Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เลือกแผนการเรียนอย่างไร ให้ไม่...ผิดแผน !

  Favorite

          หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่า การเลือก “แผน (การเรียน) ผิด” ส่งผลให้การเข้ามหาวิทยาลัย “ผิดแผน” ได้ แผนการเรียนคือด่านแรกที่ส่งเราไปใช้ชีวิต 3 ปี อยู่กับสิ่งที่จะส่งต่อเราไปยังมหาวิทยาลัย

 

          ก่อนที่น้อง ๆ จะเลือกคณะ/สาขา เข้ามหาวิทยาลัย ด่านแรกที่จะต้องฝึกเลือกก่อนคือ การเลือกแผนการเรียน ปัจจุบันโรงเรียนต่าง ๆ มีแผนการเรียนมากมาย ผสมผสาน หลากหลาย โดยให้เด็กเป็นศูนย์กลางในการออกแบบเลือกเรียนวิชาที่ตนสนใจได้มากขึ้นกว่าในอดีต แต่ถึงอย่างไร การเลือกแผนการเรียนก็ยังคงมีกรอบของเนื้อหาหลักสูตรที่ครอบคลุมไว้อยู่ดี โดยจะต้องเรียนในกลุ่มสาระหลักทั้ง 8 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย, ภาษาต่างประเทศ, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม, สุขศึกษาและพลศึกษา, การงานอาชีพและเทคโนโลยี และ ศิลปะ รวมทั้งวิชาเพิ่มเติมต่าง ๆ  แผนการเรียนจะเป็นตัวกำหนดหน่วยกิตของวิชาต่าง ๆ ในแต่ละกลุ่มสาระ ส่วนจะเลือกแผนอย่างไร ให้ไม่ผิดแผน ตามไปดูรายละเอียดกันเลยค่ะ  

 

แผนการเรียน ม.ปลาย มีอะไรบ้าง

1. แผนวิทย์ – คณิต

          “สายเนิร์ด” พระ-นางของคู่นี้คือ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ กลุ่มวิทยาศาสตร์ยกพลมาครบ ทั้ง ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา โดยจะได้เรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ทดลอง ค้นคว้ากันอย่างสนุกสนาน เนื้อ ๆ เน้น ๆ หนัก ๆ แน่น ๆ ส่วนอีกหนึ่งวิชา คือ คณิตศาสตร์ จะมีทั้งคณิตศาสตร์พื้นฐานและเพิ่มเติม ที่เพิ่มรสชาติความเข้มข้นของเนื้อหามากขึ้นตามลำดับชั้น ส่วนวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา และวิชาอื่น ๆ ยังคงเรียนอยู่ แต่สัดส่วนไม่มากนัก

 

2. แผนศิลป์ – คำนวณ

          “สายผสม” เป็นความกลมกล่มของการประกบคู่กัน ระหว่างพระเอกสุดฮ็อต คณิตศาสตร์ และนางเอกตัวแม่อย่างภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์มีทั้งคณิตหลักและเสริม หนัก ๆ แน่น ๆ เหมือนสายวิทย์ทุกอย่าง ส่วนภาษาอังกฤษจัดไปทุกวัน เพราะมีทั้งภาษาอังกฤษหลักและอังกฤษเสริมสลับกันไป แถมแยกเป็นทักษะเพิ่มเติมด้วย เช่น ทักษะการอ่าน การเขียน การแปลภาษา ส่วนพระรองและตัวประกอบอื่น ๆ มากันพร้อมหน้า ทั้งภาษาไทย สังคมฯ วิทยาศาสตร์ทั่วไป และวิชาเพิ่มเติมอื่น ๆ

 

3. แผนศิลป์ – ภาษา

          “สายอาร์ตภาษา” สายนี้พระเอกคือภาษาที่ 3 (ญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน บาลี อาหรับ เกาหลี สเปน) ควงคู่มากับนางเอกหลายคน เพราะเรียนเน้นทักษะทางด้านภาษาต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นับเป็นสายเฉพาะทางจริง ๆ ส่วนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ยังคงต้องเรียน แต่จะเป็นในระดับวิทยาศาสตร์ทั่วไปและคณิตศาสตร์พื้นฐานเท่านั้น ส่วนวิชาต่าง ๆ ที่เป็นความรู้พื้นฐานทางด้านศิลปศาสตร์มีครบถ้วน   

 

4. แผนศิลป์ – สังคม 

          “สายสังคม” สายนี้ออกแนวบอยแบนด์หรือเกิร์ลแก๊ง คือเน้นวิชาหลัก ๆ เป็นกลุ่มวิชา เน้นเรียนวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา โดยเฉพาะสังคม จะเน้นมาก ครอบคลุมทุกมิติทั้งศาสนา เศรษฐศาสตร์ กฎหมายและการเมือง ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ได้ร่วมคิด วิเคราะห์ วิจารณ์และมองโลกผ่านมุมมองปรัชญา กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ ว่าที่เด็กนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ น่าจะถูกอกถูกใจแผนนี้เป็นพิเศษ   


5. แผนศิลป์ – ทั่วไป

          "สายกลาง" เป็นทางกว้าง ๆ ที่ออกแบบแผนการเรียนให้หลากหลาย ประยุกต์ไปตามความต้องการของแต่ละโรงเรียน โดยนำความเป็นศิลปศาสตร์ไปผนวกกับวิชาเรียนแขนงต่าง ๆ เช่น ศิลป์ – สถาปัตย์ ศิลป์ – ธุรกิจ ศิลป์ – คหกรรม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดหลักสูตรของแต่ละโรงเรียน

 

 


แผนการเรียน ม.ปลาย สำคัญอย่างไร

ถ้าเลือกแผนผิด อาจทำให้ชีวิต...ผิดแผนได้

          ในการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปฏิเสธไม่ได้ว่าคะแนนมีผลต่อการเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะออกแบบรูปแบบการคัดเลือกอย่างไร ก็หนีไม่พ้นที่ต้องมีการเกรดเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย หากน้อง ๆ เลือกแผนผิด ทำให้ได้เรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่ถนัด ย่อมส่งผลต่อเกรดรวม ซึ่งกลายเป็นผลต่อเนื่องไปถึงการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย

 

คณะนี้ เพื่อคนแผนนี้

          ในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในบางสาขา/คณะ มีการกำหนดแผนการเรียนในระดับ ม.ปลาย บังคับไว้ ถ้าน้อง ๆ จบไม่ตรงแผนการเรียนก็จะทำให้หมดสิทธิ์เข้าศึกษาต่อในคณะเหล่านั้นได้

 

ไม่ได้บังคับแผน แต่บังคับหน่วยกิต

          การเลือกคณะในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดแผนการเรียนตายตัว ว่าคณะนี้ต้องรับนักเรียนจากแผนการเรียนนี้ แต่ก็มีหลายคณะที่แม้ไม่ได้บังคับแผนการเรียน แต่บังคับหน่วยกิตว่าต้องเรียนกลุ่มสาระนี้ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวนกี่หน่วยกิต ดังนั้นถ้าน้อง ๆ เรียนผิดแผนแล้วเก็บหน่วยกิตไม่ครบ จะส่งผลต่อการเลือกคณะในอนาคตได้ 

 

ย้ายแผนยาก

          ถ้าจะขอย้ายแผนการเรียน เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องด้วยการรับในแต่ละแผนการเรียนถูกกำหนดจำนวนผู้เข้าเรียนไว้ตั้งแต่แรก การขยับเพิ่มเติมทีหลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก มีกฎเกณฑ์การย้ายที่อาจจะต้องพ่วงเกี่ยวกับเรื่องเกรดเฉลี่ยของแผนการเรียนเดิม กับแผนการเรียนใหม่ สุดท้ายอาจจะต้องเสียเวลาต้องเข้าเรียน ม.4 ใหม่ แทนการย้ายแผนการเรียน

 


เลือกแผนการเรียนอย่างไร ให้ไม่...ผิดแผน

เลือกจากความชอบ ความสนใจ

          ในแต่ละแผนการเรียน จะมีวิชาหลักที่น้อง ๆ ต้องเผชิญหน้าด้วยหลายวิชา ดังนั้นลองนึกภาพดูว่าถ้าเราต้องเจอหน้าใครบ่อย ๆ เราอยากเจอหน้าคนที่เรารัก ชอบ สนใจ หรืออยากเจอคนที่ไม่รัก ไม่ชอบ ไม่สนใจ แถมเหม็นขี้หน้าด้วยซ้ำ การเลือกแผนการเรียนโดยใช้ความชอบ ความสนใจ จะทำให้เราอยากใช้เวลาอยู่ด้วย มีความกระตือรือร้นที่อยากจะเรียนรู้ในวิชาเหล่านั้น ดังนั้นก่อนเลือกแผน เปิดดูรายวิชาของแต่ละแผนก่อนว่าต้องพบเจอกับวิชาอะไร แล้วชอบสนใจในวิชาของแผนการเรียนไหนมากกว่ากัน ถ้าพบคำตอบแล้วก็จัดการเลือกแผนนั้นได้เลย

 

เลือกตามความถนัด ความสามารถ

          วิธีนี้ใช้ตัวช่วยคือคะแนนจากตอน ม.ต้น ดูจากคะแนนสอบในรายวิชาต่าง ๆ มาใช้ประกอบในการตัดสินใจ ตรวจสอบความสำเร็จของการเรียนเกรดวิชาไหนดีกว่ากัน เรียนแล้วประสบความสำเร็จทำแต้มได้มี เรียนแล้วรู้สึกเข้าใจ จดจำเนื้อหาได้ง่าย รวมไปถึงตรวจสอบจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ชอบการทดลอง ได้ลงมือปฏิบัติการจริงเพื่อค้นคว้าหาคำตอบ แบบนี้ก็อาจจะเหมาะกับแผนวิทย์ – คณิต ชอบแต่งกลอน ประกวดสุนทรพจน์ ก็อาจจะเหมาะกับสายศิลป์ – ภาษา หรือเน้นกิจกรรมเป็นหลัก วิชาการไม่ต้องแน่น ขอเบา ๆ แบบนี้ก็อาจจะไปทางศิลป์ทั่วไป หรือศิลป์ – สังคม เป็นต้น  

 

เลือกจากคณะที่อยากเข้า

          การเลือกแนวนี้ เป็นการมองอนาคตก่อน แล้วย้อนกลับมาหาปัจจุบัน น้อง ๆ จำเป็นต้องหาความรู้เพิ่มเติมขึ้นมาอีกหน่อย ว่าอยากเข้าคณะไหน คณะนั้นเรียนเกี่ยวกับอะไร แล้วต้องใช้วิชาใดในการสอบคัดเลือก จากนั้นก็เลือกแผนการเรียนที่สอดคล้องกับวิชาที่จะสอบ เพื่อจะได้ความรู้สอดคล้องกับการสอบและการเลือกคณะ

 

เลือกจากอาชีพที่อยากเป็น

          วิธีนี้ถือเป็นขั้น Advance สำหรับเด็ก ม.ต้น ที่จะต้องออกแบบชีวิตตนเองไปไกลถึงการประกอบอาชีพ แต่ถ้าใครสามารถทำได้ ก็คือว่าเป็นเด็กที่มีความชัดเจน สามารถออกแบบตนเองในอนาคตได้ เรียกได้ว่าผ่านกระบวนการค้นหาตัวตนจนได้ค้นพบตัวเองแล้ว การเลือกแบบนี้ ถือว่าเป็นการเลือกที่ดีที่สุด เพราะมีความคมชัด คือเลือกจากสิ่งที่เราอยากเป็น คืออาชีพ แล้ววางแผนไปสู่คณะที่เราอยากศึกษาต่อ แล้วค่อยเลือกแผนการเรียน แต่ทั้งนี้ในระหว่างทางหากเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวตน ก็ยังสามารถขยับปรับความฝันในระดับอุดมศึกษาได้

 

เลือกตามความนิยม ตามโอกาส

          วิธีนี้เป็นเบสิกที่หลาย ๆ ครอบครัวใช้ แต่พี่นัทไม่ค่อยอยากแนะนำ เพราะถ้าเลือกแบบนี้คำตอบเห็นทีจะหนีไม่พ้นแต่การเลือกแผนวิทย์ – คณิต เพราะเป็นแผนการเรียนที่สามารถเลือกคณะได้มากที่สุดเกือบทุกคณะ และในทัศนคติของคนทั่วไปที่มักมองว่าแผนวิทย์ – คณิต เป็นพื้นที่ของเด็กเก่ง เด็กดี เด็กเรียบร้อย ถ้าลูกได้เรียนแผนนี้จะได้รับโอกาสมากกว่า สังคมดีกว่าแผนการเรียนอื่น อันนี้เป็นเรื่องของความเชื่อ ที่มีส่วนผสมของความจริงอยู่บ้าง แต่...ไม่ใช่ทั้งหมด เด็กเก่ง ๆ มากมายที่เรียนแผนการเรียนอื่น แผนวิทย์อาจจะเรียนยากและต้องการเด็กเก่ง แต่เด็กเก่งทุกคนก็ไม่ได้ชอบวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์  ทุกคนสามารถเก่งและโลดแล่นในอนาคตของเขาได้ บนพื้นฐานความชอบ ความรัก และความเป็นตัวตน  

 

เลือกแผนผิด...แต่ไม่ยอมให้ผิดแผน ทำอย่างไร

          กรณีที่น้องค้นพบตัวเองและค้นหาจนเจอเป้าหมายในการเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว แต่ปรากฏว่าตอน ม.4 เลือกแผนการเรียนที่ไม่สอดคล้องกับคณะที่อยากเข้า เราจะทำอย่างไร ถ้าเลือกแผนผิดไปแล้ว แต่ยังต้องการให้แผนการศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเป็นไปตามแผน พี่นัทมีเทคนิคมาฝาก ดังนี้

 

เตรียมการอพยพ

          หากใครรู้ตัวแล้วว่า มาอยู่ผิดทิศ ผิดที่ ผิดทาง ต้องเตรียมการอพยพหาที่อยู่ใหม่ เช่น เรียนแผนวิทย์ – คณิต แต่เกรดกลุ่มวิทยาศาสตร์ ได้ 0 สลับกับ 1 คณิตศาสตร์ยังต้องสอบแก้ตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า แบบนี้ถ้าจะต้องไปเรียนต่อคณะที่ต้องใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์อาจไปไม่รอด ตกม้าตายในระดับอุดมศึกษา ดังนั้นต้องวางแผนตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดคณะ/สาขาต่าง ๆ เพื่อหาลู่ทางเข้ามหาวิทยาลัยโดยเลี่ยงใช้วิชาที่เป็นจุดอ่อนของเรา

 

ยอมรับ ปรับสภาพ ปราบจุดอ่อน

          ไม่ได้เรียนในสิ่งที่รัก ก็ต้องรักในสิ่งที่เรียน ซึ่งอาจจะส่งผลให้น้อง ๆ ไม่ได้เป็นในสิ่งที่รัก ก็ต้องยอมรัก ในสิ่งที่ได้เป็น ไม่มีใครได้ทุกอย่างดั่งใจหวัง แต่ก็ไม่ใช่ว่าถ้าไม่สมใจหวังแล้ว จะต้องแปลว่าผิดหวังเสมอไป ถ้าเรายอมรับ ปรับตัว ปรับใจได้ และใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งนั้นได้ อย่างมีความสุข ค่อย ๆ ซ่อมแซมตัวเองในรายวิชาที่อาการหนัก แสนสาหัส ไม่ให้บานปลายกลายเป็นเนื้อร้ายในการเข้ามหาวิทยาลัย ค่อย ๆ เสริมเติมความรู้ อาจจะไม่ได้อยู่ในแผนการเรียนของเรา แต่เราสามารถเรียนเพิ่มได้ เช่น เด็กวิทย์หลายคน มารู้ตัวทีหลังว่าเรียนวิทย์ไม่ไหว ก็จะแบ่งเวลาไปเรียนพิเศษภาษาต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น แล้วไปใช้สอบ PAT 7 เพื่อใช้คะแนนยื่นเข้าคณะอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คณะด้านวิทยาศาสตร์

 

แผนการเรียนไหน เลือกเรียนอะไรได้บ้าง

          ปัจจุบันการเลือกคณะในการเข้ามหาวิทยาลัยเปิดกว้างและปลดล็อกจากแผนการเรียนมากขึ้น การเลือกสาขาต่าง ๆ จึงไม่ได้เลือกจากแผนการเรียน แต่เลือกจากคณะที่น้องอยากเข้า อยากเข้าคณะอะไร ก็ต้องมีคะแนนสอบที่เป็นองค์ประกอบของคณะนั้นครบถ้วน ส่วนแผนการเรียนจะไปปรากฏอยู่ในคุณสมบัติเพิ่มเติม ที่บางคณะระบุไว้ว่ารับเฉพาะแผนการเรียนนี้เท่านั้น

 

          การวางแผนที่ดี เป็นหัวใจแห่งความสำเร็จในการเข้ามหาวิทยาลัย แต่การเลือกผิดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดทุกช่วงของชีวิต ดังนั้นนอกจากมีการวางแผนที่ดีแล้ว ต้องรู้จักปรับแผนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงด้วย

 

          การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งผิด แต่สิ่งที่ผิดคือการไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ต่างหาก   

 

พี่นัท นัททยา

 

TCAS SURVIVAL EP.4 เลือกแผนการเรียนอย่างไร ให้ไม่...ผิดแผน !

 

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us