Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เปิดเทอม ขึ้น ม. 4 ปรับตัวอย่างไร

  Favorite

จากน้อง ม. 3 สู่พี่ ม. 4 นอกจากระดับชั้นสูงขึ้น การเรียนเฉพาะเจาะจงกว่าเก่า ยังเป็นช่วงเวลาสำคัญก่อนที่จะเข้าสู่การเป็นนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยที่มองข้ามไม่ได้เลย ทางที่ดีน้อง ๆ ควรปรับตัวเนิ่น ๆ ตั้งแต่เปิดเทอม ม. 4 วันแรก ไม่ว่าการเรียน การใช้ชีวิต หรือแม้แต่ความคิดที่ต้องเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นตามไปด้วย “เปิดเทอม ขึ้น ม. 4 ปรับตัวอย่างไร” วันนี้นำมาแบ่งปันกันแล้ว

 

เพื่อนแก๊งใหม่

แน่นอนว่าพอจบ ม. 3 น้อง ๆ กับเพื่อนในแก๊งส่วนหนึ่งก็ต้องแยกย้ายกันไปเรียนคนละแห่ง ตามที่แต่ละคนวางแผนไว้ ซึ่งน้อง ๆ ก็ต้องหาเพื่อนร่วมแก๊งใหม่ใช่ไหมล่ะ ขืนอยู่คนเดียวไม่มีใคร เม้าท์มอยคงเหงาแย่ แรก ๆ หลายคนอาจรู้สึกกล้า ๆ กลัว ๆ ที่ต้องเดินเข้าไปทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ไม่กล้าพูดคุย ได้แต่ส่งยิ้มอยู่ไกล ๆ (แอบมองเธออยู่ไม่รู้บ้างเลย อิอิ)

         

          สำหรับเพื่อนในแก๊งพี่มองว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับวัยเรียนอย่างเรา ไม่เพียงแต่เป็นคนที่ไปไหนมาไหนด้วยกันหรือมีไลฟ์สไตล์คล้ายกันเท่านั้น แต่เพื่อนในแก๊งยังเป็นคนที่คอยช่วยเหลือกันเมื่อมีปัญหา ไม่ว่าเรื่องเรียนหรือเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน หลายคนผ่านช่วงเวลาเลวร้ายไปได้เพราะมีเพื่อนในแก๊งนี่ล่ะครับที่ช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้เสมอ ยังไงแล้วอย่ากลัวที่จะเดินเข้าไปทำความรู้เพื่อนใหม่ เราต้องรู้จักปรับตัวและเชื่อมั่นในมิตรภาพ เชื่อว่าน้อง ๆ จะมีเพื่อนร่วมแก๊งที่น่ารักอีกเยอะเลยล่ะ

 

ย้ายโรงเรียนใหม่

ถือเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของน้อง ๆ หลายคนที่ต้องย้ายไปเรียน ม. 4 ในโรงเรียนใหม่ ซึ่งอาจเปลี่ยนภาคหรือจังหวัดไปเลยก็มีไม่น้อย เปลี่ยนทั้งสถานที่ ผู้คน และสิ่งแวดล้อมรอบตัว เชื่อว่าน้อง ๆ ต้องมีความกังวลกันบ้างล่ะ กลัวเข้ากับเพื่อนไม่ได้ กลัวคุยกันไม่รู้เรื่อง กลัวใช้ชีวิตไม่สนุกเหมือนตอนอยู่ที่เดิม แต่เมื่อน้อง ๆ ต้องย้ายจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ เราต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับคนอื่นให้ได้นะครับ เปิดเทอม ม. 4 วันแรกก็เริ่มได้เลย อาจจะเข้าไปทักทายเพื่อน ๆ พุดคุย/ซักถามคุณครูเรื่องที่ยังสงสัย เพื่อจะได้รู้ไว้และยังเป็นการทำความรู้จักไปในตัว และวันต่อ ๆ ไปก็ค่อย ๆ ปรับตัวและเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ไปทุกวัน พี่เชื่อว่าน้อง ๆ อยู่ร่วมกับทุกคนในโรงเรียนแห่งใหม่ได้อย่างแน่นอน ไม่ต้องกังวลใจ

 

จากโรงเรียนหญิงล้วนสู่โรงเรียนสหศึกษา

น้อง ๆ หลายคนอาจคุ้นชินกับการเรียนในโรงเรียนหญิงล้วน แต่พอจะเข้า ม. 4 ก็ต้องย้ายไปเรียนโรงเรียนแบบสหศึกษา ซึ่งทั้งหญิงและชายเรียนรวมกัน แล้วอย่างนี้ต้องปรับตัวเรื่องอะไรบ้าง ? หลัก ๆ ก็คงเรื่องการเรียน กิจกรรมภายในฯ ระเบียบวินัย การใช้ชีวิตในโรงเรียน และที่ขาดไม่ได้ก็เรื่องการคบเพื่อนนี่เอง ซึ่งต้องเข้าใจว่าพอเปลี่ยนมาเรียนแบบที่มีทั้งชายและหญิงเรียนรวมกัน น้อง ๆ อาจไม่คุ้นชินและไม่รู้จะวางตัวอย่างไรกับเพื่อนผู้ชายหรือแม้แต่เพื่อนผู้หญิงด้วยกันแต่มาจากคนละที่ ซึ่งพี่ก็เห็นว่าขั้นแรกน้อง ๆ ต้องเริ่มจากค่อย ๆ ทำความรู้จัก ไม่ว่าจากในห้องเรียนหรือการทำกิจกรรม ที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น ส่วนการปรับตัวเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าระเบียบวินัยหรือการใช้ชีวิตพี่คิดว่าคงไม่ต่างอะไรกันมาก อาจจะมีกฎเพิ่มเติมขึ้นมาแต่ยังไงแล้วก็ไม่ใช่ปัญหา พี่เชื่อว่าน้อง ๆ สามารถปรับตัวกันได้สบายอยู่แล้ว

 

เนื้อหาการเรียนเข้มข้นขึ้น

คงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องค่อย ๆ ปรับตัวพร้อม ๆ กับต้องอาศัยความขยันและเอาใจใส่เป็นตัวช่วยนะครับ เพราะเนื้อหาในระดับ ม. 4 แตกต่างไปจาก ม.ต้นหลาย ๆ เรื่องเลยล่ะ บางเรื่องน้อง ๆ อาจจะไม่เคยรู้ไม่เคยผ่านตามาเลย เข้าเรียนคาบแรกนั่งอึ้งปากค้างกันเป็นแถวก็มีให้เห็นกันบ่อย เพราะเนื้อหาการเรียนเข้มข้นขึ้นมาก แต่จะนั่งอึ้งไปทุกวันโดยไม่กลับไปทำความเข้าใจหรือหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเสริมความเข้าใจให้กับตัวเองทำแบบนั้นไม่ได้นะครับ เพราะอย่าลืมว่าตอนนี้น้อง ๆ เรียน ม. 4 แล้ว ซึ่งเป็นระดับชั้น ม.ปลาย ที่เข้าใกล้มหาวิทยาลัยเต็มที ขืนปล่อยปละละเลยอย่างที่แล้ว ๆ มา ไม่รอด แน่ ๆ !! ต้องฟิตคูณสองคูณสาม ปรับตัวให้ทันเนื้อที่เรียนให้ได้ เพราะนี่เพิ่งเริ่มต้น !!

 

เน้นสายการเรียนเพื่อปูทางสู่มหาวิทยาลัย

ตอนเรียน ม.ต้น น้อง ๆ คงจำได้ว่าแต่ละห้องก็เรียนเหมือน ๆ กัน แต่พอขึ้น ม. 4 นี่สิ เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ได้เรียนในทางที่เลือกมากขึ้น เพราะจะเน้นสายการเรียนเพื่อปูทางสู่มหาวิทยาลัยนั่นเอง ซึ่งแต่ละสายก็จะมีวิชาเรียนหลัก ๆ ต่างกันไป เช่น สายวิทย์ – คณิต ก็เรียน ฟิสิกส์ เคมี ชีวะฯ คณิต ฯลฯ ศิลป์ – ภาษา ก็เป็นพวกภาษาที่สาม ไม่ว่าภาษาจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ฯลฯ ส่วนสายศิลป์ – คำนวณ ก็เน้นตัวเลขกับภาษา ฉะนั้นน้อง ๆ เรียน ม.4 และเลือกสายการเรียนที่ตัวเองสนใจแล้ว ต่อไปก็ต้องปรับตัวให้ได้ให้ทันนะครับ เพราะความรู้ที่เรียนตั้งแต่ ม. 4 – ม. 6 จะเป็นสิ่งที่ปูทางสู่มหาวิทยาลัยนั่นเอง

 

รับมืออย่างไรเมื่อเลือกเรียน ม.ปลาย

การเรียนระดับชั้น ม.ปลาย (ม. 4 – ม. 6) เป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญสำหรับน้อง ๆ ที่เลือกเรียนสายสามัญทุกคน นอกจากความรู้ที่ต้องฟิตมากขึ้น ความคิดที่ต้องพัฒนาอยู่เสมอ น้อง ๆ ยังมีภารกิจใหญ่ที่ต้องเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกด้วย ฉะนั้นเมื่อตัดสินใจเลือกเรียนในสายที่ชอบแล้วพี่ก็อยากให้น้อง ๆ วางแผนให้ดีและเริ่มจริงจังในการเรียนตั้งแต่ ม. 4 นะครับ เพราะเนื้อหาเหล่านั้นก็จะเชื่อมโยงกันไปถึงชั้น ม. 5, ม. 6 และระดับมหาวิทยาลัยอีกด้วย ถ้าน้อง ๆ ไม่เข้าใจ ไม่กระตือรือร้นที่จะขวนขวายเพิ่มเติมตั้งแต่ตอนนี้ พี่คิดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะกลับไปรื้อฟื้นใหม่ ฉะนั้นถ้ารักในสิ่งที่ตัวเองเรียน สิ่งที่ตัวเองอยากจะทำงานในอนาคต ก็ให้ตั้งใจทำให้ดีที่สุดตั้งแต่วันนี้เลยนะครับ อย่าปล่อยให้สายเกินแก้ !!

 

เคล็ดลับปรับตัว-พัฒนาตัวเอง

1. เปิดใจรับรู้สิ่งที่ไม่คุ้นเคย

2. กล้าเผชิญหน้ากับความท้าทาย

3. ฝึกจัดตารางชีวิต และทำกิจวัตรตามตารางเวลาที่วางไว้

4. อย่าผัดวันประกันพรุ่ง

5. ฝึกตัวเองให้คิดบวกอยู่เสมอ

6. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน

7. รู้จักสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น

8. หาข้อดีในตัวเอง

9. เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

10. มีวินัยในตัวเองอยู่เสมอ

 

          การปรับตัวในช่วงเปิดเทอม ม. 4 วันแรกมีความสำคัญต่อการเรียน ม.ปลาย ของน้อง ๆ ทุกคน ถ้าเราไม่รู้จักปรับเปลี่ยนตัวเอง ไม่ว่านิสัยส่วนตัว การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น หรือการเรียนที่ต้องจริงจังมากขึ้น พี่คิดว่าน้อง ๆ กำลังทำลายโอกาสของตัวเองที่จะไปถึงฝั่งฝันที่ตั้งไว้ ฉะนั้นเมื่อมีเป้าหมายก็ให้ไปถึงให้ได้ ใช้ความพยายามเป็นแรงผลักดัน และพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต

 

เรื่อง : ภานุวัฒน์ มานพ

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us