การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำหลายคนเข้าสู่การเป็น “เด็กหอ” โดยเฉพาะน้อง ๆ ที่เรียนไกลบ้าน มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นเด็กหอแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการอยู่หอพักตอนเรียนมหาวิทยาลัย มีให้เลือก 2 แบบคือ หอในและหอนอก นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต่างกันแล้ว ต้องรู้กฎระเบียบหอแต่ละประเภทให้ดีก่อนเลือกอยู่ เพื่อประเมินว่า เราเหมาะหรือสะดวกที่จะอยู่หอพักรูปแบบไหน
การพักอยู่หอใน จำเป็นต้องลงทะเบียนเพื่อขอเข้าอยู่ ให้ตรงตามเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนด เนื่องจากหอพักของมหาวิทยาลัยมีจำนวนจำกัด จึงต้องมีระยะเวลาเปิดรับตามระบบ เพื่อจัดระเบียบรายชื่อนักศึกษาในทุกเทอมใหม่ สำหรับนักศึกษาปี 1 ส่วนใหญ่แล้วไม่สามารถเลือกรูมเมทได้ หอพักจะจัดรูมเมทมาให้เอง แต่บางมหาวิทยาลัยก็อนุโลมให้เลือกรูมเมทได้เช่นกัน แต่ต้องขออนุญาตตามระบบ ที่สำคัญคือ หอในเป็นสถานที่พักอาศัย ที่มีกฎต่าง ๆ มากกว่าหอนอก นี่คือสิ่งที่ต้องรู้และยอมรับให้ได้ก่อนตัดสินใจอยู่
เมื่อทำผิด นอกจากนักศึกษาจะต้องถูกลงโทษตามกฎที่กำหนด ซึ่งมีความเคร่งครัดค่อนข้างมาก ดังนั้นคนที่จะอยู่หอในได้ ต้องมั่นใจว่า ตัวเองสามารถอาศัยอยู่ได้เป็นอย่างดี ภายใต้ระเบียบที่หอพักกำหนด ซึ่งมีไว้เพื่อความเป็นระเบียบและความปลอดภัยของนักศึกษาในหอพัก และนักศึกษาทุกคนในมหาวิทยาลัยนั้นเอง
ตัวอย่างกฎข้อห้าม (หอใน)
- เข้าออกหอพักตามเวลาที่กำหนด หอในส่วนใหญ่มักกำหนดเวลาไว้คือ เปิด 06.00 น. - ปิด 22.00 น.
- แสดงบัตรประจำตัวผู้อยู่หอพักในการเข้าออก
- แยกหอพักชายหญิงชัดเจน ไม่อนุญาตให้ผู้เช่าต่างเพศขึ้น เช่น ผู้ชายไม่อนุญาตให้ขึ้นหอพักหญิง
- ห้ามโอนย้ายสิทธิ์หอพักเองโดยไม่ได้รับอนุญาต
- ห้ามพาบุคคลภายนอกขึ้นหอพัก
- ห้ามส่งเสียงดัง ทะเลาะวิวาทกัน หรือกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนผู้พักอาศัยอื่นเด็ดขาด
- ห้ามดื่มสุรา เล่นการพนัน เสพสิ่งเสพติด ของมึนเมาทุกชนิด ในหอพักเด็ดขาด
- ห้ามนำอาวุธหรือสิ่งของที่ก่อความอันตรายเข้ามาในหอพัก
- ห้ามนำสัตว์ทุกชนิดเข้ามาในบริเวณหอพัก หรือ ห้องพัก
- ห้ามประกอบอาหารในหอพัก
- ห้ามลักทรัพย์หรือจงใจทําลายทรัพย์สินของหอพัก รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นในหอพัก
- กรณีออกไปทำกิจกรรมของคณะ/มหาวิทยาลัย ต้องกลับเข้าหอพักเกินเวลา ต้องขออนุญาตก่อน
- อุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มเติมจากที่หอพักมีให้ ก่อนนำเข้าต้องแจ้งผู้ดูแลหอพักก่อน
- หอพักบางมหาวิทยาลัย มีกำหนดให้ใช้ไฟตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น
- ต้องรักษาทรัพย์สินของหอพัก และไม่ดัดแปลงอุปกรณ์ ทรัพย์สินในห้องพักก่อนได้รับอนุญาต
- บางมหาวิทยาลัย มีระเบียบควบคุม ให้ผู้ดูแลหอเข้าตรวจห้องพัก เช่น เข้าตรวจต่อสัปดาห์หรือต่อเดือน เป็นต้น
- ทำผิดกฎต้องถูกตักเตือน หรือถูกทำโทษ ตามระเบียบหอในแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด
“หอนอก” คือหอพักที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัย เป็นหอที่เปิดให้เช่าโดยเอกชนเป็นเจ้าของ ความแตกต่างที่ชัดเจนจากหอในคือ การมีอิสระในการอยู่หอพักที่มากกว่าหอใน หอนอกมีการกำหนดกฎระเบียบเช่นกัน แต่ข้อจำกัดและความเคร่งครัดมีน้อยกว่าหอใน ที่สำคัญคือมีสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องพักมาให้มากกว่า (แต่ราคาค่าเช่าก็สูงกว่า)
การทำเรื่องเช่าอยู่ไม่ยุ่งยาก มีเปิดให้เช่าหลายพื้นที่ รอบบริเวณใกล้มหาวิทยาลัย เวลาการเข้าออกหอพักไม่จำกัด เข้าออกได้ตลอด ทำให้นักศึกษาที่ต้องทำกิจกรรมดึก หรือมีธุระสามารถกลับเข้าออกหอพักได้สะดวก ไม่ต้องทำเรื่องขออนุญาต รวมทั้งมีอิสระในการเลือกว่า จะอยู่คนเดียวหรืออยู่กับรูมเมทก็ได้ แต่ราคาค่าเช่าก็จะสูงกว่าหอใน และมีหลายระดับราคาให้เลือก
ตัวอย่างกฎข้อห้าม (หอนอก)
- สามารถเข้าออกหอพักได้ตามสะดวก ไม่จำกัดเวลาเข้าออก
- ผู้เช่าต่อห้องพัก ต้องไม่เกินจำนวนที่หอพักกำหนด
- เข้าออกทุกครั้งต้องใช้คีย์การ์ด เปิด-ปิด ประตู
- กรณีหอพักสตรี มีกฎห้ามพาบุคคลภายนอกที่เป็นเพศชายเข้าหอพัก
- หอพักทั่วไป เช่าอยู่ได้โดยไม่จำกัดเพศ และสามารถเช่าห้องพักอยู่ร่วมกันได้
- ห้ามมั่วสุมเล่นการพนัน ทำเสียงดัง ทะเลาะวิวาท ให้เกิดความรำคาญ
- หากทำทรัพย์สินในห้องพักเสียหาย ต้องเสียค่าชดใช้หรือซ่อมแซม
- ห้ามทำหรือนำสิ่งของผิดกฎหมายมาในบริเวรหอพัก
- กรณีเลี้ยงสัตว์ บางหอพักอนุญาตให้เลี้ยงได้
- ห้ามต่อเติมสิ่งของ ไม่ดัดแปลงอุปกรณ์ ทรัพย์สินในห้องพัก
- ห้ามทิ้งเศษบุหรี่ลงจากระเบียงห้อง
- เครื่องใช้ไฟฟ้า สามารถนำเข้ามาใช้งานเพิ่มเติมได้
- ทำผิดกฎ จะต้องเสียค่าปรับ กรณีทำผิดร้ายแรงผู้เช่ามีสิทธิ์เชิญออก ยกเลิกสัญญาเช่าได้
ข้อมูลเรื่องกฎการอยู่หอพัก เป็นเพียงหนึ่งองค์ประกอบ ที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเท่านั้น สิ่งสำคัญนอกจากนี้คือราคาที่พัก ที่มีความสำคัญมาก ๆ เพราะเกี่ยวข้องกับความคล่องตัวด้านการเงินแต่ละครอบครัว ฉะนั้นน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมจะเป็นเด็กหอ ควรศึกษาข้อมูลทุกด้านให้ดีก่อนเลือก และพิจารณาให้ดีว่า เราเหมาะที่จะอยู่หอพักในรูปแบบไหน