สวัสดีค่ะ พี่ขอแนะนำตัวก่อนแล้วกันนะ พี่สไมล์-จิดาภา คุณดิลกพาณิชย์ นิสิตเภสัชศาสตร์ ปีที่ 4 สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันนี้จะพาน้อง ๆ ไปเจาะลึกการเรียนเภสัช มศว กัน
สำหรับการเรียนในคณะเภสัชศาสตร์ก็คงจะไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับยา ใช่เลยค่ะเป็นเหมือนอย่างที่ทุกคนพอจะรู้มา แต่การที่จะได้มาซึ่งยาแต่ละตัวจะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่การเรียนรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติต่าง ๆ ของวัตถุดิบที่เรานำมาผลิตยา ขั้นตอนการเตรียมยา เมื่อเราได้ยามาแล้วเราก็จะต้องมีการควบคุมคุณภาพของยาที่เราผลิตได้ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ รวมถึงการเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุยาและสภาวะที่เหมาะสมในการเก็บรักษายา เพื่อป้องกันยาเสื่อมคุณภาพก่อนที่ยาจะหมดอายุ ตลอดจนการกระจายยาไปสู่ผู้บริโภค ซึ่งเราก็จะต้องเรียนเกี่ยวกับระบบต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพื่อที่เราจะได้สามารถเลือกยามาใช้รักษาสาเหตุที่เป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดความผิดปกติเหล่านั้น นอกจากนี้เรายังเรียนเกี่ยวกับผลข้างเคียงของการใช้ยาแต่ละชนิด การบริหารจัดการเรื่องยาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการให้บริการแก่ผู้ป่วย
หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ที่ มศว มี 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม (สายผลิต) และสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม (สายคลินิก) โดยทั้งสองสาขามีความแตกต่างกันดังนี้
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม จะเน้นการวิจัยยา การคิดค้นสูตรยาใหม่ๆ การผลิตยา ตลอดจนการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของยาแต่ละชนิด ซึ่งงานหลักของสาขานี้ จะเป็นงานในสายการผลิตที่ทำงานอยู่ที่โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตยา
สาขาวิชาบริบาลทางเภสัชกรรม จะเน้นการนำยาไปใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย การให้คำปรึกษากับผู้ป่วยเกี่ยวกับวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับผู้ป่วย ตลอดจนการให้คำปรึกษาและแนะนำแนวทางในการแก้ไขปัญหาจากการใช้ยา ซึ่งงานหลักของสาขานี้ จะเป็นงานด้านการบริบาลผู้ป่วยโดยมักจะพบได้ตามโรงพยาบาล ร้านขายยา สถานบริการสุขภาพ เป็นต้น
ต่อไปพี่จะยกตัวอย่างการเรียนในแต่ละชั้นปีให้น้องพอเห็นภาพคร่าว ๆ ของชีวิตการเป็นนิสิตเภสัชศาสตร์ ที่ มศว แห่งนี้ โดยรายวิชาที่เรียนในแต่ละชั้นปีอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่เมื่อเรียนจบ นิสิตเภสัชศาสตร์ทุกมหาลัยจะได้เรียนเนื้อเหมือนกันอย่างครบถ้วน เพื่อสอบใบประสอบวิชาชีพพร้อมกัน
ปี 1 ส่วนใหญ่จะเรียนพวกวิชาพื้นฐานทั่วไป ได้แก่ แคลคูลัสสำหรับวิทยาสาสตร์สุขภาพ เคมีพื้นฐาน ชีววิทยา เคมีอนินทรีย์ และความรู้เบื้องต้นทางเภสัชศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานความรู้ที่จะนำมาต่อยอดในรายวิชาอื่น ๆ ที่เรียนในชั้นปีที่สูงขึ้น ตอนปี 1 ส่วนใหญ่เราจะเรียนที่อาคารเรียนรวม แต่วิชาความรู้เบื้องต้นทางเภสัชศาสตร์เป็นวิชาแรกที่เราจะได้เข้ามาเรียนที่คณะ และเป็นวิชาที่ดีมาก ๆ วิชาหนึ่งที่ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพรวมของการเรียนเภสัชศาสตร์และบทบาทสำคัญของเภสัชกร
ปี 2 จะเริ่มเข้ามาเรียนวิชาในคณะเพิ่มมากขึ้น โดยวิชาที่มีเรียน ได้แก่ เคมีอินทรีย์เบื้องต้น เคมีเชิงฟิสิกส์ ชีวเภสัชศาสตร์ สถิติทางเภสัชศาสตร์ จุลชีววิทยาเบื้องต้น เภสัชเวท รวมถึงมีการเรียนวิชาฝึกปฏิบัติงานเภสัชกรรมคลินิกสำหรับนิสิตที่เลือกเรียนสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดเด่นของหลักสูตรที่นี่ ที่นิสิตสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรมจะได้มีโอกาสฝึกทักษะที่จำเพาะกับวิชาชีพรวมถึงได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าถึงความเป็นวิชาชีพมากยิ่งขึ้น
ปี 3 จะมีเรียนวิชาทางด้านเทคโนโลยีเภสัชกรรม ชีวเภสัชศาสตร์ การฝึกปฏิบัติงานเภสัชกรรมคลิกนิก การควบคุมคุณภาพเภสัชภัณฑ์ เภสัชเวท ในชั้นปีนี้บางวิชาได้มีการแบ่งเนื้อหาการเรียนให้เหมาะสมกับสาขาวิชาที่นิสิตเลือกไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นปีที่ค่อนข้างจะหนักวิชาทางด้านปฏิบัติการ แต่ก็ทำให้เห็นบทบาทการทำงานของเภสัชกรในแต่ละสาขาได้ชัดเจนมากขึ้น
ปี 4 วิชาส่วนใหญ่ที่เรียนจะมีเนื้อหาที่ต่อเนื่องมาจากในชั้นปีก่อนหน้า แต่จะเน้นการนำความรู้เบื้องต้นมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับลักษณะโรคของผู้ป่วย รวมถึงมีการเรียนวิชาเกี่ยวกับการบริหารเภสัชกรรม นิติศาสตร์และจริยศาสตร์อีกด้วย บอกเลยว่าการเรียนในชั้นปีนี้ค่อนข้างหนัก เนื่องจากว่าทางคณะได้มีจัดหลักสูตรให้พร้อมสำหรับการเตรียมตัวสอบใบประกอบวิชาชีพครั้งที่ 1 โดยจะสอบในช่วงภาคเรียนที่ 1 ของชั้นปีที่ 5
ปี 5 มีการแยกวิชาเรียนอย่างชัดเจน โดยสาขาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรมจะเน้นไปทางการทำโครงงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ สัมมานาทางเภสัชศาสตร์ และวิชาที่เกี่ยวกับเภสัชอุสตาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงมีวิชาเลือกทางวิชาชีพที่เฉพาะกับสาขา ส่วนสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรมจะเน้นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการบริบาลทางเภสัชกรรม การประเมินความปลอดภัยทางคลินิกของยา พิษวิทยา รวมถึงการฝึกปฏิบัติงานเภสัชกรรมคลินิก และมีวิชาเลือกทางวิชาชีพที่เฉพาะกับสาขา
ปี 6 จะเน้นการฝึกปฏิบัติงาน โดยนิสิตสาขาการผลิตจะมีฝึกทั้งหมด 7 ผลัด แบ่งเป็นฝึกงานในด้านการวิจัยและพัฒนา การประกันคุณภาพและควบคุมคุณภาพ การผลิต รวมถึงการขึ้นทะเบียนยา สำหรับผลัดเลือกก็จะมีการฝึกงานด้านการตลาด ผู้แทนยา การคุ้มครองผู้บริโภค ที่เพิ่มเติมเข้ามา ส่วนนิสิตสาขาคลินิกจะได้ไปฝึกงานที่โรงพยาบาลรวมทั้งหมด 6 ผลัด แบ่งเป็นผลัดบังคับและผลัดเลือก (ซึ่งอาจารย์จะเป็นผู้เลือกแหล่งฝึกให้กับนิสิตเอง) โดยแบ่งเป็นการฝึกงานด้านการให้คำปรึกษาผู้ป่วยนอก การราวน์วอร์ดร่วมกับแพทย์ และการเตรียมยาเคมีบำบัด นอกจากนี้ยังมีได้การฝึกงานที่ร้านยาอีกด้วย
สำหรับการเลือกเรียนสายคลินิกของพี่ คงเป็นเพราะว่าพี่ชอบลักษณะการทำงานของพี่ ๆ เภสัชกรที่โรงพยาบาล ชอบที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคนไข้ และได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้อย่างถูกวิธี หายจากโรค นั่นถือว่าเป็นการบรรลุวัตถุประสงค์ของบทบาทหน้าที่เรา เช่น การจ่ายยาของเภสัชกรในโรงพยาบาล นอกจากการอธิบายวิธีการใช้ยาให้กับผู้ป่วยอย่างถูกต้องแล้ว เรายังต้องแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวสำหรับโรคนั้น ๆ เพิ่ม (ถ้ามี) หากเป็นยาที่อันตราย เราก็ควรที่จะบอกวิธีสังเกตอาการที่ผิดปกติให้กับผู้ป่วยในกรณีที่รับประทานยาไม่ถูกวิธีหรือเกิดอาการข้างเคียงจากยา เพื่อให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างถูกต้องวิธีและมีความปลอยภัย รวมถึงเป็นการเฝ้าระวังความผิดปกติเบื้องต้นด้วยตัวผู้ป่วยเอง
คณะเภสัชศาสตร์ มศว มีการแยกหลักสูตรการเรียนที่ชัดเจนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 โดยแบ่งเป็น 2 สาขา ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น โดยนิสิตในสาขาการบริบาลทางเภสัชกรรมจะได้รับการฝึกทักษะทางด้านวิชาชีพตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 ทำให้นิสิตมีความสนใจที่จะเรียนรู้มากขึ้น และในปัจจุบันทางคณะเภสัชศาสตร์ มศว ได้เปิดหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต โครงการร่วมฯ นอตติงแฮม โดยในชั้นปีที่ 1 - 3 เรียนที่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม สหราชอาณาจักร และในชั้นปีที่ 4 - 6 เรียนที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จังหวัดนครนายก โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้จะได้ปริญญา 2 ฉบับ ได้แก่ Master of Pharmacy ซึ่งเป็นปริญญาร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกับมหาวิทยาลัยแห่งนอตติงแฮม และปริญญาเภสัชศาสตรบัณฑิตจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโร
การเรียนที่คณะเภสัชศาสตร์ของพี่ตลอด 4 ปีมานี้ ค่อนข้างเหนื่อยเลยแหละ ถามพี่ ๆ คนไหนที่เรียนคณะนี้ก็น่าจะได้คำตอบเหมือนกัน กว่าจะผ่านแต่ละปีมาได้นอกจากความรู้แล้ว สิ่งที่จะต้องมีคือแรงบันดาลใจและการรู้จักใช้ชีวิตอย่างมีความสุข พี่เชื่อว่าคนเราทุกคนถ้าเราคิดที่จะตัดสินใจทำอะไร ย่อมรู้ดีว่าเป้าหมายของตัวเองคืออะไร นั่นแหละค่ะคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เราผ่านมาได้ สำหรับพี่ความสุขอีกอย่างที่คอยสนับสนุนให้พี่ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มาได้ ก็คือกำลังใจจากครอบครัว และความอบอุ่นจากเพื่อน ๆ ในรุ่น ที่คอยช่วยเหลือกันในทุก ๆ เรื่อง ทำให้พวกเราสามารถก้าวผ่านอุปสรรคและเติบโตไปพร้อม ๆ กัน
เส้นทางการสอบเข้าคณะเภสัชศาสตร์ ตามระบบ TCAS ซึ่งจะมีการเปิดรับหลายรอบ ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยนั้น ๆ โดยในรอบที่ 3 จะเป็นรอบของ “กสพท” ซึ่งมีเกณฑ์ในการพิจารณา ได้แก่ วิชาสามัญ วิชาเฉพาะแพทย์ กสพท และการสัมภาษณ์ สำหรับรอบที่ 4 “Admission” จะพิจารณาจาก GPAX, ONET, GAT PAT 2 และการสัมภาษณ์ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ง่ายที่สุดในการทำคะแนนของเราก็คือ GPAX ที่โรงเรียน แต่ถ้าเวลาเรามีจำกัดก็เน้นทำโจทย์เลย โดยที่อย่าไปกังวลว่าจะอ่านเนื้อหาจบหรือไม่ เพราะการได้ฝึกทำโจทย์เยอะ ๆ จะทำให้เรามองเห็นแนวโน้มของข้อสอบว่าเรื่องไหนที่เราควรให้ความสำคัญมากสุดไล่ลงไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ
เภสัชกรมีบทบาทหน้าที่หลากหลายในตลาดการทำงาน ไม่เพียงแต่ เภสัชกรโรงพยาบาล หรือเภสัชกรชุมชน (ร้านยา) ตามที่ทุกคนได้พบเจอในชีวิตประจำวัน เภสัชกรยังมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตยา การตลาด การคุ้มครองผู้บริโภค งานด้านทะเบียนและกฎหมายผลิตภัณฑ์ รวมถึงเภสัชกรด้านการศึกษาอีกด้วย
เรื่อง : จิดาภา คุณดิลกพาณิชย์