Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
[รีวิว] แนะนำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หลักสูตรนานาชาติ (BALAC)

  Favorite

สวัสดีค่ะน้อง ๆ “พี่พิงค์” พิชญา วัชโรดมประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรนานาชาติ (BALAC) ชั้นปีที่ 1 ค่ะ อาจจะมีน้อง ๆ หลาย ๆ คนที่อยากเข้าคณะนี้แต่กลัวหรือไม่แน่ใจว่าจะเหมาะกับเราไหม เรียนไหวไหม ไม่ใช่เด็กอินเตอร์จะเข้าได้รึเปล่า พี่ขอยืนยันในฐานะที่พี่ก็เรียนโรงเรียนไทยค่ะ ว่าขอแค่เรามีความพยายามและขยันอย่างสม่ำเสมอเราสามารถสอบติดคณะนี้ได้และเรียนไหวอย่างแน่นอน ! สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่สนใจที่จะเข้าคณะนี้ อยากรู้วิธีการเตรียมความพร้อม แนวข้อสอบ วิชาการเรียนการสอน หรืออยากรู้เกี่ยวกับชีวิตสนุก ๆ ในรั้วจามจุรี วันนี้พี่พิงค์มีคำตอบมาให้น้อง ๆ ค่ะ
 

ภาพ : www.chula.ac.th/th/archive/gallery


คณะอักษรศาสตร์ อินเตอร์ หรือที่เราเรียกกันว่า “บาลัค”

ก่อนอื่นพี่ต้องขอแนะนำคณะอักษรศาสตร์ อินเตอร์ หรือที่เราเรียกกันว่า “บาลัค” (Bachelor of Arts Program in Language and Culture) กันก่อน คณะของเราไม่ได้มีเรียนแค่ภาษาอย่างเดียวอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจนะคะ แต่เรายังเรียนเรื่องสังคม วัฒนธรรม มนุษย์ และความเป็นมาของสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวเราอีกด้วย โดยการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยส่วนมากก็จะเป็นการจดเลกเชอร์ และการวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ ในห้องเรียนโดยมีอาจารย์ผู้สอนที่เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ โดยตรงมานั่งวิเคราะห์ประเด็นกับเรา

 

การเรียนการสอน

น้อง ๆ ที่สอบติดคณะนี้สิ่งที่น้อง ๆ ต้องเรียนในปีหนึ่ง คือเรื่องของการเขียนและการอ่านภาษาอังกฤษและวิชาเกี่ยวกับวัฒนธรรมเป็นวิชาบังคับ เพราะเราเป็นคณะที่มีเอกหรือ Major เดียว คือเอกภาษาและวัฒนธรรม ส่วนวิชาโทหรือ Minor เราสามารถเลือกเองได้ซึ่งตอนนี้มีเปิดให้เลือกเป็นภาษาที่สาม และสองสาขาใหม่คือ Global Cultures ที่เรียนเกี่ยวกับโลก และ Media Cultures ที่เรียนเกี่ยวกับสื่อค่ะ

สำหรับพี่พี่คิดว่าภาษาที่สามเป็นภาษาที่สำคัญมากพี่เลยเลือกเรียนภาษาจีน เพราะคิดว่าในปัจจุบันประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอิทธิพลและมีแนวโน้มที่จะขยายตลาดการค้าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ภาษาจีนจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการสื่อสารทางธุรกิจในอนาคต ทั้งนี้น้อง ๆ สามารถเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเองได้ตามความสนใจของตัวเองค่ะ

นอกจากนี้น้อง ๆ ยังสามารถไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศและโอนย้ายหน่วยกิตกลับมาที่ไทย เราก็จะจบพร้อมเพื่อน ๆ ได้ค่ะถึงเราจะไปเรียนที่ต่างประเทศ และถ้าใครเรียนดีตลอดสี่ปีการศึกษาทางบาลัคก็มีทุนการศึกษาเพื่อไปเรียนต่อตอนปริญญาโทที่ต่างประเทศอีกด้วยค่ะ
 


ความสุขในการเรียน

สิ่งที่พี่ประทับใจและชอบมากที่สุดในการเรียนบาลัคคือการที่เราสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ไม่มีผิดถูก และทุกคนเคารพในความคิดเห็นของกันและกัน การถกเถียงกันในเรื่องปัญหาต่าง ๆ ระหว่างนิสิตด้วยกันและอาจารย์ทำให้เราได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ทำให้เราเข้าใจโลกและสังคมมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ ในการที่เราจะดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับคนในสังคมอย่างชาญฉลาด รู้เท่าทัน มีความสุขและสามารถที่จะปรับตัวตามโลกของเราที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เรื่องของเพื่อน ๆ และสังคมในบาลัคก็เป็นสิ่งที่พี่ประทับใจไม่แพ้กับการเรียนการสอนเลยค่ะ เพราะพี่มองว่าที่บาลัคเราอยู่กันแบบพี่น้อง เป็นครอบครัวเดียวกัน มีอะไรเราก็คอยช่วยเหลือกันตลอด เพื่อน ๆ ของเราก็มีทั้งเด็กไทย และเด็กต่างชาติ ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนความคิดและวัฒนธรรมรวมถึงได้ฝึกใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารระหว่างกันด้วย

 

กิจกรรม

ที่คณะของเราก็ไม่ใช่ว่าจะเรียนอย่างเดียวนะคะ ยังมีกิจกรรมมากมายทั้งในคณะและในมหาลัยให้น้อง ๆ เลือกที่จะเข้าร่วมได้อีกด้วยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมรับน้องของมหาวิทยาลัย กิจกรรมรับน้องของคณะอักษร มีการแข่งขันกีฬา แข่งขันการเป็นพิธีกรของจุฬาฯ การเต้น การร้อง การประกวดวงดนตรี การทำงานจิตอาสา และการเป็นกลุ่มตัวแทนนิสิตของจุฬาฯ มีเยอะมากและสามารถตอบโจทย์ความสนใจของน้อง ๆ ได้แน่นอนค่ะ

สำหรับพี่ พี่เป็นคนที่ชอบเรื่องของการพูดค่ะ กิจกรรมส่วนใหญ่ที่ทำก็จะเป็นเรื่องของการพูดค่ะ รูปนี้เป็นตอนประกวดพิธีกรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รอบสุดท้ายค่ะ

ภาพ : SGCU CAMERA

 

ส่วนรูปนี้เป็นการพากย์พาเหรดของคณะอักษรศาสตร์ ในเฟรชชี่เกมส์ค่ะ

 

นี่คือพี่ ๆ ชมรม CU BAND ซึ่งเป็นวงดนตรีของจุฬาฯ ซึ่งทางชมรมก็ได้เฟ้นหาตำแหน่งต่าง ๆ เช่น พิธีกร นักร้อง นักดนตรี แสงสี และประชาสัมพันธ์ พี่ก็ได้มีโอกาสไปอบรมการเป็นพิธีกรจากพี่ ๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นมืออาชีพเลยค่ะ


นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมอาสาต่าง ๆ พี่ก็ได้ไปเล่านิทานและดูแลเด็กที่โรงพยาบาลราชวิถีด้วย


ยังมีกิจกรรมรับน้องสร้างสรรค์ พาเหรดของเฟรชชี่อย่างน้อง ๆ ปีหนึ่ง เข้าค่ายรับน้องบาลัค และกิจกรรมอื่น ๆ อีกเยอะเลยค่ะ

ภาพ : SGCU CAMERA

 

ภาพ : SGCU CAMERA

 

         

          การเตรียมความพร้อมเข้าคณะอักษรศาสตร์อินเตอร์ แน่นอนค่ะว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เพราะหลังจากที่เราสอบผ่านเกณฑ์เพื่อยื่นเข้าสอบมหาวิทยาลัยแล้ว เรายังต้องสอบข้อเขียน และสัมภาษณ์ต่อ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นภาษาอังกฤษค่ะ
 

การสอบจะแบ่งเป็นสองรอบ

ภาพ : www.arts.chula.ac.th/~balac/web/Procedures-Balac

 

สำหรับเกณฑ์การยื่นคะแนนในรอบแรก

เราต้องยื่นคะแนนสองอย่างค่ะ คือ English proficiency tests และ Aptitude tests ในส่วนของ English proficiency test เราจะสามารถเลือกสอบหนึ่งอย่างจากทั้งหมดสามอย่างเพื่อเอาไปยื่นได้ค่ะ ซึ่งในส่วนแรกจะประกอบด้วย TOEFL คะแนนต่ำสุดที่สามารถยื่นได้คือ 240 (computer-based), 587 (paper-based) และ 95 (internet-based), IELTS 8 คะแนนที่ต่ำสุดคือ 7.0 และ CU-TEP คะแนนที่ต่ำสุดคือ 90 ค่ะ

ในส่วนที่สอง Aptitude test เราสามารถเลือกสอบได้หนึ่งอย่างจากทั้งหมดห้าอย่างค่ะ ประกอบด้วย OLD SAT I (Critical Reading) คะแนนต่ำสุด 430 คะแนน, NEW SAT คะแนนต่ำสุด 480, CU_AAT คะแนนต่ำสุด 480 คะแนน, หรือ ACT (English) คะแนนต่ำสุด 22 คะแนนค่ะ ซึ่งนักเรียนที่สอบผ่านรอบนี้ต้องไปสอบสัมภาษณ์ต่อโดยไม่ต้องสอบข้อเขียนค่ะ

 

          สำหรับเกณฑ์การยื่นคะแนนในรอบสอง คะแนนยื่นก็มีความคล้ายคลึงกันค่ะแต่คะแนนในรอบที่สองจะต่ำลง และผู้ผ่านการสอบในรอบสองต้องสอบทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์ค่ะ สำหรับแนวข้อสอบเข้าในส่วนของข้อเขียนและสัมภาษณ์ของคณะบาลัค จะมุ่งเน้นไปที่การใช้ภาษาอังกฤษในการเขียนและการพูด รวมถึงความคิดและการวิเคราะห์ประเด็นของนักเรียน

 

แนวการสอบข้อเขียน

จะถามแนวสังคม ความคิด วิธีการวิเคราะห์และแก้ปัญหาสถานการณ์นั้น ๆ จะมีคำถามมาให้ประมาณหกข้อและให้เราเลือกเขียนเองประมาณสองข้อค่ะ ยกตัวอย่างแนวข้อสอบ ก็จะเป็นเรื่องของ การเหยียดสีผิว ว่าเราคิดยังไงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร คิดว่าในอนาคตยังจะมีปัญหาดังกล่าวหรือไม่หากโลกได้พัฒนาไปมากแล้ว หรือแม้กระทั่งการเปรียบเทียบผลลัพธ์ทางการศึกษา ว่าทำไมประเทศหนึ่งถึงได้มีบุคลากรหรือนักเรียนที่ดีในเรื่องของการศึกษามากกว่าอีกประเทศหนึ่ง

 

แนวการสอบสัมภาษณ์

อาจารย์จะถามเราว่า ชอบอ่านหนังสือไหม เคยอ่านเรื่องอะไรบ้าง เล่าให้ฟังได้ไหม เวลาว่างชอบทำอะไร ทำไมถึงอยากเข้าคณะนี้ พี่ขอบอกก่อนเลยค่ะว่าคำถามเป็นคำถามทั่ว ๆ ไปและคำถามเชิงวิเคราะห์ เค้าจะมองเรื่องของความคิดและการวิเคราะห์ของเรา ยกตัวอย่างตอนพี่ไปสอบ อาจารย์ถามว่าชอบดูโทรทัศน์ไหม ปกติดูหนังไหม และเค้าก็ถามเรื่องของซีรีย์ชื่อดังในขณะนั้นอย่างเรื่อง “ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น” ที่เป็นที่วิจารณ์กันว่าสมควรที่จะออกฉายให้กับเด็กวัยรุ่นไหม เป็นตัวอย่างที่ดีรึเปล่า เราคิดว่ายังไง คำถามจะถามถึงเหตุการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นและเป็นที่ถกเถียงกันค่ะ เราก็ตอบตามที่เราคิดได้เลยค่ะไม่มีผิดไม่มีถูกแต่สิ่งที่สำคัญคือต้องให้เหตุผลอย่างชัดเจนค่ะ

 

Portfolio (แฟ้มสะสมผลงาน)

จะเอาไปหรือไม่เอาไปก็ได้ค่ะ แล้วแต่ว่าอาจารย์จะขอดูไหม เพราะเพื่อนพี่บางคนเอาไปอาจารย์เค้าก็บอกว่าไม่ดู พี่เลยเป็นคนขอนำเสนอผลงานให้อาจารย์ก่อนเลยค่ะ พี่ก็พูดประมาณว่า วันนี้เอาผลงานมาด้วยอยากจะนำเสนอ อาจารย์ที่สอบสัมภาษณ์เค้าก็นั่งฟัง เราอธิบายผลงานตัวเองค่ะว่าเราไปทำอะไรมาบ้าง ถ้าใครที่นำแฟ้มผลงานไปแล้วได้นำเสนออาจารย์ก็จะถามถึงเรื่องในแฟ้มผลงานเยอะพอสมควรค่ะ ถึงจะถามเรื่องเกี่ยวกับสังคมในวงที่กว้างขึ้นต่อไป แต่ถ้าใครไม่เอาไปก็จะเจอกับคำถามเกี่ยววัฒนธรรม โลก สังคมทั้งหมดค่ะ พี่ขอแนะนำว่าเราต้องพูดเยอะ ๆ เพราะถ้าเราถามคำตอบคำแล้วอาจารย์ไม่มีคำถามหรือเรื่องที่จะถามต่อ เค้าจะให้เราสุ่มจับกระดาษที่มีคำถามหรือเรื่องในกล่อง แล้วให้เราพูดเรื่องนั้น ๆ ยาวเลยค่ะ
 

ภาพ : www.chula.ac.th/th/archive/gallery

         

          พี่ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนไทยคนหนึ่ง และพื้นฐานภาษาอังกฤษของพี่ก็ไม่ได้เก่งเท่ากับเด็กอินเตอร์ พี่เริ่มอ่านหนังสือ ทำแบบฝึกหัด ซื้อหนังสือแนวข้อสอบพวก IELTS มาทำตั้งแต่อยู่ ม. 4 ฝึกการเขียนเรียงความภาษาอังกฤษเยอะ ๆ และอ่านข่าวเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเป็นการฝึกทักษะการอ่านภาษาอังกฤษและยังทำให้เราได้รู้ข่าวสารซึ่งจะสามารถนำไปตอบคำถามตอนสอบได้ด้วยค่ะ

          สุดท้ายนี้นะคะ สำหรับน้อง ๆ คนไหนที่สนใจอยากเรียนเรื่องวัฒนธรรม สังคมและภาษา มีความสนใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์ อยากหาเหตุผลความเป็นมาเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ พี่เชื่อว่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรนานาชาติตอบโจทย์น้อง ๆ แน่นอน ! ถ้าน้อง ๆ ตั้งใจและมีความพยายามจะไม่มีสิ่งไหนที่เราทำไม่ได้ค่ะ ครอบครัวบาลัคยินดีต้อนรับน้อง ๆ นะคะ

 

เรื่อง : พิชญา วัชโรดมประเสริฐ 

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us