Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
คำทับศัพท์ Social Media ที่มักเขียนผิด !!

  Favorite

สวัสดีครับน้อง ๆ เคยเป็นกันไหมเอ่ยกำลังทำการบ้านอยู่จู่ ๆ ก็ต้องหยุดชะงักเพราะลังเลว่าคำที่จะเขียนที่ถูกต้องมันเขียนยังไงกันล่ะเนี่ย มองซ้ายมองขวาก็ไม่รู้ถามใคร โทรถามเพื่อนก็บอกไม่รู้สักคน หาในเน็ตก็มีหลายแบบเกิ๊น โดยเฉพาะคำทับศัพท์โซเชียลเจ้าปัญหานี่แหละ อยากโพสต์สเตตัสบนเฟซบุ๊กก็ไม่มั่นใจว่าตัวเองจะเขียนถูกไหม (แย่ล่ะ !! เอาไงดี ฮ่า ๆ ) ถ้านั้นมาดูกันเลยดีกว่า “คำทับศัพท์ Social Media ที่มักเขียนผิด !!” มีอะไรบ้างแล้วที่ถูกต้องเขียนยังไงกัน จะได้ใช้ถูกต้องแบบไม่ต้องอายใครอีกต่อไป ตามมาดูกันเลยครับ

 

1. FACEBOOK

คำที่เขียนถูก : เฟซบุ๊ก

มักเขียนผิดเป็น : เฟสบุ๊ค

คำอธิบาย : คำว่า “เฟซ” ต้องสะกดด้วยตัว “ซ” ส่วนคำว่า “บุ๊ก” ต้องสะกดด้วยตัว “ก”

 

2. LIKE

คำที่เขียนถูก : ไลก์

มักเขียนผิดเป็น : ไลค์

คำอธิบาย : ใช้ตัว “ก” แล้วเติมการันต์ ไม่ใช่ตัว “ค” อย่างที่เรามักพบเห็น

 

3. CHAT

คำที่เขียนถูก : แช็ต

มักเขียนผิดเป็น : แชท

คำอธิบาย : ต้องสะกดด้วยตัว “ต” และเติมไม้ไต่คู้บนตัว “ช”

 

4. PROFILE

คำที่เขียนถูก : โพรไฟล์

มักเขียนผิดเป็น : โปรไฟล์

คำอธิบาย : ต้องเขียนว่า “โพร” ซึ่งใช้ตัว “พ” ไม่ใช่ “โปร” ซึ่งใช้ตัว “ป”

 

5. UPLOAD

คำที่เขียนถูก : อัปโหลด

มักเขียนผิดเป็น : อัพโหลด

คำอธิบาย : คำว่า “อัป” ต้องสะกดด้วยตัว “ป” ไม่ใช่ตัว “พ”

 

6. INTERNET

คำที่เขียนถูก : อินเทอร์เน็ต

มักเขียนผิดเป็น : อินเตอร์เน็ต

คำอธิบาย : ต้องใช้คำว่า “เทอร์” ซึ่งใช้ตัว “ท” ไม่ใช่ตัว “ต”

 

7. POST

คำที่เขียนถูก : โพสต์

มักเขียนผิดเป็น : โพส

คำอธิบาย : หลังตัวสะกดต้องใช้ตัว “ต” แล้วเติมการันต์

 

8. TAG

คำที่เขียนถูก : แท็ก

มักเขียนผิดเป็น : แท็ค

คำอธิบาย : ต้องใช้ตัว “ก” เป็นตัวสะกด

 

9. CLICK

คำที่เขียนถูก : คลิก

มักเขียนผิดเป็น : คลิ๊ก

คำอธิบาย : คำที่เขียนถูกต้องไม่ต้องเติมไม้ตรี

 

10. APPLICATION

คำที่เขียนถูก : แอปพลิเคชัน

มักเขียนผิดเป็น : แอพพลิเคชั่น

คำอธิบาย : คำว่า “แอป” ต้องสะกดด้วย “ป” ส่วนคำว่า “ชัน” ไม่ต้องเติมไม้เอก

 

11. COMMENT

คำที่เขียนถูก : คอมเมนต์

มักเขียนผิดเป็น : คอมเมนท์

คำอธิบาย : ต้องใช้ตัว “ต” หลังตัวสะกดแล้วเติมการันต์

 

12. EMAIL

คำที่เขียนถูก : อีเมล

มักเขียนผิดเป็น : อีเมล์

คำอธิบาย : ไม่ต้องเติมการันต์บนตัว “ล”

 

13. UPDATE

คำที่เขียนถูก : อัปเดต

มักเขียนผิดเป็น : อัพเดท

คำอธิบาย : คำว่า “อัป” ต้องสะกดด้วยตัว “ป” ส่วนคำว่า “เดต” ต้องสะกดด้วยตัว “ต”

 

14. WEBSITE

คำที่เขียนถูก : เว็บไซต์

มักเขียนผิดเป็น : เว็ปไซต์

คำอธิบาย : คำว่า “เว็บ” ต้องใช้ตัว “บ” เป็นตัวสะกด

 

15. HILIGHT

คำที่เขียนถูก : ไฮไลต์

มักเขียนผิดเป็น : ไฮไลท์

คำอธิบาย : คำว่า “ไลต์” ต้องใช้ตัว “ต” แล้วเติมการันต์

 

16. LINK

คำที่เขียนถูก : ลิงก์

มักเขียนผิดเป็น : ลิงค์, ลิ้ง

คำอธิบาย : หลังตัวสะกดต้องใช้ตัว “ก” แล้วเติมการันต์

 

17. DIGITAL

คำที่เขียนถูก : ดิจิทัล

มักเขียนผิดเป็น : ดิจิตอล

คำอธิบาย : พยางค์ที่ 3 ต้องเขียนและออกเสียงว่า “ทัล” ไม่ใช่ “ตอล”

 

18. BLOG

คำที่เขียนถูก : บล็อก

มักเขียนผิดเป็น : บล็อค

คำอธิบาย : ต้องสะกดด้วยตัว “ก” ไม่ใช่ตัว “ค”

 

19. SOCIAL NETWORK

คำที่เขียนถูก : โซเชียลเน็ตเวิร์ก

มักเขียนผิดเป็น : โซเชียลเน็ตเวิร์ค

คำอธิบาย : คำว่า “เวิร์ก” ต้องสะกดด้วยตัว “ก” ไม่ใช่ตัว “ค”

 

20. SOCIAL MEDAI

คำที่เขียนถูก : โซเชียลมีเดีย

มักเขียนผิดเป็น : โซเชียลมีเดียร์

คำอธิบาย : ไม่ต้องเติมตัว “ร” และการันต์ในคำว่า “เดีย”

 

หลักเกณฑ์การทับศัพท์

ราชบัณฑิตยสภา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การทับศัพท์ไว้ดังนี้
1. การทับศัพท์ให้ถอดอักษรในภาษาเดิมพอควรแก่การแสดงที่มาของรูปศัพท์ และให้เขียนในรูปที่อ่านได้สะดวกในภาษาไทย
2. การวางหลักเกณฑ์ได้แยกกำหนดหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่าง ๆ แต่ละภาษาไป
3. คำทับศัพท์ที่ใช้กันมานานจนถือเป็นภาษาไทย และปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานแล้ว ให้ใช้ต่อไปตามเดิม เช่น ช็อกโกเลต, ช็อกโกแลต, เชิ้ต, ก๊าซ, แก๊ส
4. คำวิสามานยนามที่ใช้กันมานานแล้ว อาจใช้ต่อไปตามเดิม เช่น Victoria = วิกตอเรีย, Louis = หลุยส์ , Cologne = โคโลญ5. ศัพท์วิชาการซึ่งใช้เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ศัพท์ทั่วไป อาจเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ขึ้นตามความจำเป็น

 

หลังจากได้รู้การเขียนคำทับศัพท์ Social Media ที่ถูกต้องว่าเขียนยังไง แอบอึ้งกันเลยใช่ไหมล่ะ เพราะหลายคนคงไม่เคยรู้มาก่อนว่าหน้าตาของคำที่เขียนถูกต้องต้องเป็นแบบนี้นี่เอง แอบเขียนในสมุดการบ้านและโพสต์สเตตัสเฟซบุ๊กแบบผิด ๆ มาซะนาน รู้อย่างนี้แล้วต่อไปก็อย่าลืมเอาแบบที่ถูกไปใช้ด้วยนะครับ และจะดีกว่านั้นถ้าบอกต่อเพื่อน ๆ หรือคนรอบตัวให้รู้ด้วยเพราะยังไงการเขียนอย่างถูกต้องนอกจากช่วยสร้างความเข้าใจที่ตรงกันก็ยังสร้างความน่าเชื่อถือและแสดงถึงความรู้ของเราด้วยยังไงล่ะ

 

สอบถามข้อมูลการใช้ภาษาไทย
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา โทรศัพท์ 0-2356-0466-70, 0-2356-0477
อีเมล : ripub@royin.mail.go.th
Facebook : ราชบัณฑิตยสภา

 

เรื่อง : ภานุวัฒน์ มานพ

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us