Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เทคนิคการจัดอันดับ TCAS รูปแบบ Admission 2

  Favorite

การเลือกคณะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดผล Admission ไม่มีกฎตายตัวว่าคนที่ได้คะแนนสูงทุกคนต้องสอบติด เพราะคนที่สอบติดอีกหลายคนก็มีคะแนนไม่สูง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดวางอันดับว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ แต่ถูกต้องไม่ได้แปลว่าจะถูกใจ ถูกใจก็ไม่ได้แปลว่าถูกต้อง ดังนั้นจะเลือกให้ถูกต้องด้วยถูกใจด้วย คงไม่ใช่เรื่องง่าย TCAS รูปแบบ Admission 2 รับกลางร่วมกัน เลือกคณะอย่างไร ให้...ดี ได้ โดน !​ ลองไปดูกัน

 

ดี : เลือกอย่างถูกต้อง 

การเลือกคณะให้ดี หมายถึงการเลือกคณะอย่างถูกต้องตามทฤษฎีการเลือกคณะและจัดวางอันดับ มีค่าสถิติประกอบการตัดสินใจ ทั้งคะแนนสูงสุดต่ำสุด อัตราแข่งขัน คะแนนเฉลี่ย มีข้อมูลประกอบรอบด้าน ทั้งข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลระบบ ตลาดแรงงาน เนื้อหาหลักสูตรที่จะสมัคร เป็นต้น  

 

ได้ : เลือกอย่างถูกทาง 

การเลือกคณะให้ได้ หมายถึงการเลือกคณะอย่างถูกทาง สามารถจัดการจัดวางอันดับลงไปแล้วหวังผลได้ มีโอกาสสอบติดสูง โอกาสผิดพลาดมีน้อย สามารถมองเห็นความน่าจะเป็นในการสอบติดชัดเจน ทำให้เห็นภาพทางเดินในอนาคตชัดขึ้นกว่าการศึกษาข้อมูลจากตัวเลขและตัวอักษร ปัจจุบันมีระบบประเมินการสอบติดมาช่วยในการวางแผนค่อนข้างมากมาย ทำให้การเลือกคณะของน้อง ๆ ถูกทิศถูกทางมากขึ้น

 

โดน : เลือกอย่างถูกใจ 

การเลือกคณะให้โดน หมายถึง เลือกคณะอย่างถูกใจ หัวใจกับความสำเร็จในการสอบติดไปในทิศทางเดียวกัน มีหลายคนเลือกคณะได้อย่างดีและสอบติด  ดีใจอยู่สองสัปดาห์ หลังจากนั้นต้องทนทุกข์ทรมานกับการเรียนที่ไม่ถูกใจ คณะที่ไม่ใช่ ดังนั้นความถูกใจสำคัญกว่าความถูกต้องและถูกทาง เพราะถ้าไม่ถูกใจแล้ว ต่อให้มีโอกาสไปต่อ ก็ไปอย่างไม่มีความสุข แต่ถ้าเป็นคณะที่ถูกใจด้วยแล้ว เราจะมีแรงขับเพื่อวางแผนเตรียมตัว ตั้งใจทำข้อสอบเพื่อให้ได้คณะที่เราชอบที่สุด

 

หลักคิดพิชิต Admission 2 รับกลางร่วมกัน ให้...ดี ได้ โดน

1. โลก 3 ใบ
2. คะแนนกับคณะ
3. อะไรควรยึด อะไรควรปล่อย
4. เข้าสูตรจัดอันดับ 

 

1. โลก 3 ใบ

การตัดสินใจเลือกคณะนั้นไม่ใช่อยู่ดี ๆ ก็เลือกได้  เราต้องรู้ล่วงหน้าแล้วว่าตนเองสนใจคณะหรือสาขาใด แต่ใช่ว่าเมื่อเวลาสมัครเลือกคณะมาถึงจริง ๆ จะสามารถเลือกตามนั้นได้ทันที เพราะการเลือกครั้งนี้ไม่ใช่แค่เลือกว่า เรามีความฝันอะไร แต่ต้องเลือกว่าเราจะมีความจริงเป็นอะไร ซึ่งน้อง ๆ สามารถตัดสินใจได้โดยการศึกษาโลก 3 ใบ ดังนี้

  

โลกใบที่ 1 โลกส่วนตัว

โลกส่วนตัวคือองค์ประกอบที่มาจากตัวและครอบครัวของเรา ถือว่าเป็นโลกที่สำคัญที่สุดที่ต้องให้ความใส่ใจ หมั่นค้นหา ตรวจสอบ วิเคราะห์ จนมั่นใจว่า เป็นคนที่รู้จักตนดีพอ ณ โลกส่วนตัวนี้มีปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาคือ

- ความสามารถทางการเรียน
- ความสามารถพิเศษ ความถนัด ทักษะเฉพาะทาง
- ความชอบ ความสนใจ กิจกรรมเสริม
- บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย
- สุขภาพ ลักษณะทางร่างกาย
- ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว
- เป้าหมายชีวิตและอาชีพในอนาคต

 

โลกใบที่ 2 โลกการศึกษา  

โลกการศึกษาจะขยับกว้างออกมาจากโลกส่วนตัวของเรา เป็นโลกที่จะต้องหาข้อมูลให้มากที่สุดเพื่อประกอบการตัดสินใจ สิ่งที่ควรต้องรู้ภายในโลกนี้คือ

- หลักสูตรการเรียนการสอน รูปแบบการศึกษา โครงสร้างเนื้อหา ของคณะและสาขาวิชาที่สนใจ
- คุณสมบัติเฉพาะของแต่ละสาขา
- ค่าใช้จ่าย ตรวจสอบให้ละเอียดว่าเป็นหลักสูตรอะไร ประมาณการค่าใช้จ่ายได้

 

โลกใบที่ 3 อาชีพ

การเลือกคณะจะมองแคบ ๆ แค่ได้เรียนในสิ่งที่รักอย่างเดียวไม่พอ ต้องมองลึกลงไปด้วยว่าสาขาที่รักนั้น สามารถส่งต่อไปยังอาชีพที่สนใจได้หรือไม่ เพราะในความเป็นจริงแล้วการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเป็นการศึกษาเพื่อนำไปประกอบอาชีพ  ดังนั้นการเลือกคณะจึงเป็นการเลือกอาชีพควบคู่ไปในตัวด้วย สิ่งที่น้อง ๆ ต้องศึกษาโลกของอาชีพ คือ

- ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับอาชีพที่สนใจว่าทำงานอย่างไร
- คุณลักษณะที่เหมาะสมสำหรับคนในอาชีพนี้
- หาทางสำรวจว่าอาชีพนั้นใช่ในความเป็นเราหรือไม่
- ความต้องการของตลาดแรงงานทั้งปัจจุบันและอนาคต

 

2. คะแนนกับคณะ

เราเปลี่ยนคะแนนตามคณะไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนคณะตามคะแนนได้ ทั้งนี้การเปลี่ยนคณะตามคะแนน ต้องไม่ใช่การปล่อยชีวิตให้ซัดเซพเนจรอย่างไร้จุดหมาย ปล่อยให้คะแนนนำทางอย่างลืมความฝัน พาเราไปติดผิดที่ผิดทาง บางครั้งการยอมสอบไม่ติด แล้วเริ่มต้นหาช่องทางการศึกษาต่อใหม่ อาจดีกว่าการปล่อยให้ชีวิตไปติดหล่มจมอยู่ในที่ที่ไม่เหมาะสม

ถ้าเราไม่สามารถสร้างความจริงจากความฝันได้  เราก็ต้องสร้างความฝัน จากความจริงแทน

 

3. รู้ว่าอะไรควรยึด อะไรควรปล่อย

          ช่วงเวลาเลือกคณะ คือช่วงเวลาที่ความฝันเป็นผู้นำทาง ความจริงเป็นผู้เดินตาม 

          แต่ช่วงเวลาทำงาน คือช่วงเวลาที่ความจริงเป็นผู้นำทาง แล้วความฝันค่อย ๆ เดินตาม

          หลาย ๆ คน ความฝันเดินตามไม่ทัน และในที่สุดความฝันก็หลงทางกับความจริง เด็ก ๆ หลายคนปล่อยให้คะแนนซัดพาเราไปติดในคณะอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ชอบและไม่ใช่ แต่แค่ได้มีที่เรียน

          ดังนั้นน้อง ๆ อย่ายึดติดในชื่อเสียงของความเป็นมหาวิทยาลัยดัง ๆ สถาบันไม่ใช่ผู้สร้างชื่อให้แก่เราทั้งหมด แต่เราต่างหากที่ต้องเข้าไปสร้างชื่อให้แก่สถาบัน เพราะบางครั้งการได้ชื่อว่าสอบติด หรือได้ติดในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ก็ใช่จะทำให้เรามีความสุขได้นาน เท่ากับการได้เรียนในสิ่งที่รัก

          หากได้เรียนในสิ่งที่รักและมหาวิทยาลัยที่หวังด้วย ผลคือ...ได้กำไร

          ถ้าได้เรียนในสิ่งที่รักอย่างเดียว ผลคือ...เท่าทุน

          แต่ถ้าได้อยู่ในมหาวิทยาลัยที่ชอบ แต่ไม่ได้เรียนในสิ่งที่รัก นั่นหมายถึง...ขาดทุน

          เราต้องรู้ว่าความฝันที่อุตส่าห์วาดไว้ตั้งหลายปีคือสิ่งที่ควรยึดมั่น ส่วนการยึดติดกับสถาบัน ถ้ายึดแล้วไม่เสียฝัน น้องยืนหนึ่งได้ ! แต่ถ้ายึดแล้วเสียฝัน จงปล่อยสถาบันทิ้งไป แล้วเก็บคณะในฝันไว้ เพื่อไปทำให้เป็นความจริงในสถาบันอื่น 

 

4. เข้าสูตรจัดอันดับ

เมื่อผ่านกระบวนการกลั่นกรองคัดสรรคณะมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว คราวนี้ถึงเวลาปฏิบัติจริง ด้วยการเข้าสูตรการจัดอันดับ ดังนี้

1. เลือกคณะให้ได้ครบถ้วน 4 อันดับ (แถมสำรองไว้ 1 - 2 อันดับ)
2. ตรวจสอบการคำนวณคะแนนตามสูตรของระบบ Admission
3. นำคณะที่เลือกไปเปรียบเทียบกับคะแนนหรือเปอร์เซ็นต์ต่ำสุดของการสอบคัดเลือกเมื่อปีที่แล้ว หรือจะเสริมความมั่นใจด้วยการเทียบจากคะแนนต่ำสุด 3 ปี ย้อนหลังก็ได้
4. จัดอันดับตามความสนใจจากมากไปหาน้อย โดยแบ่งเป็น 2 กรณีคือ

 

กรณีองค์ประกอบการคิดคะแนนไม่เหมือนกัน (เลือกต่างสาขากัน)

ให้เรียงลำดับตามความ-สนใจ อยากเข้าคณะไหนมากกว่าให้นำคณะนั้นไว้อันดับต้น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับความสูงต่ำของคะแนน

 

กรณีองค์ประกอบการคิดคะแนนเหมือนกัน (เลือกสาขาเดียวกัน)

ให้เรียงลำดับตามความสูงต่ำของคะแนน 

อันดับที่ 1 ควรมีคะแนนบวกหรือติดลบไม่มาก (คิดจากนำเปอร์เซ็นต์คะแนนที่ได้ในปีนี้เป็นตัวตั้ง แล้วลบด้วยคะแนนต่ำสุดของปีที่แล้ว หรือ 3 ปีย้อนหลัง)

อันดับที่ 2 คะแนนบวกต้องมากกว่าอันดับ 1

อันดับที่ 3 ต้องมากกว่าอันดับที่ 1 และ 2

อันดับที่ 4 คะแนนต้องมากกว่าทุกอันดับ และควรปิดท้ายด้วยคะแนนที่สูงกว่าคะแนนต่ำสุดที่นำมาเทียบเคียงให้มากพอสมควร เพื่อกันพลาด

 

5. แต่ละอันดับควรมีคะแนนทิ้งห่างกันประมาณ 3 - 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นอย่างน้อย

6. พิจารณาจำนวนรับของแต่ละคณะที่เลือกด้วย เพื่อประเมินโอกาสความน่าจะติด

7. เมื่อเรียงคะแนนให้ครบถ้วนแล้ว ปรากฏว่าอันดับสุดท้ายคะแนนยังไม่ถึงคะแนนต่ำสุดของปีที่เทียบเคียง คุณต้องเผื่อใจและเตรียมตัวหาทางเลือกอื่นสำรองไว้ด้วย

 

ตัวอย่างการเรียงคะแนน

นาย ก. มีคะแนน 17,500 (58.33%) อยากเข้าคณะ...

 

อับดับ 1 คณะ... คะแนนต่ำสุดปีก่อน = 19,629 (65.43%) / คะแนนติดลบ - 2129

อันดับ 2 คณะ... คะแนนต่ำสุดปีก่อน = 17,344 (57.81%) / คะแนนติดลบ - 156

อันดับ 3 คณะ... คะแนนต่ำสุดปีก่อน = 16,425 (54.75%) / คะแนนบวก + 1075

อันดับ 4 คณะ... คะแนนต่ำสุดปีก่อน = 13,719 (45.73%) / คะแนนบวก + 3781

 

          ข้อควรรู้อีกประการคือการสอบติดหรือไม่ติดอยู่ที่คะแนน แต่จะติดคณะใดนั้นอยู่ที่อันดับในการเลือกของเราเอง ระบบนี้ถือว่าเป็น Save Zone เป็นรอบ TCAS ที่น่าจะปลอดภัยที่สุด ถ้าพิจารณาและจัดอันดับอย่างถูกต้อง ถูกทาง และถูกใจ

 

พี่นัท นัททยา

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

TCAS รอบ 3 Admission 10 อันดับ ประกาศผล 2 ครั้ง การคัดเลือกเป็นอย่างไร ?

เกณฑ์การคัดเลือก TCAS รอบ 3 Admission 1 VS Admission 2 ยื่นแบบไหนดี

ยืนยันสิทธิ์-ไม่ใช้สิทธิ์-สละสิทธิ์ ในระบบ TCAS

ค่าสมัครสอบ ค่าใช้จ่าย TCAS แต่ละรอบ

เด็ก TCAS 64 ลงทะเบียน My TCAS

ค่าน้ำหนักคะแนน GAT/PAT ของแต่ละคณะ Admissions 2

ต้องรู้ ! ค่าน้ำหนัก เกณฑ์ขั้นต่ำ คืออะไร

ปฏิทินการสอบ TCAS 64

 

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us