Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
7 เรื่องต้องรู้ ใครอยากเรียนวิศวกรรมซอฟต์แวร์ มธ.

  Favorite

          ในยุคที่ซอฟต์แวร์แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีต่าง ๆ ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงเครื่องซักผ้า หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ล้วนมีซอฟต์แวร์เป็นองค์ประกอบสำคัญ ส่งผลให้การเรียนการสอนด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ทวีความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

          รองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อโณทัยไพบูลย์ ผู้อำนวยการโครงการ TU-PINE คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasart School of Engineering : TSE) จะพาไปรู้จักกับ ‘หลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ หรือ Soft-en’ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ต้นกำเนิดของเทคโนโลยีต่าง ๆ ผ่าน 7 เรื่องต้องรู้ ที่จะมีประโยชน์อย่างมากในการวางแผนด้านการศึกษา ว่าเหมาะกับเราหรือไม่ รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวสู่รั้วมหาวิทยาลัย

 

1. วิศวกรรมซอฟต์แวร์ vs วิศวกรรมคอมพิวเตอร์

น้อง ๆ หลายคนอาจสงสัยว่า ‘วิศวกรรมซอฟต์แวร์’ แตกต่างจาก ‘วิศวกรรมคอมพิวเตอร์’ อย่างไร? ซึ่งในความคล้ายคลึงกันนี้มีเส้นแบ่งบาง ๆ ที่ทำให้ต้องแยก 2 หลักสูตรนี้ออกจากกัน นั่นคือ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ จะได้เรียนแบบเจาะลึกเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ ตั้งแต่การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การสร้างซอฟต์แวร์ และสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ ตามเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน แต่วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จะเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในภาพรวมทั้งหมด

 

2. ไม่เคยมีประสบการณ์ Coding ก็เรียนได้

Coding คือ สกิลพื้นฐานของการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ดังนั้นน้อง ๆ ที่สนใจอยากเรียนหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์
แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ Coding มาก่อน แต่มีความฝันที่อยากเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เลยกังวลว่าจะสามารถเรียนด้านนี้ได้หรือไม่ เรื่องนี้อยากอธิบายให้น้อง ๆ สบายใจ เพราะที่ TSE เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ที่มีความใฝ่รู้ โดยจะเริ่มสอนตั้งแต่การปูพื้นฐาน ปั้นจากคนไม่รู้ ไปสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Coding กันเลยทีเดียว แต่การตบมือข้างเดียวคงทำให้เกิดเสียงดังไม่ได้ ต้องอาศัยความตั้งใจของน้อง รับรองว่าเขียนโค้ดได้สบาย

 

 

3. คณิตไม่มั่น อังกฤษไม่แน่น ทำอย่างไร  

นอกจากสกิล Coding แล้ว สำหรับน้อง ๆ ที่รู้ตัวเองว่าไม่ค่อยเก่งวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษไม่แน่น จะสามารถเรียนหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ได้หรือไม่? อยากบอกให้สบายใจเลยว่าเรียนได้ แต่ต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง เพราะ TSE พร้อมเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้ปรับพื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ จากขั้นพื้นฐาน เช่น วิชาภาษาอังกฤษพื้นฐาน และแคลคูลัสพื้นฐาน เพื่อให้พร้อมสำหรับการต่อยอดสู่วิชาขั้นสูงต่อไป

 

4. อุปกรณ์ครบ ห้องปฏิบัติการพร้อม ร่วมลงมือไปกับผู้เชี่ยวชาญ

การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง จะช่วยให้น้อง ๆ สามารถเข้าใจและแตกฉานในวิชาที่เรียนได้ ซึ่ง TSE ได้เตรียมอุปกรณ์การเรียนไว้อย่างครบครัน มีทั้งห้อง MAC และ PC  ที่พร้อมให้น้อง ๆ ได้เติมเต็มทักษะจากการสัมผัสกับทำงานจริง นอกเหนือจากความรู้ในตำรา ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้น้อง ๆ เกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ในห้องปฏิบัติการที่อยู่ภายใต้การดูแลอยู่อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ คอยให้คำปรึกษา ฝึกให้คิด ทดสอบ และลงมือปฏิบัติ ร่วมหาทางออกกับทุกโปรเจคไปพร้อม ๆ กัน เสมือนการทำงานจริงในสถานประกอบการ

 

 

5. ฝึกงานบริษัทชั้นนำระดับโลก

อีกหนึ่งประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากห้องเรียน คือ โอกาสของน้อง ๆ ที่เรียนหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์จะได้ไปฝึกงานกับบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านซอฟต์แวร์ เป็นที่รู้จักในสังคมอย่างแพร่หลาย ที่อยู่ในความร่วมมือกับ TSE เช่น Microsoft (Thailand), Reuters Software (Thailand) Ltd. , IBM Client Innovation Center Thailand เป็นต้น เพื่อให้สัมผัสกับบรรยากาศการทำงานของมืออาชีพอย่างแท้จริง โดยเชื่อมั่นว่าน้อง ๆ จะสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากสถานประกอบการ ไปปรับใช้กับการทำงานจริงได้ในอนาคต

 

6. ทุนการศึกษาแน่นตลอด 4 ปี

ความน่าสนใจของหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์อีกอย่าง คือ มีการมอบทุนการศึกษาให้กับน้อง ๆ ซึ่งมีด้วยกัน 2 ทุน ได้แก่

- ทุนเรียนดี โครงการหลักสูตรนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ หรือ TU-PINE  ซึ่งจะยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษ และค่าธรรมเนียมการศึกษาเพื่อการพัฒนาของปีการศึกษาถัดไปที่ลงทะเบียนเรียน จำนวนชั้นปีละไม่เกิน 5 ทุน สำหรับนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป และมีเกรดเฉลี่ยสูงสุดในแต่ละชั้นปี

- ทุนเรียนดีตลอดหลักสูตร สาขา Soft-en ซึ่งเป็นทุนตลอด 4 ปีการศึกษา จำนวนชั้นปีละ 10 ทุน พิจารณาให้กับน้อง ๆ ที่มีผลคะแนนทดสอบมาตรฐานเท่ากับ หรือมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด มีผลคะแนนสูงสุดอยู่ใน 10 ลำดับแรก และผ่านการสัมภาษณ์จากคณะกรรมการ โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษ และค่าธรรมเนียมการศึกษาเพื่อการพัฒนาให้สำหรับการลงทะเบียนเรียนในชั้นปีที่ 1 และจะยกเว้นให้อีกในปีต่อ ๆ หากมีเกรดเฉลี่ยและคุณสมบัติอื่น ๆ อยู่ในเกณฑ์

 

 

7. สตาร์ทเงินเดือนสูง อนาคตปัง!

สายอาชีพของผู้ที่จบหลักสูตรวิศวกรรรมซอฟต์แวร์ ไม่ได้จำกัดเฉพาะในบริษัทที่พัฒนาซอฟต์แวร์อย่างเดียวเท่านั้น เพราะในข้อเท็จจริงผู้ที่จบหลักสูตรนี้ สามารถทำงานได้หลายแห่ง เนื่องจากองค์กรหรือบริษัทต่าง ๆ จะมีแผนกไอที ทำหน้าที่พัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อใช้งานในองค์กรของตนเอง พัฒนารูปแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิ์ภาพในการทำงาน เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญในองค์กร จึงทำให้ฐานเงินเดือนขั้นต่ำของวิศวกรซอฟต์แวร์ อยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท ขึ้นไป หรืออาจแตะไปถึง 100,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์กรและประสบการณ์ของแต่ละคน

 

                เชื่อว่าทั้ง 7 เรื่องนี้ อาจไปโดนใจน้อง ๆ เข้าสักเรื่อง แต่สิ่งสำคัญคือ เมื่อน้อง ๆ มีความฝันแล้ว อยากให้เดินหน้าต่อ เพราะความสำเร็จย่อมเป็นของผู้ที่ลงมือทำ ซึ่งสำหรับน้อง ๆ ที่สนใจหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์สามารถเข้าไปดูรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่ tupine.engr.tu.ac.th/course.php?id=6 ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม น้อง ๆ สามารถสอบถามมาทาง inbox ของเพจ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us