์ทั่วไป) สอบไปแล้วในการสอบ O-NET (วันที่ 27 – 28 มีนาคม 2564) นั่นเอง

          สรุปว่า วิชาสามัญ วิชาคณิตศาสตร์ 2 กับ วิทยาศาสตร์ทั่วไป กับ O-NET วิชาคณิตศาสตร์ และ O-NET วิทยาศาสตร์ คือการสอบวิชาเดียวกัน ครั้งเดียวกัน ใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน สอบวันและเวลาเดียวกัน ดังนั้นคะแนนที่ได้ จึงเป็นทั้งคะแนน O-NET และคะแนนวิชาสามัญ ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ เช่น ถ้าเป็นการรับรอบที่ 3 รูปแบบ Admission 1 ต้องใช้วิชาสามัญ คณิตศาสตร์ 2 หรือ วิทยาศาสตร์ทั่วไป ระบบก็จะดึงคะแนนส่วนนี้ไปใช้ในนามของคะแนนวิชาสามัญ แต่ถ้าเป็นรอบที่ 3 รูปแบบ Admission 2 ระบบจะดึงคะแนนส่วนนี้ไปใช้ในนามของ O-NET วิชาคณิตศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์

          งงมั้ยคะ ?? ถ้างง อย่าเพิ่งอ่านข้อต่อไป วนไปอ่านซ้ำอีก 2 รอบ รับรอง Get !

 

2. ปรับเนื้อหา แนวข้อสอบ และหน่วยงานออกข้อสอบ กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในทุกประเภทการสอบ

          ข้อสอบกลางของระบบ TCAS มี 3 ประเภท คือ

  1. ข้อสอบ O-NET ปรับวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
  2. ข้อสอบ วิชาสามัญ ปรับวิชาคณิตศาสตร์ 1, ฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา (ส่วนคณิตศาสตร์ 2 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป ปรับไปใช้การสอบ O-NET แทน)
  3. ข้อสอบ PAT ปรับวิชา PAT 1 (ความถนัดทางคณิตศาสตร์) และ PAT 2 (ความถนัดทางวิทยาศาสตร์)

          เนื่องจากน้อง ม. 6 ปีนี้ใช้หลักสูตรที่แตกต่างจากปีก่อน ๆ โดยในหมวดวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ได้ปรับเปลี่ยนให้ สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) เป็นหน่วยงานที่ออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน และเมื่อ สสวท.เป็นหน่วยงานที่ปรับเนื้อหาหลักสูตร เป็นผู้กำหนดเป้าหมายของผู้เรียน ว่าในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายควรจะต้องเรียนรู้อะไรบ้าง ดังนั้นเขาต้องเข้าใจเนื้อหามากที่สุด ทปอ.จึงมอบหมายให้ สสวท. ทำเครื่องมือในการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน จึงทำให้ข้อสอบในกลุ่มวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ต้องมีการเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่น้องกำลังเรียน ส่วนวิชาอื่น ๆ สทศ. ยังรับหน้าที่เป็นหน่วยงานออกข้อสอบเหมือนเดิม
          และที่สำคัญ พี่นัทได้รับการยืนยันจากพี่ก๊อง ผู้จัดการระบบ TCAS มาแล้วว่า ข้อสอบที่มีการปรับใหม่ครั้งนี้ ไม่ออกเกินหลักสูตรแน่นอน ! รวมทั้งไม่เน้นการแก้สมการยาก ๆ แต่เน้นการนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหา และเชื่อมโยงความรู้ทางฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา เข้าด้วยกัน ในการตอบโจทย์ปัญหาทางวิทยาศาสตร์

          ในทุกระบบของการแข่งขันเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หลาย ๆ เสียงต่างบ่นกันตลอดว่า ไม่ว่าประเทศไทยจะใช้ระบบการคัดเลือกใด สิ่งที่เหมือนกันคือ ข้อสอบเยอะ ยาก ซับซ้อน เกินที่เรียนในห้องเรียน จึงจำเป็นต้องไปกวดวิชา ไม่อย่างนั้นไม่สามารถทำข้อสอบได้เลย ในครั้งนี้ ทปอ.จึงได้สรุปแนวทางของข้อสอบที่ใช้ในระบบ TCAS ใหม่ว่า ในเมื่อเนื้อหาเปลี่ยนก็จำเป็นต้องปรับตัวข้อสอบ จะไม่ออกข้อสอบเชิงทฤษฏีเยอะ ลึก ซับซ้อน เหมือนอดีตที่ผ่านมา แต่จะเน้นการนำทฤษฎีไปใช้งาน ดังนั้นข้อสอบในกลุ่มคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ปีนี้ เราจะเห็นภาพของการนำไปใช้มากกว่าการแก้สมการยาก ๆ โดยจะมีโจทย์ที่จำลองเหตุการณ์ขึ้นมา ให้น้อง ๆ นำเหตุการณ์นั้นมาแปลงเป็นสมการแล้วก็หาคำตอบ (โอ้ว มันจะง่ายขี้นใช่มั้ย ?)

          นอกจากนี้ ทปอ. ยังมองเห็นว่า การแก้โจทย์ยาก ๆ ด้วยวิธีการท่องจำ หรือใช้ทางลัดในการคำนวณนั้น เมื่อไปเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว ไม่สามารถเรียนต่อได้ เพราะในมหาวิทยาลัยคือเรียนไปเพื่อแก้ปัญหาของจริง ดังนั้นจึงหมดสมัยแล้วที่จะเรียนผ่านโจทย์ที่เกิดจากการติว น้อง ๆ รุ่นนี้ จำเป็นจะต้องประยุกต์ ตีความ และนำไปใช้ได้จริง

          หัวใจของเด็ก ๆ บางคนอาจจะกังวลว่า “เฮ้ย ก็เราเตรียมตัวมาแบบนี้ เรียนพิเศษ กวดวิชามาอย่างหนักขนาดนี้ แล้วมาเปลี่ยน อุตส่าห์ทั้งเดา ทั้งดักทางข้อสอบมาอย่างเต็มที่ มาเปลี่ยนกลางทางแบบนี้จะทำอย่างไร”

          โอ๋ ๆ น้อง ๆ อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะอีกไม่นาน สสวท. จะชี้แจงกำหนดกรอบเนื้อหา สัดส่วน จำนวนข้อสอบ พร้อมตัวอย่างข้อสอบในแต่ละวิชาให้น้อง ๆ ได้เห็น ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น ค่อยมาลุ้นกันต่อไปว่า จะง่ายขึ้นหรืองงขึ้น คงได้รู้กัน ! ในเร็ว ๆ นี้ และแน่นอนว่า ถ้าตัวอย่างข้อสอบออกเมื่อไหร่ ทีมงาน Plook TCAS ก็จะนำมาวิเคราะห์และแนะนำน้อง ๆ ต่อไป แต่อย่างน้อยก็จะหมดข้อครหาไปหนึ่งเรื่องคือ คนออกข้อสอบกับคนวางหลักสูตรเป็นคนละหน่วยงานกัน (เดิมเป็น สทศ.) ดังนั้นข้อสอบใหม่ อาจจะถูกใจน้อง....ก็ เป็น ด้ายยย !

 

3. ไม่มีการสอบ TGAT ในปี 64 แต่จะนำมาใช้เต็มรูปแบบในปี 66

          สำหรับ TCAS 64 ที่เคยมีข่าวจาก ทปอ.ว่า ในปีนี้จะมีข้อสอบทางเลือก คือ TGAT (Thai General Aptitude Test) มานำร่องการใช้งานในระบบ แต่ข้อสรุปล่าสุดคือ ยังไม่มีการสอบ TGAT เกิดขึ้นในปีนี้ ส่วนจะนำมาใช้ใน TCAS 65 หรือไม่นั้น ยังไม่สรุปชัดเจน แต่สำหรับ TCAS 66 ได้เจอตัวจริงเสียงจริงแน่นอนเนื่องจาก ทปอ. จะดำเนินการปรับระบบ TCAS ครั้งใหญ่อีกครั้งในปีนั้น (ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมจาก ทปอ.)

          แน่นอนว่า น้อง ๆ ม. 4 ตอนนี้ คงกระวนกระวายใจไม่น้อย ว่าจะเปลี่ยนอะไรอีกบ้างน้า แล้วพวกหนูจะเตรียมตัวกันอย่างไร

          ดึงสติค่ะ !!

          ไม่ต้องสนใจว่าข้อสอบจะปรับเปลี่ยนอะไร เพราะไม่ว่าจะเปลี่ยนไปทางไหน มันก็จะวนเวียนอยู่ในกรอบเนื้อหาที่น้อง ๆ เรียนมา ถ้าตั้งใจเรียนในห้องเรียน ยังไงเราก็ต้องฟาดคะแนนมาได้แน่ ๆ แต่สิ่งที่สำคัญคือ “ไอเทมใหม่” ที่ ทปอ. จะใส่เสริมลงไปในข้อสอบคือ เรื่องของการวัดสมรรถนะด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานและการใช้ชีวิต นี่ล่ะ จุดที่น่าสนใจ ไม่ต้องติวแต่ต้องเตรียมตัวค่ะ ไม่ว่าจะเป็น

          English Communication  การสื่อสารภาษาอังกฤษ
          Critical and Logical Thinking  การใช้เหตุผลเชิงปริมาณและการคิดอย่างมีตรรกะ
          Future Workforce Competencies สมรรถนะในการทำงานอนาคต
                    - Value Creation & Innovation การสร้างคุณค่าและนวัตกรรม
                    - Complex Problem Solving การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน
                    - Emotional Governance การบริหารจัดการอารมณ์
​                    - Civic Engagement การมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อสังคม

          ดังนั้นน้อง ๆ ม. 4 เตรียมรับ ขยับรุกไว้ได้เลย การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ รอพวกเราอยู่อย่างแน่นอนค่ะ

 

          หมดยุคของการศึกษาแบบสังคมก้มหน้าแล้ว คือ ก้มหน้าก้มตาเรียนหนังสือ หรือท่องโลกออนไลน์ จนรู้ทุกอย่างที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ! การปรับ TCAS ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนโครงสร้างระบบการคัดเลือก แต่หมายถึงการปรับโครงสร้างและกระบวนการปั้นบุคลากรเข้าสู่ระบบการศึกษา ตลาดแรงงาน และอนาคตของชาติ และไม่ว่าระบบจะซับซ้อน จะวุ่นวาย หรือจะสงบเรียบร้อยอย่างไร น้อง ๆ จะมีพี่นัท และทีมงาน Plook TCAS คอยเป็นพี่เลี้ยงอยู่เคียงข้างน้อง ๆ และการศึกษาไทยตลอดไปค่ะ

          Change for a better life !

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us