Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
จัดอันดับ TCAS รอบ 3 Admission 1 เลือกอันดับอย่างไร ให้มีโอกาสติด !

  Favorite

เข้าสู่ฤดูกาลของ TCAS รอบ 3 Admission 1 (รับตรงร่วมกัน) เปิดระบบสมัครพร้อมกันทั้งประเทศ 17 – 27 เมษายน 2563 รอบนี้ คือ Stone Zone รวมพลคนหิน เพราะเป็นรอบที่ลุ้นระทึกมาก เป็นการไฟว์กันที่แทบจะไม่มีข้อมูลประกอบอะไรมากมาย เช่น คะแนนสูงสุด - ต่ำสุดย้อนหลัง วิธีการคำนวณคะแนน อัตราการแข่งขัน เรียกได้ว่าวัดทั้งความสามารถและดวง !

 

ดังนั้นรอบนี้สิ่งที่เป็นอาวุธหลักคือ “คะแนน” ซึ่งขนมาใช้ได้ครบทุกตระกูล ทั้ง GAT, PAT, O-NET, วิชาสามัญ, วิชาเฉพาะ, GPAX  และ GPA และที่สำคัญเป็นการเปิดรับพร้อมกัน ในเวลาเดียว และจำกัดจำนวนได้เพียง 6 สาขาวิชาเท่านั้น ในเมื่อตัวช่วยช่างน้อยเหลือเกิน แล้วชาว TCAS อย่างเราจะทำอย่างไร พี่นัทมีคำตอบค่ะ

 

 

เลือก 6 อันดับอย่างไร ให้มีโอกาสติด !

1. เข้าใจกติกาของระบบ

TCAS แต่ละรอบได้รับการออกแบบกฎกติกาที่แตกต่างกัน ดังนั้นจะเล่นรอบไหน ต้องแม่นในกติกาของรอบนั้น โดยกติการอบที่ 3 ดังนี้
- เลือกได้ 6 อันดับ
- เรียงตามลำดับความชอบ 
- กสพท อยู่ในรอบนี้
- มหาวิทยาลัยกำหนดเกณฑ์ตรงของใครของมัน แต่รับสมัครผ่าน ทปอ.
- มหาวิทยาลัยดำเนินการคัดเลือกเอง แล้วส่งผลการคัดเลือกกลับให้ ทปอ. โดยเรียงลำดับคนที่ต้องการมาให้ ทปอ.
- ทปอ.ประกาศผลการติดเพียง 1 อันดับ คืออันดับสูงสุดที่น้องสอบติด
- ปีนี้ ติดวิกฤต COVID-19 จึงยกเลิกการสัมภาษณ์ (มีสัมภาษณ์ในบางสาขาวิชา เช่น กสพท)
- ยืนยันสิทธิ์และสละสิทธิ์ ผ่านระบบ Clearing House ของ ทปอ.

 

2. เลือกใช้คะแนนให้ถูกต้อง

คะแนนหลักที่นำมาใช้ในรอบนี้มีหลากหลาย ทั้งข้อสอบกลาง ได้แก่ O-NET, GAT/PAT และ วิชาสามัญ และเหล่าวิชาเฉพาะ เช่น วิชาความถนัดทางแพทย์ ความถนัดทางนิติศาสตร์ การใช้คะแนนจึงขึ้นอยู่กับแต่ละสาขาว่าจะกำหนดให้ใช้ค่าน้ำหนักอย่างไร หรืออาจจะมีบางโครงการที่กำหนดให้ใช้ในลักษณะของคะแนนขั้นต่ำ ดังนั้นหัวใจสำคัญคือต้องรู้หลักการใช้คะแนนด้วย ดังนี้  

 

2.1 การจับขั้วของคะแนน 

บางมหาวิทยาลัยอาจกำหนดการใช้องค์ประกอบของคะแนนแตกต่างกัน ทั้งต่างรอบ ต่างคณะสาขา ต่างมหาวิทยาลัย การจับขั้วการใช้งานมีความหลายหลายมาก เช่น 

- ใช้ GAT/PAT อย่างเดียว เช่น ทุกคณะของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 
- ใช้วิชาสามัญอย่างเดียว เช่น หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- ใช้ GAT + PAT + วิชาสามัญ เช่น สาขาพลศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ 
- ใช้ GAT + วิชาสามัญ เช่น คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ 
- GAT/PAT + วิชาเฉพาะ เช่น คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  
- วิชาสามัญ + วิชาเฉพาะ เช่น กสพท 

 

2.2 การกำหนดคะแนนขั้นต่ำ 

คะแนนขั้นต่ำคือ เกณฑ์ของคะแนนที่น้องต้องทำให้ได้ไม่น้อยกว่าที่สาขากำหนด  มีลักษณะการใช้งาน 2 รูปแบบ

1. ใช้เป็นค่าน้ำหนักและใช้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำร่วมกัน เช่น คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กำหนดค่าหนัก GAT, PAT 1 และ วิชาสามัญ (วิชาสังคมฯ) และก็กำหนดคะแนนขั้นต่ำในวิชาเหล่านี้ด้วย
2. ใช้เป็นแค่คะแนนขั้นต่ำ ไว้ผ่านด่านคุณสมบัติ  เช่น คณะต่าง ๆ ของ ม.เกษตรศาสตร์ กำหนด O-NET วิชาภาษาอังกฤษ  ไม่ต่ำกว่า 16 คะแนน 

 

2.3 กำหนดค่าน้ำหนัก 

น้อง ๆ จะได้คะแนนเท่าไหร่ก็ได้ แล้วดึงคะแนนมาใช้ตามค่าน้ำหนักที่คณะ/สาขากำหนด ตามสูตรการคำนวณคะแนนของแต่ละสถาบัน หรืออาจจะสู้กันด้วยคะแนนดิบเลยก็มี

 

2.4 อายุของคะแนน

GAT/PAT มีอายุ 2 ปี, วิชาสามัญ 1 ปี, วิชาเฉพาะแพทย์ 1 ปี O-NET ไม่มีหมดอายุ แต่บางสาขาอาจกำหนดเป็นอย่างอื่น เช่น กำหนดให้ใช้  GAT/PAT เฉพาะปี เท่านั้น น้อง ๆ ต้องเชคประกาศการรับของแต่ละสถาบันให้ละเอียด  

 

3. เลือกคณะที่สนใจมาอย่างน้อย 8 – 10 อันดับ แล้วตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียด

    การรับในรอบที่ 3 มีเกณฑ์ องค์ประกอบ คุณสมบัติ และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เมื่อได้คณะมาแล้ว น้องจะต้องตรวจเช็คข้อมูลทั้งหมดอย่างละเอียด เช่น มีการกำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำหรือไม่ เพราะบางสาขาอาจกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำเป็นคะแนน บางสาขากำหนดว่าต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยของปีนั้น หรืออาจจะไม่กำหนดเป็นคะแนน แต่กำหนดว่าต้องผ่านการสอบวิชานั้น ๆ ซึ่งถ้าน้องเลือกคณะที่ตนเองมีคุณสมบัติไม่ครบ เลือกไปก็เสียสิทธิ์เปล่าอย่างไม่ได้ลุ้นอะไรเลย

 

4. คำนวณคะแนนและเปรียบเทียบคะแนนต่ำสุด (เท่าที่มี)

การรับในรอบที่ 3 เป็นการรับตรงร่วมกัน ทำให้เกณฑ์การคัดเลือกมีหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จึงไม่ได้ประกาศวิธีการคำนวณคะแนน รวมถึงไม่ประกาศคะแนนต่ำสุด จะมีเพียงบางมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ประกาศ หากน้องเลือกสาขาที่มีการประกาศข้อมูลเหล่านี้ น้องก็ต้องคำนวณคะแนนตามระบบ และเช็คสถิติคะแนนต่ำสุดของแต่ละสาขา เพื่อนำมาประกอบเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ แต่หากสาขาที่น้องสนใจไม่มีข้อมูลเหล่านี้ ให้ข้ามไปทำข้อต่อไปได้เลย

 

5. เรียงลำดับตามความต้องการ 6 อันดับ ไม่ต้องเรียงคะแนนระหว่างอันดับ

ในการคัดเลือกรอบที่ 3 แม้ว่า ทปอ.จะเป็นผู้ดำเนินการรับสมัคร แต่การคัดเลือกเป็นของแต่ละมหาวิทยาลัย ทปอ.จะส่งรายชื่อน้อง ๆ ไปให้มหาวิทยาลัยพิจารณาตามเกณฑ์ เมื่อมหาวิทยาลัยคัดเลือกแล้วจะส่งรายชื่อกลับมาให้ ทปอ. (ส่งรายชื่อเกินจำนวนที่ประกาศรับ) ดังนั้นแปลว่าเด็กหนึ่งคนอาจจะสอบติดได้หลายอันดับ แต่ทปอ. จะประกาศอันดับสูงสุดที่เด็กคนนั้นสอบติด โดยคะแนนที่แตกต่างกันระหว่างแต่ละอันดับ ไม่มีผลใด ๆ ต่อการคัดเลือก เพราะเป็นการแยกกันประเมินผลของแต่ละมหาวิทยาลัย การที่น้องจะสอบติดที่ไหน จึงขึ้นอยู่กับว่า น้องเรียงลำดับสาขาไหนก่อนหลัง  จึงต้องย้ำเลยว่า รอบนี้เลือกตามหัวใจเป็นหลัก รักสาขาไหนมากกว่า ก็วางไว้อันดับต้น ๆ ค่ะ

    

6. เลือกคู่ขนานไปกับรอบที่ 4 Admission 2 (รับกลางร่วมกัน)

หลักการนี้จะช่วยให้น้อง ๆ มีแผนสำรองคณะในฝันไว้ถึงสองรอบ ในเมื่อคะแนนออกมาครบแล้ว น้องสามารถคำนวณคะแนนตามระบบ Admission 2 ควบคู่ไปด้วย ซึ่งรอบที่ 4 นั้นมีสถิติ ข้อมูล โปรแกรมคำนวณที่ช่วยให้มองเห็นความน่าจะเป็นในการเลือกคณะได้มากกว่ารอบที่ 3 จะได้วางแผนว่าควรเลือกคณะอะไร ในรอบไหน วางแผนการยืนยันสิทธิ์และการสละสิทธิ์ควบคู่กันไป โดยหลักการของรอบที่ 4 คือ
- เลือกได้ 4 อันดับ
- เรียงตามลำดับความชอบ และความสัมพันธ์ของคะแนน
- ใช้สถิติคะแนนสูงสุดต่ำสุด เปรียบเทียบคะแนน เพื่อช่วยเลือกคณะได้
- ทปอ. เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก
- ประกาศผลการติดเพียง 1 อันดับ คืออันดับสูงสุด
- ปีนี้ ติดวิกฤต COVID-19 จึงยกเลิกการสัมภาษณ์
- ยืนยันสิทธิ์และสละสิทธิ์ ผ่านระบบ Clearing House ของ ทปอ.

 

7. กล้าเลือก และกล้ายอมรับผลของการเลือก

รอบที่ 3 นี้ ออกแบบมาเพื่อคนแกร่งที่พร้อมท้าชนคนที่จะมาแย่งความฝันของเรา แต่ผลแห่งการชนกันนั้น ตอบไม่ได้ว่า ใครจะถูกชนแล้วได้ผ่านด่าน หรือต้องไปสู้ต่อในด่านต่อไป แต่อย่างน้อยที่สุด การได้กล้าชนถือว่าเป็นวิถีของนักสู้ จงเลือกในสิ่งที่อยากเป็น แล้วรอผลอย่างมีสติและแผนสำรองในรอบต่อไป

 

7 แนวทางนี้ จะช่วยให้น้อง ๆ เลือกคณะได้อย่างถูกต้อง ถูกใจ และถูกทาง ส่วนผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร มันเกินอำนาจความฝันของเรา

 

ผู้ประกาศความฝันคือเรา แต่ผู้ประกาศความจริง...คือมหาวิทยาลัยนะคะ

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
รวมระเบียบการ TCAS รอบ 3 รับตรงร่วมกัน (Admission 1) มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
รวมสถาบันที่ประกาศคะแนนสูงสุด – ต่ำสุด TCAS รอบที่ 3

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us