เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์แขนงหนึ่ง โดยการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีมาใช้กับวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต มาประยุกต์ให้เกิดกระบวนการ ผลิตผลที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อมนุษย์หรือทางการค้า ซึ่งการนำมาประยุกต์ใช้มีหลาย ๆ ด้าน อาทิ ด้านอาหาร เช่น การเพิ่มคุณค่าทางอาหาร การผลิตนมเปรี้ยว โยเกิร์ต เป็นต้น และด้านการเกษตร เช่น การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช การทำให้ผลไม้สุกช้าลง เป็นต้น ในด้านการแพทย์ เช่น การผลิตวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ เป็นต้น
ตอนที่เรียนมัธยมมีรุ่นพี่มาแนะแนวสาขานี้ที่โรงเรียน ก็เห็นว่าเป็นสาขาที่น่าสนใจ แล้วตัวเองได้มีโอกาสมาร่วมงานวันวิทยาศาสตร์ที่คณะวิทยาศาสตร์ ลาดกระบัง ได้มาศึกษาว่าสาขานี้เรียนอะไร เกี่ยวกับอะไรบ้าง และที่สำคัญเห็นว่า การเรียนในสาขานี้จะเน้นในเรื่องการนำเทคโนโลยีที่ได้ไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนานวัตกรรม เลยคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับสายการงานในอนาคตที่เราจะได้ทำ จึงสนใจที่จะเรียนสาขานี้ครับ
ปี 1 เรียนพื้นฐานวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นการทบทวนเนื้อหาที่เคยเรียนในชั้นมัธยม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนแบบเจาะลึกในขั้นต่อไป พอปี 2 จะเรียนพื้นฐานของสาขาวิชาที่เลือกเรียนมากขึ้น ได้แก่ วิชาชีวเคมี พันธุศาสตร์ หน่วยปฏิบัติการทางชีววิทยา ขึ้นปี 3 เรียนวิชาวิศวกรรมชีวเคมี กระบวนการผลิตทางเทคโนโลยีชีวภาพ การใช้เครื่องมือ เป็นการเรียนเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทั้งหมด และปี 4 จะเน้นการทำสัมมนา โครงการพิเศษ และการทำสหกิจศึกษา
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ค่อนข้างมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ทั้งการเรียน ปฏิบัติการที่เข้มข้น และอุปกรณ์เครื่องมือที่ครบครัน เตรียมพร้อมให้นักศึกษาได้เรียนรู้ และปฏิบัติการจริง
ต้องเป็นคนที่ชอบและสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ อยากที่จะค้นคว้า วิจัยถึงแหล่งที่มาเพื่อพัฒนา หรืออยากที่จะผลิตคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ชอบเรียนรู้ ต้องมีความอดทน ความรับผิดชอบ เพราะต้องมีการใช้แล็บในการศึกษาตลอด น้อง ๆ ที่สนใจต้องเรียนแผนการเรียนวิทย์-คณิต หรือ ศิลป์-คำนวณ การเตรียมตัวควรเน้นอ่านวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) และภาษาอังกฤษ เพราะเป็นวิชาที่ต้องใช้สอบเข้า และเรียนตลอด 4 ปี และใช้คะแนน GAT, PAT 1, PAT 2
ในภาคราชการจะสามารถเป็นนักวิจัย นักเทคโนโลยีชีวภาพ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ อาจารย์ โดยสังกัดองค์กรต่าง ๆ เช่น ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ส่วนในภาคเอกชนสามารถทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมทางด้านอาหาร เคมีภัณฑ์ สิ่งแวดล้อม เครื่องดื่ม โดยอยู่ในส่วนฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายควบคุม ฝ่ายผลิต
สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
คณะวิทยาศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
www.science.kmitl.ac.th
รอบที่ 1 Portfolio, โครงการผู้มีความสามารถดีเด่นทางกีฬา, โครงการ สอวน.
รอบที่ 2 ประเภทโควตา
รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน พิจารณาคะแนน GAT/PAT
รอบที่ 4 Admissions
GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 10%, PAT 1 10%, PAT 2 30%