สวัสดีทุกคน! ที่เข้ามาอ่านครับ ขอแนะนำตัวก่อน พี่ชื่อ "ปอนด์" ตอนนี้สอบติด สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ TCAS 62 เรียบร้อยแล้ว ดีใจมากที่ได้ เพราะคะแนนแอดมิชชั่นสำหรับพี่ได้น้อย 5555555 รู้สึกว่าตัวเองทำข้อสอบ สอบตรงได้ดีกว่า เข้าหัวมากกว่า ชอบติดตามข่าวสารเหตุการณ์ปัจจุบันแล้ววิเคราะห์ตามไปด้วย
วันนี้อยากมา รีวิว และวิเคราะห์การสอบตรง TCAS รอบ 3 คณะรัฐศาสตร์ (วิชาเฉพาะ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าเนื้อหา รูปแบบ และคำถามของข้อสอบเป็นอย่างไร ระเบียบการของคณะ ช่วงเวลาสมัคร สอบ คุณสมบัติ และเกณฑ์การคัดเลือกมีอะไรบ้าง ประกอบกับการเตรียมตัวสอบตรง รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มาแชร์ประสบการณ์ให้ฟังสำหรับน้องม. 6 ให้ประสบความสำเร็จเป็นจริงให้ได้ครับ สู้ ๆ ! มาเริ่มกันเลย !
การสอบตรงในปีนี้ ข้อสอบเปลี่ยนรูปแบบหมดทุกอย่าง ผิดกับสไตล์ในทุก ๆ ปีที่ผ่านมาเลย เพราะข้อสอบปรนัยจากปีที่แล้ว ปรับลดจำนวนข้อเหลือ 80 แบ่งเป็น 4 พาร์ทใหญ่ ๆ คือ ความรู้พื้นฐานทางรัฐศาสตร์ทั้ง การเมืองการปกครอง บริหารรัฐกิจ การระหว่างประเทศ และข้อมูลมหาวิทยาลัยแล้ว จะมีอัพเดตข่าวเหตุการณ์ปัจจุบันสอดแทรกไปในนั้น
แต่ในปี 62 นี้ ข้อสอบปรนัยมีเพียง 60 ข้อ! และไม่แบ่งเป็นพาร์ทให้เห็นชัดเจนเหมือนปีที่แล้ว แต่จะเป็นในทางผสมกัน เอาข่าวเหตุการณ์ปัจจุบันรอบโลก Globalization มาเป็นประเด็นในคำถามแล้วให้เราวิเคราะห์ว่าข่าวนี้อยู่บนพื้นฐานรัฐศาสตร์ในสาขาอะไร เพราะฉะนั้น“ การอัพเดตข่าวสาร ”เป็นหัวใจสำคัญของการทำข้อสอบปรนัยในปีนี้เลยก็ว่าได้ ส่วนข้อมูลความรู้พื้นฐานทางรัฐศาสตร์ที่อ่านจำกัน ก็ยังจำเป็นที่ต้องรู้อยู่เป็นทุนเพื่อเพิ่มความเข้าใจในการทำข้อสอบมากยิ่งขึ้น เนื้อหาข้อสอบส่วนใหญ่จะถามไปในทางสาขาการระหว่างประเทศ บริหารัฐกิจ และ อาเซียน
ผิดความคาดหมายในปี 62 นี้มาก ซึ่งจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และเรื่องการเมืองที่เข้มข้นสุด ๆ พาร์ทสาขาการเมืองการปกครองกลับออกน้อยกว่าเพื่อนเลย มีถามเช่น เรียงลำดับนายกใครมาก่อน หลัง ให้ถูกต้อง และ ผู้ว่าคนไหนมาจากการเลือกตั้ง? เป็นต้น แล้วก็จะมีถามอัพเดตข่าวสารเหตุการณ์ซึ่งต้องรู้ ยกตัวอย่าง สำนักงานใหญ่หัวเหว่ยที่มาตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ประเทศอะไร? ตราบัวแก้วคืออะไร? และเหตุการณ์ฮาคีม น้องต้องมองภาพให้มันกว้าง ๆ มากกว่าการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร มองให้เป็นหลักรัฐศาสตร์ เราได้อะไร เราเสียอะไร มีเหตุผล เพราะอะไร
ทั้งหมดนี้พี่วิเคราะห์จากประสบการณ์ที่ได้สอบมาในปี 62 นี้ น่าจะเป็นแนวทาง โครงเนื้อหาของข้อสอบที่น้องต้องรู้ ยืดหยุ่นในการรับรู้ข้อมูล คิดวิเคราะห์ศึกษาดูอย่างรอบคอบครับ
ปีนี้มีคำถามเพียงแค่ 1 ข้อ ในสาขาปกครอง คำถามในปีนี้คือ
“จงอธิบาย จุดแข็ง จุดอ่อน ของรัฐธรรมนูญปี 2560”
หลังจากที่ได้อ่านคำถามเสร็จ สิ่งที่แพลนไว้ในหัวก่อนที่จะเริ่มลงมือเขียนเลยก็คือต้องมอง รัฐธรรมนูญ 60 เป็นหัวใหญ่ของเรื่องว่าเกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์อะไร? เพื่อใคร? แล้วแยกออกมาเป็น 2 หัวย่อยว่า “ จุดแข็ง “ สำหรับใคร? แล้วอะไร? และ เป็น ” จุดอ่อน “ สำหรับใคร? แล้วอะไร? ต้องมองทุกประเด็นอย่างมีเหตุผล และ ที่มาของมันแล้วจึงสามารถมองต่อไปว่าทั้งหมดนี้มันมีจุดประสงค์เพื่ออะไร โดยที่กล่าวมาต้องตอบอยู่บนหัวข้อคำถามที่ถาม เพราะตัวคำถามต้องการข้อมูลจากเรา ซึ่งหมายความว่า ต้องมีคำตอบต่อการเขียนเรียงความในแบบที่มีข้อมูลอ้างอิง แหล่งที่มา มีเหตุผล แยกประเด็นชัดเจน ของคำถามที่ถามเรา เพื่อให้สอดคล้องกับการตอบแบบตรงคำถาม เนื้อหาเชื่อมโยงกันตลอด ไม่เขียนตอบไปในคนละเรื่อง โดยอยู่บนพื้นฐานของโครงสร้างหลักการเขียนเรียงความที่ถูกต้องด้วย มีคำนำ เนื้อเรื่อง สรุป ใช้คำสละสลวย อ่านง่าย สะอาด ไม่มีลอยลบคำผิดบ่อยจนเกินไป แล้วตบท้ายด้วยการอ้างอิงหลักการประชาธิปไตย หรือ คำพูดของนักรัฐศาสตร์ สักคนหนึ่ง ที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ของคำถามเพื่อให้เห็นภาพเชิงเปรียบเทียบ หรือ ข้อคิด ก็ยิ่งป็นการเพิ่มคะแนนให้พาร์ทเรียงความของเรามีหลักการ เหตุผล ข้อมูล เรียบเรียงถูกต้อง ตอบตรงคำถาม (ตรงประเด็น) สมบูรณ์แบบในการเขียนเรียงความมากยิ่งขึ้น
เปิดรับสมัครสอบวิชาเฉพาะ ประมาณวันที่ 14 ม.ค. – 26 ก.พ. 62
ปีถัดไปอาจมีการเปลี่ยนแปลงช่วงเวลา โปรดเช็คดูให้ละเอียด https://www.tuadmissions.in.th
ค่าสมัคร 600 บาท
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สอบ
1. จบ ม. 6
2. เกรดเฉลี่ยรวม 6 เทอม วิชาสังคมศึกษา และ ภาษาอังกฤษ ไม่ต่ำกว่า 2.50
3. เกรดเฉลี่ยรวม 6 เทอม ไม่ต่ำกว่า 2.75
เกณฑ์การคัดเลือก TCAS รอบ 3 คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ สำหรับปี 2562
*ปีต่อ ๆ เปลี่ยนเกณฑ์อาจมีเปลี่ยนแปลง น้อง ๆ ติดตามเกณฑ์การคัดเลือกได้ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัย
ในปี 62 ของพี่มี 2 วิชา คือ
1. วิชาความถนัดเฉพาะทางรัฐศาสตร์
2. วิชาเรียงความ (ทางคณะจะตรวจวิชาเรียงความต่อเมื่อวิชาความถนัดเฉพาะทางรัฐศาสตร์ที่มีคะแนนสูงสุด 120 อันดับแรกเท่านั้น จึงสามารถดูคะแนนทั้ง 2 วิชาเพื่อนำไปยื่นในรอบ 3 ของเว็บทปอ.ได้ครับ)
หลังจากยื่น TCAS รอบ 3 ที่เว็บทปอ.ไปแล้วจะ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ อีกที
สอบสัมภาษณ์
ตอนพี่ไปสอบสัมภาษณ์เจออ.ประจักษ์ (ถ้าใครติดตามทวิตเตอร์อาจารย์ จะรู้ความเคลื่อนไหวของสังคมการเมือง ได้ความรู้ในแบบข้อมูลวิชาการ) แต่ตอนเจออาจารย์ ส่วนใหญ่ถามแต่เรื่องตัวเราเอง ครอบครัว ชีวิตเป็นยังไง ไม่มีหลุดการเมือง มีแต่เราพูดเอง55555 มีแอบอ้างเล็กน้อย แต่ก็ไม่ซีเรียสมากนะ เหมือนเราคิดไปเองมากกว่า ได้คุยกับอาจารย์แกแล้วดูสบาย ๆ มีอิสระพูดได้เต็มที่ อาจารย์เขาก็รับฟังอย่างดีเลย ตบท้ายด้วยการพูดกับเราว่า “โอเค เจอกันในคลาสนะ“ ก็จบ คิดในใจ “ได้เรียนที่นี่แน่นอนเว้ยเห้ย!! ดีจุยสุด“
ทุกวันพี่จะเปิดข่าวดูทีวี เปิดดูเพจข่าวออนไลน์ เช่น The matter, The standard, iLaw, มติชนสุดสัปดาห์, BBC ไทย เป็นต้น และเทรนด์ในทวิตเตอร์ จากนั้นจะไปจดในสมุดบันทึกไว้ เป็นสรุปต่อการอ่านได้ง่ายเพื่อแพลนไว้ว่าต้องอ่าน ต้องทำอะไรบ้าง คือดู รับรู้ ข้อมูลข่าวสาร แล้วมาบันทึกเก็บข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ สรุปเนื้อหา ประเด็นที่เราสำรวจมา และ ก็ต้องศึกษา ค้นคว้า หาข้อมูล อัพเดตข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา
- คู่มือเตรียมตัวสอบตรง คณะรัฐศาสตร์ (ครูพี่ทาร์ม เล่มดำ) เป็นเล่มแรกที่ซื้อมาอ่านเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ มีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทางรัฐศาสตร์ทั้ง 3 สาขา คือ การเมืองการปกครอง บริหารรัฐกิจ และ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตอนท้ายของหนังสือมีแนวข้อสอบตรงจริงให้น้อง ๆ ลองทดสอบความรู้ด้วย เป็นหนังสือที่บอกต่อ ๆ กันมาว่า ใครที่จะสอบตรงต้องมีเล่มนี้ทุกคน!
- หนังสือค่ายเปิดถ้ำสิงห์ (คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์) ได้มาจากค่ายเปิดถ้ำสิงห์ (ค่ายนี้แนะนำต้องหาโอกาสเข้าสำหรับคนอยากเข้าสอบตรง ห้ามพลาด!) เป็นค่ายติวเนื้อหาความรู้พื้นฐานทางรัฐศาสตร์จากหนังสือที่รุ่นพี่เขาได้ทำ และ ติวข่าวเหตุการณ์ปัจจุบัน ฯ สรุปให้เราอ่าน อื่น ๆ อีกมากมาย บอกเลยว่าคุ้มทั้งหนังสือ และ ค่าย
- ค่ายนักรัฐศาสตร์รุ่นเยาว์ YPSC อันนี้เป็นค่ายแนะแนวคณะ ค่ายดีงามมาก แนะนำอีกอัน ต้องหาโอกาสเข้าเหมือนกัน แนะนำ ๆ
- สรุปสังคม ม.ปลาย By KRU P’BALL เล่มนี้หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป เป็นสรุปเนื้อหาวิชาสังคมตอน ม.ปลาย เล่มนี้ซื้อมาอ่านไว้สอบโอเน็ต วิชาสามัญ แต่เนื้อหาก็ครอบคลุมไปถึงรัฐศาสตร์เอาไว้อ่านเสริมความรู้ไว้
- หนังสือ และ ชีท ม.ราม อันนี้พี่ว่าช่วยได้มาก เพราะเนื้อหาวิชารัฐศาสตร์ในหนังสือ และ ชีทราม สอดคล้องกับเนื้อหาข้อสอบตรง แนะนำพวกวิชาที่ไว้ใช้สอบตรง อย่างที่พี่ซื้อมาอ่านเช่น การเมืองการปกครองไทย การบริหารรัฐกิจเบื้องต้น การเมืองระหว่างประเทศ( อันนี้เชิงอัพเดตเหตุการณ์รอบโลก ) หลักรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง แล้วชีทก็อ่านเสริมเพื่อให้รู้แนวทางข้อสอบมากขึ้น
เพิ่มเติม อันนี้คือหนังสือที่พี่ซื้อมาอ่านจากความสนใจ ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับ
เรื่องรัฐศาสตร์ การเมืองการปกครองที่ตนเองอยากเข้า
ทำให้รู้สึกพึงพอใจทั้งตนเอง และ หนังสือ
สุดท้าย นี้อยากให้ทุกคนที่ได้อ่านบทความนี้จนจบ รู้สึกว่าตัวเรา ที่เป็นอยู่ตอนนี้ที่ทำอะไรซักอย่างหนึ่งแล้วมีความสุข ให้ลองเอาความสุขที่เราได้ทำซักอย่างหนึ่งมาปรับกับการเรียน แล้วเราจะพบว่าตัวเรามีความสามารถในการเรียนด้านไหน จุดนี้จะเป็นเหมือนตัวตนของเรา แล้วมันจะเป็นแรงผลักดันให้เรามีไฟ มีกำลังใจ มีความสุขที่ได้ทำ โดยที่คนอื่นเขาจะมองเรายังไงสุดท้ายแล้วตัวเรามีความสุขที่ได้ทำ ก็จะไม่มีวันทำลายในสิ่งที่เรารักได้แน่นอน พี่ปอนด์ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ม. 6 และ น้องรุ่นต่อ ๆ ไปที่มุ่งมั่น อยากทำตามความฝันของตัวเองให้สำเร็จด้วยครับ แล้วเจอกันครับ :D #สิงห์แดง #รัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ สงสัยอยากรู้อะไรแอดมาคุยกันได้นะ