ตั้งตารอคอยบทสรุปของ TCAS 64 อย่างลุ้น ๆ ว่า ผลของการทำประชาพิจารณ์ทั่วทุกภูมิภาค เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งเด็กนักเรียน ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง นักวิชาการ และสื่อมวลชน จะเป็นส่วนสำคัญที่นำไปใส่ไว้ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หรือไม่
วันนี้บทสรุปของ TCAS 64 ชัดเจนแล้วว่า ทุกเสียงทุกความคิดเห็นของน้อง ๆ และผู้เกี่ยวข้องไม่ได้ถูกแปะไว้บนหิ้งของผลประชาพิจารณ์ แต่ได้รับการรับฟังและนำมาปรับใช้จริงใน TCAS 64
การปรับครั้งนี้ พี่นัทขอเรียกว่า การ “Upgrade TCAS” เพราะไม่ใช่การรื้อทิ้ง ไม่ใช่การสร้างใหม่ แต่เป็นการปรับแต่งให้ระบบสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ คือตัวนักเรียน และเหมาะสมกับสถานการณ์ทางการศึกษา สังคม และเทคโนโลยีมากขึ้น โดยจุดที่มีการปรับเปลี่ยนหลักนั้น ถือว่าเป็นห้องเครื่องใหญ่ของระบบ ที่จำเป็นต้องยกเครื่องใหม่ จุดนั้นคือ “TCAS รอบที่ 3 Admission” ทปอ. ปรับอะไรบ้าง ไปส่องกันเลยค่ะ
สถานการณ์ Covid-19 ทำให้น้อง ๆ เปิดเทอมช้าลง และส่งผลให้การสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องขยับออกไปตาม และแน่นอนว่าคะแนนสอบต่าง ๆ ก็จะต้องออกล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา แต่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยังคงต้องการให้การเปิดเทอมคงเดิม ดังนั้นกระบวนการคัดเลือกในระบบ TCAS 64 จึงต้องปรับการบริหารจัดการให้ Timeline สั้นลงและกระชับที่สุด (เริ่มเปิดระบบช้าลง แต่ปิดระบบเร็วขึ้น) คือ เริ่มเปิดระบบ mytcas วันที่ 5 มกราคม 2564 สิ้นสุดระบบในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 โดยแนวทางที่ทำให้ Timeline สั้นลง คือการปรับการบริหารจัดการใน TCAS รอบที่ 3 นั่นเอง
แนวทางการบริหารจัดการที่นำมาใช้คือ การรวมรอบการรับสมัครของรูปแบบ Admission 1 (รับตรงร่วมกัน) กับ Admission 2 (รับกลางร่วมกัน) เข้าด้วยกัน สมัครและประกาศผลพร้อมกันในรอบเดียวกัน (TCAS ระบบเก่า สมัครและคัดเลือกรอบที่ 3 Admission 1 ให้จบสิ้นกระบวนการก่อน แล้วจึงเปิดรับสมัครรอบที่ 4 Admission 2 ทั้งสองรอบนี้ใช้เวลาห่างกันประมาณหนึ่งเดือน) ซึ่งรูปแบบใหม่นี้ช่วยลดเวลาของระบบให้สั้นลง
รอบนี้น้อง ๆ สามารถเลือกอันดับได้อย่างจุใจถึง 10 อันดับ โดยเรียงตามลำดับความต้องการ และสามารถผสมหรือคละรูปแบบการคัดเลือกได้ เพราะทั้งสองรูปแบบเป็นอิสระต่อกัน เช่น อาจจะเลือกสาขาที่เป็นรูปแบบ Admission 1 สลับกับ Admission 2 แต่ ทปอ. จะประกาศผลอันดับสูงสุดที่สอบติดเพียงอันดับเดียวเหมือนเดิม
ในการจัดวางอันดับ น้อง ๆ ต้องประมวลศักยภาพของตนร่วมไปกับความต้องการ ความสนใจด้วย คะแนนที่คำนวณผ่านรูปแบบใด สร้างโอกาสการสอบติดให้เรามากกว่ากัน พิจารณาว่าสาขาที่สนใจนั้น เลือกรูปแบบใดได้เปรียบกว่า เพราะทั้งสองรูปแบบมีคุณสมบัติและเกณฑ์การคัดเลือกที่ไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นคณะหรือสาขาเดียวกันก็ตาม
จุดเปลี่ยนข้อนี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์แรกของระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยไทย ที่มีการประมวลผลการคัดเลือกและประกาศผล 2 ครั้ง (ในรอบเดียวคือรอบที่ 3 Admission) ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาที่นั่งว่างจากการสละสิทธิ์ และให้มหาวิทยาลัยสามารถเติมคนไปยังที่นั่งที่ว่างได้ อีกทั้งยังช่วยให้น้อง ๆ ได้รับโอกาสสอบติดที่ตรงใจเพิ่มมากขึ้น
แนวทางการประมวลผล คือ เมื่อประกาศผลครั้งแรกของรอบที่ 3 น้อง ๆ ที่สอบติด จะต้องเข้ามาแสดงความจำนงยืนยันสิทธิ์, ไม่ใช้สิทธิ์ หรือขอประมวลผลครั้งที่ 2 ส่วนคนที่สอบไม่ติด ก็ต้องเข้ามาแสดงความจำนงขอประมวลผลการคัดเลือกครั้งที่ 2 ด้วยเช่นกัน จากนั้นระบบจะประมวลผลครั้งที่ 2 เพิ่มเติมคนไปยังที่นั่งที่ว่าง นั่นหมายความว่าโอกาสของน้อง ๆ ในปี 64 จะดีขึ้น มีโอกาสได้เข้าเรียนในสาขาที่ใช่และชอบมากขึ้น เช่น
ประกาศผลครั้งแรก น้องปลูกสอบติดอันดับที่ 3 แต่ถ้าน้องปลูกยังไม่พอใจ สามารถเลือกให้มีการประมวลผลครั้งที่ 2 ในสาขาที่มีลำดับสูงกว่าลำดับที่สอบติดได้ (ในกรณีนี้คือลำดับที่ 1 และ 2) ดังนั้นถ้าทั้งสองอันดับยังมีที่นั่งว่าง (ที่มาจากการไม่ใช้สิทธิ์ของคนที่สอบติดอันดับนั้น) ก็จะทำให้น้องปลูกสามารถลุ้นที่จะเลื่อนอันดับการสอบติดขึ้นไปได้อีก แต่ทั้งนี้ยังยืนยันหลักการเดิมคือ ไม่ว่าจะประมวลผลครั้งไหนก็ตาม ระบบจะประกาศผลการสอบติดเพียง 1 สาขา ที่เป็นอันดับสูงสุดที่น้องสอบติดเท่านั้น !
การประมวลผลรูปแบบนี้ ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อดูแลเฉพาะเด็กที่สอบไม่ติดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนที่สอบติด แต่ยังอยากขอโอกาสครั้งที่ 2 เพื่อประมวลผลใหม่ในอันดับที่ต้องการมากกว่า
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับน้อง ๆ อย่างมากที่สุด ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ตั้งแต่ยุคสมัย Entrance, Admission มาจนถึงยุค TCAS โดยปี 64 นี้ น้องจะได้เลือกแล้วเลือกอีก เลือกถึงสองต่อด้วยกัน
“เลือกต่อที่หนึ่ง” ตอนสมัครคัดเลือก น้องเลือกได้ถึง 10 อันดับ ตามความต้องการจากมากไปน้อย
“เลือกต่อที่สอง” เมื่อ ทปอ.ประกาศผลครั้งที่ 1 แล้ว น้องต้องเข้าระบบ Clearing House เพื่อมาแสดงเจตนารมณ์ว่าต้องการอะไร และที่สำคัญและเป็นของใหม่ที่สุดคือ ไม่ว่าจะสอบติดหรือสอบไม่ติดก็ต้องเข้ามาเลือก !
ใส่เครื่องหมายดอกจันล้านตัวไว้เลยว่า “เมื่อประกาศผลครั้งที่ 1 ติดหรือไม่ติด ก็ต้องเลือก !” ส่วนจะเลือกอะไรได้บ้างนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ
สำหรับคนที่สอบติด จะมี 3 ตัวเลือก ให้น้องตัดสินใจ
1. เลือกยืนยันสิทธิ์ในสาขาที่ตนสอบติด และไม่ขอประมวลผลครั้งที่ 2 (จะไม่สามารถไปต่อใน TCAS รอบต่อไปได้)
2. เลือกขอประมวลผล ครั้งที่ 2 เพื่อลุ้นให้ติดในอันดับที่สูงขึ้นจากที่ประกาศผลครั้งแรก โดยเลือกยืนยันสิทธิ์ในอันดับที่ต้องการ รวมทั้งอันดับที่ติดในการประมวลผลครั้งที่ 1 ด้วย (เลือกได้มากกว่า 1 อันดับ แต่ต้องเป็นอันดับที่ไม่ต่ำกว่าอันดับที่สอบติด)
3. เลือกไม่ใช้สิทธิ์และไม่ขอประมวลผลครั้งที่ 2 เพื่อไปต่อใน TCAS รอบต่อไป
เลือกและยืนยันสิทธิ์ในสาขาที่ต้องการให้ประมวลผลครั้งที่ 2 (ระบบยืนยันสิทธิ์ล่วงหน้า) เพื่อลุ้นการสอบติดจากสาขาที่ยังมีที่นั่งเหลืออยู่ (เลือกได้มากกว่า 1 อันดับ) โดยต้องเลือกและยืนยันสิทธิ์ในเวลาเดียวกัน ตั้งแต่การประกาศผลครั้งที่ 1 (วันประกาศผล ระบบให้ยืนยันสิทธิ์ได้เลย)
Clearing House ในการประกาศผลครั้งที่ 1
เมื่อประกาศผลครั้งที่ 1 ถ้าน้องเลือกยืนยันสิทธิ์ และไม่ขอประมวลผลใหม่ คือพอใจผลการสอบติดครั้งนี้แล้ว ก็เท่ากับว่าน้องได้เข้ามา Clearing ในระบบเรียบร้อยแล้ว แปลว่าน้องมีที่เรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว ก็เตรียมตัวเป็นน้องใหม่ได้เลย ซึ่งจะส่งผลให้น้องหมดสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันใน TCAS รอบต่อไป คือรอบที่ 4 ข้อสำคัญคือ ถ้าน้องสอบติดแล้วไม่เข้าไปยืนยันเลือกอะไรเลย มัวแต่ดีใจ หรือลืม หรือคิดว่าก็สอบติดไปแล้วนี่นา ผลคือ แอ่นแอ๊นนนน.... ระบบจะถือว่าน้องเลือกไม่ใช้สิทธิ์และไม่ขอประมวลผลโดยอัตโนมัติ !! นั่นเท่ากับว่า ที่น้องสอบติดในการประมวลผลรอบแรกไป ก็จะเท่ากับไม่ติดอะไรเลย ! หลุดไปสู้ต่อใน TCAS รอบต่อไป
Clearing House ในการประกาศผลครั้งที่ 2 (Auto Clearing)
เมื่อประกาศผลครั้งที่ 2 น้อง ๆ ไม่ต้องเข้ามายืนยันสิทธิ์ในระบบแล้ว ระบบจะยืนยันสิทธิ์ให้โดยอัตโนมัติ เพราะถือว่าน้องได้แสดงเจตนายืนยันสิทธิ์ไปแล้วตั้งแต่ตอนให้เข้ามาเลือกขอประมวลผลครั้งที่ 2 พี่นัทขอยกตัวอย่างนะ เผื่อน้อง ๆ งง เพราะก่อนที่จะเขียนบทความนี้ พี่ก็เคยงงมาก่อน 555 เช่น
น้องปลูก สอบติดอันดับ 3 แล้วต้องการขอประมวลผลเพื่อเลื่อนอันดับการสอบติดขึ้นมา ถ้าน้องปลูกต้องการให้ประมวลผลใหม่เฉพาะแค่อันดับที่ 1 อันดับเดียว คืออยากติดแค่อันดับนี้ ก็ติ๊กเลือกแค่อันดับเดียวเท่านั้น ถ้าสาขานั้นยังมีที่นั่งว่าง น้องปลูกก็เสียบแทน แต่ถ้าน้องปลูกต้องการประมวลผลอันดับที่ 2 ด้วย ก็ต้องเลือกขอประมวลผลใหม่ ทั้งอันดับ 1 และ อันดับ 2 หรือจะเลือก อันดับ 3 ซึ่งเป็นอันดับเดิมที่น้องปลูกสอบติดตั้งแต่การประกาศผลครั้งที่ 1 แล้ว น้องปลูกก็แค่ติ๊กเลือกขอประมวลผลใหม่ทั้ง 3 อันดับ
อันนี้สำคัญมาก เพราะถ้าหากน้องไม่เลือกอันดับเดิมที่เคยสอบติดจากการประกาศผลครั้งแรก ถ้าผลจากการประมวลผลครั้งที่ 2 น้องไม่ติดอันดับที่สูงกว่า จะกลายเป็นว่าน้องสอบไม่ติดอะไรเลย ดังนั้นจากตัวอย่างข้างต้น ถ้าน้องปลูกไม่ติ๊กเลือกอันดับ 3 ที่เคยสอบติดไว้ ถ้าอันดับ 1 กับ 2 ไม่มีที่ว่างเหลือ ก็จะทำให้น้องปลูกหลุดจากอันดับ 3 ที่เคยสอบติด สุดท้ายกลายเป็นไม่ติดอะไรเลย โอ้ว ! อย่าคิดว่าของเก่าที่สอบติดแล้ว เป็นของตายเด็ดขาดนะคะ
ตามหลักการประมวลผลของระบบ TCAS รูปแบบ Admission 1 (รับตรงร่วมกัน) มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกเกณฑ์ตรง และจะเป็นผู้ประมวลผลการคัดเลือกเอง แล้วส่งรายชื่อกลับไปให้ ทปอ.ทำการเรียงลำดับ (Ranging) แต่ถ้าเป็นรูปแบบ Admission 2 (รับกลางร่วมกัน) ทปอ. จะเป็นผู้ประกาศเกณฑ์กลางการคัดเลือกและประมวลผลเอง แต่ปีนี้มีความพิเศษเพิ่มขึ้นคือ จะมีบางสถาบันที่ให้ ทปอ.ทำระบบการคัดเลือกให้ตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด นั่นเท่ากับว่า ทอป.จะเป็นผู้ประมวลผล ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็จะง่ายสำหรับน้อง ๆ ตรงที่ มหาวิทยาลัยนั้นจะสามารถขึ้นคะแนนให้เห็นได้เลยว่าเลือกสาขานี้ได้กี่คะแนน
เห็นหรือยังว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นอกจากน้อง ๆ จะได้สิทธิ์เต็มเปี่ยมแล้ว ยังได้โอกาสอย่างเต็มที่อีกด้วย ระบบ TCAS Version เก่า อาจทำให้น้อง ๆ หลายคนพลาดโอกาสสอบติด เพราะการสละสิทธิ์และการสอบติดที่ยังมีซ้ำซ้อนกัน หรืออาจทำให้น้องสอบติด แต่ไปติดในสาขาที่ไม่ได้ชอบ ทั้ง ๆ ที่สาขาที่ชอบกลับมีที่นั่งว่างจากการสละสิทธิ์ และเมื่อสอบติดไปแล้วก็ต้องเรียน แต่เรียนไปแล้วไม่มีความสุข ก็จะซิ่ว ดังนั้น การ Upgrade TCAS 64 ครั้งนี้ จึงเป็นการช่วยให้ระบบการรับบุคคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามีความทันสมัย เหมาะสมกับบริบทของสังคม และสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังช่วยให้น้อง ๆ ได้เรียนในสาขาที่ตนเองมีศักยภาพที่จะเรียนได้สูงที่สุด และหวังว่าการซิ่วจะลดลง ความสูญเปล่าของการศึกษาก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย ทีมงานทรูปลูกปัญญาขอเอาใจช่วยทีมงาน ทปอ. และน้อง ๆ ทุกคน ให้ใช้ทุกโอกาสของตนให้เกิดความพึงพอใจ และความคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อที่จะได้มีพลังกลับมาสร้างคุณค่าให้ตนเองและสังคมต่อไป
ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไร จำไว้ว่า โลกไม่เคยหยุดหมุน
และเมื่อโลกไม่หยุดหมุน พวกเราก็ไม่ควรหยุดเดินตามหาความฝัน
อย่ารอให้โลกเหวี่ยงความฝันมาหาเรา แต่เรา...ควรใช้แรงเหวี่ยงของโลก ตามหามัน...ให้เจอ
พี่นัท ทรูปลูกปัญญา