Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
ประสบการณ์ดูงานที่สำนักข่าว BBC กับโครงการ True Future Journalist Award

  Favorite

ประสบการณ์การดูงานที่สำนักข่าว BBC กับโครงการ True Future Journalist Award หรือ ‘นักข่าวแห่งอนาคต ทรู’ ของนันท์นภัส ภู่รอด ชั้นปีที่ 4 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

นันท์นภัส ภู่รอด วันแรกที่ BBC Broadcasting House



เหตุผลที่เลือกสมัครเข้าร่วมโครงการ 

ครั้งแรกที่ได้ยินเกี่ยวกับโครงการ True Future Journalist Award คงต้องย้อนไปสมัยเราพึ่งจะจบปีหนึ่ง เป็นช่วงปิดเทอมหน้าร้อนที่เราไม่รู้จะทำอะไรดีจนกระทั่งถึงวันลงทะเบียนเรียนของปีการศึกษาใหม่ เราเข้าเว็บไซต์ของคณะตามปกติ แต่สายตาเราดันไปสะดุดเข้ากับข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุดของคณะ เราเห็นรุ่นพี่ชั้นปี 3 ได้รับรางวัลเพื่อไปดูงานที่สำนักข่าวระดับโลกอย่าง BBC World News ไกลถึงอังกฤษ ตอนนั้นเองจึงเริ่มมองตัวเราที่อยากเป็นนักข่าวมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เราค้นพบว่าตอนนั้นตัวเองมีแต่ความอยากแต่ไม่ได้ลงมือทำอะไรจริงจังเลย ด้วยความอยากก้าวหน้าในวิชาชีพนี้ เราจึงเริ่มติดตามโครงการและลงสมัครบ้าง เรามีความคาดหวังที่จะพัฒนาตนเองในฐานะเด็กวารสารศาสตร์

 

การสอบคัดเลือก 

เราศึกษาจากทั้งทางเพจ Facebook และรุ่นพี่ พบว่าการสอบคัดเลือกเข้าโครงการนี้มีด้วยกัน 3 รอบ รอบแรกเป็นการคัดเลือกนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 และ 4 ทั่วประเทศที่สนใจทางด้านวารสารศาสตร์ ทุกคนที่มีความมุ่งมั่นสามารถเข้าร่วมการสอบข้อเขียนซึ่งมีด้วยกันสองส่วน ส่วนแรกเป็นการวัดความรู้ข่าวสารบ้านเมืองภาษาไทยพร้อมการคิดวิเคราะห์คุณค่าของข่าวนั้น ส่วนต่อมาเป็นการแปลข่าวภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาไทย นอกจากความถูกต้องในการแปล ลีลาและสำนวนการเขียนที่เป็นธรรมชาติก็สำคัญเช่นกัน เพราะโจทย์ที่ให้มาเพิ่มเติมคือการนำการแปลข่าวนั้นเผยแพร่ทางโลกออนไลน์ ต้องกระชับ เข้าใจง่าย และทันสมัยในเวลาเดียวกัน

จากนั้นทางโครงการจะคัดเหลือเพียง 30 คนเพื่อมาเข้าค่ายกระบวนการข่าว 3 วัน 2 คืน ผู้เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ ได้ฟังการบรรยายจากวิทยากรชั้นนำทั่วประเทศ มีโอกาสได้ผลิตสารคดีข่าวจริง ๆ ระหว่างกิจกรรมในค่ายก็จะมีการทดสอบอีกครั้ง สคริปต์ข่าวหนึ่งหน้ากระดาษ ​A4 ถูกวางไว้บนโต๊ะ รอเราไปแสดงศักยภาพการอ่านข่าว ช่วงเวลาที่เราต้องสติให้มั่นคือตอนที่เราต้องอ่านข่าวนั้นหน้ากล้องเพราะเรามีเพียงแค่โอกาสเดียว แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งในการทดสอบของรอบนี้ ต่อมาเป็นการทดสอบการเขียนข่าวภาษาอังกฤษและการฟังจับใจความ คลิปวิดีโอข่าวต่างประเทศถูกเปิดขึ้น เรามีสามารถดูวิดีโอนั้นได้สองครั้งแล้วจับประเด็นว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร โอกาสสุดท้ายในรอบนี้คือการเขียนข่าวที่เราสนใจเป็นภาษาอังกฤษ เป็นการเขียนต่อยอดจากสารคดีข่าวที่เรามีโอกาสทำในค่าย สุดท้ายแล้วรอบนี้จะคัดเลือกเหลือเพียง 10 คน

การสอบคัดเลือกเดินทางมาถึงรอบสุดท้ายที่ทุกคนต่างตั้งตาคอย นั่นก็คือรอบสัมภาษณ์โดยใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เป็นช่วงเวลาประทับใจของเราเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีกรรมการคัดเลือกถึง 7 ท่าน ทางสำนักข่าว BBC เองก็ส่งกรรมการมาเช่นกัน แต่ละท่านผลัดกันถามคำถามเพื่อที่จะรู้จักเรามากขึ้น เปิดโอกาสให้เราแสดงทัศคติต่อข่าวต่าง ๆ และ Passion ในการอยากได้รางวัลนี้ของเรา


ประสบการณ์ดูงานข่าวระดับโลกที่ BBC World News ลอนดอน 


 

Left: Steve Taschini, BBC senior journalist, who has worked here over 30 years

 

ผู้ประกาศข่าวรายการ GMT ของ BBC

 

ผู้ประกาศข่าวรายการ GMT ของ BBC



ประสบการณ์ฝึกปฏิบัติงานข่าวที่ TNN24 

ตลอดระยะเวลา 1 เดือนของการฝึกปฏิบัติงานข่าว เราได้ติดตามข่าวสารของประเทศเพื่อนบ้านและแปลข่าวสำคัญ ๆ ไว้ออกอากาศกับทางสถานีโทรทัศน์ ซึ่งแต่ละวันเราได้เรียนรู้ถึงการเลือกเรื่องมานำเสนอ นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ช่วยหาข้อมูลประกอบข่าวเช่นกัน ช่วงที่เราฝึกงานเป็นช่วงเดียวกับตอนที่อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียถูกจับกุมตัว เรามีโอกาสได้ช่วยเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ของคดีและติดตามสถานการณ์ เป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ เพราะเราได้ทำงานจริง ๆ ใต้ระยะเวลาที่กำหนด ต้องพึงระวังถึงความถูกต้องของเนื้อหาและความว่องไวในการออกอากาศ

 

ตลอดเวลาที่เราเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่กิจกรรมในค่ายและหลังได้รับรางวัล เราได้พัฒนาตัวเองในหลายด้าน เราฝึกทักษะการตีประเด็นข่าวของเราในค่าย วิทยากรหลาย ๆ ท่านช่วยชี้แนะมุมมองใหม่ ๆ ให้เรา การติชมผลงานสารคัดข่าวของเราในค่ายเป็นส่วนช่วยให้เราปรับปรุงการแตกประเด็นให้ดีขึ้น ช่วงเวลาหลังจากรับรางวัล เราได้มีโอกาสฝึกงานข่าวที่สถานีโทรทัศน์ TNN24 เราทำงานที่ “โต๊ะอาเซียน” ซึ่งพี่ ๆ นักข่าวทุกคนช่วยให้เรามีโอกาสทำรายงานข่าวเกี่ยวกับแนวการศึกษาในอาเซียน และออกอากาศในรายการ Asean Business ตอนวิชาใหม่ยุค 4.0 เราได้ทั้งหาแหล่งข่าว เก็บข้อมูล สัมภาษณ์ ลงเสียง และเปิดหน้าเอง เป็นประสบการณ์ที่ช่วยให้เรามีความมั่นใจกับวิชาชีพนี้มากขึ้น

 

TNN ASEAN BUSINESS ตอนที่ 91


ได้เรียนรู้ถึงเรื่องการยอมรับความหลากหลายของชนชาติ

นอกเหนือจากประสบการณ์ด้านข่าวที่สำนักข่าว BBC เรายังได้เรียนรู้ถึงเรื่องการยอมรับความหลากหลายของชนชาติ ในวันที่เราเดินสำรวจอาคาร เราเดินเข้าไปในห้องทำงานของนักข่าวจากทั่วโลก สิ่งแรกที่เตะตาเราคือหมวกไหมพรมหลากสีของนักข่าวผิวสีคนหนึ่ง เมื่อเรามองขึ้นไปด้านบนจึงพบกับป้ายบ่งบอกว่านั่นคือโต๊ะข่าวแอฟริกา เดินถัดเข้ามาอีกสองสามโต๊ะ เหล่านักข่าวตรงนั้นพูดคุยกันอย่างสนุกสนานเพราะเป็นช่วงพักเที่ยง แต่เรากลับไม่เข้าใจพวกเขาเลย เพราะเขาไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ แต่เป็นภาษาอินเดีย ส่วนทางซ้ายมือของเรา เราได้ยินภาษาที่คุ้นหูมากขึ้นแต่ไม่ใช่ภาษาไทย เราคิดไว้ว่าคงเป็นชาวเอเชียแน่ ๆ และการคาดเดาของเราก็ได้รับการยืนยันเมื่อพบกับนักข่าวที่ใส่เสื้อคลุมคล้ายกิโมโนของญี่ปุ่น คุณ Steve ยังบอกเราอีกว่าตอนเย็น ๆ นักข่าวของ BBC ชาวอารับจะรวมตัวกันเล่นโยคะด้วย แถมคุณ Steve ยังแนะนำให้เราลองไปดูหากเราสนใจ วัฒนธรรมองค์กรณ์ของ BBC เปิดกว้างมากในเรื่องของวัฒนธรรม การที่เราได้ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมจริง ๆ แบบนั้นทำให้เรารู้สึกมีความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายมากขึ้น


          สำหรับน้อง ๆ หรือเพื่อน ๆ ระดับชั้นปี 3 และ ปี 4 คนไหนที่สนใจโครงการนี้ เราแนะนำให้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองทั้งในไทยและต่างประเทศ พร้อมติดตามรายละเอียดขั้นตอนการสมัครได้ที่เพจ Facebook ของโครงการชื่อว่า True Future Journalist Award – FJA

 


เรื่อง : นันท์นภัส ภู่รอด

 

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us