ตอนนี้น้อง ๆ คงจะเตรียมตัวสำหรับยื่นรอบแรกกันแล้วใช่มั้ย คนที่มีผลงานเกี่ยวข้องกับสาขาที่อยากเรียน มีผลงานการประกวดต่าง ๆ หรือกิจกรรมที่ได้สะสมทำมาตั้งแต่ ม. 4 รวบรวมยื่นได้เลย แต่เดี๋ยวก่อน! ไม่ใช่ผลงานทุกอย่างจะยื่นได้ ดังนั้นเราควรมาทำความเข้าใจเรื่อง Portfolio เพิ่มกันอีกหน่อย หัวใจหลักของรอบ Portfolio คือการโชว์ผลงานเด่น ตรงตามโจทย์ของสาขา เน้นการสัมภาษณ์ ไม่ใช่ว่าจะใส่ผลงานอะไรก็ได้ ไม่ใช่ยิ่งเยอะยิ่งดี ผลงานของเราต้องตรงตามคุณสมบัติที่ทางคณะ/สาขากำหนดมา อย่างที่มีการกำหนดไว้ว่า ไม่เกิน 10 หน้า เพราะรอบ Portfolio มีหลายประเภท
ตัวอย่างประเภทของโครงการที่เปิดรับ
เน้นเกรด คุณสมบัติพิเศษ
- โครงการเด็กเรียนดี
- โครงการช้างเผือก
- โครงการจริยธรรม
- โครงการบุตร/ทายาท
ส่วนใหญ่จะคัดเลือกจากเกรดเฉลี่ย กิจกรรมโดนเด่นที่เกี่ยวข้อง และคะแนนการสอบสัมภาษณ์ อาจารย์ที่เป็นคณะกรรมการจะมองถึงทัศนคติของเราว่าเหมาะสำหรับคณะไหม
เน้นผลงาน การประกวด ความสามารถ
- โครงโอลิมปิก
- โครงการความสามารถพิเศษ กีฬา ดนตรี
- โครงการความสามารถพิเศษด้านภาษาอังกฤษ
- โครงการความสามารถพิเศษที่เกี่ยวข้องกับคณะ/สาขา
การคัดเลือกจะเน้นดูจากจากผลงาน การประกวด การเข้าร่วมการแข่งขัน หรือทางมหาวิทยาลัยอาจจะมีโจทย์ให้ พร้อมแนบผลงานอื่น ๆ ไปด้วย หรือมีคะแนนสอบตามที่คณะต้องการ เช่นแพทย์ ต้องมีคะแนน BMAT, IELTS, TOEFL เป็นต้น และคะแนนการสอบสัมภาษณ์ บุคลิกแนวคิดที่เหมาะจะเรียนในคณะ
โครงการรอบพอร์ตของแต่ละมหาวิทยาลัยมีเยอะมาก แต่ละโครงการ คุณสมบัติไม่เหมือนกัน หลายคนมุ่งมั่นที่จะผลิตพอร์ตให้อลังการงานสร้าง แต่นั่นยังไม่ใช่อาวุธเด็ดที่ใช้ปราบคู่แข่ง หรือชนะใจกรรมการ แล้ว Portfolio ต้องเป็นแบบไหนมาดูกัน
เห็นแค่หน้าปก บอกได้ทันทีว่าอยากเข้าคณะอะไร เปิดข้างในยิ่งชัดเจนว่าเหมาะที่จะเข้าคณะนี้ นั่นหมายถึงว่าพอร์ตของคุณต้องดูออกว่าเกี่ยวข้องกับคณะอะไร ผลงานที่เลือกใส่สื่อสารชัดว่าเกี่ยวข้องกับคณะที่จะเข้า
บางคนออกแบบจนเลอะเทอะ เยอะมาก เยอะที่ว่าไม่ใช่ผลงาน แต่คือ “ความเยอะ” ที่มีอยู่ในตัว ที่ไม่จำเป็นหรือเป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อการแข่งขัน เช่น สีที่โดดเด่นจนลานตา ลายที่รุงรังจนสื่อความไม่รู้เรื่อง เลือกสรรของจริง ที่เด่น เด็ด ปัญหาของข้อนี้คือ การไม่มี “ของเด็ด” ใส่ลงไปในพอร์ต ไม่มีเนื้อหาที่ตรงตามที่คณะ/สาขากำหนดเลย แบบนั้นสวยไปก็ไม่ได้จ้า
รายละเอียดที่สำคัญและจำเป็นต้องมีครบถ้วน ได้แก่
- หน้าปก
ภาพแรกแห่งความประทับใจ First Impression
- ประวัติส่วนตัว
ไม่ลงลึกราวกับญาติสนิท แต่ต้องครบในสิ่งที่ช่วยทำให้คณะกรรมการรู้จักเราได้ในเพียงชั่วระยะเวลาการอ่านสั้น ๆ
- ประวัติการศึกษา
เอาแค่ระดับมัธยมศึกษาพอ อนุบาลหรือประถมไม่ต้อง พร้อมเหตุผลที่เลือกเรียน บอกเป้าหมาย ความฝัน ความมุ่งมั่นทุ่มเท ที่มีต่อคณะนี้ แสดงความถึงจริงใจและจริงจัง
- รางวัล ผลงาน และเกียรติบัตร
ตรงนี้แหละ ใส่ในสิ่งที่คณะ/สาขาอยากเห็น ในระเบียบการสมัคร จะมีระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องการผลงานอะไรบ้าง ถ้าเป็นโครงการที่ชัดเจนอย่างโอลิมปิก กีฬา ดนตรี ก็จะต้องมีการเข้าร่วมการแข่งขันต่าง ๆ แต่ถ้าเป็นโครงการเรียนดี เกรดสวย คะแนนภาษาดี ก็ใส่หลักฐานไปเลย และจะมีบางคณะ/สาขาที่ให้โจทย์น้อง ๆ มาทำส่งแบบสดใหม่ ไปเลย เช่น วาดภาพ เรียงความ
- กิจกรรม
หลายคนแยกไม่ออก ระหว่างกิจกรรมกับผลงาน ผลงานคือสิ่งที่คนอื่นยอมรับและให้การรับรอง แต่กิจกรรมคือสิ่งที่เราเอาตัวเราเข้าไปรับรองตัวเอง แล้วนำเสนอให้เห็นว่า แม้จะไม่ได้รางวัล แต่เป็นกิจกรรมที่สะท้อนศักยภาพ ความถนัด และความสนใจของเรา ใส่ที่เกี่ยวข้องกับคณะ/สาขาพอนะ หรือเกี่ยวกับโครงการที่สมัคร เช่น จริยธรรม เราอาจจะเคยทำกิจกรรมอะไรแบบนี้แล้วก็ใส่ไป กิจกรรมด้านผู้นำ กิจกรรมที่สอดคล้องกับคณะและโครงการนั้น ๆ
เมื่อน้อง ๆ มีผลงานตรงตามที่คณะ/สาขากำหนด การรวบรวมให้ไม่เกิน 10 หน้า หรือถ้าไม่ถึงก็ไม่เป็นไร ไม่ได้น้อยเกินไป แต่เป็นพอร์ตที่มีคุณภาพ สาระครบ ได้รับการพิจารณาแน่นอน
แต่ละมหาวิทยาลัยเริ่มประกาศระเบียบการรอบแรกแล้ว ติดตามได้ที่ >> ศูนย์ข่าวรับตรง
บทความที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่าง Portfolio ของรุ่นพี่ที่ผ่าน TCAS รอบแรก
How to การส่ง Portfolio TCAS รอบที่ 1
สร้าง Portfolio เด็กสายประกวดต้องรู้
5 เรื่อง Portfolio ที่เข้าใจผิด