Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
แนะแนวศึกษาต่อสายอาชีพ อาชีวศึกษา (ปวช.)

  Favorite

“จบ ม. 3 เรียนสายอาชีพดีไหม ?”

เชื่อเลยว่านี่เป็นคำถามฮอตฮิตติดดาวที่น้อง ๆ หลายคนพูดถึงกันบ่อยเชียวล่ะ แต่หลายคนก็ลังเลตัดสินใจไม่ได้ซะที ซึ่งอาจเกิดจากยังหาตัวเองไม่เจอว่าชอบอะไร ถ้าเรียนแล้วจะโอเคไหม ? มีงานรองรับจริงหรือเปล่า ? แต่สำหรับพี่คิดว่าความลังเลเหล่านี้เป็นเพราะน้อง ๆ ยังไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพียงพอและตรงความต้องการยังไงล่ะครับ ถ้านั้นไม่ต้องห่วงวันนี้พี่จัดหนักจัดเต็ม แนะแนวศึกษาต่อสายอาชีวศึกษา (ปวช.)  มาให้น้อง ๆ ได้รู้กันแล้ว ประเด็นไหนเด็ด ประเด็นไหนยังคาใจสำหรับการเรียนต่อสายอาชีวะฯ ตามมาไขข้อสงสัยให้กระจ่างกันไปเลยดีกว่า

 

เรื่องน่ารู้ของคนพันธุ์อา (อาชีวศึกษา)

สำหรับน้อง ๆ ที่จบ ม. 3 รู้ไหมล่ะว่าการเรียนต่อสายอาชีพในโรงเรียนอาชีวศึกษาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลย เพราะเป็นหลักสูตรที่พัฒนาเฉพาะสาขาวิชาชีพให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานยังไงล่ะครับ น้อง ๆ สนใจสาขาไหนก็เลือกเรียนสาขานั้นได้เลย ใช้เวลาเรียนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพียง 3 ปีเท่านั้น ส่วนอีก 2 ปีจะเป็นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) แต่ใครจะเรียนแค่ ปวช. แล้วทำงานเลยก็ได้เหมือนกัน ซึ่งพูดได้เลยว่าสายอาชีพเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมากในปัจจุบันและอนาคต ประเด็นน่าสนใจก็คือ คนเรียนสายอาชีพยังน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาดแรงงาน ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสของคนเรียนสายอาชีวะฯ ซึ่งแน่นอนว่าเปอร์เซ็นต์ตกงานน้อยมากเมื่อจบออกมา

 

สายอาชีวะฯ เรียนยากไหม ?

บอกเลยว่าเรียนสายอาชีวะฯไม่ยากอย่างที่คิดครับน้อง ๆ ในห้องเรียนส่วนใหญ่แล้วไม่เน้นทฤษฏีมากแต่จะเน้นปฏิบัติเป็นหลัก นั่นก็เท่ากับว่าน้อง ๆ จะได้ลงมือปฏิบัติจริง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเลยล่ะเพราะจะได้รู้ว่าของจริงยากง่ายแค่ไหน มีเรื่องไหนต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ใครกลัวว่าจะทำไม่ได้ไม่ต้องกังวลไปเชื่อเลยว่าโรงเรียนสายอาชีวะฯทุกแห่งมีครูอาจารย์สายอาชีพที่พร้อมให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ให้น้อง ๆ เต็มที่แน่นอน เอาเป็นว่าเรียนสายอาชีวะฯ ไม่ยากเลยครับ ขอเพียงน้อง ๆ ตั้งใจทุกอย่างก็ไปได้สวยแน่นอน

 

หลักสูตรการศึกษา

เปิดการศึกษาในประเภทวิชาต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ประเภทวิชาอุตสาหกรรม

1.1 สาขาวิชาเครื่องกล แบ่งออกเป็น สาขางานยานยนต์ เครื่องกลอุตสาหกรรม เครื่องกลเรือ เครื่องกลเกษตร ตัวถังและสีรถยนต์

1.2 สาขาวิชาเครื่องมือกลและซ่อมบำรุง แบ่งออกเป็น สาขางานเครื่องมือกล ซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล เขียนแบบเครื่องกล ชิ้นส่วนเครื่องจักรกลเกษตร แม่พิมพ์พลาสติก แม่พิมพ์โลหะ

1.3 สาขาวิชาโลหะการ แบ่งออกเป็น สาขางานเชื่อมโลหะ อุตสาหกรรมต่อตัวถังรถโดยสาร

1.4 สาขาวิชาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งออกเป็น สาขางานไฟฟ้ากำลัง อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม เมคคาทรอนิกส์ เทคนิคคอมพิวเตอร์

1.5 สาขาวิชาการก่อสร้าง แบ่งออกเป็น สาขางานก่อสร้าง โยธา สถาปัตยกรรม เครื่องเรือนและการตกแต่งภายใน สำรวจ

1.6 สาขาวิชาการพิมพ์ แบ่งออกเป็น สาขาการพิมพ์

1.7 สาขาวิชาแว่นตาและเลนส์ แบ่งออกเป็น สาขางานแว่นตาและเลนส์

1.8 สาขาวิชาการต่อเรือ แบ่งออกเป็น สาขางานต่อเรือโลหะ ต่อเรือไม้ ต่อเรือไฟเบอร์กล๊าส นาวา สถาปัตย์ ซ่อมบำรุงเรือ

1.9 สาขาวิชาผลิตภัณฑ์ยาง แบ่งออกเป็น สาขางานผลิตภัณฑ์ยาง

 

2. ประเภทวิชาพณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ

2.1 สาขาวิชาพณิชยการ แบ่งออกเป็น สาขางานการบัญชี การขาย การเลขานุการ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจสถานพยาบาล การประชาสัมพันธ์ ภาษาต่างประเทศ งานสำนักงานสำหรับผู้พิการทางสายตา

2.2 สาขาวิชาธุรกิจบริการ แบ่งออกเป็น สาขางานการจัดการความปลอดภัย การจัดการความสะอาด

 

3. ประเภทวิชาศิลปกรรม

3.1 สาขาวิชาศิลปกรรม แบ่งออกเป็น สาขางาน วิจิตรศิลป์ การออกแบบ ศิลปหัตถกรรม อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เครื่องเคลือบดินเผา เทคโนโลยีการถ่ายภาพฯ เครื่องประดับอัญมณี ช่างทองหลวง เทคโนโลยีศิลปกรรม การพิมพ์สกรีน คอมพิวเตอร์กราฟิก ศิลปหัตถกรรมโลหะ รูปพรรณและเครื่องประดับ ดนตรีสากล เทคโนโลยีนิเทศศิลป์ ช่างทันตกรรม

 

4. ประเภทวิชาคหกรรม

4.1 สาขาวิชาผ้าและเครื่องแต่งกาย แบ่งออกเป็น สาขางานผลิตและตกแต่งสิ่งทอ ออกแบบเสื้อผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า อุตสาหกรรมเสื้อผ้า ธุรกิจเสื้อผ้า

4.2 สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ แบ่งออกเป็น สาขางาน อาหารและโภชนาการ แปรรูปอาหาร ธุรกิจอาหาร

4.3 สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ แบ่งออกเป็น สาขางานคหกรรมการผลิต คหกรรมการบริการ ธุรกิจ คหกรรม คหกรรมเพื่อการโรงแรม

4.4 สาขาวิชาเสริมสวย แบ่งออกเป็น สาขางาน เสริมสวย

 

5. ประเภทวิชาเกษตรกรรม

5.1 สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ แบ่งออกเป็น สาขางานพืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร ช่างเกษตร เกษตรทั่วไป การประมง

 

6. ประเภทวิชาประมง

6.1 สาขาวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แบ่งออกเป็น สาขางานเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

6.2 สาขาวิชาแปรรูปสัตว์น้ำ แบ่งออกเป็น สาขางานแปรรูปสัตว์น้ำ การผลิตซูริมิและผลิตภัณฑ์

6.3 สาขาวิชาประมงทะเล แบ่งออกเป็น สาขางานประมงทะเล

 

7. ประเภทวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

7.1 สาขาวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยว แบ่งออกเป็น สาขางานการโรงแรม การท่องเที่ยว

 

8. ประเภทวิชาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

8.1 สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งทอ แบ่งออกเป็น สาขางานเทคโนโลยีสิ่งทอ

8.2 สาขาวิชาเคมีสิ่งทอ แบ่งออกเป็น สาขางานเคมีสิ่งทอ

8.3 สาขาวิชาอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป แบ่งออกเป็น สาขางานอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป

 

9. ประเภทวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

9.1 สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ แบ่งออกเป็น สาขางานเทคโนโลยีสารสนเทศ

9.2 สาขาวิชาเทคโนโลยีระบบเสียง แบ่งออกเป็น สาขางานเทคโนโลยีระบบเสียง

 

10. หลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) 2551

10.1 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิชาเอกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ

10.2 สาขาวิชาเครื่องกล วิชาเอกเทคนิคช่างยนต์

10.3 สาขาวิชาเทคนิคการผลิต วิชาเอกเชื่อมและประสาน

10.4 สาขาวิชาโยธา วิชาเอกเทคนิคโยธา

10.5 สาขาวิชาไฟฟ้า วิชาเอกเทคนิคไฟฟ้ากำลัง

10.6 สาขาวิชาไฟฟ้า วิชาเอกเทคนิคไฟฟ้าสื่อสาร

 

ค่าเทอม

เรียนสายอาชีวะฯค่าเทอมไม่แพงอย่างที่คิด คร่าว ๆ ตามที่พี่ได้ศึกษามาแพงสุดก็ประมาณ 4,000 - 5,000 บาท/เทอม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจสูงกว่านี้ ขึ้นอยู่กับสาขาที่เรียนและสถาบันที่เปิดสอนด้วยนะครับ แต่หากน้อง ๆ กังกลเรื่องค่าเทอมค่าใช้จ่ายก็อาจยื่นขอทุนการศึกษากับโรงเรียนตามที่มีการประกาศไว้หรืออาจกู้ผ่านกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถทำได้

 

โอกาสในการทำงาน

น้อง ๆ รู้ไหมครับว่าหลายปีมานี้รัฐหันมาสนับสนุนคนเรียนสายอาชีพมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และคาดว่าจะมีการให้ทุนเรียนถึงป.เอกเลยทีเดียว สิ่งนี้คงการันตีได้ดีว่าเด็กสายอาชีวะฯ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากจริง ๆ นั่นก็เท่ากับว่าไม่ต้องกังวลเรื่องทำงานเลย เพราะน้อง ๆ เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของยุคนี้ยังไงล่ะ พูดกันง่าย ๆ ก็แรงงานกลุ่มนี้ยังขาดแคลนในยุคที่เปิดการค้าเสรีฯ ขณะที่ความต้องการกำลังคนมากขึ้นต่อเนื่องทั้งในภาคธุรกิจ การประกอบการ ฯลฯ จึงเป็นโอกาสของน้อง ๆ สายอาชีวะฯ ซึ่งเรียนวิชาชีพเฉพาะยังไงล่ะ ใครฝีมือดีเข้าขั้นโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่ก็มากตามไปด้วย รู้อย่างนี้แล้วก็สบายใจได้เลยครับเพราะยังไงเรียนสายอาชีวะฯการันตีมีงานทำแน่นอน

 

11 ข้อดีของสายอาชีวะฯ ที่ต้องกดไลก์ให้รัว ๆ

1. หางานง่าย เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ

2. เน้นปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี ช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ มีความชำนาญและประสบการณ์จากการทำงานโดยตรง

3. มีหลักสูตรวิชารองรับหลากหลาย เลือกได้ตามความสนใจ

4. สามารถเรียนต่อ ปวส. หรือปริญญาตรีถึงเอกก็ได้

5. เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย มีรายได้ระหว่างเรียน

6. หน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี

7. มีวิชาชีพติดตัวไปตลอด โอกาสตกงานน้อยมาก

8. การเรียนไม่เครียดเกินไป

9. เข้าสังคมได้ง่าย เพราะต้องทำงานกับคนหลากหลายกลุ่มอยู่เสมอ

10. มีความมั่นในตัวเอง กล้าตัดสินใจ สู้งาน

11.สามารถพัฒนาตัวเองสู่ระดับบริหารในระดับสูงต่อไปได้

 

สังคมเด็กอาชีวะฯไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

          พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนเลือกที่จะปฏิเสธให้ลูกของตัวเองเรียนสายอาชีพฯ เหตุผลหนึ่งก็เป็นเพราะเพราะภาพมุมลบที่เกิดขึ้นจากคนไม่กี่คน แต่จริง ๆ แล้วรู้ไหมว่านั่นเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกลุ่มที่ทำประโยชน์ ถ้าน้อง ๆ ชอบสายอาชีพอยากเรียนอาชีวะฯ ก็อยากให้เลือกตามความสนใจของตัวเองนะครับ เพราะเชื่อเลยว่าการได้ทำสิ่งที่รักและชอบจะทำให้น้อง ๆ ทำได้ดีแล้วอีกอย่างไม่ตกงานอีกต่างหาก ส่วนเรื่องใช้ชีวิตหรือสังคมเด็กอาชีวะฯ พี่คิดว่าน้อง ๆ สามารถเลือกเองได้ เพราะยังไงถ้าไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เลือกคบเพื่อนที่ดีก็สบายใจได้เลย สังคมเด็กอาชีวะฯจึงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครต่อใครเข้าใจ แต่มุมกลับกันยังมีเรื่องราวดี ๆ อีกเยอะที่รอน้อง ๆ เข้าไปค้นหาคำตอบ

 

           ประเด็นต่าง ๆ ที่นำมาแนะแนวทางให้กับน้อง ๆ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเรียนต่อสายอาชีพหลังจบ ม. 3 นะครับ เพราะยังไงแล้วเส้นทางนี้มีดีกว่าที่คิด โดยเฉพาะในยุคที่คนตกงานเป็นจำนวนมากและการแข่งขันสูงขึ้น แต่อย่างไรก็แล้วแต่คนที่จะตอบข้อสงสัยได้ดีที่สุดว่าอยากเรียนอะไรก็คือตัวของน้อง ๆ เอง

 

แหล่งข้อมูล
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สืบค้นจาก http://www.vec.go.th
เรื่อง : ภานุวัฒน์ มานพ

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us