Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
[รีวิว] ชีวิตนักศึกษากับมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับหนึ่งของประเทศไทย “ม.มหิดล”

  Favorite

มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ตั้งอยู่ เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีเนื้อที่กว้างขวางมาก ๆ ปัจจุบันมีวิทยาเขตเพิ่มเติม คือ วิทยาเขตกาญจนบุรี วิทยาเขตนครสวรรค์ และวิทยาเขตอำนาจเจริญ ซึ่งจะมีบรรยากาศที่แตกต่างกันออกไป แต่ในวันนี้เราจะมาพูดถึง มหิดลวิทยาเขตศาลายากัน ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยระดับต้น ๆ ของประเทศ และได้รับการขนานนามมากมาย ว่าเป็นที่สุดของที่สุด ในแต่ละเรื่อง หลาย ๆ คนคงอยากจะรู้แล้ว ว่าบรรยากาศของการเรียนที่นี่เป็นอย่างไร การใช้ชีวิตของนักศึกษาที่นี่ จะสนุกสนาน หรือกดดันกันไหม ต้องอ่านรีวิวนี้ไปด้วยกันเลยค่ะ
 

เพจ Freshy มหาวิทยาลัยมหิดล


17 คณะ 6 วิทยาลัย

ปัจจุบันมี 17 คณะ และ 6 วิทยาลัย ที่มหิดลเราจะเรียกชื่อคณะเป็นตัวย่อกันค่ะ อย่างเช่น DT คือคณะทันตแพทย์, EG คือคณะวิศวกรรมศาสตร์ PH คือคณะสาธารณะสุขศาสตร์ เป็นต้น ตัวย่อคณะนี้จะเป็นคำสร้อยต่อจากชื่อเล่นเราเลย ดูน่ารักใช่ไหมคะ หากเพื่อน ๆ คนไหนสนใจข้อมูลของแต่ละคณะ สามารถหาข้อมูลตามเว็บไซต์ของคณะได้เลยนะคะ
- คณะทันตแพทยศาสตร์
- คณะเทคนิคการแพทย์
- คณะพยาบาลศาสตร์
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
- คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
- คณะเภสัชศาสตร์
- คณะวิทยาศาสตร์
- คณะศิลปศาสตร์
- คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- คณะวิศวกรรมศาสตร์
- คณะกายภาพบำบัด
- คณะเวชศาสตร์เขตร้อน
- คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
- คณะสัตวแพทยศาสตร์
- คณะสาธารณสุขศาสตร์
- คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
- บัณฑิตวิทยาลัย
- วิทยาลัยการจัดการ
- วิทยาลัยดุริยางคศิลป์
- วิทยาลัยนานาชาติ
- วิทยาลัยราชสุดา
- วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา
- วิทยาลัยศาสนศึกษา
 

เพจ Freshy มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เพจ Freshy มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เพจ Freshy มหาวิทยาลัยมหิดล


แลนด์มาร์คสำคัญ จะเรียนมหิดล ไม่รู้จักไม่ได้

พูดถึงแลนด์มาร์คในมหาวิทยาลัยมหิดล ก็นับไม่ถ้วนเลยค่ะ แต่แลนด์มาร์คหลัก ๆ ที่ทุกคนควรรู้จักเลย คือ ตึก OP หรือที่รู้จักกันในชื่อตึกอธิการบดี จะสังเกตได้ง่ายมากคือ จะมีเสาธงอยู่หน้าตึก และจะมีห้องพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่เล่าประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัย และรวบรวมหลักฐานสำคัญมากมาย ซึ่งที่แห่งนี้เป็นจุดนัดพบหลัก ของทุก ๆ คนที่มามหิดลศาลายาเป็นครั้งแรกค่ะ

 

เพจ Freshy มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ถัดมาคือ MLC หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า ศูนย์การเรียนรู้มหิดล ซึ่งจะรวบรวมศูนย์บริการต่าง ๆ เช่น ร้าน Harmony ที่จะขายเกี่ยวกับของมหาวิทยาลัย มีร้านขนมปัง กาแฟ และศูนย์อาหารที่เด็กมหิดลเรียกว่า “คาเฟต” นั่นเอง ส่วนใหญ่ทุกคนที่นี่จะมารับประทานอาหารกัน และนัดพบกันเพื่อไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้แล้ว ขาดไม่ได้เลย คือ มีห้องซ้อมเต้น ห้องชมรมต่าง ๆ มากมาย ที่จะคอยรองรับจำนวนนักศึกษาเพื่อทำกิจกรรม และมีเป็นศูนย์รวมจิตใจของเด็กมหิดล คือ ลานดอกกันภัย และลานสมเด็จพระราชบิดา ของเรานั่นเอง ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ของนักศึกษาที่นี่นั่นเองค่ะ
 

เพจ Freshy มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เพจ Freshy มหาวิทยาลัยมหิดล


และที่ขาดไม่ได้เลยค่ะ สถานที่สุดท้ายที่อยากจะนำเสนอ คือ “ยานแม่” เอ๊ะ ! อะไรคือยานแม่ ไม่ต้องตกใจค่ะ นั่นคือสิ่งที่นักศึกษามหิดลทุกคนใช้เรียก “มหิดลสิทธาคาร” ซึ่งทุก ๆ คนจะได้เข้าไปภายในนั้นเพียงแค่ 2 ครั้ง คือวันปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ และวันรับปริญญาเท่านั้น ซึ่งหากใครได้มีสิทธิเข้ายานแม่ของเรามากกว่า 2 ครั้ง ถือว่าพิเศษสุด ๆ เลยค่ะ เพราะการจะเปิดสิทธาคารได้ในแต่ละครั้ง ต้องใช้งบปะมาณมากถึง 6 หลัก ต่อวัน อ่านแล้วน้อง ๆ คงอยากเข้ามาเป็นนักศึกษา ที่มหิดลกันแล้วใช่มั้ยคะ พยายามและตั้งใจพี่เชื่อว่าไม่ยากเกินความสามารถแน่นอนค่ะ
 

เพจ Freshy มหาวิทยาลัยมหิดล

 

วิธีการเดินทางในมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยมหิดลของเรา ส่วนใหญ่การเดินทางไปเรียนในแต่ละตึก จะเป็นการปั่นจักรยานค่ะ ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 ของประเทศ แน่นอน ว่าต้องใช้จักรยาน ถึงกับว่ามีป้ายทะเบียนและรหัสป้ายทะเบียนเป็นของตัวเองเลย และในความเก๋เล็ก ๆ นี้ หากใครไม่มีจักรยาน สามารถยืมโดยใช้บัตรประชานได้ที่ “จักก้าเซนเตอร์” โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายค่ะ อยู่บริเวณใกล้ ๆ ศูนย์การเรียนรู้มหิดลของเรา หรือใกล้ ๆ หอ 10 นั่นเอง
 

เพจ Freshy มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เพจ Freshy มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ถัดมาคือการเดินค่ะ หากไม่รีบมากเราก็จะใช้วิธีการเดิน ผ่านเส้นทางของตึกแต่ละตึกที่เชื่อมกัน แต่ก็อย่าลืมระวังจักรยานของเพื่อน ๆ คนอื่นกันด้วยนะคะ ^^

 

และที่พิเศษไปกว่านั้นคือมีรถราง หรือเด็กมหิดลเรียกกันว่า “รถแทรม” นั่นเอง มีทั้งหมด 3 สาย และไป 3 เส้นทางหลัก ๆ ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะมีตารางเวลาการเดินทางของรถแทรมแบบตรงเวลามาก จนน่าตกใจ ! สถานีหลักของรถแทรม คืออยู่หลังหอ 11 หรือบ้านศรีตรัง ของเรานั่นเองค่ะ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการเดินทางที่ยอดนิยมอีกหนึ่งวิธีก็ว่าได้ค่ะ
 

เพจ Freshy มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เพจ Freshy มหาวิทยาลัยมหิดล

 

หอใน

อันนี้จะขอพูดโดยภาพรวมคร่าว ๆ แล้วกันนะคะ ก่อนอื่นเราต้องทำการกดจองหอพักนักศึกษา ผ่านเว็บไซต์ที่มหาวิทยาลัยกำหนดให้ก่อนจ้า ในแต่ละหอมีลักษณะแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะสุ่มเมทให้เรา ตกห้องละ 4 คน ซึ่ง 4 คนนี้ ส่วนใหญ่จะมาจากคนละคณะ อาจจะมีซ้ำคณะบ้าง แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็จะเป็นคนสุ่มให้เรา ในห้องจะประกอบด้วย เตียง โต๊ะอ่านหนังสือ และตู้เสื้อผ้า มีเสริมให้คือ ชั้นรองเท้า และพัดลมเพดาน มีระเบียงให้ มีเอ็นขึงไว้สำหรับตากผ้า มีซิ้งค์ล้างจานให้ มีห้องน้ำรวม และห้องซักรีด + ห้องซักล้างให้จ้า ตู้เย็นและไมโครเวฟมีให้ใช้เป็นส่วนรวม เวลานำของกินไปแช่ไว้ ทุกคนจะมักติดชื่อและรหัสห้องไว้ เพราะกลัวหายนั่นเอง มีเวลาเข้าออกหอ 05.00 - 23.00 น.

แต่ปัจจุบัน อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง และพิเศษสุด ๆ ในช่วงสอบ จะมีการขยายเวลาการปิดหอ เพื่อให้น้อง ๆ ที่ยังไปติวหนังสือ หรือ่านหนังสือนอกหอ ได้กลับเข้ามาทัน ส่วนเรื่องซักผ้า ไม่ต้องห่วงเลยจ้า มีเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญให้ มีร้านรับส่งซักรีดผ้า และมีร้านสะดวกซื้อให้เลือกได้ตามใจชอบ เปิด 24 ชม. กันเลยทีเดียว ส่วนเรื่องราคาค่าหอ พี่ขอบอกได้เลยว่า ไม่แพงอย่างที่สรรพคุณด้านบนมีให้ครบขนาดนี้แน่นอนจ้า โดยการชำระค่าหอใน จะชำระกันเป็น ค่าเทอม ค่าน้ำฟรี แต่ค่าไฟ ไม่ฟรีนะหากใช้เกินหน่วยกิตที่ทางหอกำหนด แต่พอหาร 4 คนแล้ว ก็ตกคนละไม่ถึง 50 บาทเองค่ะน้อง ๆ น่าอยู่ขนาดนี้ พี่ฝากหอในไว้พิจารณาด้วยนะคะ
 

เพจ Freshy มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เพจ Freshy มหาวิทยาลัยมหิดล

 

หอนอก

ไม่ต้องกังวลไปนะคะ สำหรับน้อง ๆ ที่พึ่งมาจากต่างจังหวัด อยากจะพักแค่ไม่กี่คืน หรืออาจจะเป็นน้อง ๆ ที่ชอบความเป็นส่วนตัว เราก็มีหอนอกให้น้อง ๆ เลือกตามความเหมาะสมเลย โดยราคาจะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 3500 บาท/เดือน จนถึง หลักหมื่น/เดือน ก็มีนะคะ ยังไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ ค่า Wifi ต่าง ๆ นอกนั้นขึ้นอยู่กับทางหอกำหนด หอนอกที่นักศึกษามหิดลอยู่กันมาที่สุด คือ หน้ามอ เลยค่ะน้อง ๆ ตั้งแต่ประตู 1 – 4 และถัดมาคือ ด้านข้างมอ คือ ประตู 5 – 6 ก็มีนักศึกษาอยู่เป็นจำนวนมากไม่แพ้กัน สามารถเลือกได้ตามใจชอบ และตามกำลังทรัพย์ของผู้ปกครองได้เลยจ้า

 

เพจ Freshy มหาวิทยาลัยมหิดล


ร้านอาหารเด็ดในมหาวิทยาลัย

อันนี้ต้องบอกก่อนเลยว่าแล้วแต่คนชอบเลยค่ะ สำหรับร้านอาหารในมหาวิทยาลัยมหิดล พี่รับรองเลยว่า ราคาถูก และอร่อยถูกปากแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะถูกใจร้านไหนบ้าง หลัก ๆ ที่นักศึกษาไปรับประทานอาหารกัน คือ คาเฟต บริเวณ MLC โรงอาหารคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งเขาเล่าลือกันว่า ส้มตำแซ่บสุด ๆ ต่อมาคือ โรงอาหารวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ซึ่งเขาว่ากันว่า สเต็กอร่อย ไม่แพ้กัน หรือถ้าใครอยากดื่มด่ำบรรยากาศ ก็ไปโรงอาหารของทางวิทยาลัยนานาชาติก็ได้นะคะ อาหารตาเพียบเหมือนกัน แต่แหมมม! อาหารที่นี่ก็อร่อยไม่แพ้กันค่ะ และยังมีร้านอาหาร ร้านกาแฟ จิบชิว ๆ อีกมากมาย สามารถติดตามได้ใน Mahidol channel นะคะ
 


ร้านเด็ดรอบรั้วมหาวิทยาลัย

ถ้าจะพูดถึงของกินรอบรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล ถือว่ามีมากมายมหาศาลเลยค่ะน้อง ๆ ถ้าพี่พูดว่า คนไหนที่มาเรียนที่ศาลายาแห่งนี้ จะผอม คือพูดได้เลยว่าไม่มีทาง 555 เคยเจอแต่คนที่น้ำหนักขึ้นกันมากมาย เอ๊ะ! ทำไมถึงเป็นได้ขนาดนั้น ร้านส้มตำ ประมาณ 10 กว่าร้าน ร้านชาบู ปิ้งย่าง อีกมากมาย ยังไม่นับรวมร้านอาหารตามสั่ง หรือของกินเล่น แต่พี่พูดได้เลยว่า หลังเลิกเรียน เต็มทุกร้านจริง ๆ ค่ะ มาอยู่ที่นี่ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก นอกจากเตรียมท้องไว้ให้พร้อม และเตรียมเงินไว้ให้ดีก็พอค่ะ หลังจากนี้จะมีแต่ความอิ่มหนำสำราญ และไม่ได้มีเพียงแต่ของกินนะคะ ร้านทำผม ร้านนวด ร้านเสื้อผ้า หรือร้านขายชุดนักศึกษาก็มี อุ่นใจได้เลยค่ะ ที่นี่มีให้น้อง ๆ พร้อมหมดแล้ว ขอทิ้งลิ้งค์ไว้แล้วกันจ้า >> Click

 

การเดินทาง

  • สาย 84ก วงเวียนใหญ่ - หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา (04:30 - 21:30)

  • สาย 124 สนามหลวง - ม.มหิดล ศาลายา (04.00 – 21.00 น.)

  • สาย 125 สถานีรถไฟสามเสน - ม.มหิดล ศาลายา

  • สาย 164 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ - ม.มหิดล ศาลายา

  • สาย 388 ปากเกร็ด สนามบินน้ำ บางบัวทอง บางใหญ่ - ม.มหิดล ศาลายา

  • สาย ปอ.515 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ - ม.มหิดล ศาลายา ขึ้นได้ที่อนุเสาวรีย์ ป้ายหน้า รพ.ราชวิถี (05.00 – 22.00 น.)

  • สาย ปอ.547 สีลม - ม.มหิดล ศาลายา ถ.เพชรเกษม เข้า ถ.พุทธมณฑล สาย 4

  • R26E สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี (ทางด่วน)

  • Y70E มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน)

รถตู้ปรับอากาศ

  • รถตู้ปรับอากาศ สายอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – ม.มหิดล ศาลายา (สามารถขึ้นได้ที่หน้าร้านวัตสัน ฝั่งเกาะพญาไท)

  • รถตู้ปรับอากาศ สายเซ็นทรัลปิ่นเกล้า – ม.มหิดล ศาลายา

รถศาลายาลิงก์

  • รถศาลายาลิงก์ (Salaya Links) ม.มหิดล ศาลายา - BTS บางหว้า

เป็นรถไมโครบัสสีขาวคาดน้ำเงิน มีโลโก้มหาวิทยาลัยมหิดล Shuttle Bus ซึ่งขับวนรับส่งจาก ม.มหิดล ศาลายา มายังสถานี รถไฟฟ้า BTS บางหว้า ใครเดินทางมาจาก BTS ให้ออกจาก BTS ที่ทางออกที่ 1-2 จะเจอรถศาลายาลิงก์ จอดอยู่ตรงบริเวณป้ายรถเมล์ ค่าโดยสาร 30 บาท

รถไฟ

สถานีรถไฟศาลายา

เส้นทางรถไฟ-รถไฟสายใต้ ขึ้นได้ที่ สถานีรถไฟธนบุรี (ใกล้ รพ.ศิริราช) หรือ สถานีรถไฟหัวลำโพง (สถานีรถไฟกรุงเทพ) หรือสถานีรถไฟนครปฐม โดยขบวนเที่ยวต่างๆ จะผ่านสถานีศาลายา ให้ลงที่สถานีศาลายาแล้วเข้าทางประตู 5 มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

รถส่วนตัว

มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 20 กิโลเมตร สามารถเดินทางมาได้หลายเส้นทาง ตามนี้

  • สนามบินสุวรรณภูมิ – ม.มหิดล ศาลายา

จาก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – ออกมาทางทิศใต้ เข้าสู่ ถ.บางนา-ตราด (ใต้ทางด่วนบูรพาวิถี) – เข้าสู่ ถ.วงแหวนตะวันออก (สาย 9) – ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานกาญจนาภิเษก – เข้าสู่ ถ.วงแหวนตะวันตก (สาย 9) – เข้าสู่ ถ.บรมราชชนนี หรือ ถ.ปิ่นเกล้า–นครชัยศรี (สาย 338) – เข้าสู่ ถ.พุทธมณฑล สาย 4 – เข้าประตู 3 ของ ม.มหิดล ศาลายา

  • สนามบินดอนเมือง – ม.มหิดล ศาลายา

จาก ท่าอากาศยานดอนเมือง – มาตาม ถ.วิภาวดีรังสิต (ใต้ทางด่วนโทลเวย์) – เข้าสู่ ถ.รัชดาภิเษก ถ.วงศ์สว่าง – ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระราม 7 – ถ.จรัญสนิทวงศ์ – ถ.สิรินธร – เข้าสู่ ถ.บรมราชชนนี (หรืออาจขึ้นทางคู่ขนานลอยฟ้า) – เข้าสู่ ถ.พุทธมณฑล สาย 4 – เข้าประตู 3 ของ ม.มหิดล ศาลายา

  • สถานีขนส่งเอกมัย – ม.มหิดล ศาลายา

จาก สถานีขนส่งเอกมัย – ถ.สุขุมวิท – เลี้ยวซ้ายเข้า ถ.สุขุมวิท 21 (หรือ ถ.รัชดาภิเษก) – เลี้ยวขวาเข้าสู่ ถ.พระราม 4 – ขึ้นทางด่วนที่ ‘ด่านพระราม 4 ที่ 1’ – ไปตามทางพิเศษเฉลิมมหานคร – ข้ามสะพานพระราม 9 – ลงทางด่วนเข้าสู่ ถ.พระราม 2 – เข้าสู่ ถ.วงแหวนตะวันตก (สาย 9) – เข้าสู่ ถ.บรมราชชนนี หรือ ถ.ปิ่นเกล้า–นครชัยศรี (สาย 338) – เข้าสู่ ถ.พุทธมณฑล สาย 4 – เข้าประตู 3 ของ ม.มหิดล ศาลายา

  • สถานีขนส่งหมอชิต – ม.มหิดล ศาลายา

จาก สถานีขนส่งหมอชิต – มาตาม ถ.กำแพงเพชร 2 – เข้าสู่ ถ.รัชดาภิเษก – ถ.วงศ์สว่าง – ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานพระราม 7 – ถ.จรัญสนิทวงศ์ – ถ.สิรินธร – เข้าสู่ ถ.บรมราชชนนี (หรืออาจขึ้นทางคู่ขนานลอยฟ้า) – เข้าสู่ ถ.พุทธมณฑล สาย 4 – เข้าประตู 3 ของ ม.มหิดล ศาลายา

  • สถานีขนส่งสายใต้ – ม.มหิดล ศาลายา

จากสถานีขนส่งสายใต้ – มาตาม ถ.บรมราชชนี (ทิศทางไป จ.นครปฐม) – เข้าสู่ ถ.พุทธมณฑล สาย 4 – เข้าประตู 3 ของ ม.มหิดล ศาลายา

  • สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) – ม.มหิดล ศาลายา

จาก สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) – เข้า ถ.เยาวราช – ถ.จักรเพชร – ข้ามสะพานพระปกเกล้า – ถ.ประชาธิปก – ผ่านวงเวียนใหญ่ – ถ.อินทรพิทักษ์ – ถ.เพชรเกษม – ผ่านแยกท่าพระ – เลี้ยวขวาเข้าสู่ ถ.ราชพฤกษ์ – เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ ถ.บรมราชชนนี – เข้าสู่ ถ.พุทธมณฑล สาย 4 – เข้าประตู 3 ของ ม.มหิดล ศาลายา

 

กิจกรรมตอนรับปี 1

กิจกรรมตอน ปี 1 ถือว่าเป็นช่วงที่กิจกรรมมีมากพอสมควรเลยนะคะ น้อง ๆ สำหรับกิจกรรมที่ต้องเข้าร่วมหลัก ๆ เลย คือ กิจกรรมรักน้อง หรือ การรับน้องของมหาวิทยาลัยนั่นเอง ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลของเราเป็นการรับน้องแบบสร้างสรรค์สมชื่อกิจกรรม “รักน้อง” มาก ๆ ค่ะ ซึ่งน้อง ๆ สามารถสนุกได้เต็มที่กันเลยนะ กิจกรรมถัดมา คือ กิจกรรมสแตนเชียร์ ซึ่งจะวัดความสามัคคีของแต่ละคณะ งานนี้แต่ละคณะงัดความสามารถออกมาเยอะมาก และจะสื่อถึงความสามัคคีและความร่วมมือร่วมใจ รักกันในรุ่นของตนเอง มาก ๆ ค่ะ และกิจกรรมสุดท้ายคือ กิจกรรมกีฬาเฟรชชี่ ซึ่งจะเป็นการจัดแข่งขันกีฬาที่ย่วนานมาก แต่ก็จะเต็มไปด้วยสีสันตลอดฤดูกาลเลยทีเดียว นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมหลัก ๆ ที่น้อง ๆไม่ควรพลาด และจะได้ ชั่วโมง AT ด้วยนะ และกิจกรรมอื่น ๆ คือกิจกรรมของชมรมนักศึกษา ต่าง ๆ ที่จะจัดให้ไปออกค่าย ก็จะมีประชาสัมพันธ์อยู่เรื่อย ๆ และที่ขาดไม่ได้เลย คือ คอนเสิร์ต มหิดลของเราถือว่าเป็นม.ที่จัดคอนเสิร์ตบ่อยมาก ก.ไก่ล้านตัวเลยล่ะ ถ้าน้อง ๆ ไม่อยากพลาดอย่าลืมแบ่งเวลาทำกิจกรรมและเรียนให้เต็มที่ด้วยนะจ้า เพราะพูดถึงเรื่องเรียน ม.ของเราก็โหดไม่เบา อิอิ
 

เพจ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล MUSA

 

เพจ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล MUSA

 

เพจ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล MUSA

 

สุดท้ายนี้ พี่อยากบอกว่า มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา เปรียบเหมือนบ้านหลังหนึ่งเลยค่ะน้อง ๆ แค่เข้ามาครั้งแรกก็รู้สึกอบอุ่นแล้ว ได้รับการต้อนรับอย่างดีมาก ตั้งแต่เจ้าหน้าที่พนักงาน จนมาถึงรุ่นพี่ ที่นี่อยู่กันเหมือนพี่น้อง มีอะไรช่วยเหลือกันได้ ไม่ใช่เพียงแต่คณะตัวเอง แต่หมายถึงเพื่อน ๆ คณะอื่นด้วย ตลอดเวลา 1 ปี ที่ได้เป็นเฟรชชี่อยู่ ณ ที่ แห่งนี้ ต้องยอมรับเลยว่าเหนื่อยและกดดัน แต่ความรู้สึกแบบนั้นหายไป เพราะบรรยากาศที่ร่มรื่น สังคมเพื่อนรอบข้างที่น่ารัก ความภูมิใจที่ยังไม่เคยหายไปว่าตนเองในเข้ามาเรียน ณ สถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ และกิจกรรมของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น และสิ่งที่สำคัญไม่ว่าจะอย่างไร น้อง ๆ ก็ไม่ควรทิ้งการเรียน และพยายาม อดทน กับเนื้อหาบทเรียนที่หนักหน่วง และแบ่งเวลาให้ดี เพียงเท่านี้ น้อง ๆ ก็จะใช้ชีวิต ณ ที่แห่งนี้ อย่างมีความสุข

ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากเข้ามาเรียนที่มหิดล แห่งนี้นะคะ ก็พยายามมาก ๆ เมื่อไหร่ที่เหนื่อย หรือท้อ ให้นึกถึงวันที่ตัวเองทำสำเร็จ และวันที่เราภูมิใจที่สอบติด ไม่ใช่เพียงแค่ตัวเอง แต่มีคุณพ่อ คุณแม่ ที่คอยอยู่เบื้องหลังเรา ที่รอคอยวันที่น้อง ๆ ทำสำเร็จ พี่เป็นกำลังใจให้นะคะ พี่ขอฝาก “มหาวิทยาลัยมหิดล” ไว้ในใจของน้อง ๆ ด้วยนะคะ ณ ที่ แห่งนี้ ยินดีต้อนรับเสมอ มาเป็น “ลูกพระราชบิดา” ไปด้วยกันนะคะ

 

เรื่องโดย : นศ.นฉพ.พัทธมน บุตะคุณ
นักศึกษาสาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us