ชีวิตวัยรุ่นอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ไม่ว่าจะสถานการณ์ไหนก็ต้องการกำลังใจและความเข้าใจจากครอบครัวเสมอ เด็ก ม. 6 ที่ต้องการเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS ต้องผ่านหลายขั้นตอนกว่าจะได้ที่เรียน ช่วงเวลาบีบหัวใจไม่ได้มีแค่ตอนการประกาศผลคนติดมหาวิทยาลัย วินาทีประกาศผลคะแนนสอบก็กดดันไม่ต่างกัน ปัญหาที่เจอทุกปีคือ ความกลัวที่จะบอกผลคะแนนกับพ่อแม่ ครั้งนี้เราจะไม่นำเสนอวิธีรับมือ เพื่อเผชิญหน้ากับพ่อแม่ ในการบอกคะแนนสอบ แต่จะนำข้อมูลดี ๆ สำหรับวิธีการที่พ่อแม่ควรทำ! หลังรู้ผลคะแนนของลูก ให้ทุกครอบครัวนำกลับไปปรับใช้กัน
หลายครั้งที่พ่อแม่ลืมมองย้อนกลับมาดูตัวเองว่า ท่าทางของเราที่แสดงออกไปนั้น อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกเกิดความไม่กล้า ที่จะเข้าปรึกษาหรือรู้สึกหวั่นเกรง นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมวัยรุ่น ถึงเลือกที่จะปรึกษาเพื่อนมากกว่า ช่วงรอยต่อชีวิตของเด็ก ม. 6 ที่จะเข้ามหาวิทยาลัยสร้างความกังวลให้กับเด็กวัยนี้หลายเรื่อง โดยเฉพาะอนาคตการเรียนต่อมหาวิทยาลัย การประกาศผลคะแนนสอบเป็นหนึ่งในช่วงวลาที่แสนกังวล ยิ่งรู้ผลแล้วได้คะแนนไม่เป็นตามหวังยิ่งเสียกำลังใจ ในช่วงนี้พ่อแม่ควรจะแสดงออกให้ลูกเห็นว่า สามารถเป็นที่พึ่งให้ลูกได้เสมอ ไม่ว่าผลที่ออกมานั้นจะดีหรือแย่ก็ตาม เมื่อพ่อแม่แสดงออกว่าเปิดใจ ต่อให้ลูกได้คะแนนน้อย ก็จะมีความกล้าที่เดินเข้ามาบอกด้วยตัวเอง
หลังรู้คะแนนแล้ว สิ่งต่อไปที่ควรทำคือการสร้างพลังและกำลังใจให้กับลูก ไม่ว่าคะแนนจะออกมาดีมากหรือน้อยกว่าที่คิด จะถูกคาดหรือผิดคาดอย่างไร นาทีนี้ต้องเติมกำลังใจจากครอบครัวใส่กลับเข้าไป ลูกได้คะแนนดีก็ชื่นชมกับความสำเร็จจากความพยายาม ลูกได้คะแนนน้อยก็ปลอบใจ ไปพร้อมกับการสร้างกำลังใจให้ใหม่อีกครั้ง ชี้แนะให้เห็นข้อผิดพลาดด้วยการสอน มากกว่าการดุ! เพราะเด็กในวัยนี้ถึงจะติดเพื่อนยังไง สุดท้ายแล้วลึก ๆ ก็อยากได้ความเข้าใจจากครอบครัวอยู่ดี
เมื่อลูกได้คะแนนน้อย สิ่งที่พ่อแม่ควรทำหลังการปลอบใจคือ ช่วยหาทางออก เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เด็กวัยนี้จะเกิดความสับสน เป็นกังวลกับอนาคตไปหมด และมักจะเอาคะแนนตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนจนเกิดความกดดัน ผู้ปกครองควรยื่นมือเข้าไปวางแผน โดยให้คำปรึกษาถึงทางออกว่า ได้คะแนนเท่านี้มีช่องทางไหนที่ยังเปิดโอกาสให้กับพวกเขา ในการสมัครลุ้นเข้ามหาวิทยาลัย
ส่วนคนที่ได้คะแนนเยอะ ก็อย่าชะล่าใจ เพราะทั้งประเทศไม่ได้มีแค่เราที่ทำคะแนนได้ดี สนามรบ TCAS ยังมีคู่แข่งตัวเป้งรออยู่เสมอ ได้คะแนนมาแล้วนำมาคำนวณ แล้วนำไปเทียบโอกาสติด ซึ่งขั้นตอนนี้ผู้ปกครองก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมไปกับลูกได้ เรียกว่าช่วยกันคิด ช่วยการหาทางออก ช่วยกันวางแผนอนาคตไปพร้อม ๆ กัน
การเข้าไปมีส่วนช่วยให้คำปรึกษาและหาทางออกให้กับลูก จะทำให้ผู้ปกครองได้เห็นถึงการเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS อาจจะยังไม่รู้ข้อมูลละเอียดมาก แต่ก็ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น รู้สาเหตุในความกัดดันและความกังวลของลูก ถ้าอยากช่วยลููกมากขึ้น ต้องเริ่มศึกษาระบบ TCAS ให้ลึกลงไปอีก เพราะคะแนนออกแล้วยังไม่จบ! จะเข้ามหาวิทยาลัยได้ต้องฝ่าอีกหลายด่าน ผู้ที่จะมีโอกาสติดนั้น ได้คะแนนเยอะอย่าเดียวไม่พอ ต้องมีความรู้และความเข้าใจระบบ TCAS ที่ดี จึงจะสามารถวางแผนต่อได้ ถ้าอยากเป็นฮีโร่เพื่อช่วยผลักดันอนาคตให้ลูก ก็ต้องเริ่มจากการศึกษาระบบ TCAS ให้เข้าใจตอนนี้ก็ยังไม่สาย
ทั้งหมดนี้คือวิธีการง่าย ๆ ที่ครอบครัวไหนก็ทำได้ แต่เพราะความง่ายนี่แหละ ที่ทำให้เราหลงลืมที่จะทำ อยากเป็นผู้ปกครองที่น่ารักและอบอุ่นในสายตาลูก ต้องเริ่มจากเข้าความใจ เห็นใจและรับฟัง โดยเข้าไปเผชิญหน้ากับสิ่งที่ลูกต้องเจอ ร่วมหาทางออกในสถานการณ์ต่าง ๆ ไปพร้อมกัน เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกว่าต่อสู้อยู่คนเดียว