เชื่อเหลือเกินว่าระยะหลังมานี้ น้อง ๆ คงได้ติดตามข่าวการเปิดหลักสูตรหรือสาขาวิชาใหม่ ๆ ในมหาวิทยาลัยหลาย ๆ แห่งกันมาบ้าง ซึ่งบางหลักสูตรบางสาขาวิชาก็มีชื่อเรียกแปลก ๆ ไม่คุ้นหู บางสาขาก็ไม่คิดไม่ฝันว่าจะกลายเป็นวิชาเรียนได้ ซึ่งการเกิดขึ้นของสาขาวิชาใหม่ ๆ เหล่านี้ก็เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป เช่นเดียวกับน้องใหม่อย่าง สาขาวิชาวิศวกรรมความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์และการพิสูจน์หลักฐาน (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่น่าจะตอบโจทย์ยุคนี้ได้เป็นอย่างดี อยากรู้แล้วใช่ไหมล่ะว่าสาขาน้องใหม่ที่เอามาฝากกันนี้มีอะไรดีมีอะไรเด็ดกันบ้าง ว่าแล้วก็ตามมาเช็คกันด่วน ๆ ได้เลยครับ
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมความปลอดภัยและการพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ) Bachelor of Engineering Program in Computer Security and Forensic Engineering (International Programme) ชื่อสาขานี้น้อง ๆ อาจไม่เคยได้ยินหรือผ่านหูผ่านตากันสักเท่าไหร่ใช่ไหมล่ะ คงไม่ใช่เรื่องแปลกครับ เพราะสาขานี้เป็นสาขาน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเป็นแห่งแรกของประเทศเราด้วย นั่นเท่ากับว่าเป็นน้องใหม่สด ๆ ซิง ๆ เปิดรับสมัครน้อง ๆ ม. 6 เข้าศึกษาต่อ ในปีการศึกษา 2562 เป็นครั้งแรก เอาล่ะ !! หลายคนเริ่มจะสงสัยแล้วใช่ไหมละว่าสาขานี้เขาเรียนกับอะไรบ้าง
วิศวกรรมความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์และการพิสูจน์หลักฐาน (หลักสูตรนานาชาติ) เรียนเกี่ยวกับการจัดการความปลอดภัยและการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์และคอมพิวเตอร์ทุกรูปแบบ รวมทั้งการสืบค้นหาหลักฐานในระบบอิเล็กทรอนิกส์ นั่นเอง
วิศวกรรมความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์และการพิสูจน์หลักฐาน เป็นหลักสูตรนานาชาติ ระดับปริญญาตรี 4 ปี โดยมีการกำหนดให้มีการเรียนในประเทศไทย จำนวน 2 ปี และเรียนที่ DMU ประเทศอังกฤษในชั้นปีที่ 3 – 4 ตามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและมหาวิทยาลัยเดอ มอนต์ฟอร์ต (De Montfort University) ประเทศอังกฤษ ซึ่งตลอดการศึกษาน้อง ๆ ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารตลอดการเรียนการสอนจนจบการศึกษา
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
INTERNATIONAL SCHOOL OF ENGINEERING, SRINAKHARINWIROT UNIVERSITY
หน่วยกิตที่เรียนตลอดหลักสูตร
จำนวน 136 หน่วยกิต
วิชาเอก/แขนงวิชา
สาขาวิชาวิศวกรรมความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์และการพิสูจน์หลักฐาน (หลักสูตรนานาชาติ)
แบ่งวิชาเอกหรือแขนงวิชาออกเป็น 2 แขนงด้วยกัน คือ
1. วิชาเอก Computer Security
2. วิชาเอก Forensic Computing
ปี 1 – 2 เรียนที่ประเทศไทย
- ภาคทฤษฎีที่ มศว.ประสานมิตร
- ภาคปฏิบัติที่ มศว. องครักษ์
- ค่าเทอม 80,000 บาท/เทอม
ปี 3 - 4 เรียนที่มหาวิทยาลัยเดอมอนต์ฟอร์ต ประเทศอังกฤษ (DMU)
- ค่าเทอมประมาณ 500,000 บาท/ปี
- ค่าใช้จ่ายส่วนตัวประมาณ 500,000 บาท ขึ้นอยู่กับค่าเงิน
น้อง ๆ นิสิตที่เรียนในสาขาวิชานี้ หลังจบการศึกษาจะได้รับสองปริญญากันเลยทีเดียว นั่นคือ ปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมความปลอดภัยและการพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และปริญญา Bachelor of Engineering (Computer Security) หรือปริญญา Bachelor of Engineering (Forensic Computing) จากมหาวิทยาลัยเดอ มอนต์ฟอร์ต
(De Montfort University) ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อกําหนดในการสําเร็จการศึกษาของแต่ละสถาบัน
1. ตำรวจด้านไอที
2. นักตรวจสอบหลักฐานทางคอมพิวเตอร์
3. ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของไอที
4. อาชีพอื่น ๆ
1. ทักษะภาษาอังกฤษ เพราะการเรียนตลอดหลักสูตรต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารทั้งหมด
2. ความรู้และทักษะเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี
วิศวกรรมความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์และการพิสูจน์หลักฐาน (หลักสูตรนานาชาติ) มศว แม้จะเป็นสาขาวิชาน้องใหม่แต่ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย เหตุผลอย่างหนึ่งคือ ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารไร้พรมแดนเข้ามามีอิทธิพลในการใช้ชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก น้อง ๆ ที่สนใจเรียนต่อในสาขาวิชานี้ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ทั้งการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และความรู้ความสามารถเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องใช้ในการเรียนอย่างแน่นอน และที่สำคัญต้องไม่ลืมที่จะศึกษารายละเอียดการรับสมัครเข้าศึกษาต่อของมหาวิทยาลัย วางแผนดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ขอให้น้อง ๆ ได้เรียนในสิ่งที่รักและสิ่งที่เลือกนะครับ อนาคตที่ดีรออยู่
คณะวิศวกรรมศาสตร์
สาขาวิชาวิศวกรรมความปลอดภัยและการพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
สำหรับน้อง ๆ ม.6 ที่สนใจเรียนต่อในสาขาวิชาวิศวกรรมความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์และการพิสูจน์หลักฐาน (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เตรียมตัวให้พร้อมได้เลย เพราะสาขาวิชานี้รับทั้งนิสิต ชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าศึกษาต่อ สำหรับคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง น้อง ๆ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย
TCAS รอบ 3 รับตรงร่วมกัน
ค่าน้ำหนักคะแนน GAT 30% | PAT 1 20% | PAT 2 20% | PAT 3 30%
TCAS รอบ 4 แอดมิชชั่น
ค่าน้ำหนักคะแนน GAT 15% | PAT 2 15% | PAT 3 20%
เรื่อง : พี่คุ่ม ภานุวัฒน์ มานพ