ปัญหาหนึ่งที่เด็กวัยรุ่นเป็นกังวลคือ การจะบอกพ่อแม่อย่างไรดีในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะการเรียนต่อมหาวิทยาลัย ถือเป็นความหวังของเด็กวัยนี้และคนในครอบครัว เด็กสอบติดมีที่เรียนแล้วชัวร์ ๆ ไม่น่าห่วงมากเท่าเด็กที่สอบไม่ติด เมื่อลูกต้องอยู่ในภาวะสอบไม่ติดมหาวิทยาลัย พ่อแม่ควรทำอย่างไร ไปดูเคล็ดลับดี ๆ ที่เรานำมาฝากกันเลย
ทำไมพ่อแม่ต้องเริ่มต้นด้วยการมีสติ เพราะหลายครอบครัวเมื่อผิดหวัง มักใช้อารมณ์กับลูกมากกว่าเหตุผล ยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ ที่ลูกกำลังอยู่ในความกังวลและเสียใจ พ่อแม่จึงต้องมีสติ เมื่อลูกบอกว่าสอบไม่ติดมหาวิทยาลัย แน่นอนว่า ต้องเกิดความผิดหวัง หากต้องการแสดงออก ควรใช้คำพูด การกระทำและท่าทางที่ดี ในการพูดคุยกัน เพื่อถนอมน้ำใจลูก อย่าลืมว่าไม่ใช่แค่พ่อแม่ที่ผิดหวัง ตัวลูกเองก็ผิดหวังเช่นกัน อย่าปล่อยให้ความผิดหวังของเรา สร้างความกดดันให้ลูก
วัยรุ่นเป็นช่วงอายุที่อารมณ์มีบทบาทกับชีวิต พ่อแม่ควรทำหน้าที่ให้สติกับลูก เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกอยู่ในภาวะที่เจอกับเรื่องที่กระทบความรู้สึก ควรปลอบใจแล้วเติมสติให้ลูกแทนการดุด่า ในกรณีที่ลูกสอบไม่ติด อาจลองพูดคุยด้วยความเข้าใจ เพื่อปรับอารมณ์ให้ลูกนิ่งขึ้น ค่อย ๆ ปลอบใจและให้สติทีละนิด ขั้นตอนนี้เป็นวิธีที่พ่อแม่ควรทำให้ลูกคลายกังวลให้ได้ก่อน เพราะลูกกำลังอยู่ในความผิดหวัง และกดดันจากสิ่งรอบตัว ยิ่งตัวเองไม่ติด แต่เพื่อนติด ก็ยิ่งกดดัน เด็กวัยนี้รับมือกับปัญหาที่เข้ามาได้ไม่เท่ากัน คนใกล้ชิดจึงต้องมีบทบาทในการเข้าไปช่วย ซึ่งคนใกล้ตัวลูกที่สุดก็คือคนในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่
เมื่อเกิดความกดดันและผิดหวังขึ้นในใจ อารมณ์ของลูกย่อมไม่คงที่ หลังปลอบใจและให้สติไปแล้วอาจจะดีขึ้น แต่ในช่วงเวลาหลังจากนี้ ไม่ได้หมายความว่า ดีขึ้นแล้วจะกลับมาเป็นปกติ เด็กยุคนี้โตมากับเทคโนโลยี เข้าถึงทุกข่าวทุกกระแสได้หมด โดยเฉพาะสื่อโซเชียล อาการเสียใจที่เคยลดลงไปอาจกลับมาได้อีก เมื่อเห็นเพื่อนหรือคนในสังคมวัยเดียวกัน สอบติดมีที่เรียน หรือพูดคุยกันเรื่องการสอบติด พ่อแม่อาจต้องคอยสังเกตลูกอยู่ตลอด และทำให้ลูกรู้สึกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกแย่อีกครั้ง ก็ยังมีพ่อแม่เคียงข้างและพร้อมเข้าใจ
มาถึงขั้นตอนสำคัญอีกอย่างคือ การชี้แนะให้ลูกเห็นถึงทางออก ซึ่งเรื่องนี้แนะนำให้พ่อแม่ลองศึกษาข้อมูลการเปิดรับสมัครในระบบ TCAS เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตัวเอง แล้วนำกลับไปแนะแนวให้ลูกได้ ข้อมูลคร่าว ๆ ที่ควรรู้คือ หลังประกาศผลรอบ 4 Admission 2 แล้ว หากลูกไม่ติด ยังไม่ถือว่าจบ ! เพราะ TCAS มีทั้งหมด 5 รอบ ในรอบสุดท้ายยังมีรอเปิดรับสมัครอยู่ อาจเปิดไม่ครบทุกสาขา ทุกมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังมีทางเลือกรออยู่ นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยเปิด มหาวิทยาลัยเอกชนอีกหลายที่ที่เปิดรับสมัคร เมื่อมีข้อมูลก็จะทำให้ลูกคลายกังวลมากขึ้น
หากพ่อแม่ท่านไหน มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ก็ลองลงมือไปพร้อมกับลูกได้เลย เช่น ช่วยกันหาข่าวสารการรับสมัครของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พร้อมข้อมูลระเบียบการ ทำความเข้าใจเกณฑ์ในการคัดเลือก มีที่ไหนเปิดรับสมัคร และลูกของเราพอจะมีลุ้นเข้าเกณฑ์ มีโอกาสติดที่ไหนได้บ้าง รวมทั้งข้อมูลค่าเทอมและค่าใช้จ่ายในแต่ละมหาวิทยาลัยก็ควรต้องรู้ ทั้งหมดนี้คือการเข้ามาลงมือทำไปพร้อมกับลูก ช่วยกันทางออกไปพร้อมกัน แทนการบอกให้ลูกทำฝ่ายเดียว วิธีนี้ยังเป็นการสร้างกำลังใจให้กับลูกได้อีกด้วยว่า มีพ่อแม่คอยช่วยเหลือ โดยไม่รู้สึกโดดเดี่ยวกับการจัดการกับปัญหา
เด็กหลายคนมักตั้งความหวังไว้ว่า อยากเรียนต่อคณะไหน เมื่อมีเป้าหมายในใจ ก็อยากทำให้ได้ แต่ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน หากต้องเรียนในคณะอื่น หรือคณะใกล้เคียงกับเป้าหมายแรก อาจทำให้ลูกเสียความมั่นใจ และรู้สึกเสียดายโอกาส พ่อแม่ควรสร้างกำลังใจให้ลูกอีกครั้งว่า แม้จะไม่ได้เรียนตามสิ่งที่ตั้งเป้าไว้ 100% ก็ไม่ได้หมายความว่า ชีวิตจะมีทางเลือกที่ดีในอนาคตไม่ได้ และเส้นทางใหม่ก็ไม่ได้น่ากังวลจนเกินไป แนะนำให้ลูกลองเปิดใจ เพื่อเปิดรับโอกาสใหม่ที่กำลังจะเข้ามา ในหลากหลายเส้นทาง
สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่อาจจะต้องทบทวนให้ถี่ถ้วนคือ ทุกการแสดงออกของพ่อแม่ มีผลต่อความคิดและจิตใจของลูก เมื่อลูกเจอปัญหา พ่อแม่เองอาจต้องตั้งสติให้ดีก่อน เมื่อพ่อแม่มีสติมองเห็นผลกระทบทุกด้านมากพอ ก็จะลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกและความเป็นครอบครัวได้ ยิ่งพ่อแม่มีสติและความเข้าใจ ไม่ใช้อารมณ์ หรือคำพูดที่กระตุ้นความรู้สึกเสียใจและกดดันให้ลูก การรับฟัง พูดคุย ตักเตือนกันด้วยเหตุผล และสร้างกำลังใจให้กัน คือสิ่งที่ดีที่สุดของการหาทางออกร่วมกัน โดยไม่มีใครได้รับบาดแผล