Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
[รีวิว] การเมืองและการระหว่างประเทศ ภาคภาษาอังกฤษ รัฐศาสตร์ มธ.

  Favorite

อีกหนึ่งสาขายอดฮิตของคณะรัฐศาสตร์ นั้นก็คือ สาขา IR ซึ่งย่อมาจาก International Relations หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วันนี้ “พี่กิ่ง” กิ่งกาญจน์ บัวผัน ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการเมืองและการระหว่างประเทศ (ภาคภาษาอังกฤษ) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาเจาะลึกในสาขา IR ให้พวกเราได้รู้จักกันมากขึ้นค่ะ
 


แรงบันดาลใจในการเลือกเรียนสาขานี้

เริ่มรู้ตัวว่าอยากเข้าตอน ม. 4 จริง ๆ แล้วต้องย้อนกลับไปเล่าตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ เลย มันเริ่มมาจากการที่เราเรียนภาษาอังกฤษที่นึงมาตั้งแต่ ป. 6 ที่ ครูเอานิตยสาร “Time magazine” มาสอน เกี่ยวกับพวกข่าวการเมือง ข่าวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเราเรียนต่อเนื่องกันมาตลอด ทำให้เราได้เริ่มซึมซับเรื่องพวกนี้มากขึ้น แต่ว่าตอน ม.ต้น เราเรียนสายวิทย์-คณิต เราก็เลยลังเลระหว่างไปสายวิทย์-คณิตเลยหรือจะไปสายที่เกี่ยวกับต่างประเทศ เพราะเราอยากเรียนอะไรที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พอมาถึงตอน ม.ปลาย บังเอิญห้องวิทย์-คณิตเต็มเลยได้ไปเรียนศิลป์-คำนวณ เราก็สองจิตสองใจมาเรื่อย ๆ แต่เป็นเพราะช่วง ม.ปลาย เนี่ยแหละที่ได้เรียนสายสังคมเยอะมากและเราได้รู้จักสาย IR และทำให้เราตัดสินใจได้ว่านี่แหละที่เหมาะกับเรา

 

ค่าย “ถ้ำสิงห์” รัฐศาสตร์ มธ.

เคยไปค่าย “ถ้ำสิงห์” ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ ตอน ม. 5 ได้รู้ว่าการเรียนมีวิชาแบบไหนบ้าง รู้ว่าจบไปแล้วทำอะไรได้บ้าง ค่ายนี้บอกให้เรารู้ว่าถ้าเรียนสายไหนจบไปทำอะไร แนะนำเรื่องอาจารย์ทำนองว่า มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านทั้งด้านการต่างประเทศ หรือ HR บางทีก็เชิญแขกพิเศษจาก UN หรือองค์กรต่างๆมาสอนด้วย

 


การเรียนแต่ละชั้นปี

ภาคไทยคือจะแยกสายตั้งแต่ปี 1 เลย ยกตัวอย่างเช่นเรียนสายปกครอง สายบริหารรัฐกิจ หรือสาย IR ผู้เรียนต้องเลือกมาอยู่แล้วว่าอยากไปในทางไหน ส่วนของภาคอินเตอร์จะออกเป็นแนวนักการทูต กระทรวงต่างประเทศมากกว่า

 

สำหรับภาพรวมของภาคอินเตอร์ ในปี 1 ทุกคนจะเรียนเหมือนกันทั้งหมด นั่นก็คือเรียน IR เหมือนกันหมด เพราะถือว่าเป็นพื้นฐานของทุกสาขาที่จะเรียนต่อในช่วงปี 2 พอถึงเวลาปี 2 เทอม 2 เราถึงจะต้องเลือกสายเพิ่ม เรียกได้ว่าเป็นวิชาโทของเราก็ได้ ซึ่งจะมีให้เลือกได้แก่ Governance and Transnational Studies (กลุ่มวิชา โลกาภิบาลและประเด็นข้ามชาติ), Public Administration and Public Policy (กลุ่มวิชา บริหารรัฐกิจและกิจการสาธารณะ), Political Economy and International Political Economy (  กลุ่มวิชา เศรษฐกิจการเมืองและเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ)

 

วิชาเรียนปี 1 จะเรียนวิชาของมหาวิทลัยซึ่งทุกคณะเรียนเหมือนกันทั้งหมด มีทั้งหมดประมาณ 5 – 6 ตัวเป็นวิชาบังคับของมหาวิทยาลัย วิชาคณะมีเรียนแค่เทอมละตัวสองตัวเท่านั้นในปีแรก คือ international political science ซึ่งเป็นวิชาเบื้องต้นของรัฐศาสตร์ เรียนเป็นทฤษฎี เรียนพวก “actor” หรือคนที่มีบทบาทในด้านนั้น ๆ ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น non-state actor ตัวแทนที่ไม่ใช่รัฐ เช่นพวกบริษัทข้ามชาติ กลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ และ state-actor คือพวกรัฐ ใครทำอะไรบ้าง มีบทบาทหน้าที่อย่างไร

 

ปี 2 เทอม 1 เรายังไม่ได้เลือกสาย แต่จะมีวิชาเรียนที่เกี่ยวข้อง เช่น administrative laws เรียนกฏหมาย, philosophical เรียนพวกปรัชญา, วิชาการทูตต่าง ๆ การแก้ไขปัญหาทางการทูต หรือ diplomacy issues ซึ่งวิชาเทอมหนึ่งเหล่านี้เป็นเหมือนการเรียนพื้นฐานของแต่ละ minor หรือวิชาโท เพื่อให้เราเลือกตอนเทอมสองว่าเราจะไปทางไหน ส่วนเทอม 2 คือเลือก minor สำหรับเรา เราเลือก international political economy ตัวอย่างวิชาก็อย่างเช่น Political Economy in South East Asia เรียนแบบเจาะจงไปเลย ตอนนี้ก็จะแยกกันเรียนตามสายที่ตัวเองเลือกแล้ว แต่ก็ยังมีวิชาคณะที่เราต้องเรียนด้วยกันอยู่บ้าง

 

ปี 3 ก็จะมีวิชาเช่น Micro and Macro Theory for Political and Economic Policies เป็นทฤษฏีของด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง, Economic and International Politics เรียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ เรียนพวกข่าวการเมืองว่ามันกระทบกับเศรษฐกิจการเมืองของประเทศเรายังไง หรือ การตอบสนองของประเทศเราที่เกิดขึ้นควรเป็นยังไง ก่อนที่ลงลึกไปใน สถานการณ์ต่าง ๆ พูดง่าย ๆ คือเราจะได้เรียนเรื่องของทฤษฎีก่อนจะเจาะลึกเข้าไปเป็นการประยุกต์ใช้

 

ปี 4 วิชาที่เรียนด้วยกันจะหมดแล้ว เหลือแต่วิชาสายของเรา จะเป็นการเรียนเจาะลึกมากขึ้น เช่นการเรียนเจาะลึกประเทศจีน ทั้งประวัติศาสตร์ นโยบายต่างประเทศ เศรษฐกิจ กฎหมาย
 

 


สิ่งที่ชอบที่สุดในการเรียน

ชอบ International Political Economy มากเพราะว่าเราจะได้รู้ว่าแต่ละเหตุการณ์ มีวิธีแก้ไขยังไงการตอบสนองที่เป็นไปได้ของประเทศของเราควรเป็นยังไง การเรียนสิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้ว่ามันไม่ใช่แค่เศรษฐกิจหรือการเมืองเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งที่ส่งกระทบกับประเทศของเรา แต่คือทั้งสองปัจจัยต่างหาก ปัญหามาควบคู่กันเสมอ ถ้าการเมืองแย่เศรษฐกิจก็แย่ ถ้าเราอยากมีเศรษฐกิจดีก็ต้องมีการเมืองที่ดี

 

สิ่งที่คิดว่ายากที่สุดในการเรียน

น่าจะเป็นการทำงานร่วมกับเพื่อน เรื่องการแบ่งเวลา เพราะเราต้องทำงานขายของตั้งแต่ปี 1 ต้องจัดการเวลาให้ดีมาก ไม่งั้นมันก็จะพังทั้งคู่

 

การแบ่งเวลา

ตอนมัธยมจะหาที่เรียนพิเศษเอามากกว่า เพราะ IR มันกว้างมากไม่แน่ใจว่าจะอ่านอะไร ที่เรียนพิเศษจะแนะนำให้เราตามข่าวอ่านข่าว เราไปเรียนที่เรียนพิเศษประมาณสามสี่ที่แค่สำหรับรัฐศาสตร์อย่างเดียว ติวเตอร์ที่แนะนำ BMIR THE CURVE, อาจารย์เล็ก และพี่แนททิว

 

ส่วนตอนมหาวิทยาลัยจะพยายามเรียนในห้องให้มากที่สุด ถ้ารู้ว่าคาบไหนง่วงจะอัดเสียงเอาไว้ ถ้ากลับมาบ้านแล้วจะต้องฟังและเลคเชอร์ตามเสียงเลยในวันนั้นไม่งั้นจะดินพอกหางหมู แต่ละอาทิตย์จะมีหนังสือมาให้อ่านเกือบทุกครั้ง พยายามอ่านหนังสือก่อนแล้วค่อยไปเรียนในห้องจะได้เข้าใจมากขึ้น พอเปิดเรียนไปสักพัก เราจะเริ่มอ่านหนังสือไว้เพื่อสอบมิดเทอมหรือไฟนอลเพราะคณะเราอ่านหนังสือเยอะมาก

 

แผนการอ่านหนังสือ

อ่านข่าวเยอะ ๆ เลย เช่นพวกข่าวของ CNN, BBC, Voice TV, South China Morning Post, The Guardian  เน้นคอลั่มข่าวระหว่างประเทศ เราเองอ่านมาสองสามปี แทบทุกวัน เราปริ้นมาอ่านไฮไลท์เองจากข่าวเอา
 

 


การฝึกงานที่ผ่านมา

เคยไปทำงานของ “Lead Business” ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับ HR หน้าที่เราคือสร้างสรรค์สูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาคนในองค์กร คิดสูตรการเรียนเพื่อพัฒนาคนในองค์กรของเขา เอาปัญหาต่าง ๆ ของเขามาแนะนำให้เขาไปพัฒนา อย่างเช่น ปัญหาคนในองค์กรไม่มีความรักองค์กร เราก็ต้องมาดูปัญหาว่าทำไมพวกเขาไม่รักองค์กร และเราต้องออกแบบสูตรให้เค้ารู้สึกรักองค์กรขึ้น เช่นการทำเวิคชอปหรือเล่นเกมต่าง ๆ IR มี วิชาตัวนึงชื่อ “Human resource” ก็ตรงกับทางนี้มาก เราก็ได้นำความรู้มาใช้

 

นอกจากนั้นเราก็ได้มีโอกาสไปฝึกงานที่เซียงไฮ้ ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ส่วนมากในคณะของเราจะไปทำงานต่างประเทศกัน งานที่ทำส่วนใหญ่จะเป็นกงสุล (Thai Trade) ก็จะตรงสายมาก

 

ตลาดงาน

ส่วนใหญ่ในสายเราจะสอบไปเป็นนักการทูตทำงานในกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงภาณิชย์ แต่เราคิดว่ามีการแข่งขันกันสูงมาก บางคนไปทำการตลาด ทำ HR พวกฝ่ายบุคคลก็มี


แนะนำน้อง ๆ ที่อยากเข้าศึกษาต่อ

ให้ติดตามข่าวเยอะ ๆ อย่างเราสนใจข่าวเราก็อ่านข่าวเอง หนังสืออ่านที่ติวเตอร์ให้ก็พอ เพราะอ่านข่าวไปก็มีออกเยอะเหมือนกันและมันก็เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันในเชิงปฏิบัติได้ดีกว่าอ่านแค่หนังสือในตำราด้วย จริง ๆ ความรู้มันไม่ได้อยู่ไกล แต่เราต้องเลือกที่จะค้นคว้าศึกษา พอเราชอบทำอะไรแล้วเราก็สามารถค้นคว้าได้แบบไม่เบื่อ ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับการที่เราแสวงหาจริง ๆ ค่ะ

 

ข้อมูลการสอบเข้า

สาขาวิชาการเมืองและการระหว่างประเทศ (ภาคภาษาอังกฤษ)

คณะรัฐศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

http://www.polsci.tu.ac.th

 

ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร

นักศึกษาปริญญาตรี (ชาวไทย) 476,000 บาท

 

รอบ Portfolio

คุณสมบัติ

1. ผู้สมัครต้องเป็นผู้ที่กําลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

2. มีผลคะแนนเฉลี่ย ม. 4 - ม. 6 (5 ภาคการศึกษา) ไม่ต่ำกว่า 3.75 (ในวันรับสมัครอนุญาตให้นักเรียนที่มีผลคะแนน 4 ภาคการศึกษาสมัครได้ แต่ในวันสอบสัมภาษณ์นักเรียนต้องมีผลคะแนน 5 ภาคการศึกษาที่มีผลคะแนนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.75 มาแสดง)

3. มีผลคะแนนภาษาอังกฤษอย่างใดอย่างหนึ่งโดยผลการสอบต้องไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันรับสมัครสอบ TOFEL (Internet Based Test) ไม่ต่ำกว่า 60 IELTS 5.5 หรือมีคะแนนภาษาอังกฤษเฉลี่ย 5 ภาคการศึกษาไม่ต่ำกว่า 3.50

 

เกณฑ์การคัดเลือก

1. ได้รับรางวัลแข่งขันด้านสังคมศาสตร์ระดับประเทศหรือนานาชาติ หรือ

2. เป็นตัวแทนประเทศในกิจกรรมด้านสังคมศาสตร์ระดับนานาชาติ หรือ

3. เป็นตัวแทนโรงเรียนในกิจกรรมด้านสังคมศาสตร์ระดับประเทศ หรือ

4. เป็นผู้นํากิจกรรมเพื่อสังคมหรือบําเพ็ญประโยชน์เพื่อชุมชนซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับพื้นที่

*สอบสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการ

**การพิจารณาและการตัดสินผลการคัดเลือกของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด

 

รอบรับตรงร่วมกัน

คุณสมับัติ 

1. สําเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที 6 หรือเทียบเท่า

2. มีคะแนนเฉลี่ยสะสมชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม. 4 - 5) ไม่ต่ำกว่า 2.80 หรือ

- มีผลสอบ GED อย่างต่ำเท่ากับ 2,800 คะแนนหรือ

- มีผลสอบ NEW GED อย่างต่ำเท่ากับ 600 คะแนน และคะแนนทุกวิชาต้องไม่ต่ำกว่า145 คะแนน หรือ

- มีผลสอบ IGCSE หรือ GCSE หรือ GCE ‘O’ Level, อย่างต่ำเทียบเท่า C จำนวน 5 วิชาขึ้นไป และต้องมีผลสอบ AS จำนวนอย่างน้อย 5 วิชา เกรด A-E หรือ GCE ‘A’ Level จำนวนอย่างน้อย 3 วิชา เกรด A-E หรือ

- มีผลสอบ IB ระดับ/คะแนน อย่างต่ำเท่ากับ 4 ในจํานวน 5 วิชาขึ้นไป

3. มีผลคะแนนความรู้ภาษาอังกฤษ อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยผลสอบจะต้องไม่เกิน 2 ปี นับถึงวันรับสมัครสอบ

- TOEFL มีคะแนนรวมอย่างน้อย 500คะแนน จาก PBT หรือ 60 คะแนนจาก IBT หรือ170 คะแนนจาก CBT

- IELTS มีคะแนนรวมเฉลี่ยอย่างน้อย 5.5 คะแนน

- TU GET มีคะแนนรวมอย่างน้อย 500 คะแนน

- OLD SAT มีคะแนนอย่างน้อย 50 % ในภาค Writing and critical

- NEW SAT มีคะแนนอย่างน้อย 50 % ในภาค Evidenced -Based Reading and Writing

4. มีผลคะแนนสอบวิชาเฉพาะของโครงการ BIR คณะรัฐศาสตร์

5. คุณสมบัติเฉพาะสําหรับผู้สมัครที่สําเร็จการศึกษาจากโรงรียนนานาชาติในประเทศไทยซี่งเป็นโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับการรับรองหลักสูตร จากกระทรวงศึกษาธิการ หรือสําเร็จการศึกษาจากต่างประเทศต้องยื่นใบเทียบวุฒิหรือใบรับพิจารณาเทียบวุฒิอ้างอิงตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการฯ หรือส่งใบสําคัญแสดงวุฒิการศึกษาให้คณะและมหาวิทยาลัยพิจารณา

 

* ทั้งนี้ กรณียังไม่ได้หลักฐานการเทียบวุฒิ ทางมหาวิทยาลัยจะอนุโลมการยื่นหลักฐาน หากพ้นกําหนดนี้จะถูกถอนชื่อจากทะเบียนนักศึกษา

 

เกณฑ์การคัดเลือก

1. วิชาความรู้ทั่วไปทางรัฐศาสตร์ 50% และ วิชาเรียงความ 50% ผู้ที่จะได้รับการตรวจข้อสอบวิชาเรียงความจะต้องเป็นผู้มีคะแนนวิชาความรู้ทั่วไปทางรัฐศาสตร์ 250 อันดับแรก

2. สอบสัมภาษณ์

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาตรี (BIR) 

เรื่อง : พิชญา วัชโรดมประเสริฐ

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us