กำลังมาแรงจากซีรีย์เรื่องดังกับอาชีพด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่เรียกได้ว่าเป็นฮีโร่ผู้มากับเสียงไซเรนเลยทีเดียว น้อยครั้งที่เราจะได้เห็นภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ซึ่งต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะทุกนาทีคือชีวิตของผู้ป่วยที่พวกเขาต้องรักษาไว้ แล้วน้อง ๆ สงสัยกันไหมว่า บุคคลที่มากับรถพยาบาล หรือรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินนั้น ประกอบด้วยอาชีพอะไรกันบ้าง
แพทย์ผู้ทำงานในแผนกฉุกเฉินและบางครั้งก็ต้องประจำรถพยาบาลฉุกเฉินเพื่อไปช่วยผู้ป่วย ณ ที่เกิดเหตุให้ทันเวลาด้วย เรียกได้ว่าต้องทั้งเก่ง ไว อึดถึก และมีสติในทุกสถานการณ์ เพราะต้องคัดกรองวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องและตัดสินใจในการรักษาเบื้องต้นอย่างเร่งด่วยเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยให้ผลจากขั้นวิกฤติ แล้วจึงประสานงานกับแพทย์เฉพาะทางอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งหากน้อง ๆ สนใจอาชีพนี้ ต้องเริ่มจากเรียนสายวิทย์-คณิต เรียนแพทย์ 6 ปี จนได้รับปริญญาด้านแพทยศาสตรบัณฑิต แล้วจึงเรียนต่อเฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินอีก 3 ปี เพื่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
พี่ ๆ ทีมงาน มีบทความน่าสนใจเกี่ยวแพทย์มากมาย คลิกดูด้านล่างได้เลย
อาวุธคู่อาชีพ : แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน, [รีวิว] เตรียมตัวเข้าคณะแพทยศาสตร์ แชร์จากรุ่นพี่ แพทย์ จุฬา, รวมค่าเทอมเรียนหมอ คณะแพทย์, เจาะลึกอาชีพอายุรแพทย์
นอกจากจะพุ่งตัวไปถึงผู้ป่วยเป็นรายแรกพอ ๆ กับแพทย์แล้ว ยังต้องพกความรู้ความสามารถในการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินขั้นสูงและการกู้ชีพติดตัวไปด้วย แม้จะดูแล้วจะใกล้เคียงหมอก็ไม่ใช่ จะเป็นพยาบาลก็ไม่เชิง แต่หน้าที่ของพวกเขาเรียกได้ว่ามีความสำคัญมากในทีมแพทย์ฉุกเฉิน เพราะต้องมีพื้นฐานการทำหัตถการทางการแพทย์ รักษาผู้ป่วยโดยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในภาวะฉุกเฉินที่ส่งผลต่อชีวิต เพื่อให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นก่อนจะส่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เรียกได้ว่าได้ช่วยคนไข้ในช่วงนาทีชีวิตเลยทีเดียว สำหรับ Paramedic ประเทศไทยมีเปิดการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเวชกิจฉุกเฉิน (วทบ. เวชกิจฉุกเฉิน) เรียน 4 ปี โดย เปิดสอนในหลายสถาบัน อาทิ
• สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (คลิกอ่านรีวิวได้ที่นี่)
• สาขาเวชกิจฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
• สาขาเวชกิจฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
• สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
คนสำคัญอีกคนที่ขาดไม่ได้บนรถพยาบาลไซเรน EMT นอกจากจะขับรถได้ไวและปลอดภัยแล้ว ยังต้องมีพื้นฐานในการปฐมพยาบาลและกู้ชีพขั้นต้นได้ สามารถช่วยเหลือ แพทย์ พยาบาล หรือ paramedic ในการหยิบจับ จัดเตรียมอุปกรณ์ได้ รวมทั้งยกเปลและตรวจสอบเครื่องมือบนรถต่าง ๆ ด้วย โดย EMT นั้นต้องผ่านการอบรม ไม่ต่ำกว่า 115 ชั่วโมง เพื่อให้ได้ประกาศนียบัตรรับรอง โดยจะมีการอบรมตามสถาบันที่เกี่ยวข้องด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือโรงพยาบาลศูนย์ เป็นต้น
หากต้องการศึกษาต่อจะมีการเรียนในระดับ AEMT (Advanced Emergency Medical Technician) คือ สาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (ปวส.ฉพ.) หลักสูตร 2 ปี โดยรับผู้จบมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า โดยสถาบันที่เปิดรับสมัครได้แก่ วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร สาขาจังหวัดขอนแก่น ชลบุรี ตรัง ยะลา อุบลราชธานี และ โรงเรียนนาวิกเวชกิจ ศูนย์วิทยาการ กรมแพทย์ทหารเรือ
นอกจากอาชีพที่ว่ามานี้แล้ว ฮีโร่ที่มากับเสียงไซเรนยังมีอีกหลากหลายทั้งพี่ ๆ อาสาสมัครกู้ภัย กู้ชีพทั้งจากมูลนิธิและเอกชน ซึ่งผ่านการอบรมขั้นพื้นฐานกันมาแล้วทั้งสิ้น (หลักสูตร Emergency Medical Responder) แถมยังพกใจมาเต็มร้อยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้ประสบภัยทุกท่านให้ปลอดภัย ส่วนพวกเราหากต้องการฝึกการช่วยชีวิตคนเบื้องต้นก็มี workshop การฝึกอบรมต่าง ๆ มากมาย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจำและทำเสมอ คือเมื่อได้ยินเสียงไซเรนใกล้ ต้องไม่รีรอที่จะหลีกทางให้ไวเพื่อให้รถไปถึงที่หมายอย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด เพราะเสียงไซเรนอาจเป็นเสียงแห่งความหวังของหลายชีวิตที่กำลังรอคอยอยู่