อยากเรียนแพทย์ อยากเป็นหมอ ทุกคนต่างรู้ว่าเส้นทางสู่คณะนี้การแข่งขันสูงมาก ไม่ใช่แค่แข่งขันกันด้านความรู้อย่างเดียว ความพร้อม การเตรียมตัว และการหาโอกาส หากมีความตั้งใจ คณะแพทย์ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม น้อง ๆ รู้หรือไม่ ว่าเราสามารถเข้าได้ทางไหนบ้าง วันนี้พี่ปลูกจะมาแนะนำ กว่าจะเป็นหมอ รวมเส้นทางสู่คณะแพทย์ ที่ไม่ได้มีแค่ทางเดียว แพทย์ เป็นคณะที่เปิดโอกาสกว้างมาก ให้กับคนอยากเป็นหมอ เราไปเจาะลึกแต่ละเส้นทางกันเลย
ขึ้นชื่อว่ารอบ Portfolio แน่นอนว่าไม่มีการสอบ และต้องมีผลงาน แต่ผลงานของคณะแพทย์นั้น จะไม่ใช่การใช้ผลงานกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ อย่างเดียว แต่หมายถึงผลงานด้านความสามารถทางวิชาการ จิตสาธารณะ การวิจัย และการสะสมคะแนนสอบต่าง ๆ ที่ใช้วัดความรู้ ความสามารถ รอบ 1 นี้ จะรับใน โครงการนักเรียนที่มีความถนัดทางภาษาอังกฤษ
คำว่าไม่มีการสอบ หมายถึงแต่ข้อสอบกลาง TGAT/TPAT, A-LEVEL เท่านั้น รอบ 1 ไม่ใช้คะแนนพวกนี้ แต่ใช้คะแนน BMAT, TOEFL, IELTS, CU-TEP เป็นต้น ตามกำหนดการของมหาวิทยาลัย และคะแนนเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าสอบครั้งแรกแล้วคะแนนดีเลย ต้องสะสมประสบการณ์พอสมควร แต่ละปีเค้าเปิดสอบ 2 – 3 ครั้ง น้อง ๆ ที่รู้ตัวและสอบมาตั้งแต่ ม. 4 พอขึ้น ม. 6 คะแนนสอบก็ดีขึ้นตามลำดับจนพร้อมที่จะนำไปยื่น
อีกตัวแปรหนึ่งที่ตัดทิ้งไม่ได้เลยคือเกรด เพราะถึงจะไม่ใช้ข้อสอบกลางในการวัดผล แต่เกรดที่น้อง ๆ ได้จากโรงเรียน ก็เป็นตัวชี้วัดหนึ่ง ที่แสดงถึงความตั้งใจ มุ่งมั่น และรับผิดชอบต่อการเรียน ยกตัวอย่างการรับรอบที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการรับนักเรียนที่มีความถนัดทางภาษาอังกฤษ กำหนดใช้ GPAX 5 ภาคเรียน (ม.4 - ม.6 เทอม 1) 3.5
การสมัครรอบที่ 1 รวบรวม Portfolio และคะแนน ยื่นกับทางมหาวิทยาลัยได้เลย
หัวใจของเส้นทางนี้ : Portfolio + คะแนนวัดทางภาษา + เกรด
รอบนี้เป็นโอกาสของเหล่านักเรียนตามภูมิภาคต่าง ๆ โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท, โครงการแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน, โครงการแพทย์เพื่อชุมชน, โครงการผลิตแพทย์เพิ่ม, กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน, กลุ่มลดความเลื่อมล้ำ โควตาภาค, โครงการโอลิมปิกวิชาการ เป็นต้น เปิดรับทุกมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนแพทย์ เป็นโอกาสที่ดีเพราะโครงการเหล่านี้คู่แข่งน้อย เพราะจำกัดคุณสมบัติเฉพาะพื้นที่ และบางโครงการยังมีทุนสนับสนุนการเรียนอีกด้วย
การคัดเลือกจะใช้พวกคะแนน BMAT, TOEFL, IELTS, CU-TEP คะแนน A-LEVEL บ้างก็ใช้ TPAT1 ความถนัดแพทย์ วิชาเฉพาะ กสพท บางที่สอบข้อสอบตรงของหาวิทยาลัยเพิ่มเติม
การสมัครรอบที่ 2 เช็คคุณสมบัติ รวบรวมคะแนน ยื่นกับทางมหาวิทยาลัยได้เลย ส่วนคะแนน TGAT/TPAT, A-LEVEL ทางมหาวิทยาลัยจะดึงคะแนนทีหลังมาจากระบบของ ทปอ. น้อง ๆ ยื่นใบสมัครกับทางมหาวิทยาลัยก่อนแล้วจึงไปสมัครสอบคะแนนอื่น ๆ ตามกำหนด TPAT1 ความถนัดแพทย์ จัดสอบโดย กสพท สำหรับ TGAT, A-LEVEL จะจัดสอบโดย ทปอ.
หัวใจของเส้นทางนี้ : คุณสมบัติเฉพาะภูมิลำเนา + คะแนนสอบตามกำหนด
กสพท หรือที่ย่อมาจาก กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กสพท จะเปิดรับนักเรียนเข้าสู่คณะแพทยศาสตร์, คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ เปิดรับในระบบ TCAS รอบที่ 3 ถือเป็นช่องทางหลักเลยก็ว่าได้ เพราะรับนักเรียนทั่วไป จำนวนรับเยอะ ใช้เกณฑ์การคัดเลือกกลาง และที่สำคัญ แพทย์ กสพท นี้ ไม่จำกัดแผนการเรียน เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ทุกสาย รวมไปถึงเด็กซิ่ว หรือผู้ที่จบป.ตรี ที่อายุไม่เกิน ได้มีโอกาสเข้ามาแข่งขันกันในสนามนี้ น้อง ๆ ต้องสมัครสอบ TPAT1 ความถนัดแพทย์ วิชาเฉพาะ ที่ทาง กสพท จัดสอบ และสมัครสอบ A-LEVEL ที่ทาง ทปอ. จัดสอบ จำนวน 7 วิชา ไทย, สังคม, อังกฤษ, คณิตศาสตร์ 1, ฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา นำคะแนนสองส่วนนี้ไปยื่นในระบบ TCAS รอบที่ 3 ทาง ทปอ. เป็นผู้รับสมัครที่เว็บไซต์ My TCAS
หัวใจของเส้นทางนี้ : คะแนนสอบ TPAT1 + A-LEVEL (7 วิชา)
รายละเอียดการรับ กสพท >> คลิกที่นี่
รอบที่ 4 เก็บตกรอบสุดท้าย ต้องรอลุ้นที่นั่งเหลือ ว่าจะมีมหาวิทยาลัยไหนหลุดมาเปิดรอบ 4 ไหม อาจจะมีมหาวิทยาลัยมาเปิดรอบรับเก็บตก แต่ใช้เกณฑ์การรับแบบรอบที่ 3 (เกณท์ กสพท) แต่ต้องบอกก่อนนะว่ามีเปอร์เซ็นน้อยมาก ๆ
หัวใจของรอบนี้ : รอลุ้นที่นั่ง มีคะแนนสอบตามกำหนด
นอกจากมหาวิทยาลัของรัฐแล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยเอกชนที่เปิดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง การสอบเข้าแพทย์ ไม่มีคำว่าง่าย ไม่ว่ารัฐบาลหรือเอกชน สอบวัดความรู้เหมือนกันหมด วิชาที่สอบ เน้นไปทางด้านวิชา อังกฤษ คณิตศาสตร์ เคมี และชีววิทยา
หัวใจของรอบนี้ : คะแนนสอบ
ทุกเส้นทางสู่การเรียนแพทย์ มันไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก หากเรามุ่งมั่นตั้งใจ พร้อมสร้างโอกาสให้ตัวเอง
ภาคกลาง และภาคตะวันออก
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
กลุ่มนักศึกษาแพทยศาสตร์พระบรมราชชนก สถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า สถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล
คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สถาบันร่วมผลิตกับมหาวิทยาลัยมหิดล
วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ภาคใต้
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
เอกชน
วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
บทความที่เกี่ยวข้อง
เจาะลึก กสพท คืออะไร สอบอะไรบ้าง
อยากติด กสพท ต้องได้คะแนนเท่าไหร่ ตั้งเป้าคะแนน ด้วยโปรแกรมคำนวณ
[รีวิว] เตรียมตัวเข้าคณะแพทยศาสตร์ แชร์จากรุ่นพี่ แพทย์ จุฬา