เมื่อเราพูดถึงคณะศิลปกรรมศาสตร์ หลาย ๆ คนอาจจะนึกถึงคนที่เป็นจิตรกร วาดภาพระบาดสีต่าง ๆ แต่จริง ๆ แล้วนั่นเป็นสิ่งที่ผิวเผินมากสำหรับการมองคณะศิลปกรรมศาสตร์ค่ะ วันนี้ พี่เมฆ-ธนพัฒน์ ศุภรณเศรษฐ์ นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาเจาะลึกเรื่องการเรียนการสอนและแบ่งปันประสบการณ์ของการเป็นนิสิตในคณะศิลปกรรมศาสตร์กันค่ะ
ประมาณ ม. 5 ปลาย ๆ ช่วงที่ต้องเริ่มเตรียมตัวเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง เพราะสังคมรอบข้างเขาเริ่มเตรียมตัวกันแล้ว ตอนนั้นเราคิดว่าจะเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์เพราะว่าเราอยู่ในชมรมดนตรีโรงเรียนอยู่แล้ว บวกกับว่ามีรุ่นพี่เอกร้องเพลงคนนึงมาแนะนำเรา เราเลยเริ่มตั้งแต่ตอนนั้น
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มีทั้งหมด 4 ภาค นั่นก็คือ ดุริยางคศิลป์ เรียนเกี่ยวกับพวกดนตรี, นาฏยศิลป์ เรียนเกี่ยวกับการเต้น รำไทย บัลเล่ต์, นฤมิตรศิลป์ (creative arts) เป็นการออกแบบเพื่อตอบสนองการใช้งาน เช่น กราฟฟิกดีไซด์, และ ทัศนศิลป์ (visual arts) เป็นศิลปะที่สร้างสรรค์เพื่อความสุนทรีย์ และความจรรโลง เช่น การเพ้นท์ สำหรับการสอบเข้าก็จะมีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไปในแต่ละภาควิชา แต่สิ่งสำคัญที่ทุกภาควิชาต้องมีคือการสอบปฏิบัติ เช่น ภาคดุริยางค์ ก็ต้องบรรเลงเพลงตามโจทย์ที่กำหนด หรือ ภาควิชาทัศนศิลป์ ก็ต้องสอบวิชา Drawing
ในส่วนของเราจะเรียนเป็นภาคดุริยางคศิลป์ หรือที่เราเรียกง่าย ๆ ว่า “ภาคดนตรี” ซึ่งแบ่งย่อยออกไปอีกเป็น ดุริยางคศิลป์ไทย และ ดุริยางคศิลป์สากล ซึ่งเราก็เรียนดุริยางคศิลป์สากล ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จะเรียนเป็นดนตรีคลาสสิกทั้งหมด (เครื่อง Orchestra) และเราจะแบ่งไปตาม “เครื่องเอก” คือสอบเครื่องดนตรีชิ้นไหนเข้ามาเราก็จะได้เรียนเครื่องนั้นต่อไปในคณะ
ในปี 1 เราจะเรียนเป็นเรื่องของทฤษฎีดนตรี ปรับพื้นฐาน เราคิดว่ามันไม่ได้ยากขนาดนั้น เหมือนเป็นการปรับมาตรฐานเด็กให้มีวิธีคิดตามหลักที่ควรจะเป็นในเทอม 1 ส่วนเทอม 2 ก็ยังเป็นทฤษฎีดนตรีพื้นฐานเหมือนเดิมแต่ยากขึ้นมีความลึกขึ้น ตัวเด็ด ๆ ยากๆสำหรับเราคือประวัติศาสตร์ดนตรี ยากตรงที่ว่าเราจะเริ่มเรียนจากยุคที่ไกลสุดอย่างยุคกลางไล่มาถึงยุคที่ใกล้กับปัจจุบันมากขึ้น ก็คือประวัติศาสตร์เทอมแรกยากสุด หลัง ๆ ก็จะง่ายขึ้นเพราะใกล้ตัวมากขึ้น นอกจากนั้นก็มีวิชา skill หรือฝึกทักษะด้วย มีสอบวิชาทักษะด้วย ปีแรกก็จะสอบง่ายกว่าปีหลังหน่อย เช่นสอบแค่ 2 เพลง คนละ 5-10 นาที
ปี 2 เทอม 1 คือเป็นทฤษฎีดนตรีขั้น advanced ขึ้นมา มันเลยมีความยาก โหดสุดเลยสำหรับเรา เพราะจะมีการเริ่มเรียนการเรียบเรียงเพลงด้วย แต่ในส่วนประวัติศาสตร์ก็จะง่ายขึ้นเพราะเป็นยุคใกล้ตัวเรามากขึ้น ปี 2 เทอม 2 ก็ยังเป็นทฤษฎีอยู่แต่ไม่หนักเท่าเทอมแรก
หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าดนตรีมีทฤษฎีอะไรด้วยหรอ ทำไมต้องเรียนตั้งแต่ปี 1-2 เลย จริง ๆ แล้วดนตรีนั้นก็มีรูปแบบของมันเหมือนกัน การเรียนทฤษฎีดนตรี เราก็จะสามารถบอกได้ว่าผู้แต่งใช้ไอเดียอะไรในการแต่ง มีวิธีแต่งอย่างไร และเราสามารถใช้ทฤษฎีเพื่อศึกษาเพลงนั้น ๆ บางคนก็เรียนเพื่อนำมาใช้แต่งเพลงตัวเองขึ้นมาได้ หรือเรียนเพื่อให้สามารถเล่นดนตรีได้ดีขึ้น กล่าวคือถ้าเรารู้ทฤษฎีเราจะเข้าใจความเป็นดนตรีมากขึ้นนั้นเอง
ในส่วนของปี 3 เราได้เรียนทฤษฎีพื้นฐานทั้งหมดจบมาแล้ว เราจะได้เลือกเอก มีเอกแสดงกับเอกประพันธ์เพลง การที่เราได้เลือกเอกตอนปี 3 เป็นเพราะว่าทางหลักสูตรต้องการให้เด็กเรียนรู้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นเอกประพันธ์เพลงหรือเอกแสดงก็ต้องใช้ข้อมูลทางทฤษฎี หรือประวัติศาสตร์เหมือนกัน ในเอกแสดงเราจะต้องเรียน skill ต่อ เหมือนตอนปี 1-2 แต่ถ้าเราเลือกเรียนเอกประพันธ์เพลง เราจะไม่มีวิชา skill แต่จะเปลี่ยนเป็นวิชาประพันธ์เพลงแทน จริง ๆ ก็มีบางคนเรียนทั้งคู่เรียกว่าเรียน “เรียนควบ” ไปเลยก็ได้ เพราะตอนเราเรียนจบก็ไม่ได้บอกว่าเราเรียนเอกแสดงหรือประพันธ์ อย่างไรก็ตามในส่วนของเราเราเลือกที่จะเรียน “เอกแสดง”
ตอนปี 3 เทอม 2 มีการจัดคอนเสิร์ตตัวเอง เรียกวิชาว่า “junior recital” มีโจทย์บังคับว่าต้องมีเพลงไหนบ้าง ร้องทั้งหมด 13 เพลง (สำหรับเอกขับร้อง) ของใครของมันไปเลยแล้วให้อาจารย์มาดู ส่วนมากจัดที่ห้องแสดงที่อยู่ตรงภาควิชาเลย ทุกคนที่เป็นเอกแสดงก็ต้องจัดทั้งหมด ในส่วนของทฤษฎีดนตรีเริ่มกลายเป็นเหมือนกับวิชาเลือกแล้วว่าเราสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ เราก็จะลงลึกไปในแต่ละส่วนของดนตรีที่มันแตกต่างกัน เช่น เราเรียนดนตรีในศตวรรษที่ 20 ส่วนเพื่อนเราเรียน form and analysis เป็นรูปแบบดนตรีต่าง ๆ ก็คือแล้วแต่ความชื่นชอบของแต่ละคน
ตอนปี 4 เทอม 1 จะเรียน skill เหมือนเดิม มีวิชาบังคับชื่อ “สุนทรียศาสตร์ ”ทุกคนในคณะต้องเรียน สุนทรียศาสตร์ก็จะเกี่ยวกับการดูงานศิลป์ หรืออาจนิยามได้ว่าการเสพศิลป์เพื่อความจรรโลงใจ เทอม 2 มี “senior recital” เป็นการให้เราจัดคอนเสิร์ตของเราขึ้นมาเพื่อการสอบจบ โจทย์ก็จะยากขึ้นเพลงยากขึ้น แต่คณะเราจะไม่มีฝึกงาน ไม่มีวิจัย
เคยไปร้องเพลงกับ cu chamber ในงานต่างๆในมหาวิทยาลัย, มีงาน voice recital ของอาคารศิลปวัฒนธรรมจุฬาฯ ให้นิสิตที่เรียนเอกขับร้องของครุศาสตร์กับศิลปกรรมศาสตร์มาร้องเพลง, ศิลปกรรมฯคอนเสิร์ต และในส่วนของกิจกรรมนอกมหาลัย เราได้นำความรู้เกี่ยวกับสาขาที่เราเรียนมาต่อยอดเพื่อทำงานพวก music production เช่นทำเพลงให้โฆษณาต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังทำวงดนตรี เป็นศิลปิน มีเพลงใน Spotify, apple music มีผลงานเพลงเช่น เพลง “บทละครเรื่องโปรด” กับเพลง “บนเก้าอี้สีขาว” จากวง tie a tie ครับ แม้อาจจะไม่ได้ตรงสายที่เรียน แต่ก็ถือว่าเราสามารถนำความรู้ที่เรียนมาใช้ประโยชน์ต่อยอดได้
วิชา skill ชอบที่สุดเพราะเราสามารถนำไช้ได้จริงเราได้พัฒนาทักษะจริง ๆ ส่วนที่ยากสุดคือทฤษฎีดนตรี เราอย่าคิดว่าเรียนดนตรีจะไม่เจอคณิตศาสตร์ จริง ๆ คือเจอแน่นอน เพราะเพลงมันก็มีสูตร มีวิธีการหา มีสัดส่วนของตัวโน๊ตเลย และก็เหมือนเช่นทุกสาขาวิชา ที่มีประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ในสาขาดนตรีนั้น ประวัติศาสตร์ค่อนข้างมีความสำคัญ ดังนั้นก็ถือเป็นอีกวิชาที่ยากมาก ๆ เช่นกัน
จบไปเป็นอะไรก็ได้กว้างมาก ที่เราเรียนก็เป็นเหมือนฐานของดนตรี คุณจะไปเป็นศิลปิน เป็นอาจารย์ หรือคนทำดนตรีเชิงพาณิชย์ก็แล้วแต่ สำหรับอนาคตเราเอง เราอยากจะไปเป็นนักดนตรี เพราะเราพยายามทำงานให้ตรงสายที่สุด เราจบเอกขับร้องคลาสสิคมาเลยคิดไว้ว่าจะเรียนต่อในทางนี้ก่อน ถ้าทำงานก็อยากเป็นศิลปินที่ร้องคลาสสิกไม่ว่าจะทำในประเทศ หรือต่างประเทศ และถ้ามีโอกาสที่ดี ก็อยากจะทำให้วงการดนตรีในประเทศไทยกว้างขึ้น มีความสำคัญมากขึ้น
ตอนก่อนเข้ามาส่วนมากเน้นเรื่องการถามรุ่นพี่เพราะเรารู้จักรุ่นพี่เยอะ เลยเตรียมตามที่รุ่นพี่บอก หลัก ๆ มีสอบทฤษฎีกับปฏิบัติ ติวทั้งคู่ไปเลย ปีเราใช้ GAT/PAT กับคะแนนทฤษฎีกับปฏิบัติเอามารวมกัน เน้นเรื่องของทฤษฎีดนตรีหน่อยเพราะเราต้องรู้ก่อนที่เราจะเข้าด้วย ไม่ใช่ว่าพึ่งเข้าไปเรียนในคณะ
หนังสือเรื่อง “ทฤษฎีดนตรี” ของ ศาสตราจารย์ ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ และหนังสือเรื่อง “สังคีตนิยม ความซาบซึ้งในดนตรีตะวันตก” ของ ณรุทธ์ สุทธจิตต์
เอกดนตรี ต้องแบ่งเวลาซ้อมให้ถูก เราไม่จำเป็นต้องเก็บชั่วโมงว่าเราต้องซ้อมกี่ชั่วโมง เราควรซ้อมเท่าที่ร่างกายรับไหว “ยิ่งใจเย็นยิ่งเก่งเร็ว” สมองต้องค่อย ๆ คิดอย่าหักโหม ในส่วนของการอ่าน เราฟรีสไตล์เลย เราอ่านเท่าที่เราอยากอ่านแต่เราตั้งเป้าไว้ไกล ๆ ว่าเรื่องนี้ต้องจบภายในวันไหน วันนี้อ่านหนึ่งหน้าพรุ่งนี้อาจจะอ่านสองบทก็ได้
อยากฝากไว้ว่าเรียนดนตรีมันยาก ไม่ได้ง่ายแล้วมันก็ไม่ได้สบายอย่างที่คิด เราต้องให้ความใส่ใจเวลาเราเรียน มันอาจจะมีบางอย่าง บางเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันสบาย ๆ เช่น ในหลาย ๆ โอกาสเราอาจพบว่า วิชาที่เรียนดูน้อยกว่าสาขาวิชาอื่น แต่นั่นคือระบบที่ออกแบบมา ให้เราแบ่งเวลาไปซ้อม เพื่อพัฒนาตัวเอง ดังนั้นถ้าเราเข้ามาเรียนได้แล้ว ต้องมีวินัยในการใช้ชีวิตมาก ๆ ศิลปินก็เป็นเหมือนวิชาชีพอื่น ๆ เราต้องทำงานหรือฝึกซ้อมให้เป็นกิจวัตร
เรื่อง: พิชญา วัชโรดมประเสริฐ