Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เทคนิคการจัดระเบียบสมอง Up Speed สู่ความจำที่ดี ความเข้าใจที่ไว

  Favorite

“สมอง” ถือว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในการเรียนและการสอบ เพราะจะอ่านเนื้อหาเข้าใจหรือไม่ จำสิ่งที่อ่านได้มากน้อยแค่ไหน คิดวิเคราะห์ คำนวณแก้โจทย์ได้ถูกต้องไหม ทั้งหมดนี้เป็นภาระหน้าที่ของสมอง  ดังนั้นก่อนจะใช้งานสมองอย่างหนักหนาสาหัส ควรทำความรู้จักการทำงานของสมองกันคร่าว ๆ ก่อน จากนั้นเราจะเริ่มลงมือจัดระเบียบสมองเพื่อให้มีการประมวลผลที่เร็วขึ้น และทำให้การเรียนมีประสิทธิ์ภาพขึ้น  

 

 

การทำงานของสมอง

          สมองทำงานเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ บนโลกโดยอาศัยประสาทสัมผัส การตีความ และการคัดเลือกข้อมูลที่มีความสำคัญเก็บไว้ เพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่เมื่อต้องการ

          ระบบความจำของสมองมีทั้งความจำระยะสั้น และความจำระยะยาว โดยทั่วไปคนเรามักจะใช้บริการความจำระยะสั้นเป็นส่วนใหญ่ นำไปใช้งานเฉพาะเรื่อง แต่ถ้าต้องการใช้ความจำระยะยาวก็ต้องท่องจำหรือใช้บ่อยจนจำได้ขึ้นใจ เพราะข้อมูลที่ผ่านการใช้บ่อย ๆ จะทำให้สมองคิดว่าสำคัญ และจะถูกส่งไปเก็บในคลังความจำระยะยาว แล้วนำมาใช้ใหม่ได้เมื่อเรียกหา

          ประเด็นสำคัญคือ ต้องไม่ลืมว่าในแต่ละวัน เราต้องพบกับข้อมูลข่าวสารมากมาย ทั้งข้อมูลจากการสอนของครูในโรงเรียน ติวเตอร์สอนพิเศษ โซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ โทรทัศน์ ฯลฯ ข้อมูลที่ถาโถมเข้ามาขนาดนี้ สมองจึงต้องเลือกจำสิ่งที่จิตใจรู้สึกว่ามีความหมาย สิ่งใดที่ใจไม่ให้ความหมาย สมองก็ไม่ให้ความจำ ดังนั้นต้องให้ความหมายต่อสิ่งที่อ่านเพื่อกระตุ้นให้สมองจดจำ และสิ่งที่ช่วยสมองในการจำคือ การจัดระเบียบสมองนั่นเอง

 

การจัดระเบียบสมอง

ขั้นแรก
          คุมการหลับและการตื่นให้เป็นเวลา ฝึกบังคับจิตติดต่อกันให้ได้ประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นไม่ต้องบังคับเพราะสมองจะทำงานเองโดยอัตโนมัติ วิธีนี้จะเป็นการจัดระบบสมองได้อย่างดีเยี่ยม และจะรู้สึกว่าสมองมีพลังในการรับรู้ได้ดีด้วย

 

ขั้นที่สอง
          ควบคุมการอ่านหนังสือให้สม่ำเสมอในเวลาเดียวกันทุกวัน  ไม่หยุด ไม่ลา ไม่สาย ความต่อเนื่องเช่นนี้จะช่วยทำให้สมองเตรียมพร้อมรับข้อมูล พอถึงเวลานัดหมายสมองจะเปิด พร้อมรับ อยากใส่อะไร ก็ใส่เข้ามา ไม่ต้องยั้ง รับได้ทุกอย่าง 

 

ขั้นที่สาม
          ทบทวนเขียนสรุปทุกวัน ฝึกให้สมองผ่านกระบวนการคิดย้อนศร หวนรำลึกว่าที่ใส่ ๆ โยน ๆ เข้ามา เก็บไว้ที่ไหน จัดไว้เป็นระเบียบหรือไม่ เก็บลึกไปเรียกใช้ลำบาก หรือเก็บตื้นเกินไป ก็อาจตกหล่นได้ตามรายทาง ทบทวนเพื่อทบต้นทบดอกความรู้ให้ขยายวงกว้างขึ้น

 

ขั้นที่สี่
          ก่อนนอนให้นั่งสมาธิประมาณ 5 นาที พอรู้สึกนิ่งให้นึกถึงสิ่งที่ได้สรุปไว้ ถ้านึกไม่ออกแปลว่าตอนอ่านสมาธิยังไม่ดีพอ ต้องลงโทษห้ามนอน ! แล้วรีบลุกขึ้นไปหยิบหนังสือบทนั้นมาอ่านทบทวนใหม่ แล้วปิดตำรานั่งสมาธินึกจนกว่าจะนึกได้ แล้วค่อยทิ้งตัวลงนอน

          พอตื่นเช้าก่อนลุกไปล้างหน้าแปรงฟัน ทำสมาธิต่อ แต่ทำตอนนี้ต้องระวัง ไม่ใช่สมาธิดิ่งมาก นิ่งจนถึงขั้นวูบหลับไปต่อ การทำสมาธิยามเช้าทำเพื่อให้จิตตื่น ไม่ใช่ให้จิตหลับ เมื่อจิตถูกควบคุมดูแลจัดระเบียบให้เป็นระบบแล้ว ความจำก็จะสดใสขึ้นมาทันที จะคิดจะค้นจะท่องอะไรก็จำได้

 

          ไม่มีใครในโลกนี้ที่มีสมองเหมือนกัน ดังนั้นสมองคือสิ่งเฉพาะตัวที่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก สมองสามารถเรียนรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ทั้งทักษะและตรรกะได้ตลอดทุกวินาที แต่สมองยังมีพื้นที่อีกมากมายที่จะรับสิ่งใหม่เพิ่มเติม มาจัดเก็บไว้อย่างไม่มีขีดจำกัด ดังนั้นไม่ต้องกลัวหน่วยความจำเต็ม ไม่ต้องอัพเกรดเพิ่มแรม เพราะสมองมีพลังล้ำลึกกว่าคอมพิวเตอร์ทุกรุ่นในโลก สมองทำงานได้เองโดยไม่ต้องกด Enter และไม่มีใครสามารถเป็น Hacker มาขโมยข้อมูลจากสมองของเราได้

          ถ้าน้อง ๆ ฝึกจัดระเบียบสมองได้สำเร็จ Up Speed สู่แรมความจำที่ดี ประมวลผลความเข้าใจที่ไว ตอบสนองข้อมูลได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ เส้นทางการเรียน การสอบ และการเข้ามหาวิทยาลัย จะไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป ความฝันในวันนี้ คือความจริงในวันข้างหน้า

 

พี่นัท นัททยา

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us