เมื่อไม่นานมานี้ พี่นัทได้มีโอกาสเป็นตัวแทนทรูปลูกปัญญาไปร่วมงาน Enconcept Exclusive Dinner Think Beyond 2020 นับเป็นโอกาสอันดี ที่ได้ร่วมวงแลกเปลี่ยนสนทนากับนักพัฒนาการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน เครือข่ายผู้ปกครอง เด็กนักเรียน และสื่อมวลชนสายการศึกษาอีกหลายสำนัก รวมทั้งบุคคลที่สำคัญที่สุดของงาน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะมีประเด็นไหนน่าสนใจบ้าง ลองไปดูกันเลยค่ะ
Education for Future World : The Best Education Money Cannot Buy
การศึกษาในโลกอนาคต การศึกษาที่ดีที่สุด และเงินซื้อไม่ได้ เป็นอย่างไร
โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
หมอธีเริ่มเปิดเวทีเสวนาด้วยคำถามชวนคิดว่า เคยได้ยินประโยคนี้มั้ย “ไม่ต้องมีครูก็ได้ ในยุค Disruption”
นับว่าเป็นประโยคที่ท้าทายการศึกษาของไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยหมอธีให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า “โลกมันเปลี่ยนไปเร็วกว่าที่คิดเยอะ ให้ดูประวัติศาสตร์เมื่อร้อยปี ตอนที่เอดิสันเห็นทีวีครั้งแรก เขาบอกว่า อีก 10 ปี ข้างหน้าจะไม่มีโรงเรียน ทุกคนจะเรียนจากทีวีหมด แต่พระพุทธเจ้าสอนว่า อย่าเชื่อเพราะเข้าเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือคนเก่ง แต่ต้องลอง และเราจะเจอเรื่องที่ Surprise กันเรื่อย ๆ”
แต่มีบางอย่างที่เป็นความเชื่อมั่นอันแรงกล้าของหมอธีคือ มันมีบางอย่างที่เป็น “อกาลิโก” คือเป็นจริงตลอดเวลาในโลกของการศึกษา
เพลโตพูดเรื่องการศึกษาที่สำคัญว่า การศึกษาต้องสามารถตอบสนองต่อความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์ ทั้งนี้จุดประสงค์ของการศึกษาคือการสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปลายทางการศึกษาคือการใช้ชีวิต ไม่ใช่ปริญญา
Private to Personalized
การเรียนแบบส่วนตัวหรือเรียนร่วมกับคนหมู่มากทำได้ แต่เป็นแค่การผลิต Follower ไม่ได้ผลิต Leader ดังนั้นควรเรียนแบบเฉพาะตัว
Extensive to Intensive
นักเรียนชั้นมัธยมปลายของประเทศไทยเรียนเยอะมาก ทำให้เสียโอกาส ไม่มีประเทศไหนเรียนมากเท่าประเทศไทย เราไม่ต้องรู้เยอะมาก แต่ต้องรู้ลึกในแต่ละเรื่อง และเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับชีวิต
Complex to Simple
คนเก่งที่สุดคือคนที่ทำเรื่องง่ายให้ง่ายขึ้น และทำเรื่องยากให้ง่าย
มีหัวใจสำคัญอยู่ 2 อย่าง หนึ่งคือการสั่งสอน และสองคือการทำซ้ำ โดยเฉพาะเรื่องนิสัย
เน้นการเรียนรู้ให้เป็นธรรมชาติของมนุษย์ไปตามวัย คงความอยากรู้อยากเห็นไว้ แล้วเสริมทักษะที่จำเป็นในอนาคต เพราะถึงแม้ว่าเด็กจะมีความฝันว่าอยากประกอบอาชีพอะไร แต่ในวันข้างหน้า อาชีพเหล่านั้นอาจไม่มีอยู่แล้ว หรืออาจมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยที่เด็กยังไม่รู้จัก ดังนั้นการแนะแนวเด็กควรเน้นให้เด็กเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และเสริมทักษะด้านต่าง ๆ ให้รองรับต่ออาชีพในอนาคต
การศึกษาที่ดีที่สุดคือ sixth form (ช่วงมัธยมปลายของอังกฤษ) ช่วงเวลาสองปีสุดท้ายก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับระบบการศึกษาของอังกฤษ คือ 6 5 2 (ปัจจุบันไทยใช้ 6 3 3 ประถมศึกษา 6 ปี, มัธยมต้น 3 ปี, มัธยมปลาย 3 ปี
เด็กไทยนิยมเรียนหลักสูตรอินเตอร์ ประเทศไทยมีโรงเรียนอินเตอร์มากที่สุด มี English Program ให้เด็กเรียนจำนวนมาก แต่ปัญหาสำคัญที่เจอคือ ภาษาอังกฤษไม่ได้ดี คณิตศาสตร์ก็แย่ เราไปสร้างให้พวกเขาเอง คือ ให้เรียนหลักสูตรไทย แต่สอนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่พอที่จะเข้าใจคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แล้วก็สอบเป็นแบบไทย โรงเรียนส่วนใหญ่จึงต้องมีครูไทยเข้าไปประกบ
มีงานวิจัยที่ชัดเจนบอกว่า เรียนวิชาที่ยากเป็นภาษาแม่ เราควรจะเรียนภาษาอังกฤษให้เก่ง ในขณะเดียวกันก็เรียนวิชาต่าง ๆ ด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ที่เรามี อย่ามองภาษาอังกฤษเป็นแค่วิชาหนึ่ง แต่ให้มองเป็นเครื่องมือที่ใช้แสวงหาความรู้ และถ้าเครื่องมือ (ภาษาอังกฤษ) ไม่พร้อม ก็จะเข้าถึงเนื้อหาวิชานั้นไม่ได้ ทำให้เสียหายทั้งสองอย่าง
ถ้ามีโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรมัธยมปลายแบบประเทศอังกฤษ เปิดให้คนทั่วโลกเรียน เรียนจากที่ไหนของโลกก็ได้ และสอบได้ เรียนเข้มข้นแบบอังกฤษ สอนคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ด้วยภาษาไทย ด้วยคนที่เก่งที่สุดที่เรามี อายุไม่ห่างกับเด็กเกินไปนัก นี่คือแนวทาง Personalized sixth form
นี่คือส่วนหนึ่งของการเสวนา การศึกษาในโลกอนาคต ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่เคย สิ่งที่เคยมี อาจไม่มีอีกแล้ว และสิ่งที่ไม่เคยมี ก็อาจจะเกิดใหม่ขึ้นได้อีก การปรับตัวและรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของอนาคตทางการศึกษาของน้อง ๆ
หากใครสนใจกิจกรรมการศึกษาที่มากกว่าการแนะแนว ก็สามารถไปร่วมงานนี้ได้ Think Beyond "MAX TO THE FUTURE” เตรียมพร้อมสู่โลกที่จะไม่เหมือนเดิม น่าจะช่วยนำทางไปสู่อนาคตของเด็ก ๆ ในยุค Disruption ได้เป็นอย่างดี งานมีวันเสาร์ที่ 7 มีนาคม 2563 เวลา 09.00 - 18.00 น.โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย ชั้น 6 สยามพารากอน
โอกาสหน้าถ้ามีกิจกรรมการศึกษาอะไรที่น่าสนใจอีก พี่นัทจะเก็บข้อมูลมาบอกกล่าวเล่าเรื่องให้น้อง ๆ ได้รับทราบต่อ แต่สำหรับงานนี้ บทสรุปที่พี่นัทได้ คือ...
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในการศึกษา คือ การไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร ! แล้วก็ใช้ชีวิตต่อไป อย่างคิดว่าตัวเองเป็น...ผู้รู้ !
พี่นัท ทรูปลูกปัญญา