เคยสังเกตกันไหมว่า ทุกอย่างรอบตัวเราล้วนมาจากวัสดุทั้งหมด โดยที่เราไม่รู้หรือไม่ได้เข้าใจว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เกิดจากการพัฒนาในด้านวัสดุ เช่น วัสดุทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ อย่างโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องมือวัดค่าต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งวิศวกรรมวัสดุจัดว่าเป็นพื้นฐานของวิศวกรรมทุกสาขา เพราะสามารถบูรณาการร่วมด้วยจนเกิดการพัฒนาหรือสิ่งใหม่ได้เสมอ แล้วจากวัสดุสิ่งเล็ก ๆ เราสามารถเรียนรู้และพัฒนาไปได้อย่างไร ไปฟังจาก พี่เปรม-เปรมชาย ฉายศิริ ชั้นปี 3 สาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุและนาโนเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
เป็นการบูรณาการความรู้ในหลาย ๆ ศาสตร์ คือ วัสดุ นาโนเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับวัสดุ และการจัดการ โดยจะศึกษาถึงวัสดุ โดยเฉพาะวัสดุวิศวกรรม ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง คุณสมบัติ องค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์และเหมาะสมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงในด้านของนาโนเทคโนโลยีคือ การใช้เทคโนโลยีคิดค้น และพัฒนาวัสดุใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองตามความต้องการ คือทำให้ชิ้นส่วนนั้นแข็งแรงขึ้น คงทนขึ้น รวมถึงความสามารถในการลดจำนวนทรัพยากรได้
ส่วนตัวมองว่าสาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุและนาโนเทคโนโลยีเป็นสาขาใหม่ ที่สามารถนำไปผสมผสานและบูรณาการในด้านอื่น ๆ ได้อีกมาก คิดว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และน่าศึกษาต่อ
ปี 1 เรียนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ
ปี 2 เรียนพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ เกี่ยวกับวัสดุและนาโน
ปี 3 เรียนเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ของวัสดุต่าง ๆ เช่น คุณสมบัติ โครงสร้าง กระบวนการ เป็นต้น
ปี 4 ทำโครงงานวิจัย และศึกษาโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการทำงาน
วิศวกรรมวัสดุเป็นศาสตร์พื้นฐานของวิศวกรรมทั้งหมด คือไม่ว่าจะเรียนวิศวกรรมสาขาไหน ก็ต้องเรียนวิชาวิศวกรรมวัสดุ อย่างเช่น วิศวกรรมไฟฟ้า ก็ต้องมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คือวัสดุทางไฟฟ้า หรือ วิศวกรรมเครื่องกล มีการใช้เครื่องมือวัด หรือ ทางด้านเคมี มีการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา ซึ่งเป็นวัสดุทั้งหมด เพราะฉะนั้นวัสดุถือเป็นส่วนประกอบของทุกสิ่งที่ผู้เรียนสามารถบูรณาการความรู้ได้หลากหลายด้าน รวมไปถึงสามารถประกอบอาชีพในตลาดที่กว้างมากขึ้นด้วย
อย่างแรกต้องเป็นคนที่มีทัศนคติที่ดีต่อการเป็นวิศวกร ชอบทางด้านวิทยาศาสตร์ การทดลอง ชอบเรียนรู้ วิจัยสิ่งใหม่ ๆ และเปิดรับด้านศิลปะ เพราะจะมีเรียนวิชาปั้นและออกแบบเซรามิกร่วมด้วย เรื่องของการเตรียมตัว ควรเน้นอ่านวิชาฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ โดยหลัก ๆ จะเน้นวิชาเคมี เพราะต้องใช้ตลอดการเรียน ส่วนการสอบเข้าก็ตามระบบ TCAS ใช้คะแนน GAT / PAT 3 , 9 วิชาสามัญ และมี GPAX 2.75 ขึ้นไป
ค่อนข้างเปิดกว้างในด้านตลาดการทำงานมาก เพราะเราสามารถทำงานด้านการตรวจสอบวัดคุณภาพของวัสดุต่าง ๆ ได้ทั้งหมด เช่น งานในโรงงานอุตสาหกรรม ทำด้านการทดสอบคุณภาพ, ด้านทดสอบเชิงวิเคราะห์, Research and Development, Quality Control, งานด้านอิเล็กทรอนิกส์, งานด้านยานยนต์ คือตำแหน่งงานอาจไม่ได้ถูกระบุชัดเจนว่าเป็นตำแหน่งวิศวกรรมวัสดุ แต่เราสามารถทำงานในส่วนเฉพาะด้านต่าง ๆ ได้ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับวัสดุ
สาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุและนาโนเทคโนโลยี
คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยศิลปากร
รอบที่ 1 โครงการเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัญจร ประเภท ก., โครงการเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัญจร ประเภท ข., โครงการรับผ่านค่ายอัจฉริยภาพวิศวศิลปากร, โครงการรับนักศึกษาเพิ่มพิเศษ
รอบที่ 2 โควตา 28 จังหวัด
รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน
รอบที่ 4 Admissions
รอบที่ 5 โครงการปกติ, โครงการรับนักศึกษาเพิ่มพิเศษ, โครงการรับผ่านค่ายอัจฉริยภาพวิศวศิลปากร (โครงการปกติ, โครงการพิเศษ)
GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 15%, PAT 2 15%, PAT 3 20%