ที่เป็นคนละเรื่อง คือ ถ้ามัวแต่ฝันว่าอยากมีอาชีพอะไร แล้วไม่ได้วางแผนเตรียมตัว โอกาสที่จะได้มีอาชีพนั้นแบบโชคช่วยแทบไม่มี สุดท้ายรู้ตัวอีกทีความฝันก็หายไป เหลือแต่ความจริงในแบบที่ไม่เคยฝัน !
ส่วนที่เป็นเรื่องเดียวกัน คือ ถ้ามีความฝันแล้วรู้จักวางแผนชีวิต หาวิธีการที่จะทำให้ฝันเป็นจริง ถ้าปฏิบัติให้สอดคล้องต่อเนื่องกันแบบนี้ได้ ก็จะมีโอกาสอยู่กับความจริงที่มาจากความฝันของเรา
ดังนั้น เพื่อให้ความฝันกับความจริง เป็นเรื่องเดียวกัน พี่นัทจึงขอนำเสนอเทคนิคการออกแบบอนาคต ที่เรียกว่า “BEYOND THINKING ให้อนาคตกำหนดปัจจุบัน” เพื่อใช้ช่วยให้น้อง ๆ เตรียมการวางแผนชีวิต ที่เกิดจากการวางเป้าหมายในอนาคตไว้ก่อน โดยใช้ กฎ 4 : 40
เลข 4 หมายถึง เวลาเรียนในมหาวิทยาลัย
เลข 40 หมายถึง เวลาทำงาน
โดยทั่วไปน้อง ๆ มักวางแผนการเรียนด้วยการจินตนาการภาพแค่ 4 ปี ในมหาวิทยาลัย อยากเรียนคณะโน้น คณะนี้ แต่อาจไม่เคยถามตัวเองว่า เฮ้ยยยย แล้วชีวิตอีก 40 ปี หลังจากเรียนจบจะทำงานอะไร วันนี้ลองมาเปลี่ยนมุมกลับ ปรับมุมมองกันหน่อยนะคะ
ลองคุยกับตัวเองว่า อาชีพไหนที่เราสนใจ มีความฝันอยากประกอบอาชีพนั้น มีความสามารถ มีความถนัดสอดคล้องกับอาชีพนั้นหรือไม่ และที่สำคัญลองตั้งคำถามว่า เราจะสามารถใช้เวลาอยู่กับมันได้นานหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า การทำงานคือ Long Term ไม่ใช่แค่ Short Term แบบการเรียน ถึงแม้ในความเป็นจริงเมื่อถึงเวลาทำงาน เราอาจจะเปลี่ยนงานได้ ถ้าไม่ถูกใจ แต่ถ้าถึงกับเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก จนหาเป้าหมายทางอาชีพไม่ได้ อาจส่งผลให้เสียโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานและทำให้เวลาในชีวิตอย่างแน่นอน
เมื่อได้โครงร่างอาชีพในฝันแล้ว ก็ลองเริ่มสร้างโอกาสให้ตนเองได้เข้าไปใกล้อาชีพนั้น ไปสมาคมกับคนที่ทำอาชีพนั้น แล้วลองจินตนาการว่า ถ้าสลับตัวกับคนนั้น เราทำแบบเขา อยู่แบบเขา เป็นเขาในแบบเราได้หรือไม่ ในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงการเข้าไปเลียนแบบชีวิตคนอื่น แต่หมายถึงการเรียนรู้ชีวิตคนอื่น แล้วกลับมามองตัวเองควบคู่กันไป ถึงแม้น้อง ๆ จะยังอยู่ในวัยเรียน เป็นเพียงเด็กมัธยมปลาย แต่ไม่ใช่ว่าเราจะต้องคบหรือมีเพื่อนมีสังคมแค่ในกลุ่ม ม.ปลายเท่านั้น เราอาจมีรุ่นพี่ พี่น้อง ญาติ คนรู้จัก หรือการพาตัวเองไปเข้าสังคมที่เกี่ยวข้องกับอาชีพในฝันของเรา เป็นสิ่งที่เด็ก ม.ปลาย ที่ยังไม่มีประสบการ์ณ์ตรงควรทำเป็นอย่างยิ่ง Zoom in เข้าไปใกล้ ๆ ใช่หรือไม่ใช่ ภาพมันจะชัดเจนเอง
เลือกทำกิจกรรมหรือเข้าค่ายที่เกี่ยวข้องหรือใกล้เคียงกับอาชีพนั้น พาตนเองไปสัมผัสความสุข และแรงบันดาลใจ ทดสอบให้ได้คำตอบว่า กิจกรรมเหล่านั้นกระตุ้นให้เกิดความท้าทายในชีวิตเราหรือไม่ มีแรงผลักดันให้อยากเรียน อยากศึกษาด้านนี้ เพื่อไปประกอบอาชีพในวันข้างหน้าบ้างมั้ย รวมทั้งไปร่วมกิจกรรมเพื่อให้มองเห็นข้อด้อย อุปสรรค หรือปัญหาของอาชีพนี้ เมื่อรู้แล้ว เรามีพลังอยากก้าวข้าม อยากเอาชนะปัญหาเหล่านี้หรือไม่ และถ้าพบคำตอบว่าใช่ ก็ลุยต่อด่านต่อไปได้เลย
แบบทดสอบต่าง ๆ ถือเป็นตัวช่วยอย่างดีในการประกอบการตัดสินใจ ยิ่งเป็นแบบทดสอบหรือแบบประเมินที่ผ่านการวิจัย ผ่านแนวคิดตามทฤษฎีการแนะแนวด้วยแล้ว ยิ่งเป็นข้อมูลประกอบที่ดีมาก อย่ามั่นใจว่า เรารู้จักตัวเองดีพอ เชื่อเถอะว่าไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะสนิทกับตัวเอง สนิทแบบรู้นิสัยใจคอ ความคิด บุคลิก ความชอบ ดังนั้นคำตอบจากการทำแบบประเมินตนเอง จะช่วยแนะนำเบื้องต้นได้ว่า ลักษณะนิสัยแบบนี้เหมาะกับอาชีพไหน ควรมีความถนัดอย่างไร ต้องโดดเด่นวิชาไหน และควรเตรียมความพร้อมอย่างไร
ศึกษาหาข้อมูลเชิงลึกว่า เส้นทางกว่าจะได้ประกอบอาชีพนี้ ต้องเรียนอะไร ทำงานลักษณะใด ใช้ทักษะความสามารถด้านไหน ผู้เกี่ยวข้องกับงานที่ทำเป็นใครบ้าง ผลตอบแทน ตลาดแรงงาน และช่องทางการเติบโตในอาชีพ เป็นอย่างไร แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบันนี้โลกหมุนเร็วมาก อาชีพที่เคยเปรี้ยงปัง อาจพังก็ได้ ดังนั้นต้องศึกษาทิศทางการเปลี่ยนแปลง และเตรียมการปรับตัวควบคู่ไว้ด้วย
เมื่อได้ความชัดเจนในระดับหนึ่งแล้ว ก็ปักหมุดไว้ แล้วให้ GPS ความฝัน นำทางเราไปสู่จุดหมาย ความฟินจากการสอบติดอยู่กับเราได้ไม่นานหรอก แต่ความภูมิใจในอาชีพต่างหาก ที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน และถ้าน้อง ๆ สามารถทำให้การเรียนกับการทำงาน มีความต่อเนื่อง เชื่อมต่อ ส่งเสริมสนับสนุนกันได้ พี่นัทเชื่อว่าน้องจะมีความสุข ทั้ง 4 ปี ในการเรียน และ 40 ปี ในการทำงาน หรือต่อให้มีความทุกข์ระหว่างเรียนหรือทำงานก็ตาม เราจะมีทั้งแรงขับและแรงผลักพาเราก้าวข้ามปัญหาและเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ
จริงอยู่ว่าในชีวิตการทำงาน ถ้าเราไม่ชอบอาชีพนี้ ก็ลาออกหางานใหม่ได้ จะเปลี่ยนองค์กร หรือเปลี่ยนสายงาน เปลี่ยนอาชีพทำได้หมด ยิ่งปัจจุบันมีทางเลือกการประกอบอาชีพมากมาย ที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ว่าทางเลือกจะมากแค่ไหน การเดินลุยไปข้างหน้าอย่างชัดเจนและมีเป้าหมายย่อมประหยัดเวลามากกว่าการเดินวกไปวนมา ทางนี้ก็ไม่ใช่ ทางนั้นก็ไม่ชอบ ทางโน้นก็ไม่รอด ทางไหนดี...ไปไม่ถูก !
“เดินได้เร็วอาจสำคัญน้อยกว่า....เดินได้ไกล และไม่หลงทาง !”
พี่นัท ทรูปลูกปัญญา
บทความที่เกี่ยวข้อง
กฎ 4 : 40 เลือกคณะแบบหยิบอนาคต มากำหนดปัจจุบัน
รวมทุกเรื่องราวของการค้นหาตัวตน