Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เทคนิคการอ่านหนังสือ “Read Smart not Read Hard”

  Favorite

เทคนิคการอ่านหนังสือ “Read Smart not Read Hard”
อ่านหนังสือแบบเท่ ๆ  ไม่ต้อง...เท เพราะอ่านไม่ไหว!

 

GAT & PAT ต้องหาคำตอบ  

O-NET ต้องสอบให้ได้

วิชาสามัญยิ่งแล้วใหญ่

วิชาเฉพาะแพทย์ก็ปวดใจ ตอบอย่างไรให้ได้คะแนน

 

            ปัญหาใหญ่ของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยคือ “อ่านหนังสือไม่ทัน” ในความรู้สึกของน้อง ๆ อาจคิดว่าตัวปัญหาคือ “เวลาไม่เคยพอ” ความจริงแล้วเวลาไม่ใช่ปัญหา แต่การบริหารเวลาต่างหากที่เป็นปัญหา 

            บางคนเน้นทำกิจกรรมเป็นหลัก พักค่อยอ่านหนังสือ แต่ปัญหาคือ เวลาติดลมกิจกรรมแล้วไม่อยากพัก นั่นแปลว่าหนังสือรอเก้อ

            บางคนอ่านจบ 1 - 2 รอบ แต่ตอบตนเองไม่ได้ว่าอ่านอะไร สุดท้ายปิดตำรา คว้าโทรศัพท์ อัพสเตตัส 

            บางคนอ่าน 5 รอบ แต่บอกยังไม่พอ เพราะไม่รู้ว่าเท่าไหร่ถึงต้องพอ ผลคือเรียนอย่างหนัก ๆ และอ่านหนังสืออย่างหน่วง ๆ  เน้นอ่านหลายรอบเข้าไว้ อุ่นใจ...แต่ไม่เข้าใจ!

            พี่นัทจึงมี Trick ให้น้อง ๆ อ่านหนังสือแบบเท่ ๆ ด้วย....กฎการอ่าน 3 Times  

 

อ่านรอบที่ 1 Scan

อ่านอย่างสำรวจ ตรวจรายละเอียด เป็นขั้นตอนแรกของการอ่านหนังสือ เหมือนจะเสียเวลาหน่อยที่ต้องมาอ่านอย่างสำรวจ แต่จริง ๆ แล้วใช้เวลาไม่มากเลย หลักการสำคัญคือ

- กวาด โกย (ให้เป็น) ก้อน คือ อ่านแบบกวาดสายตา เพื่อโกยเนื้อหาให้เป็นก้อนข้อความ ไม่ใช่อ่านแบบจี้เป็นคำ ๆ ได้หนึ่งคำ สมาธิหลุดไปสามคำ ได้กลับมาอีกสองคำ หายไปอีก 4 คำ  

- ใช้สัญลักษณ์ พิทักษ์เส้นทาง เป็นการสร้างทางลัดเพื่อสื่อสารกับสมอง กันหลงทาง และจะได้ง่ายต่อการจดจำ เมื่อย้อนกลับมาทางเก่า ดังนั้นในการอ่านรอบแรก เราจึงต้องทำสัญลักษณ์นำทางไว้ช่วยให้การกลับมาอ่านซ้ำรอบที่สองง่ายขึ้นและไม่เสียเวลา ตัวอย่างสัญลักษณ์ เช่น     คือ Key Word, * เป็นสูตร / ชื่อเฉพาะ / ออกสอบบ่อย, x แสดงว่าตรงนี้ป่วย ต้องรักษาความเข้าใจ ปล่อยไว้อาจตายในห้องสอบ ฯลฯ

 

อ่านรอบที่ 2 Screen

อ่านอย่างกลั่นกรอง คัดเลือกประเด็นสำคัญ แล้วทำ “โน้ตย่อ” ดึงสาระสำคัญมาเขียนด้วยภาษาของเรา การอ่านหนังสือที่มีประสิทธิภาพต้องผ่านการจดด้วยมือ เพราะในขณะจด สมองต้องควบคุมสั่งการว่าต้องเขียนอะไร สะกดอย่างไร เรียบเรียงแบบไหนให้เข้าใจง่ายที่สุด กระบวนการทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการอ่านอย่างหนึ่ง เป็นการทบทวนที่ดีมาก ความรู้จะค่อย ๆ แทรกตัวผ่านการเขียนเข้าไปในสมองโดยที่ไม่ทันตั้งตัว มารู้สึกตัวอีกทีก็จดจำเนื้อหาที่เขียนได้เกือบหมดแล้ว

ปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนนี้คือ เขียนไม่ทัน ย่อไม่เป็น รอถ่ายเอกสารจากเพื่อน เรื่องบางเรื่องยืมกันได้ แต่บางเรื่องถึงยืมได้ แต่สุดท้ายก็ต้องคืนให้เจ้าของ นั่นแปลว่าคุณจะไม่เหลือความรู้อะไรติดตัว เพราะความรู้มีทิศทางการไหลอย่างหนึ่งคือ ยิ่งกระจาย ยิ่งวิ่งไหลกลับไปหา...เจ้าของ  

ยังไงต้นฉบับย่อมคมชัดกว่า...สำเนา!  

 

อ่านรอบที่ 3 Score

อ่านแบบปั้นให้เกิดสกอร์ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. ท่องจำ/เข้าใจโน้ตย่อที่จัดทำมา
  2. ทำข้อสอบเก่า เพราะกรอบเนื้อหาที่เรียนไม่ได้ต่างไปจากเดิม ดังนั้นข้อสอบก็มักวนเวียนไปมาอยู่ในกรอบเดิม
  3. ใช้เวลาอ่านน้อย แต่ใช้สมาธิมาก เพราะเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่ามีเวลามาก เมื่อนั้นเราจะไม่เห็นคุณค่าของเวลา แต่ถ้ารู้สึกว่าเวลามีน้อยจัง เราจะให้คุณค่า และไม่กล้ารบกวนเวลาอ่านของตนเอง เรียกว่าเป็นการอ่านเชิงคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ
  4. เลือกอ่านหนังสือในเวลา “Prime Time” คือช่วงเวลาทองที่เหมาะสมกับสไตล์การอ่านของเรา จะช่วยทำให้ความรู้ได้เจอกับสมองที่ตื่นตัวเต็มที่ ลองหา ลองสังเกตให้ดีว่าอ่านเวลาไหนแล้วสติมา ปัญญาเกิด ก็ปักหมุดเลือกเวลานั้นเป็นเวลาทอง และอ่านในเวลาเดิม เพื่อให้สมองคุ้นเคยกับภารกิจนี้

การอ่านที่ดีไม่ใช่การทนอ่าน แต่ต้องรู้จักอ่านอย่าง...อดทน! 

 

กฎการอ่าน 3 Times บางคนอาจจะมองว่าอ่านรอบเดียวก็แทบจะไม่มีเวลาอยู่แล้ว นี่ต้องอ่านถึง 3 รอบ จะไม่หนักไปหรือ ตอบได้เลยว่าไม่หนัก เหมือนขนของจำนวนมากในคราวเดียว กับแบ่งการขนเป็น 3 ครั้ง น้อง ๆ คิดว่าแบบไหนจะหนักกว่า อย่ามองว่าการทำหลายครั้งคือการเสียเวลา แต่จงมองว่า ยิ่งทำซ้ำ ยิ่งใช้เวลาเร็วขึ้น และนี่ล่ะคือ...

Read Smart not Read Hard  อ่านหนังสือแบบเท่ ๆ  ไม่ต้อง...เท เพราะอ่านไม่ไหว!

 

พี่นัท นัททยา

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us