กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือที่รู้จักและเรียกกันสั้น ๆ ว่า กยศ. เป็นกองทุนให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียน นักศึกษา ซึ่งมาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา แบ่งเบาภาระด้านการเงินของผู้ปกครอง โดยจะต้องชำระหนี้คืนเมื่อจบการศึกษาแล้ว สำหรับน้อง ๆ ที่ประสงค์ขอกู้ยืมเงินดังกล่าวคงอยากรู้ใช่ไหมล่ะว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง คุณสมบัติในการขอกู้เป็นอย่างไร ต้องใช้เงินคืนเมื่อไหร่ อยากรู้ต้องได้รู้ ! วันนี้รวมมาฝากให้หายสงสัยกันแล้ว
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนที่มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาโดยการสนับสนุนค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและค่าครองชีพให้กับน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษาที่มีความจำเป็นหรือศึกษาในสาขาที่เป็นความต้องการหลัก ตั้งแต่ระดับมัธยมปลายสายสามัญและสายอาชีพ อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดยไม่คิดดอกเบี้ยระหว่างศึกษาอยู่ และจะต้องชำระเงินคืนหลังจากจบการศึกษาแล้วนั่นเอง
นักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่ระดับมัธยมปลายสายสามัญและสายอาชีพ อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา
1. ผู้กู้ยืมลงทะเบียนรับรหัสผ่านในระบบ e – Studentloan เพื่อรับรหัสผ่าน (ยังไม่ต้องระบุสถานศึกษา)
2. ผู้กู้ยืมยื่นแบบคำขอกู้ยืมเงิน
3. สถานศึกษาตรวจสอบคุณสมบัติ
4. สถานศึกษาบันทึกกรอบวงเงินกู้ยืมทั้งปี
5. สถานศึกษาประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิกู้ยืม
6. ผู้กู้ยืมทำสัญญากู้ยืมเงิน
7. สถานศึกษาตรวจสอบความถูกต้องของสัญญา
8. ผู้กู้ยืมบันทึกค่าเล่าเรียนและ/หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา
9. สถานศึกษาพิมพ์แบบลงทะเบียนให้ผู้กู้ลงนาม
10. สถานศึกษาตรวจสอบและยืนยันข้อมูลแบบลงทะเบียน
11. สถานศึกษานำส่งสัญญาและแบบลงทะเบียนฯ ให้ธนาคาร
1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย
2. เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ดังนี้ ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ หมายความว่า ผู้ที่มีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี รายได้ต่อครอบครัว พิจารณาตามหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
(2.1) รายได้รวมของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืม รวมกับรายได้ของบิดามารดา ในกรณีที่บิดา มารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง
(2.2) รายได้รวมของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืม รวมกับรายได้ของผู้ปกครอง ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองมิใช่บิดา มารดา
(2.3) รายได้รวมของนักเรียนหรือนักศึกษาผู้ขอกู้ยืม รวมกับรายได้ของคู่สมรส ในกรณีที่ผู้ขอกู้ยืมได้ทำการสมรสแล้ว
3. มีคุณสมบัติอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
(3.1) เป็นผู้ที่มีผลการเรียนดีหรือผ่านเกณฑ์การวัดและประเมินผลของสถาบันการศึกษา
(3.2) เป็นผู้ที่มีความประพฤติดี ไม่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษาขั้นร้ายแรง หรือไม่เป็นผู้ที่มีความประพฤติเสื่อมเสีย เช่น หมกมุ่นในการพนัน เสพยาเสพติดให้โทษ ดื่มสุราเป็นอาจิณหรือเที่ยวเตร่ในสถานบันเทิงเริงรมย์เป็นอาจิณ เป็นต้น
(3.3) เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบหรือประกาศการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาที่อยู่ในสังกัดการควบคุมหรือกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวง หรือส่วนราชการอื่น ๆ ทบวงมหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ
(3.4) ไม่เคยเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาใดๆ มาก่อน
(3.5) ไม่เป็นผู้ที่ทำงานประจำในระหว่างศึกษา
(3.6) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(3.7) ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(3.8) ต้องมีอายุในขณะที่ขอกู้ โดยเมื่อนับรวมกับระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี และระยะเวลาผ่อนชำระอีก 15 ปี รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60 ปี
1. แบบคำขอกู้ยืมเงินที่จัดพิมพ์ออกจากระบบ e-Studentloan และแบบคำขอกู้ยืมเงินที่เป็นเอกสาร(แบบ กยศ.101)
2. เอกสารของผู้ยื่นคำขอกู้ยืมเงิน
(2.1) สำเนาทะเบียนบ้าน หรือ
(2.2) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
3. เอกสารของบิดาและมารดา หรือผู้ปกครอง หรือคู่สมรสของผู้ยื่นคำขอกู้ยืมเงิน
(3.1) สำเนาทะเบียนบ้าน หรือ
(3.2) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
4. เอกสารประกอบการรับรองรายได้
(4.1) กรณีบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือคู่สมรสของผู้ขอกู้ยืมเงินมีรายได้ประจำ ให้ใช้หนังสือรับรองเงินเดือน/สลิปเงินเดือนของบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี
(4.2) กรณีบิดา มารดา ผู้ปกครอง ผู้ยื่นคำขอกู้ยืมเงิน หรือคู่สมรสของผู้ขอกู้ยืมเงินไม่มีรายได้ประจำให้ใช้หนังสือรับรองรายได้ครอบครัวของผู้ขอกู้ยืมเงิน (แบบ กยศ.102) และสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการของผู้รับรองรายได้
5. หนังสือแสดงความคิดเห็นของอาจารย์แนะแนวหรืออาจารย์ที่ปรึกษา (แบบ กยศ.103)
6. แผนผังแสดงที่ตั้งของที่อยู่อาศัย พร้อมรูปถ่ายที่อยู่อาศัยของบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
7. ใบแสดงผลการศึกษา/สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษาที่ผ่านมา
8. เอกสารอื่นๆ ซึ่งสถานศึกษาพิจารณาเพิ่มเติม
น้อง ๆ หลายคนอาจกังวลใจว่าตัวเองเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนแล้วอย่างนี้จะกู้เงิน กยศ. ได้หรือเปล่า ไม่ต้องกังวลใจไปครับ เพราะเรียนเอกชนก็สามารถกู้ได้เหมือนของรัฐ โดยวงเงินที่ได้ก็จะขึ้นอยู่กับสาขาที่เรียนหรืออาจก็มีเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติมก็สามารถศึกษารายละเอียดหรือสอบถามข้อสงสัยกับฝ่ายที่รับผิดชอบด้านนี้โดยตรงของมหาวิทยาลัยได้เลย
1. ผู้กู้ยืมเงินต้องชำระเงินกู้ยืมพร้อมทั้งดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด ร้อยละ 1 ต่อปี โดยต้องคืนให้กองทุนให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี นับแต่วันที่ต้องเริ่มชำระหนี้
2. ให้ผู้กู้ยืมเงินชำระหนี้งวดแรก ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม หลังจากครบระยะเวลาปลอดหนี้ โดยให้ชำระหนี้คืนเฉพาะเงินต้นในอัตราร้อยละ 1.5 ของวงเงินที่ได้กู้ยืม
3. การชำระหนี้งวดต่อๆไปให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินต้นคืนตามอัตราผ่อนชำระที่กองทุนกำหนด พร้อมด้วยดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด ในอัตราร้อยละ 1 ต่อปีของเงินต้นที่คงค้าง ภายในวันที่ 5 กรกฎาคมของทุกปี
4. หากผู้กู้ยืมเงินผิดนัดชำระหนี้ ผู้กู้ยืมเงินจะต้องชำระค่าปรับหรือค่าธรรมเนียมจัดการกรณี ผิดนัดชำระหนี้ตามอัตราที่กองทุนกำหนด
5. ผู้กู้ยืมเงินที่มีความประสงค์จะขอชำระหนี้คืนก่อนครบกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ หรือก่อนครบระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี สามารถชำระคืนได้โดยไม่เสียดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด
ค่าเทอม : ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด กยศ. จ่ายค่าเทอมเข้าระบบมหาวิทยาลัยอัติโนมัติ
ค่าครองชีพ : ระดับ ปวช./ปวส./ปริญญาตรี 3,000 บาท/เดือน
กยศ. เป็นเสมือน “เรือโอกาส” ที่ช่วยให้น้อง ๆ ได้มีทุนในการศึกษาและก้าวไปสู่ฝั่งฝันอย่างที่ตั้งใจไว้ ฉะนั้นแล้วน้อง ๆ คนไหนมีโอกาสได้รับทุนกู้ยืมจากกองทุนฯ เมื่อถึงเวลาก็อย่าลืมชำระเงินคืนตามระยะเวลาที่กำหนดด้วยนะครับ เพื่อเป็นการส่งต่อโอกาสดี ๆ ให้น้อง ๆ รุ่นต่อไปอย่างที่เราเคยได้รับ เชื่อว่าเงินทุนเหล่านี้จะช่วยให้น้อง ๆ ทุกคนมีอนาคตที่ดีและเห็นคุณค่าของการ “ให้” ด้วยเช่นกัน
กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สืบค้นจาก https://www.studentloan.or.th
เรื่อง : ภานุวัฒน์ มานพ