พอใกล้ถึงวันสอบก็ถึงเวลาที่จะต้องฟิตอ่านหนังสือครั้งใหญ่กันอีกสักตั้ง แต่จะอ่านอย่างเดียวคงไม่พอแน่ ๆ ต้องฝึกทำข้อสอบเก่า ๆ ฝึกสรุปไอเดียของตัวเองแบบสั้น ๆ กระชับไว้ทบทวน หรือจะผลัดกันติวกับเพื่อนก็เป็นวิธีที่ดีเลยล่ะ แต่อย่าลืมว่า นอกจากความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่สอบแล้วก็เห็นจะเป็นทางลัดเพิ่มคะแนนในห้องสอบที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าข้อสอบที่เจอจะยากง่ายแค่ไหน มัวนั่งเล่นจั้มจี้มะเขือเปาะแปะหรือตั้งดินสอแล้วปล่อยให้มันตกคงไม่ใช่ทางออกที่ดีแน่ ๆ ไม่ได้เต็มแต่ได้คะแนนบ้างก็ยังดี “ทางลัดเพิ่มโอกาสได้คะแนนในห้องสอบ” ที่เอามาฝากมีอะไรกันบ้างตามมาเช็คพร้อม ๆ กันได้เลยครับ
ข้อสอบประเภทหนึ่งที่น้อง ๆ หลายคนกังวลใจหรือบางคนก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญ คือ ข้อสอบอ่านเรื่องแล้วตอบ เหตุผลก็คือ เนื้อความที่ให้มายาวมาก ขี้เกียจอ่าน เสียเวลาทำข้ออื่น ๆ ถ้าใครคิดแบบนี้หรืออยากหาทางลัดเพื่อให้ได้คำตอบโดยไม่ต้องอ่านเนื้อเรื่องทั้งหมด แนะนำให้ใช้วิธีหาจับใจความสำคัญ ซึ่งใจความสำคัญของเรื่องในข้อสอบแนวนี้มักจะอยู่ต้นเรื่องและท้ายเรื่อง หรืออีกวิธีหนึ่งอาจอ่านคำถามก่อนแล้วค่อยกลับไปอ่านเนื้อความในส่วนที่ต้องการคำตอบ จะช่วยประหยัดเวลาในการทำข้อสอบและไม่ต้องอ่านเนื้อความยืดยาวที่อาจไม่จำเป็น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อสอบในครั้งนั้น ๆ ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องอ่านเรื่องทั้งหมดเพื่อสรุปตอบโดยใช้ความเข้าใจ
เปิดข้อสอบปุ๊บ ! ใจหล่นไปอยู่ตาตุ่มปั๊บ ! อาการตกใจข้อสอบแบบนี้เห็นได้บ่อย ๆ เลยล่ะ เห็นข้อแรกก็เริ่มมีอาการมึน ๆ เพราะดูท่าว่าจะไม่รอดแน่ ๆ แต่อย่ามัวไปเสียเวลานั่งเศร้าใจกับมันเลยครับ ถ้าไม่ได้จริง ๆ ก็ให้ข้ามไปทำข้ออื่นที่เราทำได้ก่อน โอกาสในการได้คะแนนก็เพิ่มขึ้นมา และพยายามเขียนตอบให้ดีที่สุด หากเป็นข้อสอบอัตนัย เพราะโอกาสที่จะได้คะแนนเต็มในข้อนั้นก็มีอยู่เหมือนกัน ซึ่งจะไปช่วยในข้ออื่นที่น้อง ๆ ทำไม่ได้
ข้อสอบอัตนัยซึ่งเป็นข้อสอบแบบเขียนทั้งหมด นอกจากเทคนิคการเขียนตอบอย่างมีลำดับ ตรงประเด็น เข้าใจง่ายแล้ว รู้ไหมว่าการยกตัวอย่างและมีอ้างอิงประกอบจะช่วยให้การเขียนตอบของน้อง ๆ ได้คะแนนเพิ่มขึ้นได้ เพราะการยกตัวอย่างจะทำให้เห็นภาพที่น้อง ๆ ต้องการบอกชัดเจนมากขึ้น และเป็นการแสดงให้เห็นว่าน้อง ๆ เข้าใจเรื่องนั้นมากน้อยแค่ไหน อีกทั้ง การอ้างอิงข้อมูลที่น่าเชื่อถือ บอกแหล่งที่มา อ้างบุคคลเจ้าของความคิดหรือทฤษฎี จะช่วยเพิ่มน้ำหนักของคำตอบเหล่านั้นได้ด้วย และแสดงให้เห็นว่า น้อง ๆ เป็นคนใฝ่รู้ มีการหาความรู้เพิ่มเติม นอกเหนือจากที่เรียนในห้องเรียน เป็นประประยุกต์ใช้ความรู้ ทำให้การตอบข้อสอบของน้อง ๆ เป็นที่ประทับใจของครูหรืออาจารย์และได้คะแนนไปอย่างสวย ๆ แน่นอน
บ่อยครั้ง เวลาเราทำข้อสอบปรนัยแล้วต้องนั่งกุมขมับกับช้อยส์ที่กำหนดมาให้ บางข้อง่ายหน่อยก็ตอบได้เลย แต่ง่ายไปหมดก็คงไม่ใช่ข้อสอบใช่ไหมล่ะ จึงมีบางข้อที่ต้องวิเคราะห์คำตอบพอสมควร ทางหนึ่งที่ น้อง ๆ สามารถทำได้คือ ตัดช้อยส์ที่ไม่ใช่ออกทีละช้อยส์ นั่นเท่ากับว่าจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์ที่จะถูกในข้อนั้นเพิ่มมากขึ้น เช่น น้อง ๆ ตัดช้อยส์ที่ไม่ใช่ออกไปได้ 2 ช้อยส์ จาก 4 ช้อยส์ นั่นก็เท่ากับว่าเหลืออีก 2 ช้อยส์ ที่อาจจะเป็นคำตอบที่ถูกต้อง
เอาล่ะ !! เข้าใจเลยว่าตอนทำข้อสอบแล้วคิดคำตอบไม่ออกเป็นช่วงเวลาที่ช่างโหดร้ายเอาซะจริง จะหันไปลอกเพื่อน ๆ ข้าง ๆ ก็เห็นจะไม่ได้ (ไม่สนับสนุนให้ลอกนะ) เวลาก็เหลือน้อยเต็มที เอาเป็นว่าถ้า หาคำตอบไม่ได้จริง ๆ ก็ให้เลือกตอบแบบเดาไปเลยนะครับ เพราะถ้าน้อง ๆ ไม่ทำในข้อนั้น ๆ คะแนนก็จะเป็นศูนย์ในทันที แต่หากเดาไปโอกาสที่จะถูกก็ยังมีอยู่บ้าง ฉะนั้น ทำให้ครบทุกข้อ อย่าเว้นไว้เปล่า ๆ นะครับ
เป็นทางลัดท้ายสุด ในช่วงสุดท้ายก่อนหมดเวลาในการสอบ หากทำข้อสอบข้อที่เหลือไม่ได้จริง ๆ ก็ให้น้อง ๆ ใช้เทคนิคทิ้งดิ่งกันไปเลย โดยให้ทิ้งดิ่งข้อที่มีคำตอบน้อยที่สุด เป็นการเฉลี่ยคำตอบให้เท่ากันทุกข้อ แล้วอย่างนี้จะเพิ่มคะแนนได้จริงเหรอ อาจารย์คงไม่ได้เฉลี่ยคำตอบให้เท่ากันหรอกมั้ง ? ก็อาจจะเป็นไปได้ครับ แต่ต้องย้อนกลับไปดูว่าน้อง ๆ ได้ทำข้อที่มั่นใจไปเกือบหมดแล้ว แต่คำตอบในบางข้อที่ถูกฝนหรือกามีน้อยซะเหลือเกิน เป็นไปได้ที่คำตอบจะอยู่ในข้อเหล่านั้น โอกาสที่จะได้คะแนนก็มีความเป็นไปได้มากขึ้น
ทางลัดเพิ่มโอกาสได้คะแนนในห้องสอบเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยน้อง ๆ ในห้องสอบให้ผ่านพ้นไปด้วยดี แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือ การอ่านหนังสือและหมั่นทบทวน คิด วิเคราะห์ เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสอบตั้งแต่เนิ่น ๆ ในทุกครั้ง การเตรียมตัวที่ดีบวกกับความขยันขันแข็งอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การสอบของน้อง ๆ เป็นไปอย่างสวยงามตามที่ตั้งใจแน่นอน
เรื่อง พี่คุ่ม ภานุวัฒน์ มานพ