Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
7 เรื่อง GAT/PAT ที่มักเข้าใจผิด

  Favorite

          อย่างที่รู้กันว่าเด็ก ม. 6 เกือบทั้งประเทศต้องเข้าระบบ TCAS เพื่อยื่นคะแนนเรียนต่อมหาวิทยาลัย จำนวนรอบใน TCAS ที่มีถึง 5 รอบ ก็มาพร้อมกติกาที่ต่างกันออกไป โดยเฉพาะวิชายอดฮิตอย่าง GAT/PAT ที่เด็กหลายคนเลือกสอบเพื่อใช้ยื่นเข้าคณะที่สนใจ ที่ยังมีประเด็นให้สงสัยกันทุกรุ่น เรื่องไหนบ้างที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการสอบ GAT/PAT ไปเช็คข้อสงสัยและหาคำตอบกันเลย
 


7 เรื่อง GAT/PAT ที่มักเข้าใจผิด

1. GAT/PAT ใช้ยื่นแค่รอบ 4 อย่างเดียว 

          คะแนน GAT/PAT สอบแล้วใช้ยื่นรอบไหนได้บ้าง ? คำถามนี้หลายคนยังตอบผิด คิดว่าสามารถยื่นคะแนนได้แค่รอบที่ 4 แต่ความจริงแล้ว เราสามารถใช้ยื่นได้หลายรอบ ระบบ TCAS มีทั้งหมด 5 รอบ กำหนดให้ยื่นได้ 4 รอบ คือ รอบที่ 2 – 5  เพียงแต่ในรอบที่ 4 GAT/PAT เป็นคะแนนหลัก เพราะทุกคณะกำหนดใช้คะแนน GAT เป็นพื้นฐานหลักในการคัดเลือก ส่วน PAT ขึ้นอยู่กับแต่ละสาขาว่าต้องการ PAT วิชาใดบ้าง รองลงมาคือรอบที่ 3 ส่วนในรอบที่ 2 และ 5 สามารถยื่นได้เช่นกัน แต่รอบนี้มีเพียงบางมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่กำหนดใช้ ต้องศึกษาในระเบียบการของแต่ละมหาวิทยาลัยให้ละเอียดอีกที ฉะนั้นถ้ามั่นใจว่าจะทำคะแนน GAT/PAT ออกมาได้ดี ก็สามารถวางแผนการเข้ามหาวิทยาลัยได้ทั้ง 4 รอบเลยทีเดียว
 

2. เด็กซิ่วใช้คะแนนย้อนหลังยื่นได้แค่ปีต่อปี 

          ปัญหาอีกอย่างของเด็กมหาวิทยาลัย ที่ต้องการยื่นคะแนนเพื่อหาที่เรียนใหม่อีกครั้งคือ “กลุ่มเด็กซิ่ว” ที่ยังไม่เข้าใจระเบียบการสมัคร รู้แค่ว่ามีคะแนน GAT/PAT อยู่ในมือและตัวเองมีสิทธิ์ในการยื่นคะแนนพร้อมรุ่นน้อง ปัญหาของเด็กซิ่วคือ เข้าใจว่าคะแนน GAT/PAT มีอายุแค่ 1 ปี แต่ความจริงมีอายุ 2 ปี หมายความว่า น้อง ๆ สามารถใช้คะแนนนี้ยื่นสมัครในระบบ TCAS ได้ 2 ปี คือปีแรกที่น้องสอบ GAT/PAT และปีหน้าหากน้องต้องการจะเข้ามหาวิทยาลัย ที่นั่งของเด็กกลุ่มนี้มีสิทธิมากที่สุดในรอบที่ 4 ส่วนรอบที่ 3 สามารถยืนได้เช่นกัน แต่บางมหาวิทยาลัยอาจกำหนดใช้แค่คะแนนในรอบปัจจุบัน ไม่ให้ใช้คะแนนของปีก่อน  แต่ถ้ามหาวิทยาลัยไม่กำหนดก็สามารถยื่นคะแนนเก่าได้เลย ส่วนรอบอื่นที่ไม่ใช่รอบที่ 1 ก็ต้องบอกว่ามีแต่น้อยมาก เด็กซิ่วที่จะสมัครรอบไหนต้องเช็คระเบียบการให้รอบคอบอีกครั้ง ถ้าไม่อยากพลาดท่าเสียโอกาสเพราะเข้าใจผิด
 

3. ไม่ต้องทำเอง โรงเรียนสมัครสอบให้ 

          ความเข้าใจผิดยอดฮิตที่คิดว่า GAT/PAT ไม่ต้องสมัครเอง นอนรอได้เลยเพราะโรงเรียนสมัครให้ เป็นเรื่องที่เด็ก TCAS  สับสนแบบเหมารวมไปว่าทุกการสอบเราไม่ต้องสมัครเอง ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวคือ O-NET เท่านั้นที่ไม่ต้องสมัครสอบเอง การใช้คะแนนขึ้นอยู่กับคณะและมหาวิทยาลัยที่เลือก ระเบียบการจะเป็นตัวกำหนดว่าใช้คะแนนอะไรในการพิจารณา จากนั้นเราจะรู้ว่าตัวเองต้องใช้คะแนนอะไรบ้าง แล้ววางแผนเลือกสมัครสอบเพื่อยื่นคะแนนให้ตรง ย้ำอีกครั้งว่าทุกคนต้องสมัครสอบ GAT/PATเอง ยกเว้น O-NET
 

4. ค่าสมัครสอบฟรี 

          นอกจากกลุ่มที่เข้าใจผิดว่าไม่ต้องสมัครสอบเองแล้ว คนที่เข้าใจถูกว่าการสมัครต้องทำด้วยตัวเอง บางคนก็ยังเข้าใจถูกได้ไม่สุด สับสนว่าสมัครแล้วไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย คิดว่าฟรีทุกสนามสอบ (ซึ่งไม่จริง เพราะการศึกษาต้องลงทุนนะจ๊ะ) นี่คืออีกเรื่องที่เด็ก TCAS เข้าใจผิดกันทุกปี ความจริงแล้วทุกคนต้องเสียค่าสมัครสอบ มีแค่ O-NET เท่านั้นที่กำหนดให้สอบทุกคนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากนี้ต้องเสียเงินเองทั้งหมด ค่าใช้จ่ายของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ต้องคำนวณจากคณะและมหาวิทยาลัยที่เลือก แต่ละที่กำหนดใช้คะแนนต่างกัน เราต้องเลือกสอบตามคะแนนที่ต้องใช้ยื่น หนึ่งคนอาจต้องสอบหลายวิชา นี่คือเหตุผลว่าค่าใช้จ่ายของแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน สำคัญคือเข้าใจให้เคลียร์ว่า ทุกวิชาต้องเสียค่าสมัคร ไม่มีอะไรฟรี! ยกเว้น O-NET อย่างเดียว
 

5. จำผิดคิดว่าสมัครกับ ทปอ. 

          ความเข้าใจที่ต้องรู้ให้เคลียร์คือ หน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามหาวิทยาลัยหลัก ๆ ที่ต้องรู้จักคือ ทปอ. และ สทศ. ซึ่งที่ผ่านมาเวลาจะสมัครสอบอะไร เรามักสับสนกันตลอดว่าต้องไปสมัครในเว็บไซต์ไหน น้อง ๆ แยกแยะและจำให้ดีว่า สทศ. มีหน้าที่ดูแลเรื่องการออกข้อสอบ ส่วน ทปอ. มีหน้าที่ดูแลเรื่องระบบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งรวมไปถึงการยืนยันสิทธิ์ - สละสิทธิ์ หมายความว่า ถ้าต้องสมัครสอบก็ต้องไปสมัครในเว็บไซต์ของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องข้อสอบและการสอบ คือ สทศ. ฉะนั้นย้ำอีกครั้งว่า “สมัครสอบ GAT/PAT ต้องสมัครที่เว็บไซต์ สทศ.” คือ www.niets.or.th
 

6. ทุกคนต้องสอบ (X)

          เด็กไทยต้องสอบเยอะ จนสร้างความสับสนให้หลายคนคิดว่า การเข้ามหาวิทยาลัยทุกคนต้องสอบ GAT/PAT ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว “ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องสอบ” วิธีเช็คว่าราต้องสอบไหม คือการวัดจากคณะที่เราเลือก และระเบียบการของคณะในแต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็นตัวกำหนดเองว่า ใช้คะแนนอะไรในการพิจารณา ถ้ามีระบุว่าใช้ GAT/PAT ด้วย เราก็ต้องสมัครสอบในวิชา GAT/PAT
 

7. ต้องสอบ PAT ให้ครบทุกวิชา

          นอกจากไม่ต้องสอบ GAT/PAT ทุกคนแล้ว อีกเรื่องคือ “ทุกคนไม่ต้องสอบ PAT ครบทุกวิชา” เลือกสอบเฉพาะวิชาที่ต้องใช้คะแนนยื่นในการพิจารณาเท่านั้น กลับไปดูที่จุดเดิมคือเลือกจากคณะ แล้วอ่านระเบียบการ ถ้าระเบียบการกำหนดว่าใช้คะแนน GAT/PAT ต้องดูด้วยว่าในคณะที่เราเลือกใช้คะแนน PAT อะไร จากทั้งหมด 7 วิชา เช่น ถ้ากำหนดใช้คะแนน PAT 1 และ 2 ก็เลือกสมัครสอบแค่ 2 วิชานี้พอ ไม่จำเป็นต้องสมัครทั้งหมด เพราะสอบไปคะแนนก็ไม่ได้ใช้ แถมเปลืองเงินค่าสมัครอีกด้วย

          จะเห็นได้ว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เด็ก TCAS ทุกรุ่นต้องเจอ การทำความเข้าใจในระบบ TCAS ที่หลายคนรู้สึกว่ายุ่งยากจากการถูกปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง จนทำให้เกิดความท้อที่จะรู้ สิ่งที่พี่นำมาฝากในครั้งนี้ ก็เพื่ออธิบายความไม่รู้นั้นให้กลายเป็นความเข้าใจที่ถูก และใช้ในการวางแผนต่อสำหรับการเข้ามหาวิทยาลัยตามคณะในฝันได้สำเร็จ

พี่ PLOOK TCAS
Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us