คณะแพทยศาสตร์ คณะที่มีการแข่งสูงมาก แน่นอนว่าใครอยากเข้าคณะนี้ต้องเตรียมตัวกันหนักพอสมควร และเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ บางคนรู้ตัวเร็วตั้งแต่ ม.ต้น บางคนเพิ่งมารู้ตัวตอน ม. 6 อย่าง พี่ไม้-รหัท หลงสมบูรณ์ นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงจะเพิ่งรู้ตัว แต่ก็เป็นทางที่ใช่เลย หากเพิ่งรู้ตัวทีหลัง การเรียนการเตรียมตัวสอบจะต้องเร่งลัดแค่ไหน ไปดูกันเลย
พี่เริ่มอยากเข้าคณะแพทย์จริงจัง ตอนช่วงที่ผมอยู่ ม. 6 เลยครับ คือพี่ก็คงเป็นเหมือนน้อง ๆ หลาย ๆ คนที่รู้สึกว่า เราไม่ได้มีวิชาที่ชื่นชอบ หรือไม่ชื่นชอบเป็นพิเศษ พี่ก็เลยไม่มีคณะในฝันมาตั้งแต่เด็กเหมือนคนกับอื่นเขา บวกกับที่พี่คิดว่าตัวเองเป็นคนเรียนไม่เก่ง เลยไม่ค่อยกล้าที่จะตั้งเป้าว่าอยากเข้าคณะแพทย์ เพราะกลัวตัวเองต้องผิดหวัง แต่มีคำพูดนึงของเพื่อนที่ชวนพี่ให้เข้าคณะแพทย์ ที่บอกว่าพี่ทำได้ แล้วคำพูดนั้นก็เปลี่ยนความคิดพี่ไปตลอดกาล มันไม่ได้ทำให้พี่อยากเข้าคณะแพทย์ตามเพื่อน แต่มันทำให้พี่กล้าที่จะเชื่อมั่นในตัวเอง แล้วพี่ก็ค้นพบว่าจริง ๆ แล้วการเรียนคณะแพทย์ก็เป็นความฝันของพี่เช่นกัน
อีกหนึ่งเหตุผลก็คือ พี่รู้สึกว่าการเป็นหมอทำให้พี่มีความสุข เหมือนกับการที่เราบริจาคอะไรสักอย่างให้คนอื่น แล้วเรากลับมีความสุข รู้สึกอบอุ่นหัวใจ ทั้ง ๆ ที่เราเป็นผู้ให้ ไม่ใช่ผู้รับ เช่นเดียวกับการเป็นหมอแหละครับ การที่เรามีความหมายกับผู้อื่น ได้ช่วยผู้อื่น ก็ทำให้เรามีความสุขเช่นกัน เหมือนเราก็เป็นผู้รับในขณะที่เป็นผู้ให้แหละครับ :-)
สอบติดแพทย์ กสพท TCAS รอบที่ 3 เป็นรอบรับตรงร่วมกัน
ใช้คะแนนความถนัดแพทย์ 30% แบ่งเป็น พาร์ทเชาว์ปัญญา พาร์ทจริยธรรมแพทย์ และพาร์ทเชื่อมโยง โดยแต่ละพาร์ทมีคะแนนเท่ากัน
อีก 70% คือคะแนนจากการสอบ 9 วิชาสามัญ โดยใช้คะแนนของ
* วิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ) 40%
* คณิตศาสตร์ 1 20%
* ภาษาอังกฤษ 20%
* ภาษาไทย 10%
* สังคมศึกษา 10%
โดยมีเงื่อนไขว่าแต่ละกลุ่มสาระวิชาจะต้องมีคะแนนมากกว่าหรือเท่ากับ ร้อยละ 30 ของคะแนนเต็ม
เนื่องจากการอ่านสอบเข้าแพทย์นั้น ใช้คะแนนจาก 10 วิชาย่อยด้วยกัน ซึ่งทำให้มีเนื้อหา และจำนวนวิชาที่ต้องอ่านเตรียมตัวสอบเยอะมาก ๆ พี่จึงมักจะแบ่งวันนึงเป็น 4 ช่วงด้วยกันครับ ช่วงแรกคือตื่นนอนจนถึงเที่ยง ช่วงที่สองคือเที่ยงถึงเย็น ช่วงที่สามคือเย็นจนถึงประมาณสามทุ่ม และช่วงที่สี่คือสามทุ่มถึงประมาณเที่ยงคืน โดยพี่จะอ่านวิชาละช่วง อ่านเนื้อหาบ้าง ทำโจทย์บ้างสลับกันไปจะได้ไม่เบื่อ ที่พี่แบ่งเป็นช่วง ๆ เนื่องจากพี่มองว่า ถ้าอ่านวิชาเดียวทั้งวันอาจจะเบื่อเกินไป หรือทำให้สมองไม่ค่อยแล่นเท่าไหร่ แต่การสอบวิชาบ่อยเกินไปก็ทำให้เรายังไม่ได้ตกตะกอนความรู้เกี่ยวกับวิชานั้น ๆ การแบ่งช่วงแบบนี้จึงเป็นจุดพอดีของพี่ แต่น้อง ๆ ทุกคนก็สามารถตามหาจุดพอดีของตัวเองกันได้นะ ขอเสริมนิดนึงว่า เวลาพี่เผื่อเวลารับประทานอาหารของตัวเอง พี่ก็ให้ตัวเองไว้ประมาณชั่วโมงครึ่งนะ ให้ตัวเองได้พักผ่อนหลังกินข้าวสักหน่อย เครียดไปก็ไม่ดีนะครับผม
พี่จะแนะนำหนังสือเล่มที่พี่รู้สึกว่าควรได้ทำจริง ๆ ละกัน แบบที่เรียกว่า ของมันต้องทำ สำหรับพี่ละกันนะครับ
เป็น 3 เล่มที่พี่รู้สึกว่ามีประโยชน์มาก ๆ ไม่ยากเกินไป ไม่ง่ายเกินไป เป็นแนวที่มีความคล้ายเคียงกับสไตล์ข้อสอบ 9 วิชาที่ใช้สอบเข้าคณะแพทย์มาก ๆ เฉลยดีมาก ๆ อยากน้อง ๆ ให้ได้ลองทำกัน
- แนวข้อสอบ 9 วิชาสามัญภาษาอังกฤษ ของ ดร.ศุภวัฒน์
- แนวข้อสอบฟิสิกส์ 9 วิชาสามัญ ของ อาจารย์ ณัฐวัชร์
- แนวข้อสอบ 9 วิชาสามัญ โจทย์เทพคณิตศาสตร์ 1 ของ อาจารย์รัชพล
รีวิว หนังสือเตรียมสอบแพทย์ แบบละเอียดยิบ
สำหรับวิชาเฉพาะแพทย์ พี่รู้สึกว่าเป็นวิชาที่อาจไม่ได้สามารถใช้ความพยายามเพิ่มคะแนนได้เท่ากับพวก 9 วิชาสามัญ เพราะเนื้อหาของมันค่อนข้างไม่ได้ตายตัว
พาร์ทเชื่อมโยง : พี่ว่าพาร์ทนี้เป็นพาร์ทที่เก็บคะแนนง่ายที่สุด เนื่องจากมีรูปการณ์ตอบ รูปแบบคำตอบที่ถูกต้องชัดเจนที่สุด สำหรับน้องที่ฝึกทำ GAT เชื่อมโยงอยู่แล้วก็จะได้เปรียบ เนื่องจากมันมีความใกล้เคียงกัน แต่ของแพทย์จะมีตัวเชื่อมเยอะกว่า ยากกว่า สำหรับพาร์ทนี้เป็นพาร์ทที่น่าเก็บคะแนนเต็มมาก ๆ น่าลงทุนกับพาร์ทนี้ที่สุดในสามพาร์ท ฝึกทำโจทย์เยอะ ๆ รอบคอบเวลาสอบก็พอครับ
พาร์ทเชาว์ปัญญา : พาร์ทนี้เหมือนข้อสอบวัด IQ ครับ เป็นข้อสอบเชาวน์เวอร์ชั่นยาก ๆ พี่รู้สึกว่าพาร์ทนี้ เป็นพาร์ทที่ยากที่สุด เนื่องจากบีบด้วยเวลาทำข้อสอบที่น้อยด้วย ฝึกทำโจทย์ให้เห็นแนวข้อสอบที่หลากหลายก็ดีครับ แต่ว่าอย่าคาดหวังกับมันมาก
พาร์ทจริยธรรมแพทย์ : พาร์ทนี้จะถามคำถามที่คำตอบทุกข้อดูจะสามารถตอบได้ แต่ตอบข้อใดดีที่สุดกันล่ะ ซึ่งถ้าเราพยายามจะตอบให้มันโลกสวย ดูคนดี เราก็จะผิดอีกด้วย สำหรับพี่ พี่มองว่าพาร์ทนี้เราอ่านกฎหมายทางการแพทย์มาก่อน แล้วก็ลองอ่านเฉลยข้อสอบเก่าดูว่ามุมมองประมาณไหน แล้วเวลาสอบก็ลองคิดแบบผู้ใหญ่ดูครับ ไม่ต้องหลอกตัวเอง
พี่เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเอง ทำโจทย์เองนะพี่ว่า พี่รู้สึกว่าการได้ย่อยเนื้อหาด้วยตัวเองทำให้เราเข้าใจมันจริง ๆ ได้ค่อย ๆ ใช้เวลาเรียนรู้จุดอ่อนของตัวเองไปด้วย พี่แนะนำให้เราศึกษาสิ่งที่เราจะต่อสู้ด้วยก่อนดีกว่า เนื่องจากข้อสอบสอบเข้าหาวิทยาลัยแต่ละฉบับ มันก็มีสไตล์การออกของตัวเองอยู่ มีแนวที่ไม่ค่อยเปลี่ยน บางวิชาตรงมาก บางวิชาตรงน้อย บางวิชาออกลึก บางวิชาออกกว้าง การที่เรานำข้อสอบเก่าสักชุดมาลองทำให้รู้แนวของข้อสอบก่อน ก็ช่วยให้เราสามารถเตรียมตัวได้อย่างตรงจุดมากขึ้นนะครับ และพี่ขอแนะนำให้น้อง ๆ ดูข้อสอบเก่าเยอะ ๆ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าครับ
พี่เป็นหนึ่งในคนที่เริ่มอ่านหนังสือช้านะ กว่าจะอ่านจริง ๆ ก็ ม. 6 แล้ว แต่พี่ก็สู้สุดใจนะครับ อ่านบนรถไฟฟ้า ต่าง ๆ วิชาไหนที่เรารู้ว่าเราไม่เก่งก็เติมความพยายามเข้าไปครับน้อง ๆ สู้ ๆ
พี่มีความสุขกับการเรียนคณะนี้นะ การเรียนหมอทำให้พี่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ใกล้ตัวเยอะมาก แบคทีเรีย ร่างกายมนุษย์ต่าง ๆ ได้ฝึกเจาะเลือด วัดความดัน เป็นอะไรที่ตื่นเต้น และท้าทายพี่ไม่น้อยเลยครับ มันก็เรียนหนักอย่างที่หลาย ๆ คนพูดกันแหละครับ แต่สุดท้ายเราก็จะปรับตัวกับมันได้เอง บริหารเวลาเก่งขึ้น เข้าใจวิธีการเรียนที่ดีมากขึ้น สุดท้ายเราเองก็สามารถมีความสุขท่ามกลางการเรียนที่หนักได้ครับ พี่ก็ยังมีเวลาทำในสิ่งที่พี่รัก ไม่ใช่ว่าพี่กลายเป็นหนอนหนังสือไปแล้วหรอกครับ 5555 การเรียนในแพทย์จุฬาฯ เราก็จะเรียนตั้งแต่ ความรู้พื้นฐานในชั้นปีที่ 1 ตามมาด้วยระบบร่างกายในขณะทำงานปกติในชั้นปีที่ 2 และในชั้นปีที่ 3 เราก็จะเรียนความผิดปกติ โรค และยารักษาครับ ส่วนปี 4 เป็นต้นไป ก็จะได้ไปฝึกงานตามวอร์ดแล้วครับ
สำหรับการเรียนที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์นะครับ พี่ชื่นชอบมาก ๆ เลย เพราะว่าหลักสูตรของที่นี่ เราจะเรียนเฉพาะวิชาที่ได้นำไปใช้ในการเป็นหมอเท่านั้นจริง ๆ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 พี่ก็จะเรียนฟิสิกส์ทางการแพทย์ หรือเคมีทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ต้องมานั่งท่องตารางธาตุที่ไม่ได้ใช้แล้ว อะไรทำนองนั้นครับ แล้วหลักสูตรที่นี่ก็มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนาให้ดีขึ้นอยู่เสมอ มีการปลูกฝังให้เป็นหมอที่ดีพร้อม ไม่ใช่เพียงความรู้ แต่รวมถึงในเรื่องของความดี จิตใจต่าง ๆ ครับ
หลาย ๆ คนจะชอบคิดว่าคณะแพทย์จะต้องการแข่งขันสูง และกดดันมาก ๆ ซึ่งมันก็มีทั้งส่วนที่จริง และไม่จริงแหละครับ แน่นอนว่าทุกคนก็มีความกดดันมาจากตัวของเราเองทั้งนั้น แต่สังคมที่คณะแพทย์จริง ๆ แล้ว ดีมาก ๆ เลยนะครับ เพื่อน ๆ ทุกคนช่วยกันเรียน ช่วยติวให้กัน ฝ่าฟันการเรียนที่ยากลำบากไปด้วยกัน และที่สำคัญมาก ๆ เลยก็คืออาจารย์ อาจารย์ที่คณะพี่น่ารักมาก ๆ ครับ ทั้งช่วนสอน ช่วยอธิบาย คอยให้กำลังใจ และดูแลเราในทุก ๆ เรื่อง เรียกได้ว่าบรรยากาศที่คณะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พี่มีแรงสู้กับการเรียนเบยแหละครับ
เรื่อง : รหัท หลงสมบูรณ์ นิสิตแพทย์ จุฬาฯ
บทความที่เกี่ยวข้อง
[รีวิว] เตรียมตัวเข้าคณะแพทยศาสตร์ แชร์จากรุ่นพี่ แพทย์ จุฬาฯ
กว่าจะเป็นหมอ ปลายทางหมอ...ไปทางไหน รวมเส้นทางสู่คณะแพทย์
ข้อดี - ข้อเสีย ก่อนตัดสินใจเลือกเรียนหมอ
คณะแพทย์ไม่ได้มีแค่เรียนหมอ
16 สถาบันผลิตแพทย์ในประเทศไทย ที่ผ่านมาตรฐานระดับโลก
เจาะลึก กสพท คืออะไร สอบอะไรบ้าง
อยากติด กสพท ต้องได้คะแนนเท่าไหร่ ตั้งเป้าคะแนน ด้วยโปรแกรมคำนวณ