ไวรัส COVID-19 จะรุนแรงแค่ไหน การศึกษาทางด้านการแพทย์ไทยก็ต้องก้าวไกลพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ด้านสุขภาพของประชาชนคนไทย และยิ่งปรากฏการณ์ Disruption ที่จู่โจมระบบการศึกษาไทย ให้ต้องเร่งปรับตัว ทั้งด้านคุณภาพการเรียนการสอน การปรับหลักสูตรให้รองรับการเปลี่ยนแปลง ทันสมัย และเหมาะสมกับสถานการณ์ของโลก
วันนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกาศความพร้อมในเรื่องนี้ ด้วยการปรับหลักสูตรแพทยศาสตร์ให้ตอบโจทย์ทุกการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของสังคม กับ โครงการผลิตบัณฑิตแพทย์ 2 ปริญญา ภายในเวลา 6 ปี ป.ตรี แพทย์ – ป.โท วิศวกรรมชีวเวช โดย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ พร้อมด้วย ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกันแถลงข่าว ณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ และรายละเอียดของโครงการผลิตบัณฑิตแพทย์ 2 ปริญญานี้ว่า “ตั้งแต่ปี 2560 ทางสถาบันได้มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยมุ่งเพิ่มช่วงเวลาที่นิสิตสามารถเลือกเรียนวิชาเลือกที่ตนสนใจได้มากขึ้น เพื่อให้นิสิตค้นพบตัวเอง รวมถึงเสริมสร้างความถนัดในด้านที่ต้องการ เช่น ด้านวิจัย ด้านบริหาร”
จากแนวคิดนี้ค่ะ ที่ทำให้พี่นัทตื่นตาตื่นใจกับการเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นการเริ่มต้นครั้งใหม่ ที่ได้เปิดโครงการหลักสูตรควบ ข้ามระดับ (ตรี - โท) ข้ามศาสตร์ (แพทยศาสตร์ - วิศวกรรมชีวเวช) จุดเด่นคือ บัณฑิตจะได้รับ 2 ปริญญา คือ ปริญญาตรี แพทยศาสตรบัณฑิต และ ปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สหสาขาวิศวกรรมชีวเวช โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาเพียง 6 ปี ! (เท่ากับคนที่เรียนแพทย์อย่างเดียวเป๊ะ) ซึ่งเหมาะกับนิสิตแพทย์ที่มีศักยภาพ และความสนใจด้านวิศวกรรมชีวเวช ต้องการเป็นแพทย์นักวิชาการ นักวิจัยชั้นนำ ผู้เชี่ยวชาญทั้งสาขาแพทยศาสตร์และวิศวกรรมชีวเวช ที่สร้างสรรค์ผลงานวิชาการ องค์ความรู้ วิจัยและนวัตกรรม ต่อไป
ถ้านิสิตแพทย์ จุฬาฯ มีความสนใจในสหวิชา นิสิตสามารถเลือกลงทะเบียนเรียนรายวิชาการศึกษาทั่วไป วิชาเฉพาะเพื่อส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียน และ/หรือเลือกเสรีในสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช เพื่อเป็นวิชาพื้นฐานสำหรับการศึกษาในระดับปริญญาโท หลังจากนั้น เมื่อเรียนจนจบปีที่ 3 จะมีหน่วยกิตเพียงพอที่จะสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมชีวเวชได้ ใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยต้องผ่านเกณฑ์การคัดเลือกตามที่สาขากำหนดไว้ จากนั้นน้องที่ได้รับการคัดเลือก ก็จะเรียนชั้นปีที่ 4 - 6 ในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตร่วมกับนิสิตแพทย์คนอื่น ควบคู่ไปกับการทำโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมชีวเวช มีการสัมมนา และทำวิทยานิพนธ์ จะเห็นว่าในช่วงเวลา 6 ปี น้องสามารถเรียนแพทย์ได้เหมือนกับแพทย์อื่น ๆ แต่ใช้เวลาที่เป็นวิชาเลือกและชั่วโมงว่างจากการเรียนในหลักสูตรแพทย์ มาเรียนในสาขาวิศวกรรมชีวเวช
สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียน จะจัดเก็บค่าเล่าเรียนทั้งสองหลักสูตรในอัตราตามประกาศจุฬาฯ ในส่วนของแผนการรับนิสิต โครงการฯ จะคัดเลือกและให้ทุนแก่นิสิตในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช 10 คน ต่อปีการศึกษา
ในส่วนของการรับสมัครนิสิตเข้าสู่โครงการ สำหรับนิสิตในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตปัจจุบัน ชั้นปีที่ 1 และ 2 คาดว่าจะสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ในปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป และในส่วนของน้อง ๆ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถสมัครได้ตามระบบ TCAS รอบที่ 1 - 3 โดยในปีการศึกษา 2563 สามารถเริ่มรับได้ในรอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน (ใช้เกณฑ์ กสพท) โดยไม่ได้มีการเปิดรหัสสาขาเพิ่ม แต่เป็นการให้เลือกเหมือนเลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แล้วค่อยไปสมัครคัดเลือกเข้าหลักสูตรนี้ ตอนที่ได้ทดลองเรียนวิชาต่าง ๆ ของสาขาวิศวกรรมชีวเวชก่อน
ทางด้าน ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรนี้ไม่ใช่หลักสูตรใหม่ มีหลายโครงการที่วิศวะทำงานร่วมกับแพทย์อยู่แล้ว แต่การดำเนินการครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายใหม่ของการศึกษา ที่จะมีการข้ามศาสตร์กันมากขั้น
จุดเด่นของหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวชคือ ความร่วมมือที่เข้มแข็งของทั้งสองคณะ ที่ร่วมกันพัฒนาโจทย์วิจัยที่ท้าทาย และตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาที่พบอยู่จริงในการแพทย์ปัจจุบัน นิสิตที่เรียนในหลักสูตรฯ จะมีอาจารย์ที่ปรึกษา 2 ท่าน ท่านหนึ่งจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และอีกท่านหนึ่งจากคณะแพทยศาสตร์ซึ่งเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี และเข้าใจปัญหาที่แท้จริงของเทคโนโลยีการแพทย์ นอกจากนี้ หลักสูตรยังได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์สายสุขภาพอื่นๆ อีกด้วย เช่น คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ และ คณะสหเวชศาสตร์ เป็นต้น
หลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช เป็นสาขาบูรณาการ มีการข้ามศาสตร์อยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ประกอบไปด้วย 6 สาขาวิจัย ได้แก่ สาขา Medical instruments and biosensors, สาขา Biomechanics, สาขา Rehabilitation, สาขา Medical Imaging, สาขา Tissue engineering and Drug delivery system และสาขา Bioinformatics ซึ่งทั้ง 6 สาขาวิจัยนี้ ครอบคลุมเทคโนโลยีการแพทย์ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย วิเคราะห์โรค การรักษาโรค การฟื้นฟูผู้ป่วย รวมถึงการป้องกันการเกิดโรค จะเห็นได้ว่า ทุกศาสตร์ทุกสาขาของแพทย์ ล้วนใช้ศาสตร์วิศวกรรมชีวเวชเข้าไปช่วยพัฒนาได้ทั้งสิ้น
ที่ผ่านมาหลักสูตรได้สร้างสรรค์ research innovations จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น medical device, sensor ตรวจวัดค่าต่างๆ ที่บ่งชี้การเกิดโรคของร่างกาย ระบบนำส่งยารักษาโรค และอวัยวะเทียม อวัยวะสังเคราะห์ต่างๆ
ทางวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวเน้นย้ำว่า “เรามีเทคโนโลยี แต่โจทย์มาจากทางการแพทย์ เมื่อสองฝั่งมารวมกัน สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คงจะเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีลงไปในงานทางการแพทย์อย่างมากมายมหาศาล”
การปรับหลักสูตรของจุฬาฯ ครั้งนี้ สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption ได้อย่างไร
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
ความรู้ทางการแพทย์ สามารถใช้ศาสตร์อื่น ๆ เข้ามาช่วยเรา ไม่ว่าจะเป็น AI ซึ่งนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรค การเรียนรู้ในหลักสูตรนี้ โครงการนี้ จะทำให้แพทย์สามารถผสมผสานองค์ความรู้ทางวิศวกรรมชีวเวช เพื่อนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย ตั้งแต่การวินิจฉัย การรักษา การฟื้นฟูในอนาคต
ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์
ระบบมหาวิทยาลัยจะถูก Disrup เพราะว่าศาสตร์เดิม ๆ เริ่มอยู่ไม่ได้ องค์ความรู้มันเริ่มลึกลงไปเรื่อย ๆ แต่ในความต้องการของอุตสาหกรรม ต้องการคนที่มีความรู้ในระดับกว้างมากขึ้น โดยวิสัยทัศน์ ทิศทางของมหาวิทยาลัย คณาจารย์จะต้องมีความรู้ในเชิงลึก แต่วัตถุประสงค์หนึ่งของเรา ถ้าเราเอาความรู้เชิงลึกสอนนิสิต หรือไปใช้ในการพัฒนาบัณฑิตอย่างเดียว เราต้องยอมรับว่าไม่สามารถไปต่อได้ อุตสาหกรรมต้องการคนที่มีความรู้รอบด้านมากขึ้น อุตสาหกรรมต้องการคนที่เรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น เทคโนโลยีต่าง ๆ มันเปลี่ยนเร็วมาก วันนี้การพัฒนาคนที่ออกไปสู่อุตสาหกรรมที่มีความรู้เชิงลึกมาก ๆ เริ่มมีความต้องการน้อยลง แต่ยังมีความสำคัญอยู่ แต่เราต้องการเอาความรู้เชิงลึกไปให้เกิดบูรณาการในตัวผู้เรียนมากขึ้น
เพราะฉะนั้นการเรียนข้ามศาสตร์มีความสำคัญมาก ในอนาคตหลักสูตรต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยจะต้องลดกำแพงพวกนี้ลง หลักสูตรนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในอดีตคงมองไม่ออกว่าแพทย์กับวิศวะ จะทำอะไรร่วมกันได้ วันนี้เราจะเห็นว่าวิศวะเข้ามามีบทความทางการแพทย์เยอะมาก เพียงแต่เราอาจจะมองไม่เห็น แพทย์ที่มีความรู้ทางวิศวะจะสามารถพัฒนาการประกอบวิชาชีพของเขาให้ลงไปในเชิงลึกให้มากขึ้น ได้มีประสิทธิภาพในการองค์ความรู้
TCAS รอบ 3 ปีนี้ พี่นัทมั่นใจได้เลยว่า คะแนนของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พุ่งแน่นอน เพราะหลักสูตรนี้ ถือว่าตอบโจทย์สถานการณ์ Disruption เป็นอย่างยิ่ง และยิ่งน่าสนใจ ยิ่งการแข่งขันสูง แต่ไม่ว่าจะสูงแค่ไหน พี่ ๆ ชาวทรูปลูกปัญญาก็จะช่วยกันพาน้อง ๆ ของเราปีนป่ายไปให้ถึงแน่นอนค่ะ
พี่นัท ทรูปลูกปัญญา