ถ้าพูดถึงพลังงานนิวเคลียร์ หลายคนมักจะนึกถึงระเบิดหรือสงคราม ที่ได้เห็นผ่านตาจากในภาพยนตร์หรือในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เลยมองว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวและอันตราย แม้ภาพจำจะดูน่ากลัว แต่พลังงานนิวเคลียร์นั้นมีประโยชน์มากกว่าและใกล้ตัวกว่าที่คิด แถมอาชีพวิศวกรนิวเคลียร์ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดในไทยด้วย โย ยูอาสะ ชั้นปี 2 สาขาวิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์และรังสี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะมาเคลียร์ให้น้อง ๆ ได้เข้าใจว่าสาขานี้เรียนอะไรบ้าง
เป็นการศึกษาด้านนิวเคลียร์และรังสี เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อย่างในด้านการแพทย์ จะนำมาใช้วินิจฉัยหรือรักษาโรค ในด้านการเกษตร จะนำมาใช้ปรับปรุงพืชผลให้ได้คุณภาพตามที่ต้องการ และด้านอุตสาหกรรม จะใช้ในการควบคุมหรือตรวจสอบกระบวนการผลิต ซึ่งในการทำงานจะต้องมีการติดตั้งเครื่องมือ บำรุงรักษา คิดค้นและผลิต การใช้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและกฎหมายต่าง ๆ เราจึงจำเป็นต้องมีผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้ผลิตบัณฑิตมาเพื่อตอบสนองกับตลาดงานในประเทศ
โดยส่วนตัวมีความสนใจเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่แล้ว ตั้งแต่ช่วง ม. 3 ขึ้น ม. 4 เพราะว่าชอบเกี่ยวกับฟิสิกส์ และได้มาศึกษาเกี่ยวกับพวกโรงไฟฟ้า ได้เห็นเหตุการณ์ อุบัติเหตุ ที่เกิดกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็เลยคิดว่า มันเป็นสิ่งที่สามารถปรับปรุง และนำมาใช้ใหม่ได้ และก็เห็นว่านิวเคลียร์เป็นศาสตร์ที่น่าสนใจ สนุกและท้าทาย ก็เลยเลือกเรียนที่สาขานี้
ปี 1 เรียนวิชาพื้นฐานด้านวิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ แคลคูลัส ฟิสิกส์ เคมี คอมพิวเตอร์โปรแกรมมิ่ง ดรออิ้ง แมททีเรียล ซึ่งพวกนี้จะเป็นวิชาพื้นฐาน เรียนรวมกับวิศกรรมสาขาอื่น ๆ ด้วย พอขึ้นปี 2 จะเรียนวิชาเฉพาะของสาขานิวเคลียร์มากขึ้น เกี่ยวกับเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การตรวจวัดรังสี และมีวิชาที่เรียนรวมกับภาคเครื่องกลคือ วิชาเทอร์โมไดนามิก และวิชาเอ็นจิเนียริ่งแมคคามิค ปี 3 จะเรียนเจาะลึกทางด้านนิวเคลียร์มากขึ้นอีก และเราจะได้เลือกว่าอยากมุ่งเน้นไปทางด้านไหน โดยแบ่งเป็น4 กลุ่มใหญ่ กลุ่มอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม, กลุ่มการวัดต่าง ๆ, กลุ่มพลังงานนิวเคลียร์ และกลุ่มวัสดุศาสตร์ เทอม 2 ในช่วงซัมเมอร์จะต้องไปฝึกงาน และ ปี 4 จะเรียนเน้นในด้านที่เราเลือกมากขึ้น
หลักสูตรมีทางเลือกที่หลากหลายในวิชาเรียน ขึ้นอยู่กับเราว่าอยากทำงานในด้านไหน อาจารย์ผู้สอนก็มีประสบการณ์มายาวนาน เพราะตัวภาควิชาเปิดมา 40 กว่าปี มีการให้ความร่วมมือกับต่างประเทศ และในหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์และรังสี จุฬาฯ เป็นสถาบันแรกที่เปิดสอนในประเทศไทย และยังเป็นสาขาที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศไทยในอนาคตได้ด้วย
ต้องชอบและสนใจเกี่ยวกับนิวเคลียร์ ชอบเรียนฟิสิกส์ ส่วนการเตรียมตัวนั้น แนะนำให้เริ่มอ่านหนังสือตั้งแต่ ม. 4 เพราะจะได้ไม่หนักช่วง ม. 6 มาก โดยเน้นอ่านวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และในช่วง ม. 6 ให้เน้นทำโจทย์เยอะ ๆ การสอบเข้าในระบบ TCAS มีเปิดรอบรับตรง ต้องมี GPAX 2.50 ขึ้นไป ใช้คะแนนGAT, PAT 1, PAT 3ส่วนรอบ Admissions ยังไม่เปิดรับสาขานี้ แต่น้อง ๆ ที่แอดเข้ามาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ แบบยังไม่เลือกสาขา พอขึ้นปี 2 ก็สามารถมาเลือกวิศวกรรมนิวเคลียร์และรังสีได้
สำหรับน้อง ๆ ที่มีพื้นฐานด้านการคำนวณไม่แน่น แต่ว่ามีความสนใจในเรื่องฟิสิกส์และนิวเคลียร์ พี่อยากจะบอกว่าทักษะด้านการคำนวณ มันสามารถฝึกฝนกันได้ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความสนใจด้านนี้จริง ๆ ก็อยากให้เข้ามาเรียนก่อน ส่วนทักษะการคำนวณสามารถฝึกฝนจากการเรียน ทบทวนกับเพื่อน ๆ หรือปรึกษาอาจารย์ได้ตลอด
สายงานหลากหลายทั้งด้านการแพทย์ ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวกับการทำงานด้านรังสี ทั้งในโรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล คือเป็นวิศวกรนิวเคลียร์ในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งภาครัฐหรือเอกชน, ทำในด้านเกี่ยวกับการใช้เครื่องฉายรังสี ในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน, เป็นวิศวกรในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องในสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ กฟผ.
สาขาวิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์และรังสี
คณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
www.ne.eng.chula.ac.th
รอบที่ 1 โครงการโอลิมปิกวิชาการ
รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน
รอบที่ 4 Admissions (วิศวกรรมศาสตร์)
GPAX 20%, ONET 30%, GAT 15%, PAT 2 15%, PAT 3 20%