Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
อยากเป็นหมอเฉพาะทาง “วิสัญญีแพทย์ พระเอกหลังม่านแห่งการผ่าตัด”

  Favorite

          ใครดูหนังดูละคร แล้วเห็นมีเจ้าหน้าที่หลายคนรุมคนไข้อยู่ในห้องผ่าตัด อาจเข้าใจว่า ท่านเหล่านั้นน่าจะเป็นศัลยแพทย์ หรือหมอผ่าตัด แต่จริง ๆ แล้ว ยังมีหมออีกประเภทหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการผ่าตัด เปรียบเสมือนพระเอกหลังม่านที่สปอตไลท์ส่องไปไม่ถึง แต่ความจริงแล้ว บุคคลท่านนี้คือหัวใจสำคัญที่ช่วยให้การผ่าตัดสำเร็จ ปลอดภัย คนไข้สบายไม่เจ็บปวดทรมาน คุณหมอคนนั้นคือ “หมอดมยา” หรือ วิสัญญีแพทย์

          แรงบันดาลใจและข้อมูลเชิงลึกครั้งนี้ พี่นัทได้มาจากการสรุปเรื่องราวผ่านการสัมภาษณ์ อ.นพ.มาร์วิน เทพโสพรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใครอยากรู้จักภาควิชานี้ หรืออยากคลุกวงในวิสัญญีแพทย์ ไม่ควรพลาดค่ะ

 

          แต่ก่อนจะไปลงลึกกัน เรามาทบทวนกันก่อนว่า การจะเข้าเรียนแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นั้น ต้องสอบเข้าผ่านรูปแบบใดบ้าง

 

ช่องทางการเข้าแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ลงกรณ์หาวิทยาลัย

          รอบที่ 1 Portfolio  
- โครงการรับสมัครสอบคัดเลือกนักเรียนที่มีความถนัดทางภาษาอังกฤษ

          รอบที่ 2 โควตา
- โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน
- โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ
- โครงการโอลิมปิกวิชาการ (ชีววิทยา)

          รอบที่ 3 Admission 1 (การรับตรงร่วมกับ กสพท)
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - กรมแพทย์ทหารอากาศ กองทัพอากาศ

 

รู้จักภาควิชาวิสัญญีวิทยา (Anesthesiology)

          เป็นภาควิชาที่สอนให้แพทย์สามารถดูแลคนไข้ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาผ่าตัดไปได้อย่างปลอดภัย ตั้งแต่ก่อนการผ่าตัด ระหว่างการผ่าตัด และหลังการผ่าตัด ดูแลให้ศัลยแพทย์ผ่าตัดได้อย่างราบรื่น โฟกัสที่การรักษา การผ่าตัด ไม่ต้องพะวงกับคนไข้  เพราะวิสัญญีแพทย์จะช่วยดูแลคนไข้ให้หลับอย่างปกติ ดูแลระบบต่าง ๆ ที่อาจแปรปรวนในช่วงหลับ เช่น ระดับความดัน เลือด ปัสสาวะ ให้ดำเนินไปอย่างปกติหรือใกล้ปกติที่สุด โดยมีกรอบของเนื้อหาการเรียนกว้าง ๆ  ดังนี้
- การวางยาสลบ
- การดูแลคนไข้ระหว่างการผ่าตัด
- การดูแลคนไข้ภาวะวิกฤต (ICU)

          วิสัญญีวิทยามีหลายแขนงมาก ตัวหลัก ๆ คือการให้การระงับความรู้สึกสำหรับการผ่าตัด แต่ปัจจุบันขยายกว้างออกไปจนถึงการให้การระงับความรู้สึกสำหรับการทำหัตถกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การผ่าตัด เช่น คนไข้ต้องเข้าไปนอนในเครื่องเอ็กซ์เรย์ MRI บางคนกลัวที่แคบ วิสัญญีแพทย์ต้องไปช่วยทำให้ผู้ป่วยหลับระหว่างอยู่ในเครื่อง หรือในทางจิตเวช เช่น การช็อตไฟฟ้าสมอง วิสัญญีแพทย์ต้องไปทำให้ผู้ป่วยหลับในช่วง 5 นาที ที่ทำการช็อตไฟฟ้า เพื่อช่วยให้คนไข้ไม่ทรมานมากเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากห้องผ่าตัด

 

นิสิตแพทย์ จุฬาฯ ป.ตรี จะได้เจอวิสัญญี ตอนไหน

          น้อง ๆ นิสิตแพทย์จะได้เรียนวิชาด้านนี้ช่วงปี 5 โดยจะเรียนประมาณ 3 สัปดาห์ จากนั้นจะเรียนเกี่ยวกับคนไข้วิกฤต (ICU) ซึ่งเป็นแขนงย่อยของวิสัญญี แต่เป็นสิ่งที่อยากให้นักเรียนแพทย์ได้รู้ เลยบวกการเรียนด้านนี้เข้าไปด้วยในระดับปริญญาตรี คือ เรียนวิสัญญี 3 สัปดาห์ และ ICU  1 สัปดาห์  

          สาเหตุที่เรียนเท่านี้ เพราะการเรียนแพทย์จะแบ่งเป็น major (วิชาใหญ่) กับ minor (วิชาย่อย) ซึ่งวิสัญญีวิทยา คือวิชาย่อย จึงยังไม่ต้องเรียนมาก แต่ต้องเรียนเพื่อให้รู้ว่าวิสัญญีเป็นอย่างไร เวลาทำงานต้องเจอกับอะไร เพราะเราไม่ได้คาดหวังว่า คนที่จบแพทย์ไปจะต้องทำงานวิสัญญีได้ จึงให้เจอไว้เพื่อให้รู้ แต่ถ้าจะทำงานด้านนี้ อย่างไรก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง

 

รูปแบบการเรียนในช่วงที่เป็นนิสิตแพทย์ จุฬาฯ ป.ตรี

          เรามีช่วงให้นักเรียนแพทย์มาเจอวิชานี้ในห้องผ่าตัดแล้วเรียนทฤษฎีบ้าง คือ พยายามจะลดภาคทฤษฎีให้น้อยลง เน้นภาคปฏิบัติให้มากขึ้น เพราะการแพทย์ทางคลินิกนั้น การปฏิบัติน่าจะสำคัญกว่า ทฤษฎีสมัยนี้สามารถหาอ่านเองได้จากหนังสือ แต่การปฏิบัติที่เจอคนไข้จริง ๆ ถ้าไม่มีอาจารย์พาไป คงไม่ได้เจอ

 

ถ้าอยากเรียนต่อเฉพาะทาง ทำอย่างไร

          การเรียนเฉพาะทางของทุกแผนกจะเหมือนกัน คือ เรียนแบบเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ใช้เวลาเรียน 3 ปี และต้องสอบให้ได้ Board คือ ใบประกอบวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางวิสัญญี นอกจากนี้ยังมีลงลึกเข้าไปอีก แบบที่เรียกว่า sub-board คือเฉพาะทางของเฉพาะทางอีกที เช่น ถ้าต้องการเป็นแพทย์วางยาสลบ เฉพาะทางระบบประสาท เฉพาะทางโรคหัวใจ หรือดูแลผู้ป่วยวิกฤต ก็เรียนต่ออีก 2 ปี เพื่อรับใบประกาศนียบัตรขั้นสูง

 

เกณฑ์การเข้าเรียนเฉพาะทางด้านวิสัญญี

          อย่างแรกเลยคือต้องจบแพทยศาสตร์ก่อน และต้องชอบงานทางด้านนี้ถึงจะมาสมัครได้ เพราะในการทำงานคนเราต้องมี Passion คือ มีความชอบบ้าง เมื่อรู้สึกชอบแล้วให้มาดูงาน เพราะการเรียนในระดับปริญญาตรี ได้เรียนได้เจองานทางด้านวิสัญญีแค่ 4 อาทิตย์ การดูงานจะทำให้อาจารย์ได้ดูลูกศิษย์ ลูกศิษย์ได้ดูสถานที่ ว่าชอบหรือมีความสุขกับโรงพยาบาลนี้มั้ย ระหว่างนั้นอาจารย์จะได้สังเกตตรวจสอบเบื้องต้นไปด้วยว่า คนนี้เหมาะสมที่จะเรียนเฉพาะทางด้านนี้หรือไม่ หลังจากนั้นเป็นการสอบสัมภาษณ์

 

เรียนเฉพาะทาง ต่างจากเรียน ปริญญาโท - เอก อย่างไร

          แตกต่างกัน เพราะหลักการไม่เหมือนกัน การเรียน ปริญญโท – เอก ไม่ใช่การเรียนทางคลินิก แต่เป็นการเรียนด้านทฤษฎี ทางคลินิกคือการรักษาคนไข้ ไม่สามารทำให้เป็นปริญญาโท - เอก ได้ เลยใช้หลักการเดียวกับต่างประเทศทั่วโลก คือ การเรียนเป็น Board หรือใบประกอบวิชาชีพ ใบวุฒิบัตร และใบประกาศนียบัตรขั้นสูง นอกจากนี้ยังสามารถเรียนปริญญาโท – เอก สาขาอื่นเพิ่มเติมได้  ซึ่งการเรียนแบบเฉพาะทางนี้หนักกว่าการเรียนหนังสือ เพราะหนังสือไม่ต้องไปยุ่งกับใคร แต่เรียนเฉพาะทางต้องไปยุ่งกับคนอื่นตลอดเวลา ต้องอยู่กับอาจารย์แทบตัวติดกันตลอดเวลา เพราะอาจารย์ต้องคอยดูว่าเราทำอะไรบ้าง และต้องคุยกับคนไข้

 

ความประทับใจในวิชาชีพ

          สิ่งที่ได้คืนมานอกจากรายได้ ซึ่ง ณ จุดหนึ่งไม่ใช่สิ่งสำคัญ คือ รักษาแล้วคนไข้หายป่วย กระเช้าของขวัญไม่ได้อยากได้ แต่เวลาได้แล้วแฮปปี้ เพราะคือคำขอบคุณที่บอกว่า ฉันรักเธอ ขอบคุณที่ทำให้ดีขึ้นหรือทำให้มีวันนี้

 

การรับมือกับความสูญเสียของผู้ป่วย  

          ทุกคนจะต้องผ่านจุดนั้น จุดที่เครียดมากไปจนถึงจุดที่ปลงได้ เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องปกติ แรก ๆ ต้องเศร้ากับมัน แต่พอเห็นมากขึ้น จะเริ่มปลงได้ สิ่งที่แพทย์ที่ดีต้องทำให้ได้ คือ ต้องรู้ว่าคนไข้ต้องการอะไรจากเรา แล้วให้เขา ให้ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น พอกลับออกไปก็ต้องใช้ชีวิตของเราต่อไป เพราะเราไม่ใช่ตัวคนไข้

 

กว่าจะเป็นหมอที่เก่งและดี ต้องทำอย่างไร

          พื้นฐานไม่ได้ต่างกัน ต่างกันที่เวลา ประสบการณ์ และความขยัน เวลาจะทำให้เก่งและแกร่งขึ้น แต่ทั้งนี้การเป็นแพทย์ต้องขยันมาก ถ้าไม่ขยันจะเป็นแพทย์ที่เจริญ ก้าวหน้า และดี ไม่ได้ !! คนไข้คือหนังสือของเรา ต้องขยันกลับไปดูคนไข้ แล้วมาเทียบกับหนังสือว่าเหมือนกันมั้ย แล้วความรู้ใหม่จะเกิดขึ้นในตัวเราเสมอ ตลอดเวลาที่เป็นแพทย์  หนังสือส่วนใหญ่เขียนขึ้นมาจากโอกาสที่ได้เจอเคสต่าง ๆ แต่เวลาเจอคนไข้จริง ๆ ต้องใช้ประสบการณ์ ดังนั้น ประสบการณ์ต้องมี หนังสือต้องอ่าน ต้องขยันมาก ถ้าขี้เกียจไม่ควรมาเรียนแพทย์ !!  

 

วันไหนแพทย์ถึงจะสบาย (นักเรียนแพทย์ชอบถาม)

          วันที่เราชินกับสิ่งพวกนี้ ! ชินกับการตื่นขึ้นมาอ่านหนังสือ ตื่นขึ้นมาไปดูคนไข้ แล้วรู้สึกไม่เหนื่อย เพราะคนไข้ยิ้มให้ วันนั้นเราจะรู้สึกของเราเอง อยู่ดี ๆก็มีวันที่เป็นแบบนั้น แล้วเราไม่รู้สึกเหนื่อยอะไรมาก

 

          หมอทุกคน...เป็นคนเก่ง แต่คนเก่งทุกคน...อาจไม่ได้เป็นหมอ !!

          พี่นัทขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ได้เป็นหมออย่างที่ฝัน และเป็นหมอในฝันให้กับคนไทยนะคะ

 

พี่นัท ทรูปลูกปัญญา

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
กว่าจะเป็น จักษุแพทย์ (Ophthalmologist) หมอตาผู้เชี่ยวชาญ
อยากเป็นหมอเฉพาะทาง “พยาธิแพทย์ ศาลฏีกาแห่งวงการแพทย์”
กว่าจะเป็นหมอ ปลายทางหมอ...ไปทางไหน รวมเส้นทางสู่คณะแพทย์

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us